posttoday

ผลงานผมวัดกันตอนเลือกตั้ง!

18 สิงหาคม 2555

"ผมไม่ได้ออกสื่อไม่ได้หมายความว่าผมไม่ได้ทำงาน เพราะภาระกรอบความรับผิดชอบในตำแหน่งเลขาฯ คือการบริหารพรรค คือการทำงานให้กับหัวหน้าพรรค ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ด้วย"

"ผมไม่ได้ออกสื่อไม่ได้หมายความว่าผมไม่ได้ทำงาน เพราะภาระกรอบความรับผิดชอบในตำแหน่งเลขาฯ คือการบริหารพรรค คือการทำงานให้กับหัวหน้าพรรค ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ด้วย"

อุดมการณ์ไม่เปลี่ยนแต่วิธีการต้องเปลี่ยน

โดย.....ธนพล บางยี่ขัน

ผ่านร้อนผ่านหนาวสู่ปีที่ 66 โจทย์ใหญ่ที่"ประชาธิปัตย์" ยังแก้ไม่ตกคือ ทำอย่างไรจะชนะการเลือกตั้ง ยิ่งในวันที่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ได้รับอิสรภาพ กำลังทยอยหวนคืนสนาม ความหวังของประชาธิปัตย์ดูจะริบหรี่ลงไปทุกที จนถูกปรามาสว่าอาจเป็นฝ่ายค้านตลอดกาล

ผลงานผมวัดกันตอนเลือกตั้ง! เฉลิมชัย ศรีอ่อน

ความพ่ายแพ้การเลือกตั้ง 2554 แบบถล่มทลายทำให้ "ประชาธิปัตย์" ถือโอกาสสังคายนาโครงสร้างพรรคครั้งใหญ่ ทว่ากว่าหนึ่งปีในตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนใหม่ "เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน" แทบจะเงียบหายไปจากหน้าฉากการเมือง จนสงสัยกันว่าที่หายไปนั้น "นิ่งเงียบ" หรือ "ซุ่ม" ทำอะไร

"ผมไม่ได้ออกสื่อไม่ได้หมายความว่าผมไม่ได้ทำงาน เพราะภาระกรอบความรับผิดชอบในตำแหน่งเลขาฯ คือการบริหารพรรค คือการทำงานให้กับหัวหน้าพรรค ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ด้วย" เฉลิมชัย เปิดใจถึงภารกิจแม่บ้านพรรค

เขาอธิบายว่า หลังรับตำแหน่ง เป้าหมายใหญ่คือทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาธิปัตย์กลับมาชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ส่วนวิธีการ กระบวนการทำงาน ก็มาบริหารปรับเปลี่ยน ทั้งการกระจายอำนาจ ยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการ เรื่องภาพลักษณ์

"พูดคุยกันชัดเจนว่าการทำงานต้องทำงานเป็นทีม แต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั่นทำให้ผมถึงไม่ได้ออกมาเป็นข่าวมากนักเพราะในส่วนงานเลขาธิการพรรคต้องดูรายละเอียดทุกอย่างภายในพรรค การขับเคลื่อนเรื่องยุทธศาสตร์มวลชน นโยบาย ผมจะต้องทำงานประสานกับทุกฝ่าย และพูดคุยกับหัวหน้าพรรคตลอดเวลา อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ประชุมกรรมการบริหาร กำหนดยุทธศาสตร์ 10 ฐานราก ที่หัวหน้าพรรคนำเสนอสู่สาธารณะ ในการกำหนดพิมพ์เขียวประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับ15 ยุทธศาสตร์พรรคที่ประกาศในการประชุมใหญ่"

เฉลิมชัย อธิบายว่า ประชาธิปัตย์ในยุคที่เขาเป็นเลขาธิการพรรค หลักการและอุดมการณ์ของเราไม่เปลี่ยน เพียงแต่วิธีการทำงานต้องเปลี่ยนไปพรรคตั้งมา 66 ปี ต้องถามว่า 66 ปีก่อน กับ 66 ปีนี้ มันเหมือนกันไหม วัฒนธรรม สังคม ทุกอย่างเปลี่ยนไปทั้งหมด เราก็เหมือนกัน เราก็ต้องปรับ การปรับก็หมายความว่าทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้ อยู่ในสังคมได้ ไม่มีหรอกครับสังคมไหนที่ไม่ปรับเปลี่ยนแล้วอยู่ได้ ไม่มี"

