posttoday

เปลือกนอกประชาธิปไตยแบบฉบับแดง-เหลือง

21 มีนาคม 2553

ภายใต้การประดิษฐ์ประดอยร้อยพยัญชนะทั้งสองกลุ่มล้วนมีคำว่า”ประชาธิปไตย” เหมือนกัน แต่การให้นิยามประชาธิปไตยดูจะแตกต่างกัน

ภายใต้การประดิษฐ์ประดอยร้อยพยัญชนะทั้งสองกลุ่มล้วนมีคำว่า”ประชาธิปไตย” เหมือนกัน แต่การให้นิยามประชาธิปไตยดูจะแตกต่างกัน

โดย...ทีมข่าวการเมือง

การต่อสู้ทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยแบบไทยๆ ดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  ความคาดหวังของสังคมที่ควรจะได้รับการเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านการเคลื่อนไหว ดูจะถูกบดทับให้มีความสำคัญน้อยกว่าภาพสีสันต์ทางการเมืองที่ส่งผ่านการกำหนดสัญลักษณ์ให้เห็นถึงการแบ่งแยก  ว่าคนมีความคิดเห็นแบบนี้ต้องเป็นคนสวมเสื้อสีนี้  คนมีความคิดเห็นอีกแบบ ต้องเป็นอีกสีหนึ่ง

หลังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย( พธม.) หรือ” ม็อบเสื้อเหลือง”  เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลทักษิณ  รัฐบาลสมัคร    รัฐบาลสมชาย นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากนั้นสลายตัวกลับสู่ที่ตั้ง วงเวียนการเมืองหมุนเข้าสู่ยุค “ม็อบเสื้อแดง”  นาม  แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ออกมาเคลื่อนไหวบ้าง  เพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองมองว่าสูญเสียอำนาจไป

ไม่ว่าจะเป็น สีเหลือง- สีแดง   หากมองถึงการจัดวางบุคลากรผู้เป็นแกนนำ    การกำหนดโครงสร้างการทำงาน  ยุทธวิธีเคลื่อนไหว  ล้วนไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก   รูปแบบบางอย่างแทบจะเหมือนกันชนิดที่ไม่รู้ว่าใครลอกเลียนแบบใคร

เปลือกนอกประชาธิปไตยแบบฉบับแดง-เหลือง

แต่ละฝ่ายต่างอ้างว่าต้องการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ฝ่ายเสื้อเหลืองใช้ชื่อว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฝ่ายเสื้อแดงใช้ชื่อ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

ภายใต้การประดิษฐ์ประดอยร้อยพยัญชนะทั้งสองกลุ่มล้วนมีคำว่า "ประชาธิปไตย" เหมือนกัน แต่การให้นิยามประชาธิปไตยดูจะแตกต่างกัน  ฝ่ายเสื้อเหลืองมองว่าประชาธิปไตยคือ การขจัดคนโกง ต่อต้านนักการเมืองที่เข้ามาหาช่องทางตามรัฐธรรมนูญผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จ ด้วยการครอบงำฝ่ายบริหาร  นิติบัญญัติ  องค์กรอิสระ  เพราะนั่นจะเป็นประชาธิปไตยเพื่อคนคนเดียว มิใช่ประชาธิปไตยโดยประชาชนและเพื่อประชาชน

ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดง กลับให้นิยามประชาธิปไตย คือการต่อต้านเผด็จการที่เข้ามาครอบงำการบริหารบ้านเมือง อันมาจากการทำร้ายบุคคลที่อ้างว่าเป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของพวกเขา และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพวกเขายังไปไกลถึงเรื่องไพร่โค่นล้มอำมาตย์  เลยเถิดกลายเป็นทำสงครามแบ่งแยกชนชั้น

