posttoday

อำมาตย์กำลังดิ้น

14 กรกฎาคม 2555

"ต้องแก้ที่มาตรการเข้าสู่ตำแหน่งขององค์กรอิสระ ให้มีความเป็นกลางมากที่สุด โดยลดบทบาทฝ่ายตุลาการไม่ให้เข้ามาคัดสรรคนที่มาเป็นกรรมการองค์กรอิสระ เปลี่ยนให้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น"

"ต้องแก้ที่มาตรการเข้าสู่ตำแหน่งขององค์กรอิสระ ให้มีความเป็นกลาง โดยลดบทบาทฝ่ายตุลาการไม่ให้เข้ามาคัดสรรคนที่มาเป็นกรรมการเปลี่ยนให้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น"

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม ,ชุษณ์วัฎ ตันวานิช

คดีประวัติศาสตร์จบลงยกแรก เมื่อองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของพรรคเพื่อไทยเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำไม่ได้ แต่ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองฯ

อำมาตย์กำลังดิ้น นพดล ปัทมะ

กระนั้น คำวินิจฉัยไม่ปิดทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่มีเงื่อนไขว่า1.ถ้าจะรื้อใหญ่ทั้งฉบับโดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องไปทำประชามติถามประชาชนทั้งประเทศก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ และ2.ถ้าจะแก้แค่รายประเด็นหรือรายมาตราก็ทำได้จากกระบวนการปกติ คือ ผ่านรัฐสภา พรรคเพื่อไทยจะเดินอย่างไร เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือธงของพรรคเสื้อแดง และเป็นเครื่องมือรุกทางการเมือง

แผนสองแก้รายมาตราควบประชามติ

นพดล ปัทมะ คีย์แมนของพรรคเพื่อไทยเปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาแม้เราจะไม่เห็นด้วยและผิดหวังแต่ก็ต้องปฏิบัติตาม ส่วนตัวเห็นว่าจากนี้ควรเดินทั้งสองทาง คือ ทำประชามติไปด้วยเพื่อถามว่าจะให้มีส.ส.ร.หรือไม่ แต่กระบวนการนี้อาจจะช้า อีกทางคือ แก้รายประเด็นซึ่งง่ายที่สุดอาจใช้เวลา 1-2 เดือน โดยสัปดาห์หน้าพรรคจะหารือว่า จะเดินหน้าแก้เป็นรายมาตราอย่างไร

นพดล ระบุว่า ประเด็นที่ต้องเร่งแก้รายมาตรา คือเรื่องที่บกพร่องและมีผลกระทบต่อบ้านเมืองจริงๆเช่นมาตรา 190 ต้องย้อนกลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อให้การทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศเร็วขึ้นมาตรา 237 ไม่ให้ยุบพรรคง่ายจากการกระทำผิดของคนคนเดียว เพราะการยุบพรรคที่ง่ายเกินไป เป็นการทำลายเสรีภาพของฝ่ายบริหาร มาตรา 68 ต้องแก้เพื่อเขียนให้ชัดไม่ให้เกิดปัญหาในปัจจุบันการยื่นในลักษณะมาตรา 68 ต่อไปต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดอย่างเดียว รวมถึงที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ถ้ายังต้องการให้มีอำนาจถอดถอนนักการเมือง ก็ต้องแก้ให้ สว.มาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชนทั้งหมด แต่ถ้ามีปัญหาก็อาจให้ สว.ชุดแต่งตั้งอยู่ครบเทอมก่อน แล้วค่อยแก้ที่มา สว. เพราะถือว่าให้เกียรติกัน

ประเด็นที่มาและโครงสร้างองค์กรอิสระซึ่งเป็นเรื่องร้อน นพดล ระบุว่า ต้องแก้ที่มาการเข้าสู่ตำแหน่งขององค์กรอิสระให้มีความเป็นกลางมากที่สุด โดยลดบทบาทฝ่ายตุลาการไม่ให้เข้ามาคัดสรรคนที่มาเป็นกรรมการองค์กรอิสระ เปลี่ยนให้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น แต่ไม่ใช่ให้ตุลาการมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน เพราะศาลเป็นองค์กรที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ การเลือกตั้งไม่ได้ประกันความเชี่ยวชาญอย่างไรก็ตาม อาจให้ตุลาการบางส่วนมาจากสภาได้ถ้าไม่ไว้ใจ สส. ก็ให้ วุฒิสภาเป็นคนคัดสรรเลือกตัวแทนมา

