posttoday

สภาอำนาจล้นทำตุลาการตรวจสอบไม่ได้

02 ตุลาคม 2555

นักวิชาการตั้งวงวิพากษ์ระบบยุติธรรมไทย "อักขราทร" ชี้รัฐมีอำนาจเกินไปทำตุลาการตรวจสอบไม่ได้ "สมชาย" ขวางนิรโทษจุดชนวนขัดเเย้ง

นักวิชาการตั้งวงวิพากษ์ระบบยุติธรรมไทย "อักขราทร" ชี้รัฐมีอำนาจเกินไปทำตุลาการตรวจสอบไม่ได้  "สมชาย" ขวางนิรโทษจุดชนวนขัดเเย้ง

สภาอำนาจล้นทำตุลาการตรวจสอบไม่ได้

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับ โครงการปริญญาโท สาขาบริหารงานยุติธรรม คณะสังคมสังเคราะห์ศาสตร์ มธ.และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจัดเสวนา “กระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์พิเศษ” ระดมความเห็นนักวิชาการหาแนวทางปรับกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์พิเศษในประเทศไทย

นายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ระบบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด จะต้องมีองค์กรหนึ่งที่คอยพิจารณา ตรวจสอบการใช้อำนาจ ความชอบโดยกฎหมาย โดย มีผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งเพียงแต่ที่ผ่านมาเรื่องของประโยชน์สาธารณะ เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยมองเห็น ทั้งนี้เหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญได้

ทั้งนี้หลักการสำคัญที่นักกฎหมายไทยต้องเข้าใจ คือหลักการปกครองภายใต้กรอบ ซึ่งกำหนดให้กฎหมายระดับรองลงมา และหน่วยงานตลอดจนแนวทางปฏิบัติของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งการให้รัฐสภามีอำนาจมากเกินไป จนตุลาการรัฐธรรมนูญไม่สามารถตรวจสอบได้ จะเท่ากับว่าเป็นการขัดกับหลักการนี้ ทำให้รัฐสภาออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ จึงมองว่าการแทรกแซงของตุลาการรัฐธรรมนูญในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปกครองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ

“รัฐธรรมนูญสำคัญที่การนำไปใช้ โดยมีผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หากดูเป็น อ่านรู้แต่ใช้ไม่เป็นก็ป่วยการ แนว ความคิดของรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่แค่การตีความตามตัวอักษร มิเช่นนั้นคงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอักษรศาสตร์อธิบาย อย่างไรก็ตามการตีความก็คงอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ปัญหาของการใช้กฎหมายอยู่ที่เจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ระบบโครงสร้าง ไม่ใช่การเรียกร้องนิติรัฐอย่างที่พูดกัน”นายอักขราทรกล่าว

นายอักขราทร ยังกล่าวถึงรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่า จากการอ่านโดยสรุปเข้าใจว่าไม่ได้มีเป้าหมายที่การหาผู้กระทำผิด แต่เป็นการบอกสังคมว่าได้เกิดเหตุที่ไหน อย่างไร เพื่อบอกความจริง และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงการสร้างความปรองดอง ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้เป็นปัญหาความแตกต่างที่เกิดขึ้นลึก และต้องแก้ปัญหาตามแนวทางดังที่ คอป.เคยเสนอ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีกลุ่มคนที่มีความรู้มาสกัด และหาทางไปให้เกิดการบังคับใช้

ณรงค์  ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มธ. อธิบายถึง ‘สถานการณ์พิเศษ’ ในสังคมไทยว่าเกิดจากเหตุการณ์ความรุนแรงหรือเหตุการณ์ที่ไม่ปกติในประเทศทำให้ต้องมีการประกาศใช้ ‘กฎหมายพิเศษ’ เช่น กฎอัยการศึก การใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  หรือการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยกฎหมายเหล่านี้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐเกินขอบเขตให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้มาตรการควบคุมตัวหรือเรียกตัวประชาชนมาสอบสวนบนหลักการที่ละเมิดเสรีภาพในตัวบุคคล ผิดกับหลักเกณฑ์ที่เขียนไว้ในวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้นมองว่าเจ้าหน้าที่ไม่ควรดำเนินการใดที่ละเมิดหลักเสรีภาพของประชาชน หากมองเชื่อมโยงไปยังปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการขยายผลการประกาศกฎอัยการศึกในทุก 3 เดือนนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่