มองขึ้นไปบนเวที เสื้อเหลืองมีลูกพี่ใหญ่อย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล  ขณะที่เสื้อแดงมีวีระ มุกสิกพงษ์ ที่บรรดาแกนนำให้ความเคารพ  อาจมีภาพทับซ้อนที่เหนือขึ้นไป โดยเฉพาะเสื้อแดงชัดเจนว่าตัวชี้ทิศทางหลักหรือ”แกนนำตัวพ่อ “  คือ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  ขณะที่สนธิ ถูกมองกันว่าเป็นแค่นอมินีรับบัญชาการจากผู้สูงศักดิ์อีกที   แต่นั่นเป็นแค่เสียงวิจารณ์

ฝ่ายเสื้อเหลืองมีแกนนำที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายภาคสังคมในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น  ภิภพ ธงไชย  สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์   ขณะที่ตัวดึงภาคประชาสังคมของอีกฝ่ายมีนพ.เหวง โตจิรการ  ณัฐวุฒิ   ไสยเกื้อ   ส่วนนักปราศรัยปลุกอารมณ์เดือด ถ้าเป็นเสื้อแดงอุดมไปด้วยแกนนำเลือดร้อน  แต่โดดเด่นสุดไม่มีใครเกิน เจ้าของคำพูด “ระดมขวดล้านใบ มารับน้ำมันก้าดที่กรุงเทพ” อย่าง  กีร์ ระเบิดขวด  อริสมันต์  พงษ์ เรืองรอง  ขณะที่เสื้อเหลือง มีแกนนำจรยุทธ์น่าสะพรึงกลัว  สามารถสร้างความเขย่าขวัญสะเทือนระบบสาธารณูปโภคให้เป็นอัมพาตในพริบตา ซึ่งในหมู่มวลชน เรียกขานกันว่า “ พี่เครา” สมศักดิ์ โกศัยสุข พร้อมลูกน้องจากสหภาพรัฐวิสหากิจที่เจริญรอยตาม  เช่น สุวิทย์ แก้วหวาน

อีกรายจากเสื้อแดง ฝากผลงานด้วยการปรี่เข้าจับตัวนายกฯที่กระทรวงมหาดไทย ยึดปืนหน่วยรปภ. โชว์บนเวทีช่วงเมษาระอุปีที่แล้ว ต้องเป็น สุพร อัตถาวงศ์ สมกับฉายา “แรมบ้าน้อย” รายนี้ต้องคู่กับขุนพลเสื้อเหลือง  วีระ สมความคิด จอมบู๊พิชิตเขาพระวิหาร มุทะลุไม่หวั่นเกรงการปะทะ

การขับเคลื่อนของพธม. ยังมีอดีตนายทหารแก่ อย่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จปร. 7   ฝ่ายเสื้อแดงมีนายทหารรุ่น 10 ให้คำแนะนำหลังเวที   แต่หน้าฉากแบบไม่ต้องอายใคร สวมเครื่องแบบทหารขึ้นเวทีไม่หวั่นเกรงความผิดวินัยทหาร  ต้องยกให้ พล.อ.ปฐมพงศ์ เกษรศุกร์ จากสีเหลือง  ส่วนสี้อแดงเป็นใครไปไม่ได้  “เสธแดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก

ขณะที่รุ่นพี่รุ่นน้องที่เคยยืนหยัดต่อสู้ช่วงพฤษภาทมิฬ  สุริยะใส กตศิลา -  จตุพร พรหมพันธ์  ก็แยกย้ายขึ้นไปอยู่บนเวทีคนละสี  แม้จะมีความแตกต่างด้วยลีลาน้ำเสียง แต่ความเหมือนอยู่อย่าง ล้วนมีแม่ยกตามติดงอมแงมทุกเวที    สุริยใสอาจได้เปรียบรุ่นพี่รั้วพ่อขุนในทางดูดีบนใบหน้า   แต่แกนนำที่ถูกมวลชนยกให้เป็น “คิงคองแดง” ได้ใจจากการสรรหาข้อมูลกล่าวร้ายผู้อื่นจนแยกไม่ออกว่าเป็นข้อมูลเท็จหรือจริง แต่เอาเป็นว่ากล่อมมวลชนให้เชื่อไว้ก่อนค่อยพิสูจน์ทีหลัง

