posttoday

ตัวจริงขอลงสนาม รัฐบาลกำไรได้ 111

19 พฤษภาคม 2555

"การเมืองบางทีก็เหมือนละครโทรทัศน์ไม่ต้องไปดูทุกวันหรอก ดูตอนไหนก็ต่อติด"

"การเมืองบางทีก็เหมือนละครโทรทัศน์ไม่ต้องไปดูทุกวันหรอก ดูตอนไหนก็ต่อติด"

โดย.. ธนพล บางยี่ขัน, วิษณุ นุ่นทอง         

ตัวจริงขอลงสนาม รัฐบาลกำไรได้ 111

ห่างหายไปจากหน้าฉากการเมืองเกือบ 5 ปี "สุวัจน์ลิปตพัลลภ"หนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ซึ่งอยู่ระหว่างชั่งน้ำหนักว่าจะเริ่มต้นเส้นทางการเมืองอีกครั้งในจุดไหน เปิดการสนทนาแบบมีนัย...

ในวันที่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 กลับลงสนามการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร
         
เริ่มต้นคำถามแรก "สุวัจน์" นิ่งคิดเล็กน้อย ก่อนจะค่อยๆ ไล่อธิบายว่า ตอนที่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 โดนโทษแบน การเมืองเปลี่ยน เพราะทุกคนก็จะมองว่าตัวจริงไม่ลงสนาม พรรคการเมืองเอาใครไม่รู้มาเป็นหัวหน้าพรรค การเมืองมันหงอยไปพักหนึ่ง
        
เพราะฉะนั้นถามว่า สมาชิกบ้านเลขที่111 มาการเมืองเปลี่ยนไหม ยังไงก็ต้องเปลี่ยน เพราะยังไงก็เหมือนเกม ต้องเปลี่ยนตัวจริงลงสนาม พูดง่ายๆเหมือนดูฟุตบอล ตัวจริงจากที่เคยถูกใบแดงหรือใบเหลือง ห้ามเล่น มาลงสนามก็ต้องคึกคัก ต้องดีเพียงแต่บอกตัวสำรองชุดเก่านิดหนึ่ง ว่าขอพี่บ้างนะต้องทำความเข้าใจนิดหนึ่ง
         
"ตราบใดถ้าทำความเข้าใจกันได้ว่า ไม่ให้มีความขัดแย้ง จากการลงสนามของ 111 ผมว่ามีแต่เรื่องที่ดีมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี คือ ได้ของจริงวันนี้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจทั้งเรื่องความขัดแย้งความเชื่อมั่นอะไรต่างๆ ผมว่ามันต้องได้แบบคนที่มีประสบการณ์จริงๆ อ่านเกมออก อ่านเกมทะลุ มีบารมี และรอบรู้ว่าเรื่องไหนควรทำเรื่องไหนไม่ควรทำเรื่องไหนทำก่อน เรื่องไหนทำหลังถือว่าได้คนที่มีบารมีมานั่งจะทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงาน
         
...เอาง่ายๆ คนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็มาเป็น บางทีขาดบารมี ก็บริหารกระทรวงยาก การยอมรับจากผู้ที่ต้องเข้าไปประสาน มันอาจจะน้อยเพราะฉะนั้นงานก็จะไม่เดิน แต่วันนี้ทุกวันเวลามีค่าทุกวัน เรื่องเศรษฐกิจเรื่องนั้นเรื่องนี้มันต้องมูฟเร็วด้วยมูฟถูกทิศทางด้วย ไม่ใช่จะมาลองขับ ลองเลี้ยว ลองขับไม่พอ จะมาลองเลี้ยวอีก คือขับไม่เก่งไม่พอ ยังไม่รู้ทางอีกไม่ได้ ต้องขับเลยแล้วรู้ไดเรกชันเลย"
         
สุวัจน์ ขยายความว่าสมาชิกบ้านเลขที่111 มากับสถานการณ์ พวกคุณคือตัวช่วย ภาษาอังกฤษเขาบอกว่า โอกาสมาเคาะประตูแค่ครั้งเดียว อย่าตัดสินใจโดยที่ปล่อยให้โอกาสมันเลยไป ทุกคนต้องลงมาช่วยบ้านเมือง ใครมีอะไรดีๆ ในตัวต้องออกมา ไม่ใช่บอกว่า ไม่เอาแล้วผมพอแล้ว ไม่อยากได้ยินอย่างนั้น
         
