posttoday

ดึงมวลชน เข้าระบบพรรค

29 กรกฎาคม 2555

สัมภาษณ์พิเศษ "ภูมิธรรม เวชยชัย" การหน้าที่ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยหลังหวนคืนถนนการเมืองเต็มตัว

โดย....ชุษณ์วัฏ ตันวานิช/ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

หลบหลังม่านคอยวางยุทธศาสตร์การเมืองให้พรรคพลังประชาชนและเพื่อไทยตลอด 5 ปีที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย พกสถานะ “พลเมืองเต็มขั้น” กลับคืนสู่ถนนการเมืองเต็มตัวอีกครั้ง แถมยังไฟแรงเร่งวางกลยุทธ์ให้กับพรรคเพื่อไทย หลังรับนั่งเก้าอี้ “ผู้อำนวยการพรรค” ได้ไม่ถึงเดือน

“เสร็จสัมมนาพรรคที่พัทยา ผมจะเรียก สส.มาหารือถึงแนวทางการขยายฐานอาสาสมัครของพรรคเพื่อไทยทันที” เสี่ยอ้วนแจงภารกิจหลักก่อนอธิบายว่า ปรัชญาสำคัญที่พรรคยึดถือมาตลอดตั้งแต่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย คือการ “ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง”เป็นแนวคิดที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ผูกพัน ที่ผ่านมาเราเคยมีสมาชิกพรรคถึง 14 ล้านคนแต่วันนี้เหลือเพียง 7 หมื่นกว่าคน เพราะหลังการปฏิวัติเราถูกยุบพรรคการเมืองต่อเนื่องถึง 2 ครั้ง ทำให้สมาชิกพรรคถูกยุบไปโดยปริยาย

แต่คนที่สนับสนุนพรรคการเมืองเรายังอยู่ เห็นได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทยให้เป็นเสียงข้างมากเข้ามาบริหารประเทศ ฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะดึงคนเหล่านี้ซึ่งเคยเป็นฐานสำคัญของพรรคให้มาเกี่ยวข้องกับเพื่อไทยอีกครั้ง

ดึงมวลชน เข้าระบบพรรค

ภูมิธรรม ขยายความว่า สมัยก่อนหากพรรคการเมืองต้องการขยายฐานมวลชนก็สามารถมอบหมายให้ สส.แต่ละจังหวัดรับสมัครสมาชิกพรรคและออกบัตรชั่วคราวได้ แต่วันนี้กระบวนการยุ่งยากขึ้น เพราะการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมีข้อจำกัดของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ผู้ที่มาสมัครต้องมีที่ทางชัดเจน ต้องทำเรื่องเสนอผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและตรวจสอบความซ้ำซ้อนกันในแต่ละพรรคการเมือง ค่อนข้างยากลำบากมากกว่าจะขยายฐานสมาชิกได้

“อยากเป็นสมาชิกพรรคต้องรอและมีข้อจำกัดเยอะ เขาก็หงุดหงิดที่ยังไม่รู้สึกได้เป็นเจ้าของเราเสียที ผมจึงกลับมาคิดว่าแท้จริงแล้วหลักของเราไม่ได้อยู่ที่ข้อกฎหมาย แต่อยู่ที่จิตวิญญาณที่เขาต้องการมาร่วมกับเรา เป็นเจ้าของเรา มีส่วนสะท้อนปัญหาร่วมกับเรามากที่สุด ดังนั้นอาสาสมัครพรรคจึงเป็นกระบวนการขั้นต้นที่สามารถดึงคนมาร่วมได้เลย โดยที่ยังไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรค และขณะนี้ได้เตรียมหน่วยงานที่จะรองรับการขยายการเติบโตของอาสาสมัครพรรคเพื่อไทยไว้แล้ว”

“ผมเรียกเขาเหล่านี้ว่า สื่อมนุษย์” เสี่ยอ้วนระบุพลางว่า อาสาสมัครพรรคจะเป็นกลไกที่มีพลังมหาศาลในการส่งทอดข้อมูลข่าวสารไปทั่วประเทศ เป็นทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสารของพรรคเพื่อไทย

“หากเข้าใจอิเล็กทรอนิกส์ เขาจะสามารถใช้เครือข่ายออนไลน์ถ่ายทอดข้อมูลไปยังสังคมได้อย่างกว้างขวางขึ้น แต่ถ้าเป็นสื่อมนุษย์ที่ยังไม่เข้าถึงอิเล็กทรอนิกส์เขาก็ใช้ธรรมชาติ คือ ปาก พูด สื่อสารบอกต่อออกไป ก็มหาศาลเช่นกัน เป็นการขยายความจริงที่เขารับรู้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องฟังจากสื่อที่เป็น Second Thought หรือ Third Thought ยิ่งเขาไปพบมาเอง พิสูจน์มาเอง มันยิ่งมีพลัง เขาเป็นได้ทั้งเครื่องมือและเป็นผู้ใช้เครื่องมือในการกระจายข่าว”