สอบถามถึงปัญหาในอดีตเรื่องการรวมศูนย์อำนาจการบริหารงานจัดการไว้เพียงแค่ไม่กี่คนนั้น "เฉลิมชัย" ออกตัวว่า ไม่ได้บอกว่าที่ผ่านมารวมศูนย์อำนาจ แต่การกระจายอำนาจ กระจายงานที่มอบหมายที่ชัดเจนออกไป คือการทำงานเป็นทีม

"เหมือนทีมฟุตบอล ถ้าคุณมีกองหน้า 11 ตัวคุณไม่มีทางชนะ คุณมีประตู 10 ตัว คุณก็ไม่มีทางยิงประตูเขาได้ มันก็ต้องมีทุกตำแหน่งมีโค้ช มีผู้จัดการทีม กองหน้า กองกลาง กองหลัง ประตู แม้กระทั่งวันนี้ วิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามา หมอนวดก็มีความสำคัญไปดูว่าทีมดังๆ ในพรีเมียร์ลีก ในยุโรป สเปนเยอรมนี มีตรงนี้ทั้งหมด

ผลงานผมวัดกันตอนเลือกตั้ง!

...เขาบอกว่า ทีมจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนมีความสมบูรณ์พร้อมในการที่จะเดินไปสู่จุดหมายเดียวกัน ผมก็คิดไม่ต่างกันตรงนั้นวันนี้ประชาธิปัตย์ก็ต้องมีทุกฝ่าย มีทุกส่วนที่ทำงานไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ถ้าประชาธิปัตย์มีคนอยู่ 100 คน เสนอต้องการออกสื่อมีชื่อเสียงทั้ง100 คน แล้วไม่มีคนทำงานมวลชน ไม่มีคนมาบริหารพรรคดูแล ผมถามว่ามันจะไปได้ไหม หรือถ้าคิดว่าทำมวลชนอย่างเดียว ไม่มีคนชี้แจงสื่อกับสังคมว่าเป็นอย่างไร ก็ไม่มีทางทำงานได้ เพราะฉะนั้นความชัดเจนในการทำหน้าที่ตรงนี้ผมว่าเรามี"

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายว่าทุกภาคส่วนมีความสำคัญในการขับเคลื่อนสส.หลายท่านอาจไม่ได้มีบทบาทในสภา ไม่มีบทบาททางสื่อแต่ลองไปเช็กมวลชนของเขาแน่นขนาดที่ใครก็เจาะไม่ได้ ซึ่งสะท้อนกลับมาว่านี่คือมวลชนของพรรคเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องมีองค์ประกอบรวมกันทั้งหมด

แน่นอนว่าเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ย่อมถูกนำไปเปรียบเทียบกับการทำงานของ สุเทพเทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ซึ่ง"เฉลิมชัย" ชี้แจงว่า ท่านสุเทพก็ทำงานของท่านทำงานเวทีผ่าความจริง ก็รับภาระตรงนั้นไปต่างคนก็ต่างมีภารกิจในการทำงาน แล้วแต่ว่ากำหนดตัวเองอยู่ตรงไหน

"ถ้ากำหนดตัวเองให้อยู่ในหน้าสื่อก็ต้องทำตัวให้ดังหน่อย มีปัญหาหน่อย อะไรก็แล้วแต่ที่มีเทคนิคการทำอยู่ ผมมองว่าผมจะดังหรือไม่ดังก็เป็นเลขาฯ พรรค ดังหรือไม่ดังก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้  เพราะฉะนั้นไม่มีผลกับผม ที่จะมาบอกว่าต้องออกหน้าหนึ่งมาแสดงบทบาทอะไร เพราะปกติก็มีภาระหน้าที่อยู่แล้ว"