"ผมเชื่อว่าหลายๆคนไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องมีตำแหน่งบริหาร แต่การเมืองขณะนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องลงไปเล่นอย่างเดียวแล้ว เป็นการเมืองที่เป็นผู้จัดการก็ได้ เป็นโค้ช เป็นที่ปรึกษาก็ได้ มันก็เปลี่ยนรูปแบบการเล่นไปพอสมควร"
         
...แน่นอนว่า 5 ปีผ่านไป บางคนอาจจะไม่เหมาะเป็นรัฐมนตรี เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาคุณไม่ได้ฟิตเลย หรือคุณเลยไปแล้วจุดนี้ บางคนอาจจะบอกว่าคุณยังฟิตอยู่ยังติดตามสถานการณ์อยู่ คุณเหมาะที่จุดนี้ บางคนอาจจะเหมาะเป็นที่ปรึกษา บางคนอาจจะเป็นมือประสานแต่ภาพรวมแล้วถ้าพวกเขาไปอยู่ในซีกรัฐบาลเยอะรัฐบาลก็จะกระฉับกระเฉง มีคนมาช่วยทำงานเยอะอยากที่จะมองในเชิงโพสซิทีฟกับประเทศ
         
สุวัจน์ เลี่ยงไม่วิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวบุคคลที่นั่งเป็นรัฐมนตรีเวลานี้ แต่อธิบายว่า สมาชิกบ้านเลขที่ 111 เก๋าแทบทุกคน หมายถึง ครบเครื่องส่วนใหญ่จะเป็นสส. 5-6 สมัย เป็นรัฐมนตรี 2-3 สมัย อายุ 40 ปลายๆ50 ต้นๆ ถ้าพูดตรงๆ คือ คนรุ่นที่สองของระบบการเมืองประเทศอยู่กับเหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่าน ทั้งเหตุการณ์การเมืองเก่า เหตุการณ์การเมืองใหม่ คือคนพวกนี้จะหล่อหลอมสัญชาตญาณของความเป็นนักการเมืองที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้ครบถ้วนมากที่สุด "คนพวกนี้เพอร์เฟกต์ต่อสถานการณ์""ถ้าลงมาได้ด้วยตัวเองก็ดี แต่บางคนอาจจะพร้อมบ้าง ไม่พร้อมบ้างก็แล้วแต่ ก็ต้องไปช่างน้ำหนักตัวเรา เราอายุมากเกินไปหรือเปล่า มีขีดจำกัดหรือเปล่า บางคน 5 ปี อาจจะไปทำธุรกิจ ไปเป็นอาจารย์ ไปมีคอมมิตเมนต์อะไรต่างๆ ขึ้นอยู่กับสถานะ สถานการณ์ ของเขาตรงนั้น ว่าเขาลงตัวที่จุดไหน แต่คงไม่ใช่ทั้งหมดที่อยากจะกลับมา เท่าที่มีการพูดคุยกันก็ต้องแล้วแต่การตัดสินใจเมื่อถึงเวลานั้น"       

ตัวจริงขอลงสนาม รัฐบาลกำไรได้ 111

ส่วนที่วิเคราะห์กันว่าการกลับมาของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 จะนำมาสู่แรงต้านจากคนรุ่นที่ 3 ?"สุวัจน์" ยอมรับว่า ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกครั้ง ก็ต้องมีกระเพื่อมบ้างแต่การปรับ ครม.ระยะหลังที่ปรับกันถี่เช่นทุก 6 เดือนไม่เหมือนสมัยก่อน จัดรัฐบาลแล้วก็รอไปอีกที 4 ปี
         
"การปรับ ครม. ดึงสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ไปร่วมถึงจะนำไปสู่แรงกระเพื่อมที่จะกระทบเสถียรภาพรัฐบาลผมกลับมองว่า
         
เพอร์ฟอร์แมนซ์ประสิทธิภาพที่ได้ ความกระฉับกระเฉงที่ได้บวก ลบ คูณ หารแล้ว ผมว่ารัฐบาลกำไร"

