posttoday

อะไรจะเกิดขึ้นหลังประมูล"3จี"

16 ตุลาคม 2555

ส่องแนวโน้มทิศทาง "การให้บริการ" และ "ค่าบริการ" ตลอดจนรูปแบบการใช้งาน "ดาตา" ที่จะเติบโตเพิ่มมากขึ้น

ส่องแนวโน้มทิศทาง "การให้บริการ" และ "ค่าบริการ" ตลอดจนรูปแบบการใช้งาน "ดาตา" ที่จะเติบโตเพิ่มมากขึ้น

อะไรจะเกิดขึ้นหลังประมูล"3จี"

หากนับย้อนหลังไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 2544 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพียง 7.3 ล้านคนเท่านั้น แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมา 11 ปีให้หลัง ปริมาณการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมากมายมหาศาล โดยเมื่อปี 2554 หรือเมื่อปีที่แล้ว มีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สูงถึง 75.3 ล้านคน!!

หรือปริมาณผู้ใช้เติบโตเพิ่มขึ้น 100% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการเติบโตที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับการทำธุรกิจ และยิ่งเมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการตลาดของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ยิ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ในปี 2555 ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้น 8.1-10.3% หรือมีมูลค่าประมาณ 178,300 ล้าน-181,900 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่มหาศาลไม่น้อย

และในวันนี้ (16 ต.ค. 2555) ต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นวันประมูลใบอนุญาต (ไลเซนส์) คลื่นความถี่สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3จี บนย่านความถี่ 2.1 GHz เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์บริการโทรคมนาคมของไทย โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี จะทำให้อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่เมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะในขณะนี้กระแสทุกอย่างกำลังมุ่งไปหาความเป็น “3จี” อย่างที่เรียกว่าฉุดไม่อยู่แล้ว ถึงขนาดที่ กสทช.จะออกมาประกาศว่า การประมูลใบอนุญาต 3จี นั้นเป็นภารกิจของชาติเลยทีเดียว

จะเป็นภารกิจของชาติ หรือภารกิจของใครก็ตาม แต่ประชาชนได้อะไรจาก “3จี” บ้าง

แน่นอนว่าค่ายมือถือทุกค่าย ไม่ว่าจะเป็นเอไอเอส ดีแทค และทรู 3 ค่ายมือถือที่จะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์ 3จี ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ไม่ว่าทั้ง 3 ค่ายจะประมูลไลเซนส์ไปในราคาเท่าใดก็ตาม เพราะทุกค่ายจะมีคลื่นความถี่เท่าๆ กันที่คนละ 15 เมกะเฮิรตซ์

เมื่อค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย มีความเท่าเทียมกันในเรื่องขนาดคลื่นความถี่แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเราจะได้เห็นการแข่งขันในเรื่องของคุณภาพการให้บริการอย่างแน่นอน

แต่อย่าเพิ่งดีใจว่าต่อไปนี้คนใช้มือถือจะได้รับบริการระดับ “เทพ” ของผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย เพราะในช่วง 3-6 เดือนแรก หรือมองออกไปเลยว่า 1 ปีแรก โครงข่าย 3จี ของทั้ง 3 ค่าย ยังอยู่ในช่วง “ตั้งไข่” เท่านั้น สามารถให้บริการได้เพียงบางพื้นที่ อย่างพื้นที่ใน กทม. หัวเมืองใหญ่ และเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นๆ ต้องรอเพียงอย่างเดียว

จะมีได้เปรียบก็น่าจะเป็นค่ายทรู ที่เชื่อว่ามีความพร้อมของโครงข่าย 3จี แบบ “แอบๆ” อยู่ไม่น้อย และพร้อมจะเปลี่ยนมาให้บริการภายใต้ไลเซนส์นี้ได้ทันที ซึ่งหมายความว่าทรูจะมีพื้นที่ให้บริการมือถือ 3จี กว้างไกลกว่าเอไอเอส และดีแทค ในช่วงแรกๆ

ส่วน “ค่าบริการ” นั้น ฝ่ายบริหารของค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย ยืนยันว่าไม่แพงกว่าค่าบริการดาตาที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน หรือหากพูดกันง่ายๆ ก็คือ ค่าบริการดาตา 3จี นั้น หากเป็นแบบไม่จำกัดจำนวนดาตาจะอยู่ไม่เกิน 1,000 บาท และลดหลั่นลงมาตามปริมาณการใช้งานของลูกค้า