แล้วเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกยุบเหลือแค่แผนกหนึ่งในศาลฎีกาเหมือนที่แกนนำพรรคเพื่อไทยระบุไว้ นพดล บอกว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยในการยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่ควรปรับที่มาและ จำนวน ทั้งนี้อยากเห็นจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเป็น 15 คนเหมือนที่ผ่านมา ไม่ใช่ 9 คนในปัจจุบัน และที่มาก็ควรหลากหลายมากกว่านี้ เพราะบางคนอยู่กระทรวงต่างประเทศไม่น่าเข้าใจกฎหมาย แต่ยังมาเป็นได้

อำมาตย์กำลังดิ้น

การเสนอแก้องค์กรอิสระเป็นเรื่องด่วนหรือไม่ ที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยืนยันเป็นเรื่องสำคัญและด่วนเพราะเราต้องทำองค์กรอิสระให้เป็นอิสระจริงๆ ถ้าองค์กรอิสระไม่มีความเป็นอิสระหรือไม่เป็นกลาง มันก็ไม่ใช่องค์กรอิสระ ส่วนตัวเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญควรมีอยู่ เว้นแต่บางองค์กรที่ควรจะยุบ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะเป็นองค์กรที่เราไปลอกจากกลุ่มสแกนดิเนเวียมาใช้ แต่ไม่ได้คาใจที่ไปตรวจเรื่องที่กระทบรัฐบาลเพียงแต่อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ศาลปกครอง และ กมธ.ของสภา

"การทำงานของเขาไม่เข้าตาผม แต่ถ้าจะยังมีผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ เพราะบางทีร่างกายเราก็มีไส้ติ่งได้ มีก็เพื่อไม่ให้มีประเด็นว่าจ้องที่จะยุบเขา เพียงแต่เราก็เปลืองเงินเพิ่มอีกปีละ 4-5 ล้านบาท"

"การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภา มันไม่ยาก เพราะที่ผ่านมามีผลศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ทั้งชุด ดิเรก ถึงฝั่ง อาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และชุดของอาจารย์ชุมพลศิลปอาชา ที่เคยเสนอแก้ 25 ประเด็นสมัยก่อน...ทั้งหมดมันต้องรีบแก้ เหมือนกับร่างกายเราเป็นโรคปากเปื่อยไม่ต้องรอ ต้องรีบทำเหมือนปัจจุบันรัฐธรรมนูญมีปัญหาก็ต้องทำเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้"

ถามเรื่องมาตรา309 ที่เป็นหัวใจและเป็นข้อขัดแย้งอย่างรุนแรงจะเอาอย่างไร นพดล บอกว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่โต้แย้งกันมากส่วนตัวเห็นว่า ถ้าไปแตะก็จะทำให้ประเด็นสวยงามอื่นๆถูกโจมตีไปว่า ไปแก้ไขกฎหมายนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง ซึ่งฝ่ายค้านมีศักยภาพในการทำลายล้างสูงอยู่

"ถ้าเป็นผมจะทำสองช็อต เอาประเด็นที่ง่ายและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติก่อนและก็ทำสานเสวนา หรือจะเป็นเอิกเกริกเสวนาทั่วประเทศ จากนั้นค่อยแก้เรื่องที่เห็นขัดแย้งกัน"

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภารายมาตราที่จะเป็นช็อตต่อไปจะมีแรงต้านไหม นพดลบอกว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้จะทำให้ประชาชนตาสว่างและเข้าใจว่า มีความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการแก้รายมาตราจะมีความชอบธรรมมากขึ้น เราก็ต้องใช้สื่อของรัฐโน้มน้าวเหตุผลให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเห็นด้วย