หลายคนเกรงว่าการกลับมาของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 จะไปแย่งซีนนายกฯ ให้ด้อยลงไป
         
ทว่า "สุวัจน์" ยังเห็นว่า 1 ปี ที่ผ่านมาของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ครบเครื่องแล้วเหมือนคนที่เข้าฟิตเนสทุกวัน วันนี้เฟิร์ม มั่นใจครบเครื่องผมว่าบารมีความเป็นนายกฯ ความเป็นผู้หญิงที่สังคมไทยจะต้องรู้สึกว่าให้เกียรติก็ได้เปรียบ ดังนั้นไม่น่ามีปัญหาเรื่องนี้
         
"การที่พรรคเพื่อไทยมีเสียงเกินครึ่งก็เป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่งในระบอบประชาธิปไตย เป็นเบสิกสำหรับทุกเรื่องถ้าอยากจะอยู่ 4 ปีก็อยู่ได้ อยากจะเดินหน้านโยบาย ถ้าตัวเองมั่นใจก็เดินได้ แต่ต้องรับผิดชอบเมื่อครบ4 ปี ว่าสิ่งที่ตัดสินใจประชาชนคิดอย่างไร"
         
ส่วนเงื่อนเวลาที่สมาชิกบ้านเลขที่111 จะกลับเข้ามาร่วมรัฐบาลหลังพ้นโทษแบนในปลายเดือนนี้เลยหรือไม่นั้น เรื่องนี้"สุวัจน์" อธิบายว่า ธรรมเนียมการปรับ ครม. ต้องดูพรรคแกนนำพรรคร่วมรอจังหวะ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องปรับพร้อมพรรคแกนนำ
         
สุวัจน์ บอกว่า ส่วนตัวเขาอยู่ระหว่างการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อนำมาสู่การตัดสินใจเพราะยังเหลือเวลาอีกตั้งหลายเดือน แม้จะสิ้นเดือนนี้ ก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะปรับ ครม.เลย ยังมีเวลา โดยการตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานที่ว่าผมเป็นประโยชน์กับประเทศในจุดนั้น
         
"ไม่ได้แปลว่าผมต้องเป็นหัวหน้าพรรค เป็นรัฐมนตรี ผมเป็นประโยชน์กับประเทศในจุดไหน ประเทศมีปัญหาอะไร และด้วยพื้นฐานอะไรของเราที่เราเหมาะสำหรับไปอยู่จุดนี้ แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด ในฐานะที่เราเป็นคนไทย เป็นอดีตนักการเมือง คิดว่าอยู่ในเหตุการณ์ที่ประเทศชาติมีปัญหา หลายเรื่องเศรษฐกิจความแตกแยก จุดไหนเป็นประโยชน์มากที่สุดจะไปอยู่ในตำแหน่งนั้น ไม่ใช่เรื่องตำแหน่ง"
         
การพ้นห้วงเวลา 5 ปี จึงเป็นการหลุดพ้น ไม่มีเงื่อนไขทางกฎหมาย มีอิสระทำอะไรได้ครบถ้วน ซึ่งจะต้องตัดสินใจว่าจะไปอยู่จุดไหนที่ดีที่สุด ไม่ใช่ "เดอะ เบสต์ ฟอร์ อัส" แต่เป็น "เดอะเบสต์ ฟอร์ คันทรี"

จิ๊กซอว์ปรองดอง

สิ่งหนึ่งที่ "สุวัจน์" เห็นว่าเป็นข้อดีกับการหวนคืนสนามของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 คือ "สัญญาณปรองดอง"
         
ภาพที่เห็นคือเหมือนกับการหมดทุกข์หมดโศกเหมือนกับการจบๆ กันไป ลืมเรื่องเก่าๆมาตั้งต้นกันใหม่ ภาพเป็นอย่างนั้น อย่างน้อยแค่ภาพก็เป็นความรู้สึกดีๆ
         
"ต้องให้เขามาทำเรื่องปรองดองคนพวกนี้จะมีศักยภาพทำเรื่องปรองดองได้มากเพราะคนพวกนี้เป็นคนที่รู้จักคนเยอะ รู้จักคู่กรณีของความขัดแย้ง โดยเฉพาะถ้ามองว่า ความขัดแย้งทางการเมืองคือพื้นฐานการขัดแย้ง ก็ต้องใช้สมาชิกบ้านเลขที่ 111 เยอะๆ
         