หากถามว่าแพงหรือไม่ ในมุมมองของผู้ใช้อาจมองว่าไม่แพง เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่เคยจ่ายอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าพื้นที่การให้บริการของ 3จี นั้นน้อยกว่าการให้บริการของบริการจีพีอาร์เอส และเอดจ์ ที่ผู้ใช้บริการเคยได้รับบริการอยู่

ดังนั้น พวกที่ “คุ้ม” คือลูกค้าที่อยู่ในเขตเมืองใหญ่และกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่จะได้ใช้งานดาตาผ่านเครือข่ายมือถือได้เร็วมากขึ้นกว่าเดิมมาก

อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวเป็นเพียงแค่การให้ข่าวของค่ายมือถือเท่านั้น ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าจะเป็นค่าบริการจริง เพราะเชื่อได้ว่าในช่วงแรกของการให้บริการ 3จี ค่ายมือถือทั้ง 3 ค่ายจะไม่ “ดัมพ์” ราคาลงมาเหมือนอย่างการให้บริการดาตาของมือถือระบบ 2จี ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน

โดยในช่วงที่ผ่านมาราคาค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2จี จะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยบริการเสียง (Voice) นั้น ราคาลดลงเฉลี่ยเหลือนาทีละ 0.54 บาท ขณะที่บริการส่งข้อความสั้น (SMS) ราคาลดลงเฉลี่ย 62% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว บริการดาตาอยู่ที่ 2.08 บาทต่อนาที ลดลง 12%

ทั้งนี้ เพราะค่ายมือถือมั่นใจว่าลูกค้าในช่วงแรก “ยอมจ่าย” เพื่อให้ได้บริการใหม่ๆ อย่าง 3จี ตามกระแสฟีเวอร์อย่างแน่นอน ซึ่งลูกค้าในกลุ่มแรกที่ต้องการใช้ดาตาในชีวิตประจำวัน จะไม่คำนึงถึง “ราคา” ค่าบริการเป็นหลัก ดังนั้นฟันธงได้เลยว่าค่าบริการ 3จี ในช่วงแรก “ไม่ถูก” กว่าค่าบริการดาตาของ 2จี อย่างแน่นอน

และค่าบริการ 3จี จะเริ่มถูกลงก็ต่อเมื่อพื้นที่การให้บริการกระจายออกไปต่างจังหวัด และลูกค้ากลุ่มพรีเมียม หรือระดับครีม หมดลงจนทำให้ค่ายมือถือต้องเริ่มดึงลูกค้าระดับแมสให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เราก็จะได้เห็นแพ็กเกจบริการ 3จี ที่หลากหลายและราคาค่าดาตาที่ลดลง นั่นหมายความว่าลูกค้าต้องรอไปอีก 1-2 ปี ถึงจะได้ใช้ 3จี ราคาถูก

ส่วนข้อกังวลที่ว่า “ตัวเครื่อง” ของลูกค้าจะรองรับคลื่น 3จี ได้มากน้อยแค่ไหน ต้องเสียเงินเสียทองไปเปลี่ยนเครื่องหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันนี้เครื่องมือถือที่อยู่ในมือผู้ใช้คนไทยกว่า 60% นั้นรองรับคลื่นความถี่ 3จี อยู่แล้ว หรือหากอยากจะเปลี่ยนก็มีตัวเครื่องมือถือที่เป็นตัวเลือกอยู่ไม่น้อย ทั้งระดับราคาพันกว่าบาทไปจนถึงหลายหมื่นบาท

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ 3จี จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ การเติบโตของการใช้งานดาตาผ่านมือถือ ที่คาดการณ์กันว่า 3จี จะทำให้การใช้งานดาตาเติบโตมากขึ้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อความเร็วในการโหลดข้อมูลผ่านมือถือทำได้เร็วมากขึ้น ย่อมทำให้ผู้ใช้ “เพลิน” กับการ “คลิก” มากกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตในต่างจังหวัดเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะปัญหาในเรื่องของสปีดได้หมดไป รวมถึงแก้ปัญหาในเรื่องของข้อจำกัดของการเดินสายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่จำกัดอยู่แค่ในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น

และจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้คอนเทนต์ หรือเนื้อหาดิจิตอลเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือออนไลน์ ภาพยนตร์ออนไลน์ เพลงออนไลน์ หรือข้อมูลอะไรก็ตามที่ต้องใช้เวลาดาวน์โหลดนานๆ ในช่วงที่ผ่านมา ก็จะกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะข้อจำกัดเรื่อง “ความช้า” ในการดาวน์โหลดได้หายไปแล้ว

นอกจากนี้ สิ่งที่จะเติบโตตามมา คือ โมบายแอพพลิเคชันสำหรับสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ก็จะเติบโตตามไปด้วย เพราะแอพพลิเคชันเหล่านี้คือเครื่องมือที่ทำให้การใช้งานสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งในส่วนของการทำงานและความบันเทิง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ในปี 2554 มีแอพพลิเคชันสัญชาติไทยรวมทุกแพลตฟอร์มในท้องตลาดประมาณ 1,300 แอพพลิเคชัน

ขณะที่สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ได้คาดว่าในปี 2554 ตลาดแอพพลิเคชันของไทยน่าจะมีมูลค่าประมาณ 9,800 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2553 ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 6,300 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันมีแอพพลิเคชันออกมาตอบสนองตามความต้องการของผู้บริโภคมากมายหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มธุรกิจ การศึกษา บันเทิง เกม การเงิน กราฟฟิกดีไซน์ สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ เพลง ข่าว ถ่ายภาพ โซเชียลเน็ตเวิร์ก กีฬา ท่องเที่ยว รวมไปถึงแอพพลิเคชันเพื่อการปรับแต่งการใช้งานต่างๆ

ที่สำคัญ แอพพลิเคชันได้กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดของบริษัททั้งหลายไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สายการบิน ห้างสรรพสินค้า รวมถึงค่ายมือถือเองที่มีแอพพลิเคชันให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นด้วย

ขณะที่เครื่องมือถือ สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ต จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้น เพราะลูกค้าสามารถใช้งาน “อินเทอร์เน็ต” ได้มากขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจำนวนสมาร์ตโฟนจะอยู่ที่ 12 ล้านเครื่อง จาก 34 ล้านเลขหมาย ขณะที่ปีที่แล้วสมาร์ตโฟนมีอยู่เพียง 10 ล้านเครื่องเท่านั้น นี่ยังเป็นเพียงการเติบโตของสมาร์ตโฟนบนโครงข่ายมือถือ 2จี เท่านั้น ยังไม่นับปัจจัย 3จี ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นผลชัดๆ ตั้งแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นไป ว่าตลาดสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตจะโตแบบก้าวกระโดดแค่ไหน

อีกอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการเปิดให้บริการ 3จี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ อุตสาหกรรมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสาย ที่ปัจจุบันนี้มีผู้ใช้บริการอยู่ประมาณ 3.3 ล้านราย จากจำนวนผู้เข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตประมาณ 21 ล้านราย แม้ว่าจุดเด่นของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ คือ ความเร็วของการให้บริการ ที่ปัจจุบันนี้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ส่วนใหญ่ “อัพสปีด” ความเร็วขึ้นไปอยู่ในระดับ 10 เมก ด้วยกันทั้งนั้น

ซึ่งถือว่าเป็นการอัพสปีดที่หนีความเร็วของ 3จี ที่จำกัดอยู่ที่ 7 เมกเท่านั้น แต่สปีดที่เร็วขึ้นของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ก็ต้องถูกท้าทายจากความสะดวกของความเป็น “โมบิลิตี” ของ 3จี ที่สามารถใช้งานที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้

คาดว่าหลังจาก 3จี เกิดอย่างเป็นรูปธรรม เราจะได้เห็นราคาค่าบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในระดับความเร็วต่ำกว่า 10 เมก ในราคาที่ถูกกว่า 599 บาทแน่นอน แต่ก็เชื่อว่าไอเอสพีทุกรายจะอัพสปีดตัวเองขึ้นไปแตะ 50 เมก เพื่อสร้างความเร็วระดับเทพสำหรับการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความต่างระหว่างอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์กับ 3จี

จะเห็นได้ว่า 3จี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างมาก ทั้งในเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเติบโตเชิงสังคม และเป็นทิศทางที่ทั่วโลกเขาเดินไปนานแล้ว ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะก้าวเดินหน้าไปเหมือนกับนานาอารยประเทศเสียที