posttoday

อ่านไต๋ปรองดอง"ใครจะทิ้งไพ่โง่"

22 เมษายน 2555

สัมภาษณ์พิเศษกลุ่มแดงอิสระ "ยุกติ มุกดาวิจิตร" แกนนำครก.112 กับการเดินหน้าปรองดองของ "ทักษิณ ชินวัตร"

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม / สุภชาติ เล็บนาค 

การขับเคลื่อนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นับแต่ได้เป็นรัฐบาล พลิกกลับ 360 องศา หลังเดินเกมประนีประนอมกับฝ่ายชนชั้นนำ หวังให้ฝ่ายตรงข้ามยอมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศได้โดยไม่ต้องติดคุกผ่านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

ท่าทีที่เปลี่ยนไป ทำให้ “กลุ่มเสื้อแดงอิสระ” ที่ร่วมขบวนเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่างช้ำใจ พร้อมกับวิจารณ์พรรคเพื่อไทยลืมจุดยืนที่เคยประกาศจะต่อสู้กับอำมาตย์อย่างถึงที่สุด

ยุกติ มุกดาวิจิตร แกนนำคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ครก.112) จากกลุ่ม “แดงอิสระ” อีกสถานะหนึ่งยังเป็นอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านเกมของ พ.ต.ท.ทักษิณ จากนี้จนถึงเป้าหมายสู่การนิรโทษกรรม จะสำเร็จหรือไม่ บนเงื่อนไขใด?

เขายอมรับว่า ภาพขณะนี้จะเรียกว่าเป็นการซูเอี๋ย หรือเกี้ยเซี้ยก็ได้ ระหว่างชนชั้นนำของฝ่าย นปช. เสื้อแดง หรือพรรคเพื่อไทย กับชนชั้นนำของฝ่ายนิยมเจ้า อนุรักษนิยมที่เมื่อก่อนเคยขับเคี่ยวกันผ่านสัญญาณหลายแบบ เช่น การที่พรรคเพื่อไทยขีดเส้นว่าห้ามแตะเรื่องการแก้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพยายามปัดข้อเสนอต่างๆ ของกลุ่มนิติราษฎร์ออกไป ทั้งที่แต่ก่อนพรรคเพื่อไทยก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของนิติราษฎร์หลายเรื่อง การประนีประนอมกันอีกเรื่องคือ การตั้งเทคโนแครตมาแก้ปัญหาเรื่องน้ำ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน โดยเชิญบุคคลต่างๆ ในฝ่ายอนุรักษนิยมที่เคยต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณเข้าร่วม มาตรการต่อมาที่เห็นคือ การย้ายผู้ถูกคุมขังจากเรือนจำทั่วไปมาสู่เรือนจำที่เรียกว่าเป็นนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งที่เชื่อว่าจะปูทางไปสู่การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองในที่สุด

อ่านไต๋ปรองดอง"ใครจะทิ้งไพ่โง่"

ยุกติ ขยายความว่า ความจริงการปรองดองที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำเฉพาะในระดับชนชั้นนำเท่านั้น เพราะยังมีการนำเอาคดี 16 ศพของเสื้อแดงในเหตุการณ์ พ.ค. 2553 มาขึ้นศาลและมีการสืบพยานกันแล้ว ประเด็นคือ การกระทำของรัฐที่ถูกตรวจสอบในศาลยุติธรรมขณะนี้ เป็นอีกปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะก่อนหน้านี้พอรัฐทำอะไรรุนแรงก็นิรโทษกรรมแล้วก็จบกันไป คนก็สงสัยและมาเถียงกันเรื่องการสร้างความทรงจำ แต่ขณะนี้ใครจะเถียงเรื่องความทรงจำก็ว่าไป ที่เห็น|วันนี้ คือ เปิดให้มีการไต่สวนคดีขึ้นมา ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่

ข้อสงสัยที่ว่า การปรองดองครั้งนี้มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ แกนนำ “ครก.112” มองว่า มีการต่อรองกันจริงในลักษณะที่ว่า จะยังให้สถาบันประเพณีอยู่ในรูปแบบไหน แม้ว่ายังไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม ซึ่งก็เป็นผลจากบทบาทของฝ่ายอนุรักษ์ที่ผ่านมา ที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม จึงเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรง

ขณะนี้ผมคิดว่าการต่อรองอยู่ที่ให้สถาบันประเพณีอยู่ในที่ทางอย่างเดิมและตีเส้นกันใหม่ให้ชัดเจน ขณะที่สถาบันการเมืองที่มีลักษณะก้าวไปสู่โลกาภิวัตน์มากขึ้น ก็จะไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือรุกเข้าไปในพื้นที่ของสถาบันประเพณีมากมาย ถึงขั้นเปลี่ยนให้เป็นสัญลักษณ์โดยไม่ต้องทำอะไรเลย หรือว่ายกเลิกประเพณีทั้งหมด หรือทำให้น้อยลง