.. ผมว่าเขาเป็นมวยถูกคู่ พวกนี้เขารู้จักคนเยอะเขารู้จักคู่กรณีเยอะ เขาสามารถไปพูดคุย ทำความเข้าใจกับคนพวกนี้ได้เยอะ โดยเฉพาะคนไหนที่ไม่ตัดสินใจไปรับตำแหน่งทางการเมือง เขาจะทำเรื่องนี้ได้มากเขาจะมีบุคลิกความเป็นกลางไปทำเรื่องนี้ได้เยอะ"
         
สุวัจน์ มองว่า แนวทางปรองดองผ่านกลไกที่ทำอยู่ในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็น กมธ.ปรองดอง หรือคณะกรรมการชุดต่างๆ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเรื่องปรองดองก็เหมือนกับการเจรจาสันติภาพที่การเจรจาแบบไม่เป็นทางการจะประสบความสำเร็จมากกว่าการเจรจาอย่างเป็นทางการ
         
"การบริหารความขัดแย้ง คือการจับเข่าคุยกันอย่างนโยบายต่างประเทศทุกเรื่องคุยบนโต๊ะก็คุย แต่ที่ไม่ใช่คุยบนโต๊ะจะนำไปสู่ว่าคุยบนโต๊ะคุยยังไง ตอนนี้ผมคิดว่าเรามีภาพในสภา แต่ภาพที่ไม่ใช่วิธีการที่เราเห็น อย่างการคุยนอกรอบ หารือวงใน หลายๆ ฝ่ายจูงมือมากินข้าวกัน คุยกัน ค่อยเปิดๆ ใจ คุยกัน แต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่ายของกระบวนการขัดแย้งทางสังคม ซึ่งวันนี้ต้องมีตัวละครช่วยล่อลื่น"
         
สุวัจน์ เปรียบเทียบว่า ถ้ามองว่าเป็นล็อบบี้ยิสต์ก็เป็นล็อบบี้ยิสต์เพื่อให้เกิดความปรองดองช่วยคุยกับคนนั้น คนนี้ คนนี้โกรธกัน ไปคุยกับคนนั้นที คนนี้ทีเปิดใจว่าเรื่องปรองดองเขาคิดยังไงคนนี้ก็เข้าไป แล้วมาค่อยๆ ปรับจูน จนเป็นเครื่องยนต์ที่เดินไปข้างหน้าได้        

ตัวจริงขอลงสนาม รัฐบาลกำไรได้ 111

"วันนี้เราไม่ค่อยมีตัวละคร อย่างนี้ผมอยากเห็นสมาชิกบ้านเลขที่111มาต่อจิ๊กซอว์ปรองดองเพื่อชาติ คนพวกนี้เหมาะทุกคน เที่ยวนี้ต้องกลับมาช่วยชาติ ตอนนี้มีสองเรื่องคือ ปรองดองกับเศรษฐกิจ คนพวกนี้เป็นบวก ใช้เขาให้เป็น อย่าให้เสียของ"
         
จากประสบการณ์การเมืองที่ผ่านมา ช่วงรอยต่อการเมืองสำคัญมาหลายรอบ "สุวัจน์" ฟันธงว่าการเมืองขณะนี้เผชิญหน้ากันมากเกินไป เดี๋ยวนี้แยกมุม แยกโต๊ะไม่คุยกัน ซึ่งแต่ก่อนไม่เป็นเช่นนี้ ซึ่งเราต้องเร่งหาทางปรองดองให้เกิดขึ้น
         
ที่สำคัญคือเราต้องเดิน 2 ทาง ด้านแรก ภาพในสภาก็ต้องเดินต่อไป อีกด้านหนึ่ง ต้องพูดคุย ไปจับเข่าคุยกันเลยว่าเราทะเลาะอะไรกับใคร ซึ่งในส่วนหลังนี่เรายังไม่ค่อยได้ทำ
         
