posttoday

สส.- สว. ของบโด๊บกองทุนฯอดีตสมาชิกสภา

08 ตุลาคม 2555

สส.- สว. ประสานเสียงของบอุดหนุนกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา

โดย....ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

สส.- สว. ของบโด๊บกองทุนฯอดีตสมาชิกสภา

ภายหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเมื่อเดือนที่ผ่านมา รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ.... ซึ่ งเสนอโดย ไพจิต ศรีวรขาน สส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กับคณะ และปรีชา มุสิกุล สส.กำแพงเพชร พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ ด้วยคะแนน 325 เสียง ต่อ 3 เสียง

เหตุผลในการเสนอร่างดังกล่าว เนื่องจากอดีตสมาชิกรัฐสภาทั้งสส.-สว.เป็นบุคคลที่ทำคุณงามความดีและเสียสละให้แก่ประเทศชาติ แต่การสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาด้านการรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ ถึงแก่กรรม และการให้การศึกษาบุตรยังมีข้อจำกัด เช่น งบประมาณและการบริหารจัดการทำให้การสงเคราะห์ไม่เอื้อประโยชน์เท่าที่ควร ดังนั้น จึงสมควรมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การสงเคราะห์แก่อดีตสมาชิกรัฐสภาเป็นไปอย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

นอกจากนี้ หลักการการสงเคราะห์ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ให้กับอดีตสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ ค่ารักษาพยาบาล และสงเคราะห์ครอบครัวกรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม พ.ศ. 2544 กำหนดการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลได้ปีละไม่เกิน 1 หมื่นบาท ซึ่งพ.ร.บ.ดังกล่าว  พ.ศ. 2552 เพิ่มเป็นรายละ 2 หมื่นบาท

กรณีถึงแก่กรรม เดิมให้รายละ 5 หมื่นบาท และพ.ร.บ. พ.ศ. 2552  เพิ่มเป็น 6 หมื่นบาท และกรณีทุพพลภาพ ยังคงให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคาระห์ให้กับอดีตสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยเงินสงเคราะห์กรณีทุพพลภาพ พ.ศ. 2552 กำหนดจ่ายให้รายละ 5 พันบาทต่อเดือน ทว่า ยังคงเกิดข้อกังขาจากหลายฝ่ายถึงความเหมาะสมในการนำภาษีประชาชนมาอุดหนุนให้กับอดีตสมาชิกรัฐสภา

ไพจิต ในฐานะประธานคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) กิจการ สภาผู้แทนราษฎร หนึ่งในผู้เสนอร่างออกปากยอมรับว่าที่ผ่านมากองทุนดังกล่าวมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ แม้จะมีการปรับเงินช่วยเหลือให้กับอดีตสมาชิกรัฐสภา แต่ก็ยังไม่เพียง เพราะตลอดระยะเวลา สภาฯต้องจัดกิจกรรมเพื่อหาเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือให้กับอดีตสมาชิก

นอกจากนี้ ข้อจำกัดในการช่วยเหลือ เช่น เรื่องการรักษาพยาบาล ที่มองว่ายังให้น้อยเกินไป ดังนั้น จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือมากกว่านี้จากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีรัฐบาล โดยให้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ตามพ.ร.บ.การคลัง เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ

อย่างไรก็ดี ไพจิต ระบุว่า  อยากให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องดังกล่าว โดยหวังว่าจะได้รับเงินอุดหนุน 3 แสนบาทต่อเดือน หรืออย่างน้อยก็ให้เท่ากับหรือมากกว่าสส.-สว.ที่ได้เสียสละเงินส่วนตัวไปก็จะเป็นการดี เพื่อมาช่วยเหลืออดีตสมาชิกรัฐสภา และไม่อยากให้มองว่าสส.-สว.มีฐานะจนไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือใดๆนั้น เพราะมันไม่ได้มีทุกคน และที่สำคัญอยากให้มองว่าเป็นการช่วยเหลือให้กับอดีตผู้ที่เคยทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ 

