posttoday

วันนี้กินดีอยู่ดีแต่2ปีหายนะ!

13 ตุลาคม 2555

สัมภาษณ์พิเศษ "รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา" หัวขบวนค้านโครงการจำนำข้าว ฟันธงถ้าไม่หยุดอีก2ปีเสียหายแน่

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

“ผมปลูกข้าวไม่เป็น”

ชัดถ้อยชัดคำจาก รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา หัวขบวนกลุ่มนักวิชาการและนักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ที่ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลยุติโครงการรับจำนำข้าวหลังถูกตั้งคำถาม “อาจารย์ปลูกข้าวเป็นหรือเปล่า”

วันนี้กินดีอยู่ดีแต่2ปีหายนะ!

ก่อนหน้านี้แกนนำมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลออกมาโจมตีกลุ่มนักวิชาการที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการรับจำนำข้าว ด้วยการเย้ยหยันแค่เห็นนามสกุลรู้ทันที “ไม่เคยปลูกข้าว” ไปไกลกว่านั้น ยัดเยียดให้เป็นลูกหลานอำมาตย์ ช่วยเหลือคนรวย จ้องทำลายชาวนา

ทว่า รศ.ดร.อดิศร์ มองข้ามเสียงครหานินทา เพราะไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลทำให้บทบาทหน้าที่ทางวิชาการที่มีต่อสังคมต้องสูญเสียไป

“เราช่วยในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชาวนา นักวิเคราะห์ข้าวไม่จำเป็นต้องปลูกข้าวเป็น ผมเชื่อว่าอาจารย์อัมมาร (อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ) ก็ปลูกข้าวไม่เป็น แต่ท่านเป็นมือหนึ่งของนักวิชาการด้านข้าว จริงอยู่ผมปลูกข้าวไม่เป็น แต่ผมก็รู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลได้ทำไป และโอกาสที่จะไปทำลายภาคการเกษตร”

ทั้งอาจารย์อัมมาร หรือแม้แต่วีรพงษ์ รามางกูร หัวหน้ากุนซือเศรษฐกิจนายกฯ ปู ส่งหนังสือเตือนรัฐบาลจะพังเพราะโครงการรับจำนำข้าว ล่าสุด สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการสีแดง โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กแสดงความห่วงใย หากเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไปจะมีประเด็นปัญหาตามมาอีกมาก และเตือนพวกที่เชียร์นโยบายนี้ให้เพลาๆ กันหน่อย

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนนักวิชาการเหล่านี้อาจไม่เจอปฏิกิริยาโต้กลับหนักหน่วงเท่ากับ รศ.ดร.อดิศร์ เพราะตลอดระยะเวลาของการเคลื่อนไหวต้องเผชิญแรงเสียดทานจากวาจาเสียดสี มากกว่าการใช้เหตุผลทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

“ยอมรับมีแรงเสียดทานบ้าง แต่ผมไม่ค่อยให้ความสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นการด่าทอง่ายๆ ตรงไปตรงมา คือ ถ้าเป็นแรงเสียดทานทางวิชาการผมจะกลัว เช่น กล่าวว่าบทวิเคราะห์นิด้าผิด หรือนิด้าบอกคุณภาพข้าวต่ำ แต่ที่จริงแล้วคุณภาพข้าวดีขึ้น อย่างนี้ผมกลัว ถ้าผมพูดในสิ่งที่วิเคราะห์ผิด แต่แรงเสียดทานที่เห็นไม่ใช่แบบนั้น มันไม่มีคนเอาเหตุผลมาพูดกัน บางทีบอกว่าสถาบันนิด้าเชื่อถือไม่ได้ ดีแล้วที่ฉันไม่ไปเรียน ดับเครื่องชนอย่างนี้เลย ก็คิดว่าไม่เป็นไร ผมคิดว่าคนพวกนี้ต้องมีอยู่แล้วในสังคม เขาอยากพูดก็พูด เราไม่ว่าอะไร”

ยิ่งย้อนดูบทบาทนักวิชาการผู้นี้ มิได้ตรวจสอบเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว แต่มีงานวิจัยทั้งเรื่องสร้างเสริมหลักเศรษฐกิจพอเพียง การให้ความสำคัญต่อปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ เพราะเป็นถึงฝ่ายที่ปรึกษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทีดีอาร์ไอ