“คุณเชื่อในพลังของมนุษย์ไหมล่ะ วันนี้มันต้องใช้พลังข้อมูลข่าวสารในการต่อสู้ เราต้องเพิ่มความรับรู้ของคน ถ้าไม่เพิ่มแล้วเราจะทำอย่างไร”

กุนซืออ้วน ยังชี้หัวใจสำคัญของ “อาสาสมัครพรรค” ว่า เขาเหล่านี้จะเป็นเสียงสะท้อนกลับมาบอกว่าพรรคเพื่อไทยเดินมาถูกทิศทางหรือกำลังเดินผิดเพี้ยนไปจากปัญหาและความต้องการของประชาชน ซึ่งจะกลายเป็นพลังตรวจสอบที่มีคุณค่ามากยิ่งกว่าฝ่ายค้านเสียอีก เพราะเป็นเสียงที่เริ่มต้นมาจากปัญหาและความต้องการของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่อคติส่วนตน!

ถามไปว่าอาสาสมัครต่างจากมวลชนเสื้อแดงตรงไหน? ภูมิธรรม เคลียร์ว่า “มวลชนเสื้อแดงไม่ใช่อาสาสมัครหรือสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่เป็นผู้รักประชาธิปไตย และมีจุดที่เหมือนกับพรรคคือ อยากเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศและมีส่วนช่วยให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในบ้านเรา มันก็ต่างกันตรงนี้”

ซักต่อว่าต้องการสร้าง “อาสาสมัคร” เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับมวลชนเสื้อแดงของ สส.แกนนำใช่หรือไม่? เจ้าตัวสวนทันควัน “เปล่า! ผมไม่ได้คิดแบบนั้น ผมคิดง่ายๆ ว่าวันนี้เราอยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสาร ถ้าเราอยากทำในสิ่งที่เชื่อว่าต้องการให้สังคมพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ทิศทางร่วมกัน ก็ต้องให้ข้อมูลข่าวสารประชาชน ผมไม่อยากเห็นการปกครองหรือการบริหารเหมือนในอดีตที่ให้คนที่อยู่ภายใต้ปกครองไม่ต้องรับรู้อะไรมากและยอมทำตามคนที่ปกครองอยากทำ ผมต้องการให้คนในสังคมรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากที่สุดและมันจะเป็นฐานของการพัฒนาประเทศ และเมื่อมีโลกทัศน์กว้างเขาจะเลือกวิถีชีวิตที่ควรจะเป็นของเขาเอง พรรคการเมืองเป็นฝ่ายที่จะต้องปรับตัวให้เขา ผมไม่ได้คิดอยากไปแย่งมวลชนใคร ถ้าคุณดี เขาก็จะเลือกคุณเอง”

“อย่าไปมองว่าใครมีมวลชนหรือเราต้องไปทำมวลชนแย่งกัน เสื้อแดงเขาไม่ได้วางตัวเป็นพรรคการเมือง เขาเป็นองค์กรมวลชนที่ตื่นตัวประชาธิปไตย ไม่ได้ขัดอะไรกับเราไม่เห็นต้องแย่งกันเลย สังคมประชาธิปไตยต้องการสีสันที่หลากหลาย ความหลากหลายในสังคมเป็นความงดงามในระบอบประชาธิปไตย เราไม่ต้องการให้ทุกคนเห็นด้วยกับเราหมด”

ดึงมวลชน เข้าระบบพรรค

ถามไปอีกว่า ตกลงทิศทางขณะนี้จะให้พรรคนำเสื้อแดงหรือเสื้อแดงนำพรรค จะจัดสมดุลอย่างไร? ภูมิธรรม แจงด้วยท่าทีหงุดหงิดเล็กๆ ว่า วิถีของคนเสื้อแดงที่อยากเห็นประชาธิปไตยไม่ได้มีผลมาผลักดันคนหรือกีดกันคนไม่ให้มาเข้าพรรคเพื่อไทย ในเมื่อเป็นพรรคการเมืองก็ต้องทำหน้าที่ต้อนรับทุกฝ่ายที่รักประชาธิปไตย ใครที่อยากเข้ามาเป็นเพื่อไทยก็สามารถเข้ามาได้ภายใต้กรอบและกติกา ดังนั้นมองว่าสิ่งที่ทุกพรรคการเมืองต้องทำคือ ดึงประชาชนเข้ามาให้มีฐานความรู้กว้างขวางขึ้น นี่คือกระบวนการที่สร้างรากฐานของประชาธิปไตยที่ดีที่สุด

