posttoday

เพื่อนเราเผาเรือน

02 สิงหาคม 2555

เป็นที่น่าสงสัยว่า การที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพิ่มการก่อเหตุร้ายรุนแรงมากขึ้น เป็นเพราะแผนกดดันจากเพื่อนบ้านหรือไม่

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ใครได้เห็นคลิปวิดีโอที่กลุ่มก่อการร้ายระดมกำลังกว่า 10 คน ในรถกระบะ 3 คัน ยิงทหารที่เดินลาดตระเวนเพื่อให้ความคุ้มครองครู นักเรียน และประชาชนที่ใช้เส้นทางนั้นเสียชีวิตทันที 4 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย และยึดอาวุธ เสื้อเกราะ ฯลฯ คงเกิดความสลดใจอย่างบอกไม่ถูก ที่ผ่านมาเราได้ยินแต่รายงานข่าวหรือภาพที่เกิดขึ้นในภายหลังเหตุการณ์ แต่ครั้งนี้เราเห็นภาพขณะเกิดเหตุเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ อารมณ์ ความรู้สึกคงแตกต่างกันมาก

ตั้งแต่เริ่มเข้าฤดูถือศีลอดในปีนี้ สถิติจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดย ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 20-29 ก.ค. 2555 ผู้ก่อการร้ายก่อเหตุรวม 22 เหตุการณ์ ตั้งแต่การวางระเบิดที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส การสังหารตำรวจ 5 นาย ที่ อ.รามัน จ.ยะลา การโจมตีชุดลาดตระเวนทหารพรานที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา การโจมตีฐานปฏิบัติการทหารที่ อ.รือเสาะ และ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ผู้ก่อการร้ายกว่า 10 คน ใช้รถกระบะ 3 คัน ประกบยิงทหารเสียชีวิตทันที 4 นาย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 คน บาดเจ็บ 17 คน ถือว่าเป็นการก่อเหตุรุนแรงมากที่สุดและก่อให้เกิดความสูญเสียมากที่สุดมากกว่าทุกปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน

เพื่อนเราเผาเรือน

หลายคนตั้งคำถามว่า ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2547 จนถึงขณะนี้ หรือ 103 เดือน หรือ 8 ปี 7 เดือนเข้าไปแล้ว นับแต่เกิดความรุนแรงยุคใหม่โดยคนกลุ่มใหม่ มีเหตุร้ายเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 1.2 หมื่นครั้ง หรือเดือนละ 60-100 ครั้ง ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมร่วม 1.5 หมื่นคน โดยตายไปแล้วกว่า 5,000 คน ที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวไทยมุสลิม และบาดเจ็บอีกร่วม 9,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธ ไม่มีใครรู้ว่าความรุนแรงนี้จะจบเมื่อไร จบอย่างไร และมีผลประการใด

กว่า 8 ปีที่ผ่านมา รัฐทุ่มงบประมาณไปในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วร่วม 2 แสนล้านบาท และใช้กำลังทหาร ตำรวจ อาสาสมัครกว่า 1.5 แสนคน แต่หลายคนสงสัยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คุ้มกับกำลังคนและงบที่ทุ่มลงไปหรือไม่อย่างไร แนวทางที่ทำอยู่จนถึงขณะนี้ถูกหรือไม่ รัฐเดินแนวทางถูกหรือไม่

เราเชื่อว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมาพยายามที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ละรัฐบาลต่างก็มี|แนวคิดในการแก้ปัญหาของตัวเอง นโยบายของบางรัฐบาลแทนที่จะแก้ปัญหากลับไปสร้างปัญหาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความรุนแรงและการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่บังเอิญมีศาสนา ชาติพันธุ์ ขนบธรรมเนียม ประเพณีเดียวกับขบวนการก่อเหตุร้าย ทำให้การแก้ปัญหาของรัฐบาลยากขึ้น หากไม่ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนบ้าน เพราะผู้ก่อการร้ายสามารถใช้ดินแดนประเทศเพื่อนบ้านเป็นที่หลบซ่อนและเป็นฐานปฏิบัติการโจมตีไทยได้ ยิ่งหากรัฐบาลเพื่อนบ้านรู้เห็นเป็นใจกับขบวนการก่อการร้ายด้วยแล้ว ก็ลำบากเพิ่มขึ้น

รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านกล่าวหาว่า รัฐบาลไทยใช้นโยบายผิดพลาดที่ใช้การทหารนำการเมือง ในขณะที่ทางการไทยโต้ว่า ไทยใช้การเมืองนำการทหาร โดยใช้แนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งผู้แทนจากโอไอซี ได้ยอมรับว่าไทยเดินแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ส่วนการใช้กำลังทหารจำนวนมากก็เพื่อให้ความคุ้มครองประชาชนเป็นสำคัญ

การที่รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านพยายามสรุปว่า ไทยใช้นโยบายการทหารนำการเมือง ก็เพื่อต้องการเสนอตัวเป็น “คนกลาง” ในการเจรจาระหว่างกลุ่มก่อการร้ายกับรัฐบาลไทย มีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาทาบทามฝ่ายไทยในหลายช่องทาง เพื่อเสนอตนเป็นคนกลางในการเจรจา ดังที่เคยทำมาแล้วกับกรณีของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่ทำให้สองประเทศนี้เกิดความรู้สึกว่า คนกลางนี้ทำหน้าที่เป็นคนกลางจริงหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่า คนกลางจะเข้าข้างขบวนการแบ่งแยกดินแดนมากกว่า ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจประเทศคนกลางซึ่งไม่เป็นกลางจริง