รศ.ดร.อดิศร์ ยังเป็นผู้นำเสนอบทความต้นตอมหาอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมา จากการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภทเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ จึงควรวางผังเมืองเพื่อพัฒนาประเทศ หรือแม้แต่การให้ความสำคัญเสนอทางแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคจากนายทุนครอบครองที่ดินทำกินเกษตรกร ฯลฯ

ตรงนี้เป็นเครื่องชี้วัดความรับผิดชอบทางวิชาการที่มีต่อนโยบายสาธารณะได้อย่างดี

แต่น่าเสียดายแกนนำทางการเมืองที่ออกมาไล่ให้นักวิชาการไปทำเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสังคม ไม่ได้ทำความเข้าใจเจตนาที่แท้จริงของงานวิชาการเหล่านี้

วันนี้กินดีอยู่ดีแต่2ปีหายนะ!

การที่คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ผู้นี้จำเป็นต้องตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวอย่างจริงจัง ก็มาจากชนวนเหตุรัฐบาลกำหนดราคาจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท กำลังทำลายโครงสร้างตลาดข้าว

“ที่ต้องตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะเสนอราคาสูงกว่าราคาตลาด ตรงนี้เองเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ทำให้รัฐบาลชุดนี้ต้องเรียกว่าไม่ได้จำนำข้าวแล้วนะ แต่เป็นการตั้งโต๊ะรับซื้อผูกขาดตลาดข้าวโดยสิ้นเชิง แม้ใช้ชื่อจำนำข้าวเหมือนกัน แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่”

รศ.ดร.อดิศร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การจับเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องเศรษฐกิจและติดตามนโยบายรัฐบาลมานาน หลังๆ มีการพูดถึงเรื่องทุจริตเข้ามาด้วย นำมาสู่โครงการรับจำนำข้าวเพราะมีการทุจริต เพียงแต่เวลามองประเด็นเรื่องทุจริตจะไม่ตรงกับงานในคณะ งานในคณะพูดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายนี้กระทบกับโครงสร้างตลาดข้าวโดยตรง จึงคิดว่าประเด็นที่น่าหยิบยกมาพูดกันและน่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมว่าสิ่งที่รัฐบาลทำรุนแรง

อีกทั้งมีเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่ห้ามทำ จึงเหมือนไปฟ้องให้สังคมเห็นว่าการรับจำนำไม่ใช่ประเด็นทุจริตอย่างเดียว ยังเป็นการสร้างความเสียหายตลาดข้าวระยะยาว โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่ารัฐบาลไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ ต้องการชี้ให้สังคมไทยเห็นว่าบ้านเมืองไทยมีขื่อมีแป ก็เลยอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

รศ.ดร.อดิศร์ เริ่มสังหรณ์ใจตั้งแต่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว

“บางจังหวัดมีการบริหารน้ำจังหวัดตัวเอง ให้ความสำคัญในพื้นที่ปลูกข้าวเป็นพิเศษ เหมือนขอเวลาสองอาทิตย์ได้ไหม ปิดประตูน้ำ ทำให้เริ่มสังหรณ์ใจทำไมต้องรักษาพื้นที่ปลูกข้าวมากมายขนาดนี้ เพราะในอดีตเห็นภาพนาข้าวล่ม น้ำมาก็เห็นใจไม่ควรจะเกิด แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าเป็นเพราะนโยบายรับซื้อข้าวราคาสูง ทำให้กลุ่มผู้มีผลประโยชน์ต้องรักษาพื้นที่ปลูกข้าวสุดชีวิต เพื่อยังคงตักตวงผลประโยชน์นี้ไว้ ตั้งแต่จุดนั้นมาทำให้คิดว่านโยบายการรับซื้อข้าวของรัฐมันน่ามีผลกระทบเยอะ มีเรื่องเอื้อประโยชน์กับผู้ได้ประโยชน์ เพราะพื้นที่นาข้าวไม่ใช่ของคนจนทั้งหมด นาข้าวที่เป็นของคนรวยก็มีเยอะ ข้าราชการ นักการเมือง ก็เป็นเจ้าของที่นาปล่อยให้คนเช่า”