“คุณจะเป็นแจกันให้ดอกไม้มาเสียบปัก แล้วจะมาบอกว่าคุณจะเลือกเอาแต่ดอกซ่อนกลิ่นหรือกุหลาบไม่ได้ ตามสภาพคุณมาอยู่ในท้องที่ที่ไม่มีดอกไม้สวยๆ งามๆ ขาย เพราะฉะนั้นดอกไม้ป่าหรือดอกหญ้ามันก็สวยงามหมด ไม่จำเป็นต้องไปกำหนดแบ่งคนชัดเจนอย่างที่ว่า

...ถ้าคุณเชื่อมั่นในมวลชน เขาก็จะเป็นผู้เริ่มต้นทำในสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นประโยชน์เขาจะเป็นคนคิดคนกำหนดเองว่าควรจะทำอย่างไร โดยที่พรรคไม่ต้องไปสร้างกรอบและหากเข้ามามีส่วนร่วมเยอะขึ้นก็จะพัฒนาไปยังฐานเรื่องไพรมารีโหวต เพราะเขาเป็นฐานสมาชิกพรรคที่รู้จักคนพื้นที่ดีที่สุด และจะเป็นฐานในการคิดและตัดสินใจของพรรคการเมืองอย่างดี หรืออาจจะเป็นฝ่ายตรวจสอบเราด้วยซ้ำว่านักการเมืองตรงนี้ยังไม่เข้าใจปัญหา ประชาชนจะกลายเป็นครูด้านกลับให้แก่เรา”

ภูมิธรรม บอกด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยจะกลับไปสูงถึง 14 ล้านคนเหมือนในอดีต แต่เป้าหมายในขณะนี้คือ ต้องขยายฐานอาสาสมัครให้มากที่สุด เนื่องจากยังเชื่อมั่นว่าคนส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศ เพราะไว้วางใจในวิธีคิดและการทำงานของพรรคที่ยึดประชาชนเป็นหลัก

“การเลือกตั้งทั้งไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย มันบ่งบอกว่าเรายังเป็นตัวเลือกที่เขาหวังพึ่ง และยอมรับเราให้เข้ามาทำงาน ไม่งั้นประชาธิปัตย์ก็ได้เป็นรัฐบาลไปนานแล้ว” คีย์แมนสำคัญของพรรคระบุ

อ้วนส่องสื่อ

กลับมายืดเส้นยืดสายทั้งที “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม ไม่ได้รับมอบหมายแค่งาน “พ่อบ้านพรรค” แต่ยังสวมหมวก “นักรบไซเบอร์” ประกาศสงคราม “แอร์ วอร์” กับขั้วตรงข้าม

ภูมิธรรม ให้ภาพของ “นิวมีเดีย” หรือสื่อใหม่ที่พรรคเพื่อไทยกำลังให้ความสำคัญ เจ้าตัวเท้าความอธิบายย้อนไปยังยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นว่า สมัยนั้นลูกหลานของชนชั้นนำที่ถูกส่งไปเรียนต่อยุโรปต้องใช้เวลา 7 เดือนกว่าจะถึงที่หมาย และใช้เวลาอีก 7 เดือนกว่าจดหมายจะส่งกลับมา สรุปแล้วต้องใช้เวลาเกือบปีครึ่งในการส่งข่าวกลับมาแจ้งทางบ้านว่าได้ถึงยุโรปเรียบร้อยแล้ว แต่ปัจจุบันมิติของการเวลาหดสั้นมาก ตื่นเช้ามาพ่อแม่ลูกก็สไกป์ถึงกันได้ ทุกวันนี้ในประเทศไทยมีผู้ใช้เครือข่ายออนไลน์สูงถึง 20 กว่าล้านคน ทุกคนใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลได้ด้วยตนเอง ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้เข้ากับประชาชนกลุ่มนี้

“การเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้ทุกคนต้องตระหนักถึงพลังของการสื่อสาร ในฐานะเป็นพรรคการเมืองยิ่งต้องปรับตัว เพราะเราเป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อแนวทางการบริหารงานประเทศ”