ถามถึงความขัดแย้งภายในพรรค"เฉลิมชัย" ตอบตั้งแต่ยังไม่ทันถามเสร็จดีว่าไม่หรอกครับ ประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมือง ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรคร่วมกันเมื่อทุกคนเป็นเจ้าของพรรคร่วมกันความคิดเห็นแตกต่างมีทุกพรรค แต่ประชาธิปัตย์เป็นคนที่เอาเหตุเอาผลมาคุยกัน เรื่องความแตกแยกนี่ผมรับประกันเลยว่าไม่มี

ซักไซ้ต่อไปถึงข่าวกดดันให้เปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคเพราะผลงานยังไม่ประจักษ์ในช่วงที่ผ่านมา เจ้าตัวเบี่ยงประเด็นว่า เห็นแต่ข่าวเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคออกมาก่อน และทราบจากสื่อ

"ผมเป็นเลขาฯ พรรคยังไม่รู้เลย ไม่รู้ใครไปฝันกลางวัน เป็นไปได้ไหม เปลี่ยนยังไง ใครจะเปลี่ยนผมยังไม่เคยเห็นใครพูดแม้แต่คนเดียวนอกจาก พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ยังไม่เห็นคนอื่นผมว่าจะซื้อกระจกไปให้แกสักบาน ไปส่องดูพรรคตัวเอง กับตัวเองว่าคุณไปวิจารณ์ตรงนี้คุณไปรู้อะไร"

ส่วนเสียงปรามาสที่ว่า หากบ้านเลขที่ 111 กลับมาลงสนาม ประชาธิปัตย์จะต้องเป็นฝ่ายค้านยาวนั้น เลขาธิการพรรค มองว่า ไม่เป็นไรฝ่ายค้านเป็นสถาบันทางการเมือง ที่ไม่ได้เล่นการเมืองเพื่อหาผลประโยชน์แต่เล่นการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติเพราะฉะนั้นประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาลก็ได้ เป็นฝ่ายค้านก็ได้ แต่อย่าไปตอบแทนประชาชนประชาชนเขาจะเป็นคนตอบเองว่าจะให้ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน คุณบริหารไม่ดีเอาเงินไปฟาดหัวเขา เขาก็ไม่เอา

"ไม่แตกต่าง คุณจะเอาแถวไหนมาก็แล้วแต่นักการเมืองมีคุณภาพทั้งนั้นแหละ คุณจะไปคิดว่าแถวสองแถวสาม ผมว่าไม่ใช่ คนที่อยู่แถวหนึ่งเพราะโดนออกไป ในความเป็นจริงต้องถามว่าเขาออกไปจริงหรือเปล่า ก็ไม่ได้จริงหรอกครับ ชักใยอยู่เบื้องหลัง ผมถามว่ารัฐบาลนี้ชื่อนายกฯยิ่งลักษณ์ คนชื่อทักษิณ ยังชักใยอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า เอาความจริงมาคุยกันก็ยังชักใยอยู่ เพราะฉะนั้นวันนี้ใครมาก็ไม่ต่างสำหรับผมในวันที่ผมอยู่ตรงนี้จะ 111, 109 ไม่มีความแตกต่างทางการเมือง"

ครบ 1 ปีกว่าในเก้าอี้เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ "เฉลิมชัย" ชี้แจงว่า คงจะประเมินการทำงานของตนเองตอนนี้ไม่ได้ประชาธิปไตยวันนี้เป็นประชาธิปไตยที่อุปโลกน์ขึ้นมาโดยการนับหัวนับคะแนน

"ผลงานผมจะไปประเมินวันเลือกตั้งวันนี้เราต่างคนต่างทำงาน แบ่งความรับผิดชอบชัดเจนไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันการเมืองจะพิสูจน์ในวันเลือกตั้งทั้งนั้น วันนี้ถ้าผมทำอะไรก็แล้วแต่ให้ดังสนั่นโลก แต่หากเลือกตั้งต่ำกว่า 160 เสียง ผมก็โดนฆ่าตายในวันเดียวเลย ผมมีหน้าที่ที่จะทำอย่างไรให้พรรคชนะการเลือกตั้ง นี่คือภาระสูงสุด"เขากล่าวทิ้งท้ายถาม

จริงใจเจาะฐานแดงปชป.ถึงจะชนะ

เคล็ดลับที่ประชาธิปัตย์จะชนะเลือกตั้ง"เฉลิมชัย" ตอนสั้นๆ ว่า ต้องทุ่มเท ทุกคนทุกภาคส่วนในพรรคต้องทุ่มเท งานด้านมวลชนเวลานี้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลรับผิดชอบโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำสองส่วนคู่กันไปทั้งสมาชิกพรรคที่ปัจจุบันมีสมาชิก 2 ล้านคนเศษ ที่จะขยับเพิ่มขึ้นมีเป้าหมายที่กำหนดไว้

รวมไปถึงคะแนนระบบบัญชีรายชื่อของพรรค ซึ่งเป็นงานที่เขาไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นงานมวลชน นโยบาย งานพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดมารวมกัน สรุปบทสุดท้ายก็คือคะแนนบัญชีรายชื่อที่ออกมา

"มั่นใจว่าได้มากกว่าเดิม 100% ส่วนมากขึ้นขนาดไหนนั้นตอบไม่ได้ อยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจ ผมไม่กล้าไปตัดสินใจแทนคนบางคน กลุ่มบางกลุ่ม ที่บอกว่าประชาชนเท่านั้นเท่านี้ คุณจะรู้ได้ไงว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าคุณจะได้เท่านี้ ไม่มีทางตอบได้นอกจากคุณโกงเข้ามา คุณโกงมาเท่านี้ ครั้งหน้าคุณได้แค่นี้ก็โอเค"

งานหินเวลานี้ต้องพุ่งเป้าไปที่การเจาะพื้นที่สีแดง ซึ่ง "เฉลิมชัย" เรามีคะแนนทุกเขต อย่างอีสานเขตเมืองเรามีเป็นหมื่นคะแนนทุกเขตเพราะฉะนั้นการทำงานอยู่ที่ว่าเรากำลังจะสื่อสารไปถึงพวกเขาได้อย่างไร

"ผมไปหลายพื้นที่ได้รับการตอบรับดี ต้องรับฟังเสียงสะท้อนที่กลับมา เข้ามาถูกผิดต้องรับฟังหมด เรามีหน้าที่ไปดำเนินการแก้ไข ผมไปอีสานบอกพี่น้องว่าเอาใจกับความรู้สึกดีๆ ความปรารถนาที่ดีมาให้ ถ้าเรามีโอกาสได้พูดคุยกันมีโอกาสเสนอแนะอะไร พรรคพร้อมรับฟังอะไรที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องอีสาน จะกลับมาสู่รูปแบบนโยบาย ถ้าเราเดินเข้าหาเขา เอาความจริงใจ เอาสิ่งที่เป็นความจริงมาคุยกับเขา พี่น้องภาคเหนือ อีสาน ไม่ต้องการความรุนแรง"

ถามว่า นอกจากความจริงใจแล้ว จะเอาอะไรไปนำเสนอให้คนอีสาน คนเหนือหันมาเลือกประชาธิปัตย์ "เฉลิมชัย" ย้ำว่า ต้องคุยความจริง ข้อเท็จจริง ความชัดเจน ต้องมีนโยบายชัดเจน ตอบคำถามว่าประเทศจะได้ประโยชน์อะไร ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายของเรา ลูกหลานของเขาจะได้ประโยชน์อะไร มีความมั่นคงแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่ประชาธิปัตย์กำลังทำและวางรากฐานให้กับอนาคตของประเทศ