ผลผลิตจากการเคลื่อนไหวทำให้เสื้อเหลืองเปิดมหาวิทยาลัยมัฆวาน มีเยาวชนให้ความสนใจการเมืองเกิดขึ้นในนามเยาวชนประชาธิปไตย  “ ยังแพด” (Young pad )  ขณะที่เสื้อแดงมีมหาวิทยาลัยมัฆวานเช่นกัน แต่ยังมีสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ที่ระยะหลังไม่ค่อยโดดเด่นเรื่องขบวนการกิจกรรมนักศึกษายืนเคียงข้าง

นอกจากการปราศรัยปลุกขวัญ จำเป็นต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือเร่งเร้าอารมณ์ ด้านเสื้อเหลืองใช้มือตบ เสื้อแดงเอาบ้างใช้ตีนตบ เสื้อเหลืองปลูกข้าวในทำเนียบฯประชดรัฐบาลชุมนุมยืดเยื้อ  ฝ่ายเสื้อแดงเข้าทำเนียบฯไม่ได้  งัดมนต์ดำสาดเลือดหน้าทำเนียบฯซะเลย   นอกจากสนธิ เป็นแกนนำหลักต่อสู้ ยังรับบทจอมขมังเวทย์ประจำค่าย บริกรรมคาถาหาชัยชนะ  ถึงขั้นมีข่าวนำวัสดุบางอย่างมาเป็นเคล็ดประกอบพิธีทำลายล้างรัฐบาลหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า  ฝ่ายเสื้อแดงก็มีโหรไพร่  ศักดิ์ระพี พรหมชาติ  คอยใช้คุณไสยปลุกเสกให้รัฐบาลได้รับแต่ความอัปมงคลด้วยความเชื่อว่าจะได้รับชัยชนะ

เสื้อแดงมีกองกำลังคอยเป็นการ์ดใช้ชื่อว่า พระองค์ดำ จากจ.พิษณุโลก  ฝ่ายเสื้อเหลืองก็อาศัยนักรบศรีวิชัย จ.นครศรีธรรมราช  เป็นการด์ที่เข้มแข็ง และถ้าเสธ.แดงไม่โดนตัดสัมพันธ์เสียก่อน การ์ดนักรบพระเจ้าตาก คงได้ร่วมอยู่ในพงศาวดารศึกชิงเมือง   แต่ก่อนทำศึกต้องมีของขลังประจำตัว ฝ่ายเสื้อเหลืองมีผ้าลงยันต์คล้องคอ พร้อมเหรียญตราพันธมิตรฯมัดมือเป็นข้าวต้มมัด     ขณะที่แกนนำเสื้อแดงมีองค์พระเจ้าตากสินและองค์สมเด็จพระนเรศวรคล้องคอแทบทุกคน

ดาราศิลปิน  องค์กรสื่อสารมวลชน  ถูกนำมาเติมแต่งดึงดูด ไม่เน้นว่าต้องมีอุดมการณ์หรือไม่แต่สีสันต์ต้องมาก่อน    เสื้อเหลืองถ่ายทอดสดการเคลื่อนไหว นำเสนอพฤติกรรมคนโกงชาติกินเมือง ผ่าน ทีวีดาวเทียมเเอเอสทีวีผู้จัดการ ส่งผ่านเวปไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ขณะที่เสื้อแดงใช้ทีวีดาวเทียมพีเพิลชาแนล หนังสือพิมพ์ความจริงวันนี้  สื่อสารผ่านเวปไซต์ ประชาไทออนไลน์      มีพิธีกรจากวงการสื่อสารมวลชนประกาศตัวชัดเจนยืนหยัดเสื้อสี อย่าง สำราญ รอดเพชร  สโรชา พรอุดมศักดิ์   ฝ่ายเสื้อแดง ได้นักพูดเอกลักษณ์แหบเรียกแขก  อย่าง  วิภูแถลง   พัฒนภูไท   แถมด้วยผู้ดำเนินรายการหลังฉาก ศุภรัตน์ นาคบุญนำ