เขาย้ำ “ผมมาทำงานนี้เพื่อต้องการช่วยชาวนา แต่ดูเหมือนคนบางส่วนมองว่าอาจารย์นิด้ามาคัดค้านหรือขัดขวางโอกาสที่ชาวนากำลังลืมตาอ้าปาก แต่ข้อเท็จจริงสิ่งที่พวกเราทำเราเห็นความหายนะที่กำลังเกิดขึ้นกับข้าวไทยในเรื่องคุณภาพข้าว เรื่องต้นทุนการผลิต การใช้ที่ดินมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น ความเสียหายนี้จะเกิดขึ้นแน่ภายใน 2 ปี ถ้าไม่หยุด ท้ายสุดเกษตรกรจะได้รับความเสียหาย จะไม่สามารถส่งออกหรือขายข้าวได้ คิดดูง่ายๆ ข้าวคุณภาพต่ำ ต้นทุนแพง ขายใครไม่มีใครซื้อ เราไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เราจึงออกมาคัดค้าน”

“ดูเหมือนว่าเราไปขัดขวางเกษตรกรไม่ให้รับเงิน 1.5 หมื่นบาท ซึ่งมันก็จริง แต่เป็นสิ่งที่เรายังคงเก็บรักษาอนาคตข้าวไทยไว้ให้เป็นข้าวคุณภาพสูงในสายตาชาวต่างชาติเหมือนเดิม”

แม้ฝ่ายการเมืองสร้างความเข้าใจอีกด้าน ด้วยการชี้ให้เห็นรับจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท ทำให้ชีวิตเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ แต่ รศ.ดร.อดิศร์ ก็เชื่อว่าเกษตรกรเริ่มเห็นปัญหาแล้ว

“เกษตรกรยังอยากเห็นความสะดวกสบายจากวันนี้ไปก่อน คือการได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ผมเชื่อว่าเกษตรกรหลายรายไม่ได้หมื่นห้า จะได้หมื่นหนึ่งหมื่นสอง ไม่มีใครสักคนบอกว่าได้หมื่นห้า หมื่นสี่ก็ไม่มี แต่เขาขายข้าวได้ดีขึ้น เขายอมรับ เขาก็ชอบ ผมคิดว่าชาวนาส่วนหนึ่งเล็งเห็นแล้วว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไปได้อีกไม่นาน”

การออกมาส่งเสียงดังๆ จาก รศ.ดร.อดิศร์ และปรมาจารย์วิชาการอีกหลายรายถึงรัฐบาลครั้งนี้จึงไม่ธรรมดา
ถือเป็นบทบาทภาควิชาการที่มีต่อประเทศด้วยความห่วงใย แม้จะมีบางฝ่ายแปลงเจตนาไปอีกด้านหนึ่งก็ตาม

ผนึกเครือข่ายวิชาการ

วันนี้กินดีอยู่ดีแต่2ปีหายนะ!

แม้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องแต่ไม่ได้ทำให้การคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวต้องยุติ รศ.ดร.อดิศร์ คงเดินหน้าต่อ

“ที่ผ่านมาถือว่าเราได้ทำหน้าที่ให้ความรู้สาธารณชนของภาควิชาการอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ต้องสร้างความเข้าใจต่อไป ซึ่งในส่วนภาควิชาการก็มีการสร้างเครือข่ายติดตามให้ความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาโครงการรับจำนำข้าว”

สำหรับเครือข่ายดังกล่าว เป็นการระดมนักวิชาการที่ล้วนรู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น นิพนธ์ พัวพงศกร อัมมาร สยามวาลา จากสถาบัน|ทีดีอาร์ไอ สมพร อิศวิลานนท์ จากสถาบันคลังสมองของชาติ มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจะสนับสนุนข้อมูลงานวิจัยตีแผ่สังคม

ทั้งนี้ รศ.ดร.อดิศร์ ฉายภาพความเสียหายจากนโยบายจำนำข้าวไว้ดังนี้ 1.ข้าวไทยถูกพัฒนามานาน เรียกได้ว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพ ชาวต่างชาตินิยม เวลาขายในตลาดโลกจะสูงกว่าปกติ เรียกว่าพรีเมียม ประมาณ 25% แต่การจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะทำให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวพันธุ์เบาใช้เวลาปลูกสั้นเพื่อรีบเอาข้าวมาเข้าโครงการ เพราะฉะนั้นข้าวพันธุ์ดีอีกหน่อยจะไม่มีแล้ว คุณภาพข้าวจะตกลง นี่ยังไม่รวมข้าวที่เก็บไว้ในโกดังคุณภาพข้าวจะลดลงเรื่อยๆ