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ปะทะกันระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจตุลาการ จนปะทุเป็นความขัดแย้งส่อเค้าไม่จบสิ้น แล้วรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะดำรงอยู่อย่างไร?นพดล ระบุว่า ทั้งหมดเป็นการปะทะกันระหว่างอำนาจอำมาตย์กับประชาชน เพียงแต่มันเป็นสงครามตัวแทน คือ ตุลาการภิวัฒน์ ที่ถูกใช้เพื่อทำให้อำนาจบริสุทธิ์ของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งอ่อนแอลง ในอนาคตก็ต้องจัดความสัมพันธ์และดุลยภาพแห่งอำนาจให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดการแบ่งแยกอำนาจ ตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติตามทฤษฎีของมองเตสกิเออให้ชัดเจน

"นี่คือการดิ้นครั้งสุดท้ายของอำมาตย์ มันเลยดิ้นแรงหน่อย แต่ท้ายที่สุดอำนาจประชาชนชนะเสมอ"

เมื่อไร?นพดล ตอบ "ไม่ช้าและก็ไม่เร็ว ยังไม่ใช่ภายใน 1-2 ปีนี้"

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้นี้บอกว่า อำมาตย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา แต่ท่านคือเพื่อนร่วมชาติที่กดขี่เรามานานการต่อสู้ของเราครั้งนี้จึงเป็นเพื่อปลดแอกตัวเองมากกว่าแต่ต่อไปจะเป็นการต่อสู้ทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือคนจน ใครทำได้ก็จะครองใจประชาชน

"ผมเคารพความรู้สึกของชนชั้นกลาง ฝ่ายอำมาตย์ ที่เขาไม่ชอบเรา เพราะอาจวิตกท่าทีคนเสื้อแดง ผมเองก็ยังกังวลเลย อย่างที่บอกจะไปจับผู้พิพากษา (หัวเราะ) ฉะนั้นเราต้องระมัดระวังในการให้สัมภาษณ์ด้วย" นพดลทิ้งท้าย

"ต้องแก้ที่มาตรการเข้าสู่ตำแหน่งขององค์กรอิสระ ให้มีความเป็นกลางมากที่สุด โดยลดบทบาทฝ่ายตุลาการไม่ให้เข้ามาคัดสรรคนที่มาเป็นกรรมการองค์กรอิสระ เปลี่ยนให้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น แต่ไม่ใช่ให้ตุลาการมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน เพราะศาลเป็นองค์กรที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ การเลือกตั้งไม่ได้ประกันความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม อาจให้ตุลาการบางส่วนมาจากสภาได้ถ้าไม่ไว้ใจ สส. ก็ให้ วุฒิสภาเป็นคนคัดสรรเลือกตัวแทนมา"

ปรองดอง-ถอยแต่ไม่ถอน!

นอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นปมปัญหาทางการเมืองแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ที่ยังคาอยู่ในวาระการประชุมสภา ที่จะเปิดพิจารณาอีกทีในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ถือเป็นเรื่องร้อนอีกเรื่องที่ยังไม่ปลดล็อกว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง

นพดล ปัทมะ ระบุว่า ตอนนี้มี3ทางเลือกคือ1.เมื่อเปิดสภาปุ๊บให้เดินหน้าลุยทันที2.เลื่อนเป็นวาระหลัง เพราะไม่มีความจำเป็นต้องรีบหยิบยกขึ้นมาพิจารณา 3.ถอนร่างออกจากสภาอย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับพรรคและผู้ที่เสนอร่างว่าจะใช้ดุลยพินิจอย่างไร

ถามว่าขุนค้อนระบุในคลิปให้ถอนร่างฯออกไปก่อน รอ3-6เดือน แล้วค่อยดันอีกรอบ?นพดล ตอบหนักแน่นเราถอยแต่ไม่ถอน "กว่าจะผลักดันเข้าไปได้ เป็นเรื่องยากควรให้คาไว้แบบนั้น เราไม่ได้ต้องการลักไก่นะ แต่ต้องจัดสุนทรียเสวนาจนเป็นที่เข้าใจของสังคมก่อน เริ่มต้นจากเนื้อหาที่ประชาชนยังไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง ตั้งแต่การคืนสิทธินักการเมืองบ้านเลขที่109นิรโทษกรรมความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมตั้งแต่ปี2548มาจนถึงปัจจุบัน และการนำคดีของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใหม่ เป็นการล้างผลพวงของการรัฐประหาร ไม่ใช่ล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียว"