ถัดมา "ภาคกลาง" ที่ถือเป็นฐานเสียงเป้าหมาย ที่เขาอธิบายว่า เลือกตั้งครั้งหน้าภาคกลางตั้งเป้าไว้ 50 ที่นั่ง จากเดิม 27 ที่นั่งเวลานี้ผ่านมาหนึ่งปีมีการทำพื้นที่ มีอดีต สส.ผู้สมัคร มีสาขาพรรค ไปช่วยกัน ยกตัวอย่าง รองหัวหน้าพรรค "อลงกรณ์ พลบุตร" จัดกิจกรรมทุกเดือน เวียนไปเกือบทุกจังหวัด

"ผมก็ลงไปเยี่ยมเยียน พบปะมวลชนพ่อค้าเกษตรกร วันนี้เรารับฟังความคิดเห็น สิ่งที่สะท้อนกลับมา ในวันที่ประชาธิปัตย์แพ้ มีเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน หลายส่วนว่าเป็นอย่างไรเรารับฟัง และเราคิดว่าส่วนไหนที่จะต้องไปเติมให้เต็มเราก็ลงไปทำ"

ส่วนคะแนนนิยมของ "ประชาธิปัตย์" ช่วงปีที่ผ่านมาสะท้อนตามโพลต่างๆ ยังไม่ค่อยกระเตื้องขึ้นเท่าไหร่ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์โต้กลับว่า คะแนนประชาธิปัตย์ดีขึ้น100% โพลแต่ละสำนักก็ไม่เหมือนกัน ประเด็นการถาม อยู่ที่จะถามในประเด็นไหน

"ยอมรับความจริงสูงขึ้น ของแพง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ น้ำมันแพง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เห็นชัด น้ำท่วมไม่ได้บอกว่าเทวดาจะแก้ไขปัญหาได้ แต่เราบอกว่าน่าจะทำให้เกิดความเสียหายน้อยกว่านี้ถ้ารัฐบาลเปิดรับฟังความคิดเห็น แก้ไขอย่างมีประสบการณ์ บรรเทาให้เสียหายน้อยลง

...ฝ่ายค้านไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย หน้าที่ตอนนี้คือรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติการออกมาเรียกร้องปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ พรรคประชาธิปัตย์ทำมาทั้งหมด นำเสนอทางออกรัฐบาลควรทำอะไร นี่คือผลงานของฝ่ายค้านที่ไม่ทำให้รัฐบาลก่อความเสียหายให้กับประเทศ ไม่ให้ทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น"

ถ่ายน้ำมันเครื่องพร้อมลุย

ความพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาถูกถอดรหัสผ่านงานวิจัยสะท้อนลักษณะ"ประชาธิปัตย์" ว่าเป็น "รถเบนซ์เครื่องอีแต๋น" ทว่าในสายตา "เฉลิมชัย" เขามองว่ารถเบนซ์ก็ยังเป็นเครื่องเบนซ์เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะยังเข้าเกียร์ต่ำเท่านั้น และในวันที่เขาเปลี่ยนหน้าที่จากคนโดยสารมาร่วมขับเคลื่อนแล้วเขามองว่าสิ่งที่จะทำให้รถคันนี้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายคือการต้องดูแลซ่อมบำรุง เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้เครื่องยนต์ทำหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ผลงานผมวัดกันตอนเลือกตั้ง!

หนึ่งปีที่ผ่านมาในเก้าอี้แม่บ้านพรรค เขาได้ปรับปรุงจุดอ่อน รักษาจุดแข็ง ตั้งแต่การกระจายอำนาจ ยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการ ขยับทุกภาคส่วนให้เดินหน้าไปพร้อมกันสู่เป้าหมาย แบ่งงานให้คณะกรรมการชุดต่างๆ ให้เกิดความกระชับและเดินหน้าไปตามยุทธศาสตร์ 10 ฐานรากที่ อภิสิทธิ์เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคนำเสนอสู่สาธารณะ

รวมถึง "พิมพ์เขียวประเทศไทย" อีกทิศทางความชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะนำพาประเทศไปอย่างไรต่อจากนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการด้วยการรวบรวมความคิดเห็นข้อเสนอแนะ "มืออาชีพ"นักวิชาการ นักธุรกิจ ภาคส่วนต่างๆ มากลั่นรวมกับข้อมูลของพรรค ที่จะตกผลึกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะสอดรับกับ15 ยุทธศาสตร์พรรคที่เคยประกาศในการประชุมใหญ่