“ปรากฏการณ์นี้เองชาวนาหลายคนน่าจะเริ่มเห็นแล้วว่า ถ้าชาวนาด้วยกันหันมาปลูกข้าวคุณภาพต่ำลง อนาคตข้าวไทยจะอยู่ที่ไหน”

2.ต้นทุนเริ่มแพงขึ้น การที่รัฐบาลไปรับซื้อราคาสูง ส่งสัญญาณให้ผู้เกี่ยวข้อง กระบวนการต่างๆ ขยับราคาตัวเองขึ้น ตอนนี้ค่าเช่าที่นาเพิ่มขึ้นแล้ว เพราะคนที่มีที่นาอยากเอาที่ไปทำนาเอง ถ้าปล่อยเช่าต้องคุยกันใหม่อีกราคาหนึ่ง ต้นทุนที่สูงขึ้นกับคุณภาพข้าวที่ลดลงแปลว่าอนาคตข้าวไทยไม่เหลือ

3.ภาระงบประมาณมีสัญญาณว่า เมื่อรัฐบาลรับซื้อในราคา 1.5 หมื่นบาท งบประมาณแต่ละปีทวีสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญในราคาที่สูงอย่างนี้จะมีการปลูกข้าวมากขึ้น พื้นที่ปลูกข้าวมากขึ้น ปริมาณข้าวจะมากขึ้น

“อย่างปีที่แล้วพูดกัน 20 ล้านตัน ผมว่าตอนนี้อาจสูงกว่านี้แล้ว ปีที่แล้วจัดงบไว้ 3 แสนล้าน ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 4 แสนล้าน ปีหน้าก็ต้องเป็น 5-6 แสนล้าน การขาดทุนถ้าคิดเป็นสัดส่วนก็ต้องขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ภาระการคลังจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นกระทรวงการคลังอาจต้องออกมาให้คำแนะนำจะรับกับการเพิ่มขึ้นของการขาดทุนอย่างนี้ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน ถ้าขาดทุนมากๆ ก็จะเป็นภาระหนี้ที่ประเทศต้องแบกรับไว้ ก็อาจถึงจุดหนึ่งที่รัฐบาลไม่สามารถมีเงินมาจ่ายได้แล้ว”

“วันนั้นแหละที่เราจะต้องมาพูดถึงความเป็นจริงของข้าวไทยคุณภาพที่ต่ำลง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แล้วเราจะไปไหนกันต่อ อนาคตมืดมนไปหมด”

ถึงกระนั้นหากรัฐบาลเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไป นักวิชาการผู้นี้ให้คำแนะนำรัฐบาลขึ้นอยู่ว่าจะฟังหรือไม่

“ผมคิดว่าอย่างน้อยรัฐบาลต้องพิจารณาปรับลดราคาให้เป็นจำนำจริงๆ ราคาไม่ควรสูงกว่าราคาตลาด ดูสัญญาณอย่าให้ข้าวค้างสต๊อกของรัฐ เมื่อเกษตรกรมาจำนำแล้วต้องไถ่ถอนคืน ราคาจะสูงไม่ได้ รัฐบาลต้องจำกัดจำนวนต่อครัวเรือนไม่เกิน 3.5 แสนบาท หรือ 25 ตันต่อครัวเรือน เพื่อป้องกันงบประมาณของรัฐตกไปอยู่เกษตรกรรายใหญ่ที่มาตักตวงผลประโยชน์ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ใช่เกษตรกรด้วยซ้ำ อาจเป็นเจ้าของที่ดินที่ให้เช่าทำนา”

“นอกจากนั้นข้าวเป็นสินค้าที่ต้องแข่งขัน ถ้ารัฐบาลจริงใจต่อชาวนาจริงต้องมาช่วยลดต้นทุน ไม่ใช่เพิ่มราคา เพราะราคาเป็นราคาตลาดโลก เพิ่มไม่ได้อยู่แล้ว รัฐบาลควรเร่งคุณภาพดิน การจัดการไร่นา ระบบน้ำชลประทาน เขตคุ้มครองพื้นที่ทางการเกษตร การดูแลถึงเรื่องตลาดราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือการประกันความเสี่ยงสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำมากกว่าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเกษตรกรในระยะยาว” รศ.ดร.อดิศร์ เสนอทางออก