"วันนี้เป็นบรรยากาศเรายังอยู่สองมุม ยังห่างไกลกันเหลือเกิน ทางเอ็นจิเนียร์เขาเรียกว่าเป็นเส้นทแยงมุม คือเส้นที่ไกลที่สุด ยาวที่สุด สองมุมนี่ห่างกันมากที่สุดในสี่เหลี่ยม" วิศวกรการเมืองปิดท้ายบทสนทนาพร้อมลุกขึ้นชี้ไปที่มุมโต๊ะรับแขกแบบจริงจังเพื่อประกอบการอธิบายแบบเห็นภาพ

การเมือง 2 ขั้ว ไม่มีดอกไม้ในแจกัน

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกพรรคชาติพัฒนาเรื่อยมาจนยุคพรรคไทยรักไทยกับสถานะบ้านเลขที่ 111 ในวันนี้ ที่เตรียมคืนสังเวียนอีกครั้ง "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" วิเคราะห์ว่า พรรคเล็กอยู่แทบไม่ได้แล้ว ยกเว้นตั้งใจที่อยากจะเป็นพรรคเล็ก คือ หากจะทำพรรค7 เสียงให้เป็น 50 เสียงนั้นยาก แต่ถ้าจะรักษาพรรค 7 เสียงเปลี่ยนเป็นพรรคท้องถิ่น พรรคจังหวัด เพื่อรักษา7เสียงนั้นเป็นไปได้
         
"การเมืองไปสองขั้วแล้ววันนี้มันถึงแรงการเมืองทุกวันนี้ที่แรงเพราะสองขั้วมี 2 มุมเมื่อก่อนการเมืองไม่แรงเพราะการเมืองหลายกลุ่ม หลายก้อน ทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันหมด เลือกตั้งกันมาเมื่อไม่มีใครได้เสียงข้างมากแล้วแต่ว่าใครจะดีกับใคร และไปจับกลุ่มเป็นรัฐบาลทุกคนไม่แสวงหาศัตรู
         
... แต่วันนี้เมื่อพฤติกรรมการเมืองเปลี่ยนเป็นการเมืองเชิงนโยบาย ป๊อปปูลิสต์ การเมืองพรรคใหญ่ ระบบปาร์ตี้ลิสต์ เลยพัฒนาเป็นสองขั้ว ใครอยู่แดง อีกฝั่งก็ต้องน้ำเงิน ใครเป็นรัฐบาล อีกฝั่งก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เพราะฉะนั้นการเผชิญหน้าหรือขัดแย้งทางการเมืองส่วนหนึ่งก็เพราะระบบการเมืองสองพรรคที่ประนีประนอมน้อยลง"
        
 ถามว่าระบบนี้เป็นผลดีกับการเมืองไหม"สุวัจน์" อธิบายว่า ในแง่เสถียรภาพรัฐบาลก็ดี แต่ประเพณีการอยู่ร่วมกันแบบสองพรรคนั้นต้องให้เวลานักการเมืองปรับตัว เมื่อการเมืองสองพรรคดีกับประเทศ แต่ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันรุนแรง เพราะเมื่อผมแพ้คุณก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เป็นเกมทำให้ความร่วมไม้ร่วมมือเชิงสร้างสรรค์มันจะบางไปนิด ซึ่งต้องพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้แฟร์ๆ กันรัฐบาลทำดี ก็ต้องเชียร์ ฝ่ายค้านพูดอะไรมีมุมก็ต้องฟังเขา ระบบถึงจะเริ่มพัฒนา ตัวนักการเมืองต้องคิดให้ทัน ปรับให้ทันระบบอย่างนี้ประเทศจะวิน-วิน
         
"มองอะไรกันยาวๆ ว่าสิ่งนี้เราอาจจะไม่ได้แต้ม แต่ประเทศได้แต้ม อันนี้ดีนะ เราต้องไม่ละอายใจที่จะรับสิ่งนี้มาทำ ต้องพร้อมพูดเต็มปากว่า เยส ของคุณถูก แต่วันนี้บรรยากาศที่ว่าเยสของคุณถูกนี่ไม่ค่อยมี มีบรรยากาศแต่โนของคุณผิดอยู่เรื่อย"
         
สุวัจน์ อธิบายว่า อยากเห็นบรรยากาศ"เห็นร่วมกัน" เยอะ เพราะวันนี้ต่างคนต่างเห็นกันไปคนละทาง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิชาการคนรุ่นใหม่ บุคลากรรัฐบาล ฝ่ายค้าน ยกตัวอย่างเหมือนต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาบางทีขัดแย้งกัน แต่พอวิกฤตประเทศเขายอมมาดีเบตกัน มาเบรนสตรอมกันจริงๆ
         
