posttoday

ถูกใจถูกจริงหรือ

09 ตุลาคม 2555

เปิดรายงานผลการดำเนินการร้านถูกใจของกระทรวงพาณิชย์ท่ามกลางเสียงวิจารณ์แก้ของแพงไม่ตรงจุด

โดย....ขำ เคืองใจ

ถูกใจถูกจริงหรือ

โครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” เป็นโครงการเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนทั่วประเทศตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีเป้าหมาย 1 หมื่นราย ในพื้นที่ชุมชน กทม. และทุกตำบล 76 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็น กทม. 2,000 ราย ต่างจังหวัด 8,000 ราย

รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณผ่านกระทรวงพาณิชย์ให้ดำเนินการ เนรมิตร้านถูกใจ วงเงิน 1,320 ล้านบาท ซึ่งตามกรอบระยะเวลาดำเนินการได้สิ้นสุดเดือนก.ย.55 แต่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เสนอครม.เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ขอขยายระยะเวลาดำเนินการต่อไปอีก 3 เดือน โดยใช้งบในส่วนที่เหลือ 427.52 ล้านบาทดำเนินการ

แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการดังกล่าวในหลายด้าน เช่น ไม่ได้แก้ปัญหาของแพงตรงจุด ราคาสินค้าถูกกว่าร้านทั่วไปจริงหรือ คุณภาพสินค้าต่ำกว่ามาตรฐาน ประชาชนทั่วไปไม่ได้เข้าไปใช้บริการเพราะไม่ทราบตั้งอยู่ตรงไหนบ้างฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์นำเสนอ ครม.เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ดูตรงข้ามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมด เมื่อมีการรายงานผลสำเร็จของการดำเนินโครงการฯในระยะที่ผ่านมาดังนี้  1.ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากร้านถูกใจ ผู้ผลิต/  ผู้จำหน่ายสินค้า และประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้ในต่างจังหวัด  2.ประชาชนนิยมซื้อข้าวสารบรรจุถุงจำนวนมาก ปัจจุบันร้านถูกใจมีความต้องการซื้อข้าวสารต่อสัปดาห์ โดยขนาดบรรจุถุง 5 กิโลกรัมมากกว่า 600,000 ถุง และขนาดบรรจุถุง 1 กิโลกรัม มากกว่า 300,000 ถุง ทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถลดค่าครองชีพได้มาก

กระทรวงพาณิชย์ยังได้รายงานผลประโยชน์ที่ได้รับ 1. ลดค่าครองชีพประชาชนได้ประมาณเดือนละ 300-400 ล้านบาท ทำให้ประชาชนมีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มมากขึ้น สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ได้เพิ่มมากกขึ้น 2. ประชาชนได้รับความสะดวกในการหาซื้อสินค้าที่จำเป็น ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางหาซื้อสินค้  และมีเวลาในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น 3. ร้านถูกใจซื้อเป็นร้านโชห่วยท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น  มีลูกค้าเพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น  และแข่งขันกับร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ได้ 4. ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสังคมในท้องถิ่นดีขึ้น 5. ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจโดยรวมเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น 6. ชะลอการปรับราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ

ถึงกระนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงการฯ ระยะแรก เช่น1. การรับสมัครและคัดเลือกร้านถูกใจล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด โดยอ้างว่าเป็นเพราะรัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์การรับสมัครและคัดเลือกชัดเจนโปร่งใส และประชาสัมพันธ์โครงการ จึงทำให้ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการมาก   2. ระบบการสั่งซื้อล่าช้า ไม่สะดวก และไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยต้องสั่งซื้อผ่านบริษัทไปรษณีย์ไทยในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยไม่มีระบบการสั่งซื้อสินค้าโดยตรงไปยังสำนักงานใหญ่ของไปรษณีย์ไทย เกิดปัญหาความล่าช้าในการรวบรวมคำสั่งซื้อและตรวจสอบ 3.การขนส่งสินค้าที่ผ่านมามีหลายขั้นตอนและล่าช้า เนื่องจากร้านถูกใจมีจำนวนมากกระจายอยู่ในพื้นที่ทุกตำบลทั่วประเทศ และสินค้าที่เข้าร่วมโครงการมีหลายรายการส่งผลให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการรับและขนส่งสินค้าให้แก่ร้านค้าถูกใจไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน เนื่องจากไม่มีความชำนาญ และระบบการรับและจัดส่งสินค้ามีหลายขั้นตอน

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งหลายแหล่ กระทรวงพาณิชย์ก็อ้างว่ากำลังดำเนินการแก้ไขแล้ว

*************************

ขายอะไรถูกบ้าง  

สินค้าที่จำหน่ายในร้านถูกใจ จำนวน 20 รายการ หมวดอาหาร 9 รายการ เช่น ข้าวสารและข้าวเหนียว น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ผงชูรส น้ำปลา ปลากระป๋อง หมวดของใช้ 8 รายการ เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพู โดยสินค้าที่ยังไม่มีการจำหน่าย ได้แก่ ไข่ไก่ เนื้อสุกร เนื้อไก่ เนื่องจากเน่าเสียง่าย  สำหรับไข่ไก่มีจำหน่ายในบางพื้นที่

สินค้าที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค  ได้แก่ ข้าวสาร น้ำตาลทราย  น้ำมันพืช   

ผู้ผลิต / ผู้จำหน่ายสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันมีผู้ผลิต/ ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ประมาณ 25 ราย  และห้างแม็คโคร และมีผู้ประกอบการรายอื่นให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการฯ

ราคาจำหน่ายสินค้าของร้านถูกใจ  1. ข้าวสาร 5 % ราคาต่ำกว่าท้องตลาด 31.82-36.36 % โดยขนาดบรรจุถุง 5 ก.ก. ถุงละ 70 บาท (ราคาตลาด 110 บาท) และขนาดบรรจุถุง 1 ก.ก. ถุงละ 15 บาท  (ราคาตลาด 22 บาท ) และข้าวเหนียว ราคาต่ำกว่าท้องตลาด 50  - 53.33%  โดยขนาดบรรจุถุงขนาด 5 ก.ก.ถุงละ 70 บาท (ราคาตลาด 150 บาท ) และขนาดบรรจุถุง 1 ก.ก. ถุงละ 15 บาท (ราคาตลาดถุงละ 30 บาท ) สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ราคาเฉลี่ยต่ำกว่าท้องตลาด 20 %