รุนแรงฉุดไม่ได้เอาไม่อยู่

โบราณว่าจิ้งจกทักยังระวัง แต่รัฐบาลนี้มีหลายกระแสเสียงท้วงติงเหตุใดไม่ฟัง รศ.ดร.อดิศร์ วิเคราะห์ว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะยึดหลักทำงานตามนโยบายที่คิดว่าถูกใจประชาชน ซื้อใจคนได้จำนวนมาก ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปมาใช้อ้างได้ว่าประสบความสำเร็จ

“ผมคิดว่าการจำนำข้าวหมื่นห้าพันบาท ถ้ารัฐบาลทำต่อไปจนลุล่วงไปได้ เขาสามารถนำไปใช้หาเสียงครั้งต่อไปได้ว่าเป็นรัฐบาลแรกที่ทำให้ข้าวไทยราคาสูงสุด ชาวนาได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งเป็นผลดีทางการเมือง แต่ผลเสียจะเกิดกับระบบเศรษฐกิจ”

เมื่อเทียบทุกนโยบายประชานิยม รศ.ดร.อดิศร์ สรุปทันที โครงการรับจำนำข้าวจะรุนแรงมากที่สุดกระทบอุตสาหกรรมข้าวทั้งหมด

ทั้งนี้ รศ.ดร.อดิศร์ชำแหละให้เห็นนโยบายแต่ละเรื่อง อย่างโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ได้ทำให้ระบบการรักษาเสียหายอะไร เป็นการให้สิทธิคนมีรายได้น้อยได้ใช้สิทธิเป็นเรื่องที่ดี กรณีเรียนฟรี 12 ปี เด็กได้ประโยชน์ ระบบการเรียนการสอน ระบบครูไม่ได้ถูกทำลาย นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท กระทบผู้ประกอบการบ้างแต่เป็นส่วนน้อย รัฐบาลไม่ได้เสียงบประมาณ และอีกสองสามปีค่าจ้างคนไทยจะเขยิบอยู่ดีจะคลี่คลายตัวมันเอง

“แต่การประกาศรับซื้อข้าวอย่างนี้ ข้าวเทมาหมด ผู้ประกอบการทั้งกระบวนการรวนไปหมด จีทูจีก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ข้าวในสต๊อกจำนวนมากไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน งบประมาณบานเบอะมหาศาลเพิ่มขึ้นทุกปี คุณภาพก็ด้อย ต้นทุนก็สูง ผมว่ามันรุนแรงกว่ารัฐบาลคาดคิดไว้ หรือว่ารัฐบาลคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร รับซื้อแพงเอาเงินให้เกษตรกรทุกอย่างน่าจะจบ แต่ครั้งนี้น่าเป็นก้าวอีกก้าวหนึ่งที่เลยปากหลุมเหวไปหน่อยนึง”

เขาประเมินสถานการณ์ข้างหน้าคงยากที่จะหยุดรัฐบาล นอกจากจะมีกลุ่มคนหรือใครที่สามารถใช้หลักกฎหมายมายับยั้งได้

“ถ้าไม่ใช้หลักกฎหมายแล้ว ผมว่าจะหยุดลำบาก เพราะเป็นนโยบายหาเสียง อันนี้เป็นจุดขายสำคัญ และฐานเสียงเกษตรกรเยอะมาก อย่างน้อย 10 ล้านคน ส่วนจะปรับแก้ ไม่สามารถคาดเดาได้”

รศ.ดร.อดิศร์ ยอมรับว่า ยังคิดไม่ออกจะเกิดอะไรกับข้าวไทยในอนาคต ทั้งในเชิงเศรษฐกิจรู้แน่ว่าเสียหาย แต่ในเชิงการเมืองตัวละครเปลี่ยนทุกวันตั้งแต่ทุจริต กระโดดมาถึงเรื่องจีทูจี เดี๋ยวจะมีเรื่องประมูลตามมาอีก เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องทำงานแบบตอบคำถามวันต่อวัน

“เมื่อเดินมาอย่างนี้ ในส่วนของรัฐบาลเขาไม่เปลี่ยน ต้องเดินต่อ อย่างน้อยความเสียหายในเชิงงบประมาณ มันรู้ๆ อยู่แล้วไม่เกินแสนล้าน ก็เห็นว่ารัฐบาลยอมตายเพื่อรักษาชื่อเสียงกับเงินแสนล้าน แต่ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจเขาไม่ได้รับรู้ด้วย แต่เราคนไทยรู้ ไม่อยากให้เกิดขึ้น” นักวิชาการทางเศรษฐกิจวิเคราะห์ส่งท้าย