ผลที่เราเห็นคือ การแสดงออกของสถาบันประเพณีได้ปรับเปลี่ยนไป จะเห็นว่าไม่มีการแสดงพระราชดำรัสอย่างเป็นสาธารณะเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน แน่นอนยังมีการให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตที่ไม่มีใครได้รู้ข้อความที่แท้จริงว่ามีบทสนทนาที่ชัดเจนอย่างไร ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่อยู่ในกรอบของการเป็นสถาบันกษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ที่ผมคิดว่าเข้าใกล้แบบสากลมากขึ้น

...ถ้าถามผม แล้วมันดีหรือไม่ ผมยังมองว่า มันดีเท่าที่เราทำได้ ในแง่หนึ่ง ฝ่ายเสื้อแดงหรือฝ่ายคุณทักษิณได้สร้างขบวนการทางการเมืองแบบใหม่ที่รุกคืบไปข้างหน้า แต่ผมก็ยังเชื่ออย่างที่บอก คือ จะไม่รุกคืบไปมากกว่านี้ถึงขั้นโค่นล้มสถาบันการเมืองประเพณี ซึ่งในระยะ 5 ปีนี้ หรือ 10 ปี นี้มันจะอยู่ตรงนี้”

แล้วทำไมถึงแค่ 5-10 ปี?.... แกนนำ ครก.112 ตอบ เราต้องรอจนกว่าโครงสร้างพื้นฐานอะไรจะเปลี่ยนก่อน ภาพแน่นอนที่เราจะเห็นคือ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในระดับพื้นฐานส่วนใหญ่ แรงงานภาคการเกษตรได้ฟื้นตัวขึ้นมา สู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งภาคการเกษตรก็คือพวกเสื้อแดง เพื่อไทย เป็นฐานพลังสำคัญ และยังเป็นเสียงที่มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา แต่ภายในกรอบของทุนนิยมผลที่เกิดขึ้นคือ

ในระยะ 5-10 ปีนี้ ระบบทุนนิยมจะทำให้ภาคการเกษตรจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งในสังคมไทย การใช้เครื่องจักรจะมีมากขึ้น แรงงานจะน้อย ถึงตอนนั้นค่อยมาคิดว่าจะเห็นอะไร ยังไม่มีใครเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เราจะมีความขัดแย้งใหม่ๆ เกิดขึ้นมา เช่น การไหลเข้ามาของแรงงานชายแดนเต็มไปหมด ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องโครงสร้างของประชากร และก็สำนึกของความเป็นชาติ ชุมชนที่มันเปลี่ยนไป

อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้นี้ สรุปว่า การต่อสู้ของสองขั้วการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากินกันไม่ลง เพราะมีพลังพอๆ กันทั้งคู่ ฝ่ายสถาบันประเพณีมีทั้งองค์สัญลักษณ์ ทหาร อาวุธ และชนชั้นนำในทางเศรษฐกิจ

อยู่ แต่ก็ทำอะไรฝ่ายทักษิณไม่ได้ ยุบพรรคมา 3 ครั้ง ใช้การรัฐประหาร ปราบปรามประชาชนก็แล้ว ตรงกันข้าม ฝ่ายเสื้อแดงกลับยิ่งแสดงความเข้มแข็ง ฉะนั้น มันน่าจะถึงจุดที่ทำอะไรกันไม่ได้แล้ว ดังนั้น ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรถึงจะอยู่ด้วยกัน

“ทั้งหมดเมื่อเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำด้วยกัน ก็ต้องมีการต่อรองกัน ผลลัพธ์สุดท้ายต้องเป็นสถานการณ์ที่วินๆ ได้กันทั้งสองฝ่าย แน่นอนที่ต้องกระทบบ้างคือลิ่วล้อ เช่น การดำเนินคดีกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ หรือข้อเท็จจริงบางอย่างจะต้องถูกเปิดโปงมา”

อย่างไรก็ตาม ยุกติ บอกว่า เกมต่อรองครั้งนี้ไม่มีใครผูกขาดอำนาจได้อย่างแท้จริงเหมือนที่ผ่านมา เพราะมีผู้แสดงทางการเมืองเยอะ ใครคิดว่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปจับมือกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ แล้วทุกอย่างจะจบ มันไม่ใช่ ทุกอย่างไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

