posttoday

บทเรียนจาก"ไร่ส้ม"สื่อทำเพื่อส่วนตัวไม่ได้

09 ตุลาคม 2555

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป จะเป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ส่วนอื่นๆต้องขยับเข้ามาแสดงบทบาทให้สังคมเห็น

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน / ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

บทเรียนจาก"ไร่ส้ม"สื่อทำเพื่อส่วนตัวไม่ได้ สรยุทธ

หลังจาก สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรนักเล่าข่าวและผู้ดำเนินรายการทีวีช่อง 3 ในฐานะผู้บริหารบริษัท ไร่ส้ม ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่ามีความผิดฐานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท อสมท ยักยอกเงินค่าโฆษณา จำนวน 138 ล้านบาท จนเกิดแรงกดดันถาโถมเข้าใส่พิธีกรคนดัง ให้แสดงจุดยืนทางจริยธรรมความเป็นสื่อมวลชนจากทุกสารทิศ โดยเฉพาะภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น นักวิชาการด้านสื่อ และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

สถานการณ์นำไปสู่การยื่นจดหมายลาออกจากสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ของ |สรยุทธ ในท้ายที่สุด

ภาพสะท้อนที่เกิดขึ้น แม้มองได้ว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชน ทว่าก็ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่าการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกครั้งนี้มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา และอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า ในทางหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปเป็นเรื่องที่|ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องขยับเข้าไปร่วมแสดงความรับผิดชอบตามบทบาทเพื่อขยายผลต่อไป

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป จะเป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ส่วนอื่นๆ เช่น ผู้บริหารช่อง 3 สปอนเซอร์หรือผู้สนับสนุน ต้องขยับเข้ามาแสดงบทบาทให้สังคมเห็น เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ การสั่นคลอนกรอบจรรยาบรรณครั้งนี้ จะส่งผลลัพธ์เป็นลูกโซ่ไปสู่นักข่าวรุ่นหลังที่ต้องตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ ส่งผลไปถึงสิ่งที่สอนกันมาในคณะนิเทศศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ สื่อสารมวลชนทุกสถาบันการศึกษา” อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าว

ด้าน จักร์กฤษ เพิ่มพูน ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยอมรับว่า การลาออกจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ของ สรยุทธ ถือว่าไม่ได้มีผลอะไร ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น เพราะความไม่พอใจหลังจากภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเสวนาถึงประเด็นดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่อยากให้มีการพูดถึงเรื่องประเด็นตัวบุคคลมากนัก แต่โดยหลักการ สรยุทธ ถือว่าเป็นสื่อสารมวลชนและเจ้าของธุรกิจ ดังนั้นต้องแยกบทบาทตัวเองว่าตรงไหนเป็นตรงไหน ไม่ใช่เอามารวมกัน และต้องยอมรับว่าสื่อถือเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีสิทธิพิเศษกว่าอาชีพอื่นกลายๆ

อย่างไรก็ตาม จะเอาความเป็นสื่อสารมวลชนมาใช้ประโยชน์เพื่อส่วนตัวไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกรณีนี้เท่านั้น เพราะยังมีกรณีอื่นๆ เช่นกัน

สำหรับการตรวจสอบให้เกิดความเข้มข้นนั้น เพื่อส่งผลต่อทางปฏิบัติด้านจริยธรรม ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจว่าองค์กรสภาการวิชาชีพและสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไม่ใช่ศาลที่จะไปลงโทษหรือชี้เป็นชี้ตายใครได้

ทว่า การดำเนินการดังกล่าว เพื่อต้องการเปิดเผยให้กับสังคมได้รับทราบ แม้หลายส่วนมอง สรยุทธ เป็นคนดี แต่ความดีเราก็ตั้งไว้ ไม่ไปแตะต้อง แต่อะไรที่ไม่ถูกหรือไม่เหมาะสม ก็ต้องนำออกมาเปิดเผยให้สังคมได้ตัดสินใจ