ภูมิธรรม แจงว่า การเปิดตัวนักรบไซเบอร์ของพรรคเพื่อไทย โดยอาศัยช่องทางทวิตเตอร์ PTcyber เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมานั้น เป็นเสมือนฮาร์ดแวร์ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือของพรรคเพื่อไทยที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่สิ่งสำคัญอันเปรียบเสมือนซอฟต์แวร์ที่ควรริเริ่มก่อน คือ การสร้างความตื่นตัวของคนในสังคมให้กว้างที่สุด โดยเฉพาะนักการเมืองและสมาชิกของพรรคเพื่อไทยเอง ที่ต้องกระตุ้นให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่มากที่สุด

“ผมว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ แม้แต่เกษตรกรหรือชาวนาในชนบทยังเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นกลุ่มที่เขาเรียกกันว่า ชนชั้นกลางใหม่ สส.หรือสมาชิกพรรคเองที่มีการศึกษาน่าจะเข้าใจสิ่งนี้ ขนาดผมเป็นคนล้าหลังมากกับเทคโนโลยี แต่ลูกมาสอนเล่นทวิตเตอร์ เรียนรู้ 4-5 ปีมานี้ว่า มันมีพลังมาก คิดดังๆ เดี๋ยวเดียว คน 4,000-5,000 คนเป็นอันรู้เรื่อง แล้วยังขยายออกไปอีกเยอะ และหากมีคนโต้แย้งถกเถียงยิ่งดี เพราะผมไม่มายด์ว่าเขาจะต้องเห็นด้วยกับผม แค่เขาได้คิด ได้ตอบโต้ในสิ่งที่ผมเสนอไป มันก็เป็นแบบฝึกหัดทางสังคมที่ทำให้เกิดสติปัญญาแล้ว”

ดึงมวลชน เข้าระบบพรรค

ไม่ใช่แค่ทวิตเตอร์ที่เจ้าตัวติดหนึบถึงขั้นต้องทวีตทั้งก่อนเข้านอนและทันทีที่ลืมตาตื่น มันสมองของพรรคผู้นี้ยังคงเกาะติด “สื่อเก่า” อย่างหนังสือพิมพ์ชนิดไม่คลาดสายตา โดยเราขอให้วิพากษ์การทำงานของสื่อท่ามกลางสภาวะแบ่งขั้วทางการเมือง

“ผมอ่านทั้งกระดาษและเว็บไซต์ บ้านผมรับมติชนกับไทยรัฐเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะเป็นตัวแทนของหนังสือพิมพ์แมสทั้งสองเลเวล คือ แมสทั่วไปกับแมสปัญญาชน แต่ถ้าช่วงไหนผมใส่ใจในประเด็นที่เป็นแง่คิดมากๆ และเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจก็จะรับโพสต์ทูเดย์และกรุงเทพธุรกิจ หากเป็นหนังสือรายสัปดาห์รับทั้ง 3 ฉบับเลย ทั้งมติชน เนชั่น และสยามรัฐ”

ภูมิธรรม อธิบายความต่างระหว่างสื่อ 2 ประเภทว่า เวลาอ่านสื่อออนไลน์จะได้แต่เนื้อข่าว แต่ถ้าอ่านหนังสือพิมพ์รายวันจะได้โพสิชันที่ทางหนังสือพิมพ์ให้ความสำคัญ เปิดมาปุ๊บรู้เลยว่าความสนใจของเขาที่ให้คือข่าวอะไร มันบอกโพสิชันของการวางข่าวทั้งหมด ในขณะที่สื่อออนไลน์จะไม่ให้เซนส์และความรู้สึกตรงนี้|แต่หากเป็นช่วงสถานการณ์การเมืองวิกฤตจะอ่านออนไลน์ทุกค่ายและหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ

ในฐานะเป็นกุนซือใหญ่ของพรรค ต้องการเรียนรู้ “คนอ่านข่าว” หรือ “คนทำข่าว” มากกว่ากัน ภูมิธรรม ตอบว่าทั้งสองอย่าง แต่โฟกัสไปที่คนทำข่าว เพราะเนื้อหาหนังสือพิมพ์ที่คนทำข่าวรายงานมักจะสะท้อนสิ่งที่นักข่าวต้องการ ทุกวันนี้มีข่าวอยู่ 2 ประเภท คือ ข่าวที่เขาสะท้อนสังคมกับข่าวที่เขาสะท้อนเพียงความคิดและความเชื่อของตัวคนทำข่าวเอง

“หนังสือพิมพ์บ้านเราบางฉบับไม่ได้ทำหน้าที่ของสื่อจริงๆ มีจำนวนมากในปัจจุบันที่ไม่ได้ทำข่าวที่รายงานสถานการณ์ แต่กำลังรายงานความเชื่อของตัวเอง ผมคิดว่าความเป็นสื่อที่เคร่งครัดในแง่ของข่าว เขาไม่ควรถูกอนุญาตให้ใส่ทัศนคติลงไปในข่าว ย้ำว่านี่คือความเห็นผมนะ”

