posttoday

"แดง"เมินภาษีที่ดินขอลุยการเมืองก่อน

03 กันยายน 2555

หนึ่งปีที่ผ่านมาสะท้อนว่ารัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหาการถือครองที่ดิน ทั้งที่เคยเขียนนโยบายว่าจะผลักดันระบบภาษีที่ดิน

โดย...ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

"แดง"เมินภาษีที่ดินขอลุยการเมืองก่อน

โครงการประชานิยมซื้อใจ “รากหญ้า” และ “ชนชั้นกลาง” สารพัดโครงการของรัฐบาล กำลังเป็นปัญหาหนักอกกับงบประมาณก้อนโตที่จะต้องนำมาชดเชยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ การขึ้นภาษีเหล้า-บุหรี่ เป็นตัวอย่างทางออกเฉพาะหน้า ทว่าเกิดคำถามตามมาว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่ขยับไปขึ้นภาษีที่ดิน ที่นอกจากรายได้เข้ารัฐแบบเป็นกอบเป็นกำแล้วยังช่วยทลายช่องว่างระหว่างชนชั้นให้แคบลง

“กลุ่มคนเพียง 10% ถือครองที่ดินถึง 80% ของที่ดินมีโฉนดทั้งหมดในประเทศ ประชาชนที่เหลืออีก 90% กลับถือครองที่ดินเพียง 20% เท่านั้น”
ผลวิจัยเรื่อง “การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย” โดย ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพความเหลื่อมล้ำที่ซุกใต้พรมแผ่นดินไทยมานานหลายทศวรรษ

ทางออกของเรื่องนี้แค่รัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ประกาศใช้เป็นผลสำเร็จ เพื่อนำมาสู่การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า บีบผู้ถือครองให้คายที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์หรือหากยังฝืนอมไว้ รายได้จากการเก็บภาษีเหล่านี้จะถูกรัฐหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนำมากระจายไปยังชนชั้นล่างมากยิ่งขึ้น เพื่อลดช่องว่างระหว่างพลเมืองในสังคม

น่าแปลกตรงที่ “พรรคเพื่อไทย” ที่ก้าวขึ้นเป็นรัฐบาลจากฐานเสียงของชนชั้นล่างหรือเรียกว่าเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ใน 90% ข้างต้น กลับมองข้ามช่องว่างทางสังคม ในขณะที่กลุ่มมวลชนหนุนพรรคอย่างแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กลับทำหน้าที่องค์กรภาคประชาชนที่พร่ำเพรียกหาเพียงความเสมอภาคทางการเมืองเท่านั้น

อาจารย์ดวงมณี ให้ความเห็นกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า พรรคเพื่อไทยก้าวเข้ามาเป็นรัฐบาลจากฐานเสียงของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ต่ำหรือกลุ่มคนรากหญ้าเป็นส่วนใหญ่ จึงพยายามขับเคลื่อนนโยบายประชานิยมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความเป็นอยู่ให้กับประชาชน แต่ประชานิยมที่รัฐบาลกระหน่ำสร้างนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวให้ประชาชนยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้อย่างถาวร และต่อไปข้างหน้าคาดว่ารัฐบาลจะยังคงต้องเทเม็ดเงินต่อเนื่องไม่จบสิ้น ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลหันมาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยกระจายความเสมอภาคในการถือครองที่ดิน จึงจะแก้ปัญหาได้ถึงรากและเห็นผลระยะยาวได้

“หนึ่งปีที่ผ่านมาสะท้อนว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหาการถือครองที่ดินเท่าที่ควร ทั้งที่เคยเขียนนโยบายว่าจะผลักดันระบบภาษีที่ดินและธนาคารที่ดิน อาจเห็นเพียงรัฐมนตรีบางคนที่ออกมาพูดบ้างประปราย แต่ไม่ได้ผลักดันอะไรให้เกิดความคืบหน้าขึ้นมา อาจเป็นเพราะว่านโยบายนี้อาจไปกระทบกลุ่มคน 10% รวมถึงนักการเมืองที่ถือครองที่ดินเอง” อาจารย์ดวงมณี กล่าว

อาจารย์ดวงมณี ยังแสดงความแปลกใจว่า เหตุใด นปช.จึงเรียกร้องสิทธิเฉพาะด้านการเมือง แต่กลับหลงลืมความเหลื่อมล้ำด้านอื่นที่ตนเองได้รับผลกระทบ “เข้าใจว่าความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติ คนกลุ่มนี้อาจต้องการเน้นด้านการเมือง แต่หากเปรียบเทียบกับกลุ่มเสื้อเหลืองแล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงน่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ยังต่ำกว่า แต่เหตุใดจึงไม่เคลื่อนไหวเรื่องนี้บ้าง นับเป็นกรณีที่น่าจะศึกษาอย่างยิ่ง