ในกรณีฟิลิปปินส์ซึ่งมีปัญหากับขบวนการมุสลิมแบ่งแยกดินแดนในเกาะมินดาเนานั้น ได้ยอมรับให้ประเทศเพื่อนบ้านนี้เป็นคนกลางเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ปรากฏว่าคนกลางเข้าข้างขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างออกหน้าออกตา ผู้นำขบวนการหลายคนได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐบาลคนกลาง หลายคนมีบ้านช่องและกินดีอยู่ดีอยู่ในประเทศคนกลาง แต่ในที่สุดการเจรจาก็ล้มเหลว และรัฐบาลฟิลิปปินส์กับขบวนการแบ่งแยกดินก็ต่อสู้กันต่อไป เป็นที่น่าสังเกตว่า ในอดีตประเทศคนกลางนี้เคยยินยอมให้ลิเบียส่งอาวุธผ่านประเทศตนไปให้กลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันดีและเคยเปิดเผยในบทความของนิตยสารฟาร์อีสเทอร์นมาแล้ว

ในกรณีของอินโดนีเซียที่ต่อสู้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน “อาเจะห์” ในสุมาตราก็เช่นกัน เคยได้รับการเสนอจากประเทศเพื่อนบ้านเดียวกันนี้เป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลจาการ์ตากับขบวนการอาเจะห์ ทั้งที่รัฐบาลอินโดนีเซียรู้ดีว่า ผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนอาเจะห์เข้าออกประเทศคนกลางเป็นว่าเล่น การทำหน้าที่คนกลางของประเทศเพื่อนบ้านไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ที่ตกลงกันได้ในภายหลังเพราะอาเจะห์เจอคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 จนไม่มีกำลังสู้ต่อ จึงยอมเจรจาตกลงกันได้

เพื่อนเราเผาเรือน

ประเทศเพื่อนบ้านหันมาเสนอตัวเป็นคนกลางกับไทย โดยพยายามโน้มน้าวกดดันไทยให้เจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพยายามแสดงบทบาทกดดันให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของไทยที่มีหลายองค์กรให้รวมเป็นองค์กรเดียวกันเพื่อง่ายต่อการเจรจากับฝ่ายไทย โดยสถาปนานักวิชาการคนหนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้า อดีตผู้นำของประเทศคนกลางเคยเชิญฝ่ายไทยให้ไปเจรจากับผู้นำแบ่งแยกดินแดนรุ่นเก่าที่เกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ผลอะไร เพราะคนรุ่นนั้นไม่มีอิทธิพลหรือสามารถบอกให้ผู้นำขบวนการรุ่นใหม่หยุดการกระทำได้ ครั้งหนึ่งผู้นำเคยสั่งการให้ตำรวจสันติบาลนำหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนของไทยที่หลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศของเขาไปพบกับอดีตผู้นำของไทย ซึ่งมีอิทธิพลต่อรัฐบาลปัจจุบัน แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร

ในขณะนี้ยังมีความพยายามกดดันฝ่ายไทยในหลายรูปแบบ จนเป็นที่น่าสงสัยว่า การที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของไทยเพิ่มการก่อเหตุร้ายรุนแรงมากยิ่งขึ้น เป็นเพราะแผนกดดันจากเพื่อนบ้านหรือไม่ เมื่อถูกไล่ล่าก็หลบหนีไปซ่อนอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นที่ประกอบวัตถุระเบิดเพื่อมาปฏิบัติการในไทย เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจับกุม เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางก็มาจัดการปล่อยตัวไป

ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นนโยบายของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านที่เน้น “ชาตินิยมมาเลย์” อันเป็นเสาหลักหนึ่งของนโยบายต่างประเทศ ที่ต้องการมีบทบาทเป็นผู้นำมุสลิมมาเลย์ในภูมิภาคนี้ แต่อีกเหตุผลหนึ่ง อาจเป็นเพราะรัฐบาล|เชื่อหน่วยข่าวกรองที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างมีอคติ โดยกล่าวหาว่าทหารไทยมุ่งสังหารชีวิตคนมุสลิมปัตตานี เพราะบิดาตัวเองเคยเป็นคนปัตตานีมาก่อนที่จะอพยพไปตั้งหลักแหล่งในมาเลเซีย รัฐบาลไทยต้องรู้เท่าทันเกมนี้ และอย่าไปหลงเชื่อคำว่า “การเจรจา” หรือคำว่า “ปรองดอง” ง่ายๆ

อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจว่า การแพ้ชนะอยู่ที่ความสามารถของรัฐบาลในการแก้ปัญหาภายในเป็นหลัก ส่วนปัจจัยภายนอกเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ความร่วมมือหรือไม่ร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น รัฐบาลและกองทัพต้องมุ่งแก้ปัญหาภายในของเราเป็นสำคัญ