“ไปเจออะไรคุณก็รายงาน ไปเห็นอะไรคุณก็ต้องบอกว่า บรรยากาศเป็นแบบนั้น สภาพเป็นแบบนี้ แต่ถ้าคุณอยากจะบอกว่า เรื่องนี้คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คุณก็ไปเขียนบทความ บทความเป็นทัศนะของคุณ มันจะบอกว่าคุณคิดอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ”

“คุณคิดได้ วิเคราะห์ได้ ผมไม่ว่า แต่ข่าวก็ต้องเป็นข่าว ไม่สมควรใส่ทัศนคติของคนทำเข้าไป ควรทำหน้าที่รายงานให้ตรงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด แล้วปล่อยให้คนอ่านตัดสินใจเอง”

ศัตรูเรามันแอบสแทรกต์

ในฐานะอีกหัวเรือใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เลยถามว่าตอนนี้พรรคสู้อยู่กับอะไร อำมาตย์ หรือชนชั้นนำ? ภูมิธรรมนิ่งไปชั่วครู่

“เรากำลังสู้อยู่กับความรับรู้ของคน ทุกวันนี้การไม่รับรู้ของคนยังมีอยู่ เราเชื่อว่าตราบที่มนุษย์ได้รับรู้สิ่งต่างๆ ที่กว้างขวางขึ้น เขาจะมีวิจารณญาณพอที่จะเลือกสิ่งที่เขาอยากเห็นและสิ่งที่เขาปรารถนา แต่ผมไม่ได้คิดว่าโลกมันหยุดนิ่ง เพราะโลกและการรับรู้ของคนมันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา”

ภูมิธรรม อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงพลังทางการเมืองของประเทศไทย รวมถึงชนบทไทยเกิดขึ้นจากความรับรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ดังนั้นใครที่ยังมองคนชนบทเป็นชาวนาที่ต่ำต้อย ไร้การศึกษา ไร้วิจารณญาณในการตัดสินใจ คุณกำลังคิดผิด ภายใน 10-20 ปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าความรับรู้ของคนชนบทเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ตั้งแต่คนอีสาน ภาคเหนือ และภาคอื่นไปเป็นแรงงานในต่างประเทศ ทำให้ได้รับรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไปต่อเนื่องมานับหลายสิบปี ประกอบกับการเกิดขึ้นของเคเบิลทีวีที่ส่งทอดแนวคิดในรูปแบบจิตสำนึกไว้จำนวนมาก

“การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุและการเคลื่อนย้ายของคนทำให้การรับรู้ของประชาชนกว้างขวางขึ้น ถามว่าพอเพียงไหม มันก็ไม่พอเพียง แต่มันคือปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลง วันนี้ผมจึงให้ความสำคัญและเอาใจใส่กับกระบวนการสร้างความรับรู้ของคน หวังว่าตรงนี้มันจะเปิดโลกทรรศน์คนและทำให้สังคมดีขึ้น สร้างรากฐานการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง”

ตกลงศัตรูเรามีตัวตนไหม? เสี่ยอ้วน ตอบทันที “ก็ความไม่รู้ไง มันเป็นแอบสแทรกต์อ่ะ!”

“ความไม่รับรู้ ความโลภ และความยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองมีของคนมันเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน และครอบงำสังคมเราอยู่ วัฒนธรรมหลายอย่างถูกครอบงำ มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง แล้วแต่คุณมองมิติไหน แต่วันนี้สิ่งสำคัญที่โลกทั้งโลกพิสูจน์แล้วและปรารถนา คือ ระบอบประชาธิปไตย เราเชื่อว่าเป็นระบอบในปัจจุบันที่ตอบโจทย์ได้มากที่สุด ทำให้คนมีส่วนร่วมได้มากที่สุด และเป็นเวทีที่ทำให้คนหาทางออกกับคนที่เห็นต่างได้มากที่สุด”

“หากถามว่าศัตรูมันมีตัวตนไหม จะเอาตัวตนก็ได้ ก็คือกลุ่มอำนาจที่รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจในสมัยเดิมที่เป็นลีดเดอร์อยู่ มาวันนี้อยู่ที่ว่าจะยอมรับกับความเติบโตของภาคประชาสังคมและภาคประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ายอมรับไม่ได้มันก็เป็นศัตรูที่ขัดขวางอยู่”