“ไม่มีทางหรอก” คำยืนยันชัดเจนจากประธาน นปช. “ธิดา ถาวรเศรษฐ์” หลังถูกถามว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะเบนเข็มไปต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินบ้างหรือไม่

ประธาน นปช. อธิบายว่า การต่อสู้ของกลุ่ม นปช.ยังโฟกัสแนวทางเคลื่อนไหวภายในขอบเขตการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง โดยเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะแตะต้องนโยบายด้านเศรษฐกิจหรือด้านอื่นแต่อย่างใด

“เรารู้ว่าจังหวะก้าวแห่งการเปลี่ยนแปลงมันไม่ง่าย นี่ขนาดยังไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย ยังฆ่ากันตายขนาดนี้” ธิดา เสียงเข้ม ก่อนถามย้อนมาว่า “คุณรู้ไหมว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม (อดีตนายกรัฐมนตรี) พอบอกว่าจะจำกัดการถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 50 ไร่ เท่านั้นล่ะ โดนเลย แล้วถามว่ารัฐบาลของระบอบอำมาตย์หรือพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมากล้าทำเรื่องนี้ไหม ดีแต่ปฏิรูปที่ดิน แล้วมีแต่เอาที่ดินไปเป็นของคนรวย ถามว่าคุณกล้ากำหนดการถือครองที่ดินหรือ ไม่มี้ (เสียงสูง) ถามว่าเพราะอะไร ก็เพราะกลุ่มจารีตนิยมทั้งหลายเป็นเจ้าที่ดินทั้งนั้น”

ถามย้ำไปถึงเป้าหมายระยะยาวของ นปช. จะมีเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินหรือไม่ ธิดา ตอบไม่ต่างจากเดิมว่า เรายังไม่จำเป็นต้องทำหรอก สถานการณ์มันจะทำให้พวกเขารู้เอง ขืนไปพูดเดี๋ยวก็โดนด่า ไอ้คอมมิวนิสต์! ลากไปโน่น อีกนั่นแหละ ดังนั้นยังไม่ต้อง

“วันไหนถ้าให้พูดนะ จะบอกเลยว่าภาษีในประเทศไทยส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นภาษีคนจน เพราะเป็นภาษีทางอ้อมทั้งนั้น ตัวเลขพวกนี้ต้องถูกนำมาเปิดเผย ขอโทษทุกวันนี้คนจนถูกจ่ายภาษีมากกว่าคนรวย แต่ขณะนี้เรายังไม่พูดเรื่องเศรษฐกิจ แนวคิดของ นปช.ยังต่อสู้ในเฉพาะปริมณฑลการเมืองก่อน อย่างอื่นค่อยปรับตามมาทีหลัง” ประธาน นปช.ย้ำจุดยืน

ด้าน “สมบัติ บุญงามอนงค์” แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง มองว่า ขณะนี้กลุ่ม นปช.เคลื่อนไหวในเชิงโครงสร้างทางการเมือง การเคลื่อนไหวจึงยังไม่ก้าวหน้าไปถึงการลดความเหลื่อมล้ำเชิงรูปธรรม เช่น การปฏิรูปที่ดิน การลดความรุนแรงในสังคม หรือระบบสวัสดิภาพผู้สูงอายุ เป็นต้น

“แต่ผมเห็นสัญญาณที่ดีจากการที่อาจารย์ธิดาออกมาวิพากษ์การปฏิรูปการศึกษาไทย หลังจากที่เกิดเรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สภาการศึกษา มันสะท้อนว่าประธาน นปช.เริ่มขยับแนวคิดการต่อสู้ไปยังเรื่องอื่นนอกเหนือจากการเมือง นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกลุ่ม นปช.ที่ต้องพูดคุยเรื่องพวกนี้บ้าง” แกนนอนรายนี้ระบุ

ถามว่าพรรคเพื่อไทยไม่กล้าเดินนโยบายที่กระทบต่อชนชั้นนำเพราะหวั่นเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ “สมบัติ” ตอบว่า จะมองแบบนั้นก็ได้ แต่ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลไม่ควรไปกลัวหรือให้เครดิตว่าจะไปกระทบกับพวกชนชั้นนำมากจนเกินไป เพราะรัฐบาลมีอำนาจรัฐอยู่ในมือในการผลักดัน ขอให้รัฐบาลอาจไม่ถึงขั้นต้องลุยเต็มตัว แต่ค่อยๆ เริ่มขยับไปในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับประชาชน ดีกว่าไม่เริ่มทำอะไรเลย