ฝ่ายสีเหลืองมีดนตรีเพื่อชีวิตขับกล่อม จากวงแฮมเมอร์  แม้แต่หงา คาราวาน โผล่มาครั้งคราว   ตามด้วย เนาวรัตน์ วงศ์ไพบูลย์ ร่ายกลอนสดบดนักการเมืองโกง   เขย่าซ้ำด้วยเสียงห้าวเสน่หา ขวัญใจชาวคลื่นวิทยุชุมชน “เจ๊ปอง” อัญชลี  ไพรีรักษ์   แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเหลืองมีเจ๊ปองแดงก็มี ”เจ๊ดา” ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดาร์ ตอปิโด

เหลืองมี ”พี่ตั๊ว”  ศรัณยู  วงศ์กระจ่าง  แดงก็มี” น้องโด่ง”   อรรถชัย  อนันตเมฆ    ผสมโรงด้วยศิลปินเพื่อชีวิต เช่น ทอม  ดันดี   จิ้น กรรมาชน  วิสา คัญทัพ     ส่วนไฮไลท์แห่งความบันเทิงเสียดสีการเมืองลือลั่นบนเวทีเสื้อเหลือง  ต้องยกให้งิ้วธรรมศาสตร์ ส่วนฝ่ายเสื้อแดงตามประสาชนไพร่ จึงมีเพลงอีแซวลูกข้าวเหนียว

ไม่เว้นแม้แต่ องค์กรทางศาสนา พระสงฆ์องค์เจ้า  ซึ่งตัดแล้วทางโลกแต่ตัดไม่ได้ทางการเมือง อย่างเสื้อเหลืองได้รับการอนุเคราะห์หลักจากสันติอโศก เสื้อแดงถูกส่งกำลังผ่านธรรมกาย   ขณะที่พระนักเทศน์ชื่อดัง พระราชธรรมนิเทศ  “พระพยอม กัลยาโณ” เป็นที่ศรัททธามวลชนเสื้อแดงเพราะ เทศนาเตือนสติรัฐบาลอภิสิทธิ์ ขณะที่เสื้อเหลืองศรัทธาหลวงตาบัวเพราะเทศนาอบรมรัฐบาลทักษิณ

ฟากนักวิชาการ เด่นชัดบนเวที เสื้อแดงมี ธเนศร์ เจริญเมือง  วรพล พรหมนิกบุตร   สีเหลือง จึงต้องมี ชัยอนันต์ สมุทวนิช  ภูวดล ทรงประเสริฐ  หากมีปัญหาทางข้อกฎหมายในยามชุมนุม เสื้อเหลืองจะมี นิติธร ล้ำเหลือ คอยให้ความกระจ่างไม่แพ้เสื้อแดงมีมานิตย์ จิตร์จันทร์กลับ อดีตหัวหน้าศาลฏีกาเช่นกัน

บางครั้งบางคราในแง่มุมการให้ความเห็นทางการเมือง เวทีเสื้อเหลืองได้เห็นโฉมหน้ามวลหมู่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แม้แต่ กษิต ภิรมย์  รมว.ต่างประเทศ เจ้าของคำพูด อาหารดี ดนตรีไพเราะ ก็ผ่านสังเวียนนี้มาแล้ว ขณะที่เสื้อแดงชัดเจนส.ส.เพื่อไทย อดีตส.ส.บ้านเลขที่ 111 เรียงหน้าขึ้นเวทีอย่างไม่ละอายว่าแท้ที่จริงแล้วม็อบนี้คือม็อบได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง

ถึงจะแตกต่างหรือคล้ายคลึงในบางส่วน  แม้ระดับคุณภาพการเคลื่อนไหวอาจมีบางอย่างเทียบกันไม่ได้    แต่สิ่งที่เหมือนกัน  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือเสื้อสีอื่นใด   ล้วนอยู่บนแผ่นดินไทยเหมือนกัน และมีเลือดรักชาติที่เหมือนกัน