“วันนี้ มันมีคนหลายคนที่ถือไพ่อยู่ ถ้าคุณทิ้งไพ่ตาย แล้วเป็นไพ่โง่ มันก็เสีย ตอนนี้เกมมันเล่นไม่ได้อย่างนั้น ดังนั้น การที่มันไม่จบง่ายๆ เพราะมีตัวแสดงหลายตัว อำนาจมันไม่รวมศูนย์ ทั้งสองฝ่ายมีผู้แสดงเยอะ การที่นายกฯ ไม่พูดมาก ผมไม่คิดว่าเขาโง่ แต่ว่ามันพูดมากไม่ได้ แต่เราพอที่จะเห็นทิศทางการต่อสู้กัน มันไม่ไหวกันแล้ว กระแสต้านมันปลุกไม่ขึ้น ก็ต้องหาทาง|รอมชอม เช่น ต้องยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

คำถามดังๆ ในช่วงนี้ “คนเสื้อแดงถูกหลอกไหม” เพราะฝ่ายทักษิณปรองดองกับชนชั้นนำ?

ยุกติ หยุดคิดชั่วครู่ ก่อนตอบ “ความจริงผมอยู่ข้างเขาอยู่แล้ว ฉะนั้น ผมไม่คิดว่าอย่างนั้น...”

“คำถามที่ว่ามีการทิ้งมวลชนไหม หรือว่าเขาถูกหลอกไหม จากที่ผมไปเจอชาวบ้านเสื้อแดง แม้เขาจะมีความภักดีต่อพรรค แต่ขณะเดียวกันเขาก็ตรวจสอบพรรค และเขาก็เป็นตัวของตัวเองด้วย ดูจากเรื่องแก้มาตรา 112 ครก. หรือนิติราษฎร์ ไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ การที่ประเด็นนี้ถูกจุดติดขึ้นมาเพราะมันมีคนสนใจ คนสนับสนุนเยอะมากจาก นปช. เสื้อแดง แต่ว่าเขาเป็นตัวของตัวเอง พรรคก็บอกแล้วว่าไม่เอา ฉะนั้น ถ้าจะบอกว่าพวกเขาถูกหลอกหรือไม่ ผมว่าไม่ เพราะเขาเป็นตัวของตัวเอง”

เรายังไม่มีตัวเลือก

หากให้จำแนกเสื้อแดงว่ามีกี่กลุ่มตอนนี้ ยุกติ อธิบายว่า ในแง่ของประชากรและกลุ่มรายได้ เสื้อแดงมีตั้งแต่ชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง และคนชั้นล่าง แต่ถ้าดูพลังขับเคลื่อนจริงๆ อยู่ที่ชนชั้นกลางในหัวเมืองต่างๆ เช่น แม่ค้า คนที่มีธุรกิจขนาดเล็กในต่างจังหวัด คนเหล่านี้มีฐานะเพียงพอที่จะไปซื้อจานดาวเทียม ไปร่วมชุมนุม เจียดเงินเข้าร่วมขบวนการ เขาเติบโตขึ้นมาจากท้องถิ่นและไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ไม่ใช่ลูกเจ๊ก เขาพูดภาษาเหนือ ภาษีอีสานคล่องแคล่ว เขาตั้งวิทยุชุมชนสื่อสารกับคนในท้องถิ่น จนสร้างอำนาจต่อรองกับนักการเมืองท้องถิ่นได้ นี่เป็นคนกลุ่มใหม่

 

อ่านไต๋ปรองดอง"ใครจะทิ้งไพ่โง่"

“อย่างในพรรคการเมือง เราเห็นคนที่เติบโตจากชนชั้นกลางไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจ อย่าง ณัฐวุฒิ จตุพร นี่คือภาพใหม่ๆ ที่จะอยู่อย่างนี้ไปอีกระยะ ที่สำคัญ คนเหล่านี้เป็นคนที่มีอำนาจต่อรองกับทักษิณ กับพรรคเพื่อไทย แบบที่ไม่ใช่เป็นกระเป๋าเงิน เพราะเขามีมวลชนอยู่ในมือ นี่คือทุนของเขา ถ้าเขารู้จักที่จะใช้ทุนตรงนี้ แต่มันอาจจะใช้ได้เฉพาะในระยะ 5-10 ปีนี้ ถ้าเขาหมดทุนเหล่านี้ และเพื่อไทยไม่มีคนเหล่านี้เป็นต้นทุน

แต่ถ้าเขาบอกว่าเลิกเป็น นปช.แล้ว เขาจะเหลืออะไร และพรรคเพื่อไทยจะเหลืออะไร ระหว่างตู้เอทีเอ็มกับคนเหล่านี้ คุณจะต้องถ่วงดุลให้ดี”

วิเคราะห์เฉพาะพรรคเพื่อไทย เขาสแกนