posttoday

แพคเกจเพื่อ"มนุษยธรรม"เสื้อแดง

11 กรกฎาคม 2555

เปิดแพ็คเกจมนุษยธรรมช่วยเหลือผู้ถูกคุมขังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่จุดกระแสคำถามจากสังคมต่อรัฐบาล

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ผลพวงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 มีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ชุมนุม และกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายนำมาซึ่งการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ตามมาด้วย กลุ่มคนเสื้อแดงโดนตั้งข้อหาสร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศ ถูกคุมขังโดยส่วนหนึ่งได้รับการประกันตัว อีกส่วนก็ยังมีผู้ไม่ได้รับการประกันตัว

ไม่ว่าผู้นั้นกระทำผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ที่แน่ๆรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้พยายามบอกกล่าวต่อสังคมว่าหลักมนุษยธรรมต้องมาก่อน ดังนั้นตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศจึงให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกมติครม. จ่ายค่าเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองโดยจ่ายค่าความตายสูงสุดถึง 7.75  ล้านบาท และลดมูลค่าการเยียวยาลงมาตามระดับความรุนแรง

แพคเกจเพื่อ"มนุษยธรรม"เสื้อแดง

แม้มติครม.ดังกล่าวนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจาณณ์ ใช้หลักเกณฑ์ใดถึงกำหนดค่าความตายสูงมากมายขนาดนั้น แต่รัฐบาลกลับให้เหตุผลว่า “เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม”  ซึ่งหลักมนุษยธรรมดังกล่าว ก็กลายเป็นมาตรฐานการจ่ายค่าเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบในกรณีอื่นๆ  ดังปรากฎมติครม. จ่ายค่าเยียวยาความตายให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบชายแดนภาคใต้ก็ได้รับค่าเยียวยาสูงถึง 7.75 ล้านบาทตามไปด้วย 

หลักมนุษยธรรมของรัฐบาลดำเนินต่อไป ด้วยการออกมติครม. จัดสรรงบประมาณสูงถึง 60 กว่าล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าประกันตัวผู้ต้องขังเสื้อแดง  พร้อมกันนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็แสดงให้ประชาชนเห็นถึงความจริงใจอย่างยิ่งด้วยการเป็นประธานต้อนรับผู้ต้องขังออกมาจากเรือนจำด้วยตนเอง พร้อมกับควักเงินส่วนตัวใส่ซองขาวแจกจ่ายให้กับผู้ต้องขังเป็นค่ารถกลับบ้านคนละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท

แม้ผู้ต้องขังเหล่านั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์หรือเป็นพวกเผาเมือง แต่ถ้าในจำนวนนั้นเป็นคนจุดไฟเผาเมือง  เป็นมือปาระเบิด ยิงเอ็ม 79 สังหารผู้บริสุทธิ์จริง ก็ถือว่าคนเหล่านั้นได้รับการอำนวยความสะดวกจากรัฐบาลอย่างมากมาย  

ความพยายามของกระทรวงยุติธรรม ไม่หยุดเพียงเท่านี้ ล่าสุดกับการชงเรื่องเข้าครม.เมื่อวันที่ 10 ก.ค. เป็นวาระพิจารณาเรื่องที่ 14 โดยหัวเรื่องที่เสนออ้าง "หลักมนุษยธรรม" อีกครั้ง มีการระบุว่า “แนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของครอบครัวผู้ต้องขังคดีอาญาที่มีลักษณะเกี่ยวเนืองกับความขัดแย้งในทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว”

น่าเสียดายที่แนวทางช่วยเหลือผู้ต้องขัง  หรือ "แพ็คเกจเพื่อมนุษยธรรม"  รอบใหม่ ไม่ผ่านครม.โดยให้กระทรวงยุติธรรมกลับไปพิจารณาอีกรอบ  เนื่องจากมีผู้ต้องขังที่เพิ่งได้รับการประกันตัวจึงอาจทำให้เกิดความซับซ้อนต่อการช่วยเหลือ  อีกทั้ง แนวทางที่เสนอต้องมาพิจารณาถึงความจำเป็นกันอีกครั้ง             

ไม่ว่าแนวทางช่วยเหลือผู้ต้องขังตามหลักมนุษยธรรม จะส่งกลับเข้าครม.อีกครั้งหรือไม่ และจะขยายแพ็คเกจเพิ่มเติมเข้ามาหรือเปล่า ก็สมควรย้อนกลับตรวจดูข้อเสนอที่ถูกเด้งกลับไปว่ากระทรวงยุติธรรมเสนอมาอย่างไร           

เรื่องนี้ มีการอ้างว่า กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะทำงานสอบถามผู้ต้องขังทางการเมืองจำนวน 51 ราย  ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออะไรบ้าง   ปรากฎว่า ผู้ต้องขังบางรายมีความต้องการมากกว่า 1 อย่าง  จึงเป็นที่มาของการชงเรื่องเข้าครม.          

จำแนกได้ดังนี้ 18 ราย มีความต้องการให้ช่วยเหลือด้านการศึกษา เนื่องจากประสบปัญหาค่าอุปกรณ์การศึกษา เช่นหนังสือ ชุดนักเรียน ค่ารถ ค่าอาหารอยากให้ช่วยสนับสนุนเงินกู้ตามโครงการของรัฐบาล ทุนการศึกษา หรือเงินบริจาคจากองค์กร

ทั้งนี้ตามแนวทางช่วยเหลือได้กำหนดให้ สพฐ.มอบทุนยากจนคนละ 500 บาทต่อภาคเรียน และให้ประสานหาเงินจากมูลนิธิวัด สมาคมผู้ปกครองหน่วยงานหรือสมาคมต่างๆที่สนับสนุนด้านการศึกษาให้กับผู้ต้องขังแดงเหล่านี้

42 ราย  ต้องการให้ช่วยเหลือด้านหนี้สินและการดำรงชีวิต ส่วนหนึ่งประสบปัญหาหนี้สินนอกระบบ อยากให้แปลงหนี้นอกระบบให้เข้ามาในระบบเพื่อลดอัตราดอกเบี้ย ช่วยเข้ามาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ระหว่างเจ้าหน้าที่และลูกหนี้   

อีกจำนวนหนึ่งประสบปัญหาหนี้สินในระบบ อยากให้ขยายเวลาการชำระหนี้  อีกจำนวนหนึ่ง ต้องการเงินค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน  เนื่องจากขาดรายได้จาการถูกคุมขัง คิดเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน กทม.และปริมณฑล ประมาณวันละ 400 บาท ต่างจังหวัดประมาณวันละ 300 บาท  ค่าใช้จ่ายในการไปเยี่ยมผู้ต้องขังประมาณ ครั้งละ 1,500 บาท และยังขอค่าซ่อมแซมบ้านด้วย

16 ราย ต้องการช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล  ตั้งแต่ขอให้รักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว (บิดา  มารดา  ภรรยา บุตร)  ไม่ว่าจะเป็นให้ออกค่ารักษาพยาบาล  ค่ายารักษาโรคที่อยู่นอกเหนือบัญชีของสิทธิในการรักษาต่างๆ ขอให้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับญาติผู้ต้องขังที่อยู่ต่างจังหวัด มีฐานะยากจน ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง          

26 ราย ต้องการช่วยเหลือด้านอาชีพ มีการแจ้งว่า ประสบปัญหาการฝึกอาชีพ ไมได้ประกอบอาชีพต้องการมีรายได้    แต่ไม่มีความรู้ ต้องการประกอบอาชีพเสริม  ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือระบุให้ช่วยเหลือตามกฎกระทรวงแรงงานพิจารณาจากกลุ่มบุคคลทั่วไป , ผู้ไม่มีงานทำต้องการอาชีพเสริมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล 

ส่วนผู้ที่ประสบปัญหาเงินทุนในการประกอบอาชีพ   แนวทางช่วยเหลือให้ยึดตามพ.ร.บ.ส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545  มีกองทุนหมุนเวียนให้กู้ยืมระยะสั้น 3-6 เดือน วงเงินการกู้ยืมตั้งแต่ 1 หมื่น ถึง 4.2 หมื่นบาท 

ในจำนวนนี้( 5 ราย) แจ้งด้วยว่าขาดอุปกรณ์ประกอบอาชีพ  รัฐบาลเสนอแนวทางช่วยเหลือให้ใช้เงินกู้กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน    นอกจากนี้ผู้ต้องขังแจ้งว่ามีปัญหาสถานที่ประกอบอาชีพ เนื่องจากมีความรู้ในการประกอบอาชีพแต่ไม่มีสถานที่ค้าขาย  บางรายขอรับการสนับสนุนค่าเช่าที่ดินเพื่อทำนา ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลเสนอแนวทางช่วยเหลือให้เป็นไปตามกฎกระทรวงแรงงานผ่านศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด 

แพคเกจเพื่อ"มนุษยธรรม"เสื้อแดง

นื่คือสภาพความจริงจัง มุ่งมั่นของรัฐบาล ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามหลักมนุษยธรรม ทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต             

ท่ามกลางคำถามตามมาหลายแง่มุม นี่คืองบประมาณที่ไม่ได้ออกมาจากกระเป๋าคนมีเงินล้นฟ้าคนใดคนหนึ่ง แต่ล้วงออกมาจากกระเป๋าผู้เสียภาษีเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล "ตามหลักมนุษยธรรม" ซึ่งจะต้องควักออกไปอีกเท่าไหร่จะจบลงเมื่อไหร่                

แล้วผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อื่นๆ นำมาซึ่งการเสียชีวิต บาดเจ็บ ถูกคุมขัง ลงไปถึงผู้ด้อยโอกาส คนจน ไม่มีอันจะกิน จะได้รับสิทธิพิเศษเยี่ยงนี้ด้วยไหม หรือว่าต่อไปการให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมจะถูกยกระดับกำหนดเป็นมาตรฐานเยียวยาโดยยึดหลักตามนี้เหมือนกันหมด         

หรือว่า "แพ็คเกจมนุษยธรรม" มีเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง!!!