ณรงค์ มองว่า ในสถานการณ์การเมืองช่วงหลัง 2-3 ปีมานี้มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษบ่อยครั้ง ซึ่งพบว่าประชาชน เช่น กลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงความเป็นธรรมน้อย เพราะว่าคนเหล่านี้จะไม่มีทนายความช่วยเหลือเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม การให้ความช่วยเหลือจากการละเมิดสิทธิในสถานการณ์ฉุกเฉินต้องอาศัยนักกฎหมายที่เข้าความรู้ของกฎหมายพิเศษเหล่านี้ ดังนั้นรัฐบาลควรตั้งกองทุนยุติธรรมที่เปิดให้มีการประกันตัว หรือ จ้างทนายความเพื่อช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ให้ได้รับความเป็นธรรมในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชี้ว่า ยิ่งการประกาศใช้กฎหมายพิเศษจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องมีการตรวจสอบมากขึ้นเท่านั้น อย่างการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นอำนาจที่ให้ฝ่ายบริหารดำเนินการฝ่ายเดียว ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการต่ออายุมาถึง 31 ครั้ง โดยมองว่าการประกาศใช้แต่ละครั้งควรนำสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อเปิดให้มีการอภิปรายถึงผลดี-ผลเสียอย่างชัดเจน ที่สำคัญ คือ เป็นการเปิดโอกาสให้สังคมได้ร่วมทำความเข้าใจ เพราะการประกาศใช้กฎหมายไปกระทบกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

กรรมการ คอป.ผู้นี้ยังยกตัวอย่างการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยระบุว่า มีการตั้งข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ แต่หากกลุ่มคนเหล่านี้มีทนายความที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เชื่อว่าศาลคงไม่ตัดสินลงโทษทันที แต่อาจให้มีการรอลงอาญาไว้ เพราะสถานการณ์ภายหลังได้คลี่คลายลงแล้ว

สมชาย ยังพูดถึงการนิรโทษกรรมว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมใดหากนำไปสู่แความสงบของสังคมก็สามารถดำเนินการได้ แต่หากมีแนวโม้มนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองควรต้องมีการทบทวนอย่างรอบคอบ

สภาอำนาจล้นทำตุลาการตรวจสอบไม่ได้

โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า กระบวนการยุติธรรมจะยุติธรรมจริงได้ ตัวกฎหมายต้องชอบธรรมและคนที่มาบังคับใช้กฎหมายต้องบังคับใช้อย่างยุติธรรม เพราะฉะนั้นยิ่งเกิดสถานการณ์พิเศษ ศาลยิ่งต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจ เพราะเป็นเส้นเปราะบางมากที่แบ่งระหว่างความยุติธรรมกับอคติในการวินิจฉัยคดีของศาลเอง อย่างไรก็ตามไม่อยากให้มองสถานการณ์พิเศษเพียงการบังคับใช้กฎหมายกฎอัยการศึกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ควรมองย้อนไปยังปี 2490 เป็นต้นมาที่มีการรัฐประหารและศาลกลับรองรับการยึดอำนาจเป็นองค์รัฐาธิปัตย์เท่ากับทำลายหลักนิติรัฐและนิติธรรมของไทย

“ถามว่าจะยุติธรรมได้อย่างไรในเมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศยังมีมาตรา 237 ที่ให้ความผิดของคนเพียงคนเดียวยุบได้ทั้งพรรคการเมือง โดยเฉพาะมาตรา 309 ที่ให้คำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหารถูกต้องโดยกฎหมาย ทำลายหลักนิติธรรมของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ในมาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญเดียวกันอย่างสิ้นเชิง

...แล้วมาบอกว่าแก้ 309 จะไปช่วยเหลือทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี) ซึ่งไม่เป็นความจริง ขนาดกฎหมายที่ออกในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังแก้ได้ แต่มาตรานี้กลับแตะไม่ได้ทั้งที่คุณเป็นคนทำผิดแล้วมาบอกว่าสิ่งที่คุณทำมันถูกต้อง”โภคินกล่าว

โภคิน ระบุต่อว่า ในกระบวนการยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ขณะนี้ สส. สว.หรือ นักการเมืองถูกตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินทั้งหมด แต่ศาลเองกลับไม่เคยถูกตรวจสอบ แล้วจะสร้างความโปร่งใสได้อย่างไร รวมไปถึงบรรดาองค์กรอิสระที่แต่งตั้งโดยไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาชนซ้ำยังไม่เคยถูกตรวจสอบเช่นเดียวกัน ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมตามระบอบประชาธิปไตยขอเสนอให้มีวิธีการตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ทั้งหมด เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเพื่อความโปร่งใสเท่ากัน

บรรเจิด  สิงคเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  ให้ความเห็นว่า  ประเทศไทยมีองค์กรที่ดำเนินการอำนวยความยุติธรรม  2 ประเภท คือ 1.องค์กรปกติแต่มีเหตุผลพิเศษ  ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ อัยการสูงสุด 2.องค์กรที่มีที่มาพิเศษ แต่มีการดำเนินการตามเรื่องราวปกติ ได้แก่ คอป. หากจะดูการทำงานของคอป.ในการค้นหาความจริงแล้ว  จะเห็นได้ว่าจากกรณีซุกหุ้น  ทั้ง 2 องค์กรคือศาลรัฐธรรมนูญและคอป.จะ พูดต่างกัน ไม่ว่าจะพูดไปในทางใดก็มีปัญหาทั้งหมด เพราะฉะนั้นกระบวนการปฏิรูปขององค์กรตุลาการ จะต้องทำให้องค์กรตุลาการเป็นองค์กรหลักในการวินิจฉัยชี้ขาด

บรรเจิด ย้ำไปถึงบทบาทของข้าราชการประจำว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นต้นทางในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด แต่ที่ผ่านมามีประชาชนเห็นว่ตำรวจในท้องที่ไม่ได้ดูแลประชาชนในพื้นที่ แต่กลับไปดูแลคนที่มีอำนาจโยกย้ายในส่วนกลางและผู้มีอิทธิพล ทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซง เช่น กรณี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. สะท้อนชัดว่าเมื่อข้าราชการถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมืองจะปฏิบัติงานเป็นธรรมได้อย่างไร ทั้งนี้โดยทัศนะแล้วอยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แยกออกมาจากฝ่ายการเมืองโดยเด็ดขาด โดยมีการตั้งประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการ ตั้งแต่สถานีตำรวจท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ

“โครงสร้างในระเทศ กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจไล่ไปจนถึงศาลล้วนอยู่ส่วนล่างใต้อำนาจของฝ่ายการเมือง ปฏิรูปแยกการเมืองออกจากข้าราชการประจำอย่างจริงจัง ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้แน่ ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้พูด100 ปีก็ไม่จบ”

สำหรับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นั้น คณบดีนิติศาสตร์รายนี้ชี้ว่า อธิบดีและผู้ปฏิบัติงานถูกฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง ดังนั้นควรมีมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายเพื่อความอิสระในการดำเนินการสอบสวนคดี

สำหรับอัยการสูงสุด รัฐธรรมนูญได้แยกเป็นอิสระ แต่ก็ยังมีความใกล้ชิดกับการเมือง  อัยการสูงสุดเปรียบเสมือนเส้นตรงกลางระหว่างตำรวจกับศาล จึงอยากจะเห็นอัยการฯพิจารณาคดีไปตามตัวบทกฎหมาย  และควรคำนึงถึงหลักประชาธิปไตยและความอิสระของตุลาการในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย