posttoday

บอลยูโรบทเรียนฟรีทีวีต้องยึดประโยชน์ของปชช.

29 มิถุนายน 2555

"การควบคุมฟรีทีวีให้ยึดประโยชน์ของประชาชนที่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานตาม รัฐธรรมนูญ ยังคงต้องรอร่าง พ.ร.บ.กสทช. ที่ยังไม่เป็นรูปร่างชัดเจนมาควบคุม เมื่อถึงเวลานั้น ประชาชนจะไม่ถูกลิดรอนสิทธิ์โดยไม่เป็นธรรมอีกต่อไป"

"การควบคุมฟรีทีวีให้ยึดประโยชน์ของประชาชนที่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานตาม รัฐธรรมนูญ ยังคงต้องรอร่าง พ.ร.บ.กสทช. ที่ยังไม่เป็นรูปร่างชัดเจนมาควบคุม เมื่อถึงเวลานั้น ประชาชนจะไม่ถูกลิดรอนสิทธิ์โดยไม่เป็นธรรมอีกต่อไป"

โดย.... นิติพันธุ์ สุขอรุณ

เป็นที่ได้แน่ชัดแล้วว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ขอคุ้มครองฉุกเฉินให้มีการแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลยูโร ในคดีที่น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กับพวกร่วมเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง ช่อง3 ช่อง5 ช่อง9 และ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด  ภายหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการพิจารณาไต่สวนคดียาวนานถึง 3 วันรวด ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.2555 ที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นของคดี “จอดำ” เกิดจากตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา การรับชมรายการที่มีการถ่ายทอดสดจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันชกมวยชิงแชมป์โลก ฟุตบอลโลก แข่งขันรถเอฟ 1 มาจนถึงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ครั้งล่าสุดนี้ ล้วนแล้วจะต้องมีบริษัทเอกชน ไปประมูลซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมาทั้งนั้น

ทว่า กรอบของลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดภาพและเสียงเหล่านี้ จะต้องอยู่ภายใต้การส่งสัญญาณภาพให้รับชมได้เพียงในประเทศเท่านั้น การที่สัญญาณภาพหลุดออกนอกประเทศ เท่ากับเป็นละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญหา

ขณะที่ เทคโนโลยีของโลกสมัยใหม่ก้าวหน้าไปไกลกว่าการรับสัญญาณภาพจากเสาอากาศแบบก้างปลา หรือหนวดกุ้ง ในสมัยก่อน เปลี่ยนมาเป็นการเลือกซื้อกล่องรับสัญญาณภาพและเสียงผ่านทางดาวเทียม ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ประกอบการธุรกิจมีการแข่งขันอย่างเสรี ทำให้มีผลิตภัณฑ์จานรับสัญญาณหลากหลาย เช่น “จานดำ” เป็นการให้บริการแบบไม่เสียค่าบริการรายเดือน ส่วนจานของบริษัท ทรูวิชั่น จำกัด จะเป็นแบบจ่ายค่าบริการรายเดือน โดยมีฟังก์ชั่นให้ผู้บริโภคเลือกมากมาย ซึ่งกล่องรับสัญญาณเหล่านี้สามารถรับชม ฟรีทีวี หรือช่อง 3,ช่อง 5,ช่อง 7,ช่อง 9, ช่อง11  และ Thai pbs ได้โดยอัตโนมัติ

เหตุการณ์ที่มีประชาชนในฐานะผู้บริโภคที่เลือกใช้กล่องรับสัญญาณทั้งแบบจ่ายค่าบริการรายเดือน และไม่มีค่าบริการรายเดือน ไม่สามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ได้ เนื่องจาก บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด ได้ประมูลซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลจากสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ที่ประเทศโปแลนด์

การรับส่งสัญญาณภาพจากประเทศโปแลนด์มายังประเทศไทย จะต้องผ่านดาวเทียมมายัง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด หรือ CAT เพื่อส่งต่อสัญญาณภาพที่ได้มาให้กับทาง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

เมื่อทาง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้สัญญาณภาพมาแล้ว กระบวนการทำภาพกราฟฟิค ลงเสียงภาคของผู้ประกาศจะอยู่ที่กระบวนการจุดนี้ แต่การบริหารธุกิจเอกชน ย่อมต้องแสวงหากำไรด้วย ทั้งจากการเปิดให้ ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 ร่วมทำสัญญาย่อยที่ชุดหนึ่งเพื่อซื้อการถ่ายทอดสดไปออกที่สถานีโทรทัศน์ของตัวเอง เป็นการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต้นทุนค่าใช้จ่ายลิขสิทธิ์ ขณะเดี่ยวกับก็หากำไรจากค่าโฆษณา ที่วัดจากจำนวนผู้รับชมการแข่งขันฟุตบอลยูโร รวมถึงการขายกล่องของจีเอ็มเอ็ม แซท ซึ่งเป็นเครือหนึ่งในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด อีกทาง

ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจขายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม อย่างเช่น กล่องรับสัญญาณ พีเอสไอ(ไม่มีค่าบริการรายเดือน) และไม่ได้เข้าร่วมประมูลย่อยกับทาง จีเอ็มเอ็มแกรมมี่  ส่วนกล่องรับสัญญาณของ ทรูวิชั่น (คิดค่าบริการรายเดือน) ได้มีการเจรจากับ แกรมมี่ แต่ไม่ลงตัวทำจึงจำยอมต้องปล่อยเลยตามเลย

ผลที่ตามมาเมื่อการแข่งขันฟุตบอลยูโรเริ่มขึ้น เกิดเหตุการณ์ “จอดำ” ที่ช่องฟรีทีวี ในขณะที่มีการแข่งขันช่วงเวลานั้นๆ บนกล่องรับสัญญาณของ พีเอสไอ และ ทรูวิชั่น ทำให้ประชาชนจำนวน 11 ล้านคน อดนั่งชมการแข่งขันฟุตบอลยูโรโดยไม่มีสิทธิรับชมรายการที่อยู่ในผังรายการแต่เดิม

นายธนชัย วงศ์ทองศรี รองผู้อำนวยการใหญ่ ในฐานะนักกฎหมาย บริษัท อสมท. จำกัด ขึ้นเบิกความต่อศาลแพ่งว่า ทางบริษัท อสมท. จำกัด ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้รับสัญญาณภาพและเสียงมาจาก บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด ซึ่งได้มาเช่าซื้อเวลาจากช่อง 9 เพื่อขอออกอากาศถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร โดยมีการเข้ารหัสสัญญาณภาพ เพื่อป้องกันการรั่วไหลออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ศาลแพ่ง ได้ตั้งคำถามว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องบริการประชาชนอย่างทั่วถึงทำไมจำยอมให้มีบริษัทเอกชน มาบีบบังคับให้มีการเข้ารหัสภาพและเสียง จนเป็นเหตุให้มีประชาชนไม่สามารถรับชมรายการตามปกติได้ หรือเหตุการณ์ “จอดำ” นายธนชัย กล่าวว่า เนื่องจากทาง บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ได้มาเช่าซื้อเวลาของทาง อสมท. ไว้แล้ว อีกทั้ง อสมท.ไม่ทราบว่า จะเกิดเหตุการณ์จอดำขึ้น เพราะไม่ได้มีการระบุก่อนหน้านี้ รวมทั้งทางอสมท. เข้าใจอยู่แล้ว่า ลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดฟุตบอลยูโร ทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว จึงมีความกังวลว่า ถ้าอสมท. ไม่นำรหัสเข้าสัญญาณที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่  ให้มาพร้อมกับภาพและเสียง จะเป็นการผิดข้อตกลง อาจมีผลให้ อสมท. ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้

ศาลแพ่ง ตั้งคำถามต่อทันทีว่า เมื่อทราบว่าจะมีการเข้ารหัสสัญญาณภาพและเสียงในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำไมจึงไม่ดำเนินการแก้ไข หรือให้เจรจากับทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ใหม่อีกครั้ง นายธนชัย เบิกความว่า อสมท.ยึดหลักลิขสิทธิ์เป็นสำคัญ แต่ถ้าทราบว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนว่าจะเกิดเหตุการณ์จอดำ ก็คงไม่ทำสัญญากับทาง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

ศาลแพ่ง ถามอีกว่า ผู้ที่ไม่สนใจดูการแข่งขันฟุตบอลยูโร และต้องการดูรายการอื่น ทาง อสมท. ดำเนินการแก้ไขอย่างไร นายธนชัย กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ยืนยันว่าทีมกฎหมายของ อสมท.มีความกังวลเรื่องลิขสิทธิ์ 

จากนั้น น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท
ช. ขึ้นเบิกความว่า ยอมรับว่ากรอบการตรวจสอบของ กสทช.ยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ เนื่องจากอยู่ในช่วงกำลังร่าง พ.ร.บ. กสทช. ทั้งนี้นิยามของคำว่า “ฟรีทีวี” ขยายกว้างไปถึงผู้ประกอบการจานรับสัญญาณ หรือ จานดำ แต่ในส่วนของจานรับสัญญาณ ของบริษัท ทรูวิชั่น ถือเป็นความรับผิดชอบของทรูเอง เพราะทรูวิชั่น มีการเก็บค่าบริการรายเดือน

น.ส.สุภิญญา กล่าวอีกว่า ความเห็นส่วนตัว ทางช่อง 3,ช่อง5 และช่อง9 ควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผังรายการโดยไม่แจ้งต่อทาง กสทช. เพื่อให้เกิดการตรวจสอบก่อนว่า การรับสัญญาณจากทาง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร และเหตุการณ์เปลี่ยนผังทันทีไม่เหมือน การถ่ายทอดพระราชพิธีสำคัญ หรือ สาระคดีที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการไม่ได้แจ้งเปลี่ยนผังกับทาง กสทช. จึงเป็นการข้ามขั้นตอนไปที่เรื่องของ การยึดลิขสิทธิ์เป็นหลัก แต่ก็ยอมรับว่า เมื่อมีเหตุการณ์จอดำ ทางกสทช. เองก็ไม่ได้แจ้งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล อสมท. ว่ามีการเปลี่ยนแปลงผังรายการ

ด้านผู้ประกอบการตัวแทน บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด ขึ้นเบิกความว่า จานรับสัญญาณของทาง พีเอสไอ สามารถรับสัญญาณภาพและเสียง ช่องฟรีทีวี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่าง การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของทาง บริษัท อาร์เอส จํากัด ในขณะนั้น ก็ยังเปิดให้ผู้ประกอบการจานดำ รับชมการแข่งขันได้เช่นกัน

ท้ายที่สุด แม้ว่าศาลแพ่งได้คำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบธุรกิจ แต่ถ้าหากศาลสั่งคุ้มครองอาจเกิดการระงับสัญญาณได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ชมการถ่ายทอดสดผ่านทางเสาก้างปลาไม่ได้รับชมได้ด้วย รวมถึงความน่าเชื่อถือของประเทศที่มีต่อประชาคมโลกในเรื่องการรับรองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา อันยากที่จะเยียวยาแก้ไข

การควบคุมฟรีทีวีให้ยึดประโยชน์ของประชาชนที่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานตาม รัฐธรรมนูญ ยังคงต้องรอร่าง พ.ร.บ.กสทช. ที่ยังไม่เป็นรูปร่างชัดเจนมาควบคุม เมื่อถึงเวลานั้น ประชาชนจะไม่ถูกลิดรอนสิทธิ์โดยไม่เป็นธรรมอีกต่อไป