ด้านปรีชา ได้อธิบายพร้อมเล่าถึงเหตุผลและความจำเป็นในการมีพ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์ฯ เนื่องด้วยในอดีตที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งได้ไปพบงานศของอดีตสส.ยโสธรท่านหนึ่ง ซึ่งการเสียชีวิตของสส.ท่านนั้น ไม่มีเงินกระทั่งซื้อโรงศพหรือจัดงาน และเมื่อเห็นสภาพสส.ท่านดังกล่าว ทำให้รู้สึกว่าแย่มาก

หลังจากนั้นเป็นต้นมา จึงได้มีการตั้งกองทุนสงเคาระห์ฯขึ้น ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2542-2543 สมัย “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” อดีตประธานรัฐสภาและประธานประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนำรายได้ส่วนใหญ่มาจากการหักเงินเดือนของสส. เดือนละ 500 บาททุกคน เพื่อมาช่วยเหลือ

ปรีชา บอกว่า แม้จะมีการหักรายได้ของสส.เพื่อมาช่วยเหลืออดีตสมาชิกรัฐสภา ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะในแต่ละเดือนจะได้ 5 หมื่นบาท ปีนึงรวม 6 แสนบาท ดังนั้น จึงต้องมีการทำกิจกรรมเพื่อหารายได้ส่วนอื่นมาสมทบ อาทิ การขายล๊อตเตอรี่เพื่อการกุศล ซึ่งได้ประมาณปีละ 4 ล้านบาท

"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทุนสงเคาระห์ฯจะให้ค่ารักษาพยาบาลกับอดีตสมาชิกรัฐสภา ปีละ 1-2 หมื่นบาทต่อคน ซึ่งห้ามเกินจากนั้น หากเสียชีวิตจะได้รับ 5 หมื่นบาท ส่วนสส.ที่ทุพพลภาพ ได้รับเงิน 5 พันบาท จึงยืนยันว่าไม่เพียงพอ

ทว่า ช่วงหลังๆที่ผ่านมามีอดีตสมาชิกรัฐสภาร้องเข้ามามากในเรื่องดังกล่าว โดยอยากให้มีบำเหน็จบำนาญเหมือนกับข้าราชการ เช่น เวลาเสียชีวิตเงินจะได้ตกถึงลูกหลาน แต่การเมืองยอมรับว่าไม่มีสวัสดิการตรงนี้เลย อีกทั้ง กองทุนที่สภาทำขึ้นงบประมาณยังน้อยเกินไป ดังนั้น จำเป็นที่ต้องขอเงินจากรัฐบาลเพื่อมาช่วยเหลือ

“เราไม่มีบำเหน็จ บำนาญ เหมือนกับข้าราชการ ดังนั้น จึงได้ทำขึ้นมา แต่ยอมรับว่าไม่เพียงพอ เนื่องจากแต่ละปีใช้งบประมาณในการจ่ายให้กับอดีตสส. ที่เสียชีวิต ป่วย บาดเจ็บ หรือทุพพลภาพ ถึง 10-20 ล้านบาท”

ปรีชา ยังเล่าต่อว่า การที่หลายคนมองสส.มีฐานะ และคงไม่จำเป็นต้องมีเงินช่วยเหลือนั้น อยากบอกว่าไม่จริง เพราะสส.มีฐานะ 20% แต่อีก 80% เป็นนักการเมืองด้วยอาชีพ เพราะผมอยู่ในสภามา 37 ปี และเห็นที่เลิกไปแล้วแย่ก็มี แต่ด้วยผมมีอาชีพเป็นหมอ ก็ถือว่าไม่ลำบาก แต่บางคนมีดีกรีถึงอดีตรัฐมนตรี ยังไม่มีเงินติดตัวสักบาท ดังนั้น จึงมีความจำเป็นช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้น เพราะถือว่าได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ

อนึ่ง ยอดสรุปการสงเคราะห์ให้แก่อดีตสมาชิกรัฐสภาด้านต่างๆ ตั้งแต่ปี 2543 - 2555  แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาล ตั้งแต่ปี 2544-ปัจจุบัน ได้ให้การสงเคราะห์แก่อดีตสมาชิกรัฐสภาที่เจ็บป่วยไปแล้ว จำนวน 1,703 ราย เป็นเงิน 14 ล้านบาท

ถึงแก่กรรม ตั้งแต่ 2544-ปัจจุบัน สงเคราะห์ฯไปแล้ว จำนวน 327 ราย เป็นเงิน 17.4 ล้านบาท ค่าพวงหรีดเคารพศพในนามคณะกรรมการกองทุนฯ (ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2551-ปัจจุบัน) จำนวน 31 ราย เป็นเงิน 3.1 หมื่นบาท และทุพพลภาพ ตั้งแต่ปี 2552 –ปัจจุบัน ได้ให้การสงเคราะห์ไปจำนวน 17 ราย เป็นเงิน 1.4 ล้านบาท (ปัจจุบันอดีตสมาชิกรัฐสภารับเงินสงเคราะห์ฯ ได้แก่กรรมแล้ว 2 ราย คงเหลืออดีตสมาชิกรัฐสภารับเงินสงเคราะห์ฯ 15 ราย)

สรุปรายรับ-รายจ่าย เงินกองทุนสงเคราะห์ ตั้งแต่ปี 2543-31 ก.ค. 2555

2543 รายรับ 7 ล้านบาท รายจ่าย 1.2 หมื่นบาท รายรับมากกว่ารายจ่าย 7 ล้านบาท
2544 รายรับ 3.4 ล้านบาท รายจ่าย 1.7 แสนบาท รายรับมากกว่ารายจ่าย 3.2 ล้านบาท
2545 รายรับ 4.7 ล้านบาท รายจ่าย 1.7 ล้านบาท รายรับมากกว่ารายจ่าย 2.9 ล้านบาท
2546 รายรับ 4.3 ล้านบาท รายจ่าย 2.2 ล้านบาท รายรับมากกว่ารายจ่าย 2.1 ล้านบาท
2547 รายรับ 4.4 ล้านบาท รายจ่าย 2.4 ล้านบาท รายรับมากกว่ารายจ่าย 2 ล้านบาท
2548 รายรับ 3.6 ล้านบาท รายจ่าย 7.4 ล้านบาท รายจ่ายมากกว่ารายรับ -3.8 ล้านบาท
2549 รายรับ 6.1 ล้านบาท รายจ่าย 2 ล้านบาท รายรับมากกว่ารายจ่าย 4 ล้านบาท
2550 รายรับ 3 แสนบาท รายจ่าย 3.2 ล้านบาท รายจ่ายมากกว่ารายรับ -2.9 ล้านบาท
2551 รายรับ 4.9 ล้านบาท รายจ่าย 1.8 ล้านบาท รายรับมากกว่ารายจ่าย 3 ล้านบาท
2552 รายรับ 3.9 ล้านบาท รายจ่าย 3.9 ล้านบาท รายรับมากกว่ารายจ่าย 4 หมื่นบาท
2553 รายรับ 3.7 ล้านบาท รายจ่าย 5.7 ล้านบาท รายจ่ายมากกว่ารายรับ -2 ล้านบาท
2554 รายรับ 11 ล้านบาท รายจ่าย 6.6 ล้านบาท รายรับมากกว่ารายจ่าย 4.4 ล้านบาท
2555 รายรับ 5.2 ล้านบาท รายจ่าย 3.4 ล้านบาท รายรับมากกว่ารายจ่าย 1.8 ล้านบาท

ปัจจุบันเงินคงเหลือ ณ วันที่ 31 ก.ค. 2555 เป็นจำนวน 21.9 ล้านบาท