"ผมว่าบ้านเราควรมีการพัฒนาการเมืองให้มีลักษณะเบรนสตรอมบนพื้นฐานข้อเท็จจริง อย่าพูดว่าคุณได้ ผมได้ แต่เอาประเทศได้ วันนี้บ้านเลขที่111 เป็นผู้ใหญ่เป็นที่ปรึกษาน้องๆ ได้ วันนี้การเมืองต้องมีศาลพระภูมิ มีผู้ใหญ่ มีหม่อมคึกฤทธิ์ มีท่านชาติชาย มีอะไรที่เป็นผู้ใหญ่จริงๆ คอมโพรไมส์เพื่อประเทศไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่คอมโพรไมส์เพื่อเรื่องอื่นเรื่องของพรรคอย่างเดียว มาช่วยตรึงสถานการณ์ ลดความขัดแย้งของน้องๆ นุ่งๆ ให้มากๆ"
         
ไล่ถามต่อไปถึงความจำเป็นของพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งไม่กี่ปีก่อนหน้านี้"สุวัจน์" มองว่าเป็นส่วนสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล แต่วันนี้เขามองว่าความสำคัญเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อสองขั้วเริ่มชัดเจนความเป็นพรรคใหญ่เกินครึ่งแล้ว ถ้าทำดีๆ ขยับไปสามร้อย ดอกไม้ในแจกันก็จำเป็นน้อยลงทุกวัน ต่อไปพรรคเล็กก็จะเล็กจริงๆ จากตอนนี้ 7 เสียงเป็น 2 เสียงไปเลย

ตัวจริงขอลงสนาม รัฐบาลกำไรได้ 111

"พรรคใหญ่ส่งของถึงบ้าน พรรคเล็กส่งของไม่ถึงบ้าน พรรคใหญ่เหมือนเทสโก้ โลตัสพรรคเล็กเหมือนสินค้าโชห่วย พรรคใหญ่พูดในเชิงนโยบายแล้วเป็นไปได้ หัวหน้าพรรคใหญ่เป็นนายกฯ ได้ แต่พรรค 6-7 เสียงจะมาเป็นนายกฯ กำหนดนโยบาย อย่างนี้ยากในระบบปาร์ตี้ลิสต์พรรคใหญ่เอาไปแล้ว40% พรรคเล็ก 1-2% เพราะฉะนั้นชัยชนะรออยู่แล้ว โอกาสของพรรคเล็กก็จะเป็นพรรคเล็กจริงๆ"
         
แสดงว่า ไม่คิดทำพรรคเล็กแล้วใช่หรือไม่? สุวัจน์ตอบเพียงแต่ว่า "โอกาสการเมืองเป็นอย่างนี้ เราต้องวิเคราะห์ให้เห็นว่าการเมืองเป็นยังไง ตัวเราไปจุดไหน ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์"
         
ถามว่าพรรคเล็กกับพรรคใหญ่อันไหนสบายกว่า ส่วนหนึ่งพรรคใหญ่ก็สบาย เพราะมีระบบอยู่แล้ว ไม่ต้องมารับผิดชอบ ไม่ต้องกู้เงินแบงก์เอง ไม่ต้องคุมกิจการเอง "เราเป็นแค่เฟืองตัวเล็กๆ ของระบบใหญ่ที่เขาเดินได้อยู่แล้ว และประหยัดกว่ากันเยอะเลย ไม่ปวดหัว แต่ว่าเป็นเรื่องคุณต้องทำใจคุณอยู่พรรคใหญ่ก็ต้องสบายใจกับระบบพรรคใหญ่ ไม่ใช่อยู่แล้วอึดอัด ถ้าคุณไม่อึดอัด พรรคใหญ่ก็สบายกว่า แต่บางคนเขามีวิธีคิดส่วนตัว เขาถึงอยู่พรรคเล็กดีกว่า วิธีคิดเขาเป็นแบบนี้ ยอมเหนื่อยนิดลำบากหน่อย เขายอมเหนื่อยกายไม่ยอมเหนื่อยใจก็มี"