นพดล ระบุว่า เราไม่ได้ตั้งเงื่อนเวลาไว้ว่ากี่เดือน แล้วค่อยหยิบร่างขึ้นมาพิจารณา แต่ตั้งเงื่อนไขว่าสภาพการณ์ของบ้านเมืองต้องไม่มีความขัดแย้งมากเกินไป ถึงจะผลักดันร่างพ.ร.บ.ปรองดองอีกรอบ ขนาดคนในพรรคบางส่วนเป็นโรคปอดแหก แต่เราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ

"สงสารท่านนายกรัฐมนตรีที่ต้องเหนื่อยบริหารประเทศ ต้องรับมือน้ำฝนที่จะมา ไหนจะวิกฤตหนี้ยุโรป การเมืองตอนนี้ไม่อยากให้เรือมันโคลงมาก"

แน่นอนว่าการทรงตัวของเรือที่นพดลว่านั้นย่อมหมายถึงเสถียรภาพของรัฐบาลที่มีผลโดยตรงต่อการกลับบ้านของคนทางไกลที่ชื่อ"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร""ปีนี้ไม่น่าจะทัน ต้องรออีกสักระยะหนึ่งตอนแรกคาดการณ์ประมาณว่าจะเป็นปีนี้ แต่ไม่จำเป็นหรอกว่าจะต้องเป็นปีหน้า ปีโน้น หรือปีไหน รอให้เหมาะสมก่อนท่านค่อยกลับ" นพดล ตอบคำถาม พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้กลับอย่างเท่ในปีนี้หรือไม่

ถามว่าต้องขึ้นอยู่กับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่?"เชื่อมโยงกันบ้างไม่ถึงขนาดผูกติด เพราะหาก พ.ร.บ.ปรองดอง ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ก็จะมีความสงบมากยิ่งขึ้น มีเสถียรภาพก็เหมาะสม การกลับประเทศของท่านไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนเรื่องด่วนคือการทำให้ประชาชนฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจ อยู่ดีกินดีมากขึ้น...ผมเชื่อว่าท่านพร้อมที่จะเสียสละอยู่ต่างประเทศต่อไป เพื่อรอเวลาที่เหมาะสมเพราะถึงกฎหมายผ่านแล้วกลับมา อาจยังมีคนคัดค้านก็ได้แต่ไม่ใช่ นพดล บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อย่าเพิ่งกลับ ไม่ใช่นะ เดี๋ยวซวย (หัวเราะ) คือผมรักท่านก็อยากให้ท่านทำในสิ่งที่ท่านต้องการ แต่ถ้าคาดการณ์น่าจะกลับก่อนรัฐบาลมีวาระครบ4ปี"

นพดล ยอมรับว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศ ก็เป็นห่วงความปลอดภัย แต่เชื่อว่าอันตรายจะลดลงกว่าเมื่อก่อนเพราะสถานการณ์ด้านความปลอดภัยดีขึ้น"อยากให้คนที่ประสงค์ร้ายเลิกล้มความคิดท่านเป็นคนไม่กลัวตาย เคยถูกปองร้ายหลายครั้งแต่แคล้วคลาดมาได้ ถ้าจะให้กลัวตายอย่างเดียวแล้ว ไม่ต้องไปไหนก็ไม่ใช่ แต่ก็ต้องระมัดระวังให้มากขึ้น"

ช่วงเวลาที่จะร้อนคือ การเปิดสมัยประชุมสภาเริ่มวันที่ 1 ส.ค. ที่จะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และร่างพ.ร.บ.ปรองดองที่ยังคาอยู่ นพดล ประเมินว่าฝ่ายค้านคงไม่สนใจ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เท่าเวที"อภิปรายไม่ไว้วางใจ" เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้าน ที่ช่ำชองการอภิปรายเป็นอย่างดี เตรียมโจมตีเพื่อไทยหลายประเด็นขณะเดียวกันเวทีนี้จะส่งสัญญาณเตือนให้รู้ทันทีว่า รัฐมนตรีคนใดเตรียมหลุดผังคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่!

อำมาตย์กำลังดิ้น

"ทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องเดียวที่ทุกรัฐบาลจะต้องระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนจะไม่ให้อภัย แต่ไม่ใช่จุดอ่อนของรัฐบาลเพื่อไทยอาจมีเรื่องถุงยังชีพบ้างแต่มีการอภิปรายไปแล้วหากมีการทุจริตในเชิงจัดซื้อจัดจ้าง รัฐมนตรีที่กำกับดูแลก็ว่ากันไป แต่ยังไม่ใช่จุดตาย ...ผมหนักใจแทนฝ่ายค้านว่าจะใช้ประเด็นอะไรในการโจมตี แต่ถือว่าดีเหมือนกัน อภิปรายเสร็จแล้วปรับ ครม. คนไหนตอบไม่ได้ มีปัญหา ส่อว่าทุจริต นายกฯ จะได้ส่งให้ไปอยู่ที่บ้าน การปรับครม.ที่จะถึงก็คงยังไม่ทำ รอหลังอภิปรายไปเลยรอบเดียว"

นพดล ยังแสดงความมั่นใจต่อ ยิ่งลักษณ์ ว่าโดนตรวจสอบมาต่อเนื่องตั้งแต่กรณี ว.5 โฟร์ซีซันส์ แต่สามารถชี้แจงได้เป็นระยะอย่างไรก็ตามสำหรับตัวนายกฯ มองว่าจะไม่ร้อนแรงมาก เพราะเป็นคนก้มหน้าก้มตาทำงานและไม่พร้อมที่จะทะเลาะกับใคร ซึ่งช่วยดับไฟร้อนได้เยอะ

พรรคชินวัตรแล้วไง?

จาก"ไทยรักไทย"สู่"พลังประชาชน"ก่อนจะกลายสภาพมาเป็น"เพื่อไทย"ผ่านช่วงเวลากว่าทศวรรษ แต่พรรคการเมืองนี้ยังไม่พ้นข้อครหาว่า ไม่สามารถก้าวพ้นชื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วก้าวไปสู่สถาบันการเมืองอย่างเต็มตัวได้นพดล โต้แย้งว่าคนที่บอกว่า หากพรรคเป็นสถาบันการเมืองต้องไม่มีตระกูลชินวัตรเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นการมองที่ง่ายเกินไป

"จะไม่เกี่ยวข้องได้อย่างไร ในเมื่อนายกฯก็นามสกุลชินวัตร คุณแดง เยาวภาก็ชินวัตร แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่ได้ชี้ซ้ายหัน ขวาหัน ตระกูลปัทมะ หรือตระกูลไหนๆ ก็เกี่ยวข้องกันทั้งนั้นยิ่งตระกูลมาร่วมเยอะยิ่งดี"

"จะเกี่ยวข้องนานแค่ไหน?ก็นานตามที่ธรรมชาติจะกำหนด อีกร้อย สองร้อยปีก็แล้วแต่ ดังนั้นจะเกี่ยวข้องต่อไปอีกนานแค่ไหนไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่เกี่ยวข้องในบทบาทที่เหมาะสมหรือไม่มีความสำคัญกว่า"

"ยกตัวอย่างคลิปของขุนค้อนที่บอกว่า เอาตามผมหมดเลยทั้งการร่าง พ.ร.บ.ปรองดองและการลงมติวาระ3ยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยเอาตามผมทั้งหมด แสดงว่ามีการถกเถียงกัน ใครมีเหตุผลมากกว่าเอาตามคนนั้น ไม่ใช่พ..ต.ท.ทักษิณสั่งการได้ทั้งหมด"

"เรายังคงทำงานของเราตามรูปแบบปกติแต่ต้องยอมรับความจริงว่าท่านมีความคิด มีผลงาน มีมรดก มีบารมี มีความนิยม นโยบาย30 บาท เอสเอ็มแอล ก่อนหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ทำไมไม่มีใครคิด ไหนจะเงินกองทุนหมู่บ้าน โอท็อป กองทุนการศึกษาจากการแปลงหวยใต้ดินเป็นหวยบนดิน ผมคิดว่านี่เป็นอัจฉริยภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ" ทนายความคนสนิทของอดีตนายกฯ กล่าว