ถามถึงการประเมินผล 1 ปีที่ผ่านมาคะแนนในพื้นที่ขยับขึ้นมากน้อยแค่ไหนเลขาฯ ประชาธิปัตย์ ตอบว่า วัดได้จากความรู้สึก กระแสตอบรับดีขึ้นเยอะ สังเกตจากวันนี้เราเข้าไปใกล้ชิดกับการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น พื้นที่อีสานเราสามารถช่วงชิงชัยชนะในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หลายพื้นที่ทั้ง อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราคิดว่าถ้าเราเดินถูกทาง เราก็สามารถทำพื้นที่เจาะพื้นที่เป้าหมายได้ ต้องทำงานควบคู่กับทุกภาคส่วน ทั้งท้องถิ่นสมาชิกพรรค สาขาพรรค ต้องขับเคลื่อนร่วมกันทั้งหมด

เฉลิมชัย เชื่อว่าสิ่งที่ทำในวันนี้จะสามารถเห็นผลได้ในการเลือกตั้งที่หากตามกรอบระยะเวลาปกติก็อีก 3 ปีแน่นอน ส่วนจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ ก็ถือเป็นเป้าหมายของทุกพรรคการเมือง เพียงแต่ว่าการจะเดินไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ได้ ต้องอยู่ที่อุปสรรค อยู่ที่หลายสิ่งหลายอย่างที่จะเป็นองค์ประกอบร่วมกัน แต่ว่าเราทำเต็มที่ ทำภายใต้กรอบที่สามารถให้เราทำได้

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าประชาธิปัตย์เชื่องช้านั้นแม่บ้านพรรคมองว่าเป็นแค่ "วาทกรรม" ที่ปรุงแต่งได้ง่าย ถ้าบอกว่าประชาธิปัตย์เชื่องช้ารัฐบาลนี้ก็ขี้โม้ เพราะนโยบาย16 ข้อ ทำไม่ได้แม้แต่ข้อเดียว แต่ขี้โม้เอาคนขี้โม้มาคุย บังเอิญสื่ออยู่ในมือเลยนำเสนอสิ่งต่างๆ ให้กับสังคมได้มาก

"ผมถามมีอะไรประสบความสำเร็จบ้างมองไม่เห็นเลย ต้องเอาความจริงมาตอบกันค่าแรงได้ไหม ก็ไม่ได้ วันนี้ผู้ประกอบการก็อวดครวญ เอสเอ็มอีแทบเจ๊ง แรงงานส่วนหนึ่งบอกไม่ขึ้นเงินเดือน 1.5 หมื่นบาทก็ไม่ใช่เงินเดือนทั้งหมด จำนำมันสำปะหลังขาดทุนเละเทะ รัฐบาลเมื่อได้รับฉันทานุมัติแล้วต้องฟังเสียงประชาชน แม้กระทั่งฝ่ายค้าน อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชน กับประเทศต้องทำ อะไรที่เป็นความเสียหาย การทุจริตคอร์รัปชัน คุณต้องเข้าไปแก้ไข"

"ผมไม่ได้ออกสื่อไม่ได้หมายความว่าผมไม่ได้ทำงาน เพราะภาระกรอบความรับผิดชอบในตำแหน่งเลขาฯ คือการบริหารพรรค คือการทำงานให้กับหัวหน้าพรรค ชัดเจนอยู่แล้วไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ด้วย"

"ผมก็ลงไปเยี่ยมเยียน พบปะมวลชนพ่อค้าเกษตรกร วันนี้เรารับฟังความคิดเห็น สิ่งที่สะท้อนกลับมา ในวันที่ประชาธิปัตย์แพ้ มีเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน หลายส่วนว่าเป็นอย่างไรเรารับฟัง และเราคิดว่าส่วนไหนที่จะต้องไปเติมให้เต็มเราก็ลงไปทำ"