posttoday

รายงานพิเศษ:ส่องโครงสร้างป้องกันภัยพลเรือน ระงับเสื้อแดงวินาศกรรม

09 มีนาคม 2553

กล่าวได้ว่า นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย มีอำนาจสั่งการข้าราชการพลเรือน อาสาสมัครภาคประชาชน ต่อการลงไปปฏิบัติแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มๆ

กล่าวได้ว่า นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย มีอำนาจสั่งการข้าราชการพลเรือน อาสาสมัครภาคประชาชน ต่อการลงไปปฏิบัติแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มๆ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ที่นำมาใช้ตีคู่ไปกับ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นการนำกฎหมายมาจัดโครงสร้าง วางระบบการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและอาสาสมัครภาคประชาชน ที่มีส่วนเข้าไปไปบรรเทาปัญหาสาธารณะภัยโดยตรง ขณะที่พร.บ.ความมั่นคงจะเป็นภาพของการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ตำรวจในการควบคุมสถานการณ์ เมื่อนำกฎหมายทั้งสองมาบังคับใช้จึงเปรียบเสมือนการสนธิกำลังทางกฎหมายให้การทำงานทุกภาคส่วน มีความเป็นเอกภาพยิ่งขึ้น

อำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กำหนดให้นายกฯหรือรองนายกฯ มอบหมาย ให้ รมว.มหาดไทย เป็นผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีอำนาจควบคุมและกำกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั่วราชอาณาจักร และมีอำนาจบังคับบัญชาและสั่งการผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ เจ้าพนักงานและอาสาสมัครได้ทั่วราชอาณาจักร

กล่าวได้ว่า นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย มีอำนาจสั่งการข้าราชการพลเรือน อาสาสมัครภาคประชาชน ต่อการลงไปปฏิบัติแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มๆ

ทั้งนี้ กำลังพลในแง่ภาคประชาชนรับมือสถานการณ์ครั้งนี้ ก็เป็นกำลังจาก อปพร. กรุงเทพมหานคร  มีจำนวน  46,185 คน  (ทั่วประเทศ 1,152,094 คน )  ข้อมูล ณ วันที่  31 มกราคม 2553

ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้กำหนดขอบเขตสาธารณภัยไว้ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณภัย และ ด้านความมั่นคง ซึ่งด้านความมั่นคง ประกอบด้วย 4 ประเภทภัย ได้แก่ ภัยจากการก่อวินาศกรรม  ภัยจากทุ่นระเบิดกับระเบิด ภัยทางอากาศ  และ ภัยจากการชุมนุมประท้วงและก่อการจลาจล

เมื่อเกิดเหตุในเขตกรุงเทพฯ  ให้ผู้ช่วยอำนวยการกรุงเทพฯมีหน้าที่ดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเร็ว และแจ้งให้ ผู้อำนวยการกรุงเทพฯ และรองผู้อำนวยการกรุงเทพฯ ทราบทันที   ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดหรือหน่วยงานของรัฐใดในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ ให้ผู้อำนวยการกรุงเทพฯ แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นหรือหน่วยงานของรัฐนั้นทราบเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว

แผนของการป้องกันภัยฯ จะมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ  โดยให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตพื้นที่ปรับเปลี่ยนสภาพเป็นศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาระดับต่างๆ ให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของภัยที่เกิดขึ้น

สำหรับหลักปฏิบัติในกรุงเทพมหานคร ต่อการป้องกันและระงับการชุมนุมประท้วงและก่อการจลาจล มีหน่วยปฎิบัติประกอบด้วย

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีหน้าที่อำนวยการ ประสานงาน สั่งการ ควบคุม ดูแลเพื่อป้องกันและระงับการชุมนุมประท้วงและก่อการจลาจลในด้านการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าระงับเหตุควบคุมพื้นที่ การจัดการจราจรในพื้นที่เกิดเหตุ

2. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร  มีหน้าที่อำนวยการ ประสานงาน ควบคุมดูแล สนับสนุนการป้องกันและระงับการชุมนุมประท้วงในด้านการสาธารณสุข การอนามัย การบริการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและผู้ชุมนุมประท้วง รวมทั้งดูแลสถานที่ต่างๆ ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

3. กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่อำนวยการ ควบคุม กำกับ ดูแล และประสานสนับสนุนการปฏิบัติของกรุงเทพมหานคร หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน

4. กระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน มีหน้าที่ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อระงับการชุมนุมประท้วงและก่อการจลาจล รวมทั้งติดตามผลการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง

หน่วยงานหลักจะมีขั้นตอนปฏิบัติในกรุงเทพฯ ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย โดย - สตช. เป็นหน่วยหลักในการจัดการเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยและจัดการจราจร  อำนวยความสะดวกด้านจราจรในบริเวณเส้นทางที่มีการชุมนุมประท้วงหรือเดินทางของกลุ่มผู้ชุมนุม  

- ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติงานประสานงานด้านการข่าว ติดตามสถานการณ์ชุมนุมประท้วง  ประสานงานด้านการข่าว การสนับสนุนการปฏิบัติการกับสำนักพระราชวัง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตประจำประเทศไทย และฝ่ายทหาร   จัดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เพื่อชี้แจงข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชนและสื่อมวลชนตามที่ได้รับมอบหมาย

- กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร  จัดการอำนวยความสะดวกด้านจราจร สถานที่สาธารณะ  เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์และสาธารณสุข    จัดเจ้าหน้าที่ร่วมประสานเพื่อแก้ไขปัญหากับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ  ให้การสนับสนุนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและระงับการชุมนุมประท้วง และก่อการจลาจล    จัดอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชุมนุมประท้วงและก่อการจลาจล

- กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ควบคุม กำกับ ดูแล ประสานงาน สนับสนุน การปฏิบัติงานป้องกันและระงับการชุมนุมประท้วงและก่อการจลาจลทั่วราชอาณาจักร   เป็นศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาการชุมนุมประท้วงและก่อการจลาจล

- ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจต่างๆ มีหน้าที่ปฏิบัติและสนับสนุนการปฏิบัติร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตพื่นที่