posttoday

ผ่าอภิโปรเจ็กต์3.4 แสนล.เอาแน่!เสือเต้น –แม่วงก์

10 กรกฎาคม 2555

เปิดรายละเอียดเอกสารลับเมกะโปรเจกต์ 3.4 แสนล้าน สร้างแน่!เขื่อนแก่งเสือเต้น-แม่วงก์

โดย .......ทีมข่าวการเมือง

ผ่าอภิโปรเจ็กต์3.4 แสนล.เอาแน่!เสือเต้น –แม่วงก์

แม้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(กบอ.) จะไม่เต็มใจเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงอภิมหาโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.4 แสนล้านบาท ให้สื่อมวลชน    แต่อย่างไรก็ตาม” โพสต์ทูเดย์”  ได้ติดตามเอกสารดังกล่าวมาจนได้โดย พบว่า มีจำนวน 3 เล่ม เป็นปกสีฟ้า สีเทา สีน้ำตาล   มีการแจกแจงแผนปฏิบัตการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืนกรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา 8 โครงการ  รวมวงเงิน 3 แสนล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำย่อย 17 ลุ่มน้ำ ซึ่งกระจายอยู่บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ อีก 6 โครงการ รวมวงเงิน 4 หมื่นล้าน มีรายละดังนี้

โครงการลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3 แสนล้าน 

1.การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดิน ฝายแม้วฯลฯ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมดุล สำหรับ พื้นที่ดำเนินการแบ่งเป็น   พื้นที่ป่าต้นน้ำ และป่าในที่สูง จะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 8 ถึง  10 ล้านไร่  ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ  เช่น เชียงใหม่  ลำปาง แพร่  น่าน อุตรดิษถ์ พิษณุโลก อุทัยธานี  เพชรบูรณ์ เป็นต้น โดยจะเน้นดำเนินการบนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่ที่มีความลาดชันสูง พื้นที่เกษตรที่สูง เป็นต้น   

ส่วนพื้นที่ป่ากลางน้ำและป่าในพื้นที่ราบ  จะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 500,000 ไร่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง เช่น สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์  ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี เป็นต้น พื้นที่ปลายน้ำและป่าในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ดำเนินการในพื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่  เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร  สมุทรสงคราม เน้นบนพื้นที่ป่าชายเลน รวมวงเงิน 10,000 ล้านบาท 

2. การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสม และยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มนย้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก รวมความจุประมาณ 1,807 ล้านลูกบาศก์เมตร    แบ่งเป็นลุ่มน้ำปิง จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม  ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่  อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองวังเจ้า คลองสวนหมาก และคลองขลุง ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง    

ที่น่าสนใจเอกสารระบุชัด “ลุ่มน้ำยมจะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแก่งเสือเต้น ความจุ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทานประมาณ 774,200 ไร่”

ลุ่มน้ำน่าน จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำปาด ขนาดความจุ 58.9  ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่ ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์   อ่างเก็บน้ำคลองชมพู  ความจุ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่ ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก

ขณะที่บริเวณลุ่มน้ำสะแกกรัง ระบุการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วงก์ ความจุ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่ ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์    ส่วนลุ่มน้ำป่าสักจะสร้งอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำป่าสักตอนบน ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำ 13 แห่ง ความจุ 98.59 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่ ต.หนองรี อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี  พิจารณาจากแผนงานดังกล่าวจะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งสิ้น 21 อ่างเก็บน้ำ โดยจะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 ใช้เวลา 3 ปีถึง 5 ปี รวมวงเงิน 5 หมื่นล้าน

3.การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อม พื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัดและของประเทศ (ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง)   ซึ่งในส่วนนี้จะมีโครงการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัด  เช่น แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์  พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี  อ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรี  ปทุมธานี  นนทบุรี เป็นต้น  นอกจากนี้จะมีการทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลักของประเทศ พื้นที่ตั้งแต่ใต้จังหวัดอยุธยา ลงมาถึงอ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ชุมชน พาณิชยกรรม  รวมวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท

4.การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือนครสวรรค์ และเหนืออยุธยาเพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว ประมาณ  6,000 ถึง 10,000  ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้พื้นที่ประมาณ 2,000,000 ไร่  ประกอบด้วยพื้นที่ที่ตั้งอยู่เหนือนครสวรรค์ ประมาณ   1 ล้านไร่ และพื้นที่ที่ตั้งอยู่เหนืออยุธยา ประมาณ  1 ล้านไร่รวมวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท

5.การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและคันริมแม่น้ำของแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯ  โดยจะมีงานขุดลอก  สันดอนแม่น้ำ  ปรับแนวตลิ่งแม่น้ำ ปรับปรุงคันริมแม่น้ำ  เพื่อให้ได้หน้าตัดแม่น้ำตามที่กำหนด  ยังมีงานปรับปรุงคันริมแม่น้ำ  งานปรับปรุงคลองระบายน้ำ   รวมวงเงิน 7,000 ล้านบาท 

6.การจัดทางน้ำหลาก (Floodway ) หรือทางผันน้ำ (Flood diversion channel  )  ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500  ลูกบาศก์เมตร/วินาที  เพื่อรับอัตราการไหลน้ำหลากส่วนเกิน จากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก ไปทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งใดฝั่งหนึ่ง รวมทั้งจัดทำทางหลวง(ระดับประเทศ) ไปพร้อมๆกัน  รวมวงเงิน 120,000 ล้านบาท

7. การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ (หลากและแล้ง) กรณีต่างๆ รวมวงเงิน 3,000 ล้านบาท 8. การปรับปรุงองค์กร (ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ สั่งการ กำกับ ดูแล ติดตาม พร้อมทั้งจัดหากฎหมาย และวการเยียวยาที่เหมาะสม   ใช้งบประมาณปกติ    ทั้งนี้การปรับปรุงองค์กรน้ำ สอดคล้องกับที่นายปลอดประสพ ให้สัมภาษณ์ว่าต่อไปประเทศไทยจะมีกระทรวงน้ำ“

โครงการลุ่มน้ำอื่นๆ( 17 ลุ่มน้ำ)  4 หมื่นล้าน  ได้แก่

1.การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดินฝายต้นน้ำ ฯลฯ เพื่อได้เกิดระบบนิเวศที่สมดุล พื้นที่ 6 ล้านไร่ ประกอบด้วยป่าต้นน้ำ ป่าที่สูง ป่ากลางน้ำ  ในพื้นที่ตั้งแต่ สงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุง พังงา ชุมพร   ส่วนลุ่มน้ำตะวันออกเฉียงเหนือ ในเขตนครราชสีมา ชัยภูมิ เลย นครพนม  อุบลราชธานี  รวมวงเงิน 6,000 ล้านบาท

2.การสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ  ลุ่มน้ำภาคใต้  ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  ลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก  ส่วนลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลุ่มน้ำเลย ลุ่มน้ำมูล- ชี และลุ่มน้ำสาขา รวมวงเงิน 12,000 ล้านบาท

3.การจัดทำผังการใช้ที่ดิน ( Landuse zoning ) การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัด และของภาค(ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง ) แบ่งเป็นลุ่มน้ำภาคใต้ ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา เช่น หาดใหญ่  นครศรีธรรมราช  ลุ่มน้ำชายฝั่งตะวันตก เช่น พัทลุง พังงา ลุ่มน้ำตาปี  เช่น สุราษฎร์ธานี  ลุ่มน้ำชายฝั่งตะวันออก   ส่วนลุ่มน้ำภาคคะวันออกเฉียงเหนือ  ในพื้นที่ลุ่มน้ำ มูล –ชี เช่น ชัยภูมิ นครราชสีมา  อุบลราชธานี ลุ่มน้ำเลย เช่น เลย ลุ่มน้ำโขง  เช่นหนองคาย  นครพนม อุดรธานี  รวมวงเงิน 10,000 ล้านบาท 

4.การปรับปรุงสภาพทางน้ำสายหลักและคันริมแม่น้ำ   ลุ่มน้ำภาคใต้ บริเวณ ลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก   ส่วนลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณลุ่มน้ำมูล – ชี  และลำน้ำสาขาลุ่มน้ำเลย ลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง  ลุ่มน้ำแม่กลอง  ลุ่มน้ำเพชรบุรี รวมวงเงิน 10,000 ล้านบาท 

5.การปรับปรุงระบบคลังข้อมูลระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดการน้ำกรณีต่างๆ บริเวณลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ที่อยู่ในพื้นที่ ภาคใต้  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก  รวมงเงิน 2,000 ล้านบาท

6. การปรับปรุงองค์กร(ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ สื่อสาร กำกับ ดูแล ติดตาม พร้อมทั้งจัดหากฎหมาย และวิธีการเยียวยาเหมาะสม     บริเวณลุ่มน้ำ  17 ลุ่มน้ำ  ที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก พื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก โดยใช้งบปกติ