posttoday

การบ้านจาก"คนใน"ถึง"เลขาฯสมช."

02 ตุลาคม 2555

เลขาธิการ สมช. ต้องกล้าให้ข้อเสนอแนะความเห็นที่เห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่าผลประโยชน์ทางการเมือง

โดย...ปริญญา ชูเลขา

พลันที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แต่เสียงวิจารณ์จากคนในหน่วยงานความมั่นคงก็ยังคงอึงมี่
ทั้งกังขาที่ไปที่มา ทั้งห่วงใยศักยภาพที่จะนำพาองค์กรด้านความมั่นคงไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่

การบ้านจาก"คนใน"ถึง"เลขาฯสมช." สมเกียรติ

สมเกียรติ บุญชู อดีตรองเลขาธิการ สมช. ทำงานด้านความมั่นคงมากว่า 30 ปี แม้ถูกเด้งเข้ากรุที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเปิดทางให้ พล.ท.ภราดร นั่งเลขาธิการ สมช. แต่ก็ฝากความห่วงใยถึงเลขาธิการ สมช.คนใหม่

สิ่งแรกที่เป็นห่วง คือ เรื่องการโยกย้ายใหญ่ภายในองค์กร สมช.

“งานด้านความมั่นคงมีความแตกต่างจากงานประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะงานข่าวกรองที่ต้องสั่งสมประสบการณ์ความรู้ความสามารถอย่างมากเป็นการเฉพาะจึงไม่ควรมีการโยกย้ายบ่อยครั้ง เพราะการทำงานจะขาดช่วง ที่สำคัญควรสนับสนุนคนภายในเติบโตในสายงานนั้นๆ แต่หากจะมีการดึงบุคลากรภายนอกเข้ามา ต้องได้รับความเชื่อถือจากประชาคมข่าวกรองอย่างมาก และได้เห็นหรือแสดงฝีมือถึงองค์ความรู้ที่เห็นเด่นชัด มิใช่โยกย้ายเพราะความหวาดระแวงว่าคนคนนี้เป็นคนของคนโน้นคนนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นระบบการทำงานด้านความมั่นคงภายในจะรวนได้”

“อยากฝากถึงเลขาฯ คนใหม่ว่า อย่าระแวงไปเลยว่าคนใน สมช.กลุ่มนี้เป็นคนของ ถวิล เปลี่ยนศรี หรือเป็นคนของ สมเกียรติ บุญชู จึงต้องโยกย้ายแล้วนำคนของตัวเองที่ถูกใจเข้ามาทำงานแทน แต่อยากบอกให้มั่นใจว่าคน สมช.ทุกคนมีความเป็นมืออาชีพ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนนอกเข้ามาเป็นเลขาธิการ แต่เราก็ทำงานขับเคลื่อนกันมาได้ เพราะเราทำงานโดยนึกถึงประโยชน์ประเทศชาติ”

อดีตลูกหม้อ สมช. ขอให้ พล.ท.ภราดร คิดเป็นการบ้านต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงการทำงานด้านความมั่นคงอันสำคัญที่เกิดขึ้น คือ วงจรการทำงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะงานข่าว และข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยยังคงเชื่อมั่นในข้อมูลจากฝ่ายข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันไม่ลึกและครอบคลุมเพียงพอ จึงยากต่อการกำหนดนโยบายและตัดสินใจ

สิ่งสำคัญปัจจุบันภัยคุกคามด้านความมั่นคงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไร้ตัวตน และมุ่งเน้นเกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นวิธีคิดและการทำงานย่อมเปลี่ยนไป ที่ต้องเปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะภาคประชาชน หรือภาคพลเรือน

อีกภารกิจที่เลขาธิการ สมช.พึงตระหนัก สมช.ถูกกำหนดให้เป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลเพื่อการตัดสินใจกำหนดนโยบายหรือเพื่อประกอบการแก้ไขปัญหา ดังนั้นข้อเสนอแนะต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง เพราะในที่สุดผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่รัฐบาล แต่คือประชาชน

“การให้คำปรึกษาในฐานะเลขาธิการ สมช. ต้องกล้าให้ข้อเสนอแนะความเห็นที่เห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่าผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และถ้านำคนถูกใจที่สั่งได้ทุกเรื่องมาดำรงตำแหน่ง อยากถามว่าคนคนนี้จะกล้าให้ความเห็นหรือท้วงติงรัฐบาลหรือไม่ แล้วถ้าเป็นอย่างนี้จะมีหน่วยงานไหนกล้าสะกิดรัฐบาลหากเห็นสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น”

ไม่เพียงเท่านี้ อีกภารกิจสำคัญของ สมช.ต้องทำความเข้าใจกับหน่วยปฏิบัติการทั้งกองทัพ ผู้ว่าราชการจังหวัด และทูตต่างประเทศ เพราะงาน สมช.ไม่ใช่มีเฉพาะงานความมั่นคงภายในประเทศเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายนอกประเทศด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญคือการชี้แจงทำความเข้าใจต่อนานาประเทศ ดังนั้นความรู้ความสามารถในการเข้าใจปัญหาเพื่อถ่ายทอดไปสู่ประชาคมโลกจึงเป็นเรื่องใหญ่และท้าทายมาก

“ปัญหาความมั่นคงเติบโตและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับเรากำลังวิดน้ำในบ่อ ยิ่งวิดอย่างไรน้ำก็ไม่แห้งเสียที เพราะน้ำยังคงมีซึมเข้าบ่ออยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็เหมือนกับการแก้ปัญหา คือไม่ใช่แค่คิดดักแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปวันๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำงานเชิงรับ แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้ทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น เพราะปัญหาเพิ่มตัวขึ้นทุกวันๆ” สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย