posttoday

เอกซเรย์ร่างกม.ปรองดองทำลายตุลาการ

29 พฤษภาคม 2555

กฎหมายต่างประเทศการที่จะให้ยกเลิกการกระทำของฝ่ายตุลาการเลยนั้นไม่เคยมี หาได้ยากในประเทศบนโลกนี้

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงทันตา หลังร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ นำร่องกรุยทางจ่อเข้าสู่การพิจารณาเร็วๆ นี้ ท่าม กลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหา 8 มาตรา ที่ล้างความผิดตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2548-10 พ.ค. 2554 สะเทือนไปถึงองค์กรตามกระบวนการยุติธรรม

วิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อดีตผู้พิพากษา ให้ความเห็นว่า สาระสำคัญให้มีการยกเลิกคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ดำเนินการไว้ว่า เป็นการยกเลิกแบบเบ็ดเสร็จไปถึงอำนาจตุลาการด้วย ขณะที่กฎหมายต่างประเทศการที่จะให้ยกเลิกการกระทำของฝ่ายตุลาการเลยนั้นไม่เคยมี หาได้ยากในประเทศบนโลกนี้ เท่าที่ตรวจสอบพบว่ากระบวนการใดที่ทำจนถึงที่สุดแล้ว จะใช้วิธีการอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าย้อนกลับไปเริ่มต้นที่จุดเดิม แล้วจะมาบอกว่าที่ทำไปแล้วนั้นใช้ไม่ได้เลย อย่างนั้นไม่มี

เอกซเรย์ร่างกม.ปรองดองทำลายตุลาการ

วิชา กล่าวว่า หากมีการดำเนินการให้ยกเลิกอย่างที่วิพากษ์วิจารณ์กันจริง ย่อมส่งผลกระทบถึงความคิดของประชาชน ว่าระบบความยุติธรรมไม่ได้รับความเชื่อถือและไม่ได้รับความเคารพอีกต่อไป โดยเฉพาะศาลยุติธรรม ระบบตุลาการ ซึ่งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้วางระบบตุลาการโดยห้ามมิให้อำนาจอื่นมาแทรกแซงเป็นอันขาด ตรงนี้ย่อมกระทบจิตใจประชาชนที่ต้องการให้ศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่ง

“แม้แต่ยุครัฐประหารรวมถึงยุคที่บ้านเมืองปกครองโดยเด็ดขาด ก็จะไม่มีการเข้ามาแทรกแซง เช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็จะเห็นว่ากรณีศาลตัดสินคดีกินป่าลงโทษจำคุก พล.อ.สุรจิต จารุเศรนี อดีต รมว.เกษตรฯ ทั้งที่ พล.อ.สุรจิต ก็อยู่ในคณะปฏิวัติด้วย และคราวนี้ถ้ามีขึ้นจริง ก็ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ระบบตุลาการถูกแทรกแซง ซึ่งเชื่อว่าศาลท่านก็ต้องหวั่นไหวว่าการทำคดีที่ไต่สวนอยู่ขณะนี้จะไปรอดหรือไม่”

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า กฎหมาย 8 มาตรานี้ คนที่ได้ประโยชน์เป็นนักการเมืองซะส่วนใหญ่ ประโยชน์ตกกับประชาชนส่วนน้อย ที่ได้ประโยชน์คือหากล้มเลิกคดีความทั้งหมด ประชาชนที่ติดคดีก็จะสามารถรับเงินเยียวยาได้เพราะไม่ติดเงื่อนไข

“การยกเลิกความผิดที่เกี่ยวข้องกับทั้ง คตส. ซึ่งศาลพิจารณาตัดสินแล้ว อย่างนี้กระบวนการยุติธรรมจะอยู่ได้อย่างไร รวมทั้งบางคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะต้องยกเลิกไป ซึ่งทาง ออกควรจะเดินหน้าต่อให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามกลไกปกติแทนที่จะไปยกเลิก ซึ่งเรื่องนี้การเสนอสุดโต่งเพื่อที่จะเปิดให้มีการต่อรองในชั้นพิจารณาหรือไม่ก็ไม่รู้”

คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การล้างความผิดในกฎหมายฉบับนี้ จะขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม ในการออกกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติมาล้มล้างความผิดที่ผ่านการตัดสินของฝ่ายตุลาการแล้วหรือไม่นั้น ก็ถือเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งโดยหลักการฝ่ายนิติบัญญัติก็จะเป็นฝ่ายออกกฎหมาย ฝ่ายตุลาการก็เป็นผู้นำไปปฏิบัติ ส่วนในแนวคิดทฤษฎีก็คงเป็นเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกันออกไป  

“ถ้าถามว่าน่าเป็นห่วงไหม พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยรวมถ้าแก้ปัญหาความขัดแย้งได้จริงก็จะเป็นประโยชน์ เพราะหลักทั่วไปที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาก็จะมีการออกกฎหมายมานิรโทษกรรมมาโดยตลอด ไม่เช่นนั้นก็จะแตกแยกยืดเยื้อ เรื่องนี้ก็คงต้องเสี่ยง เพราะเวลานี้ก็ไม่เห็นทางออกอื่น ไม่เช่นนั้นก็ต้องอึมครึมกันต่อไป การทำวันนี้ก็เพื่อคนในปัจจุบันให้มีความหวังในอนาคต ดีกว่ารอวันตาย ซึ่งหากโชคดีก็รอด โชคร้ายก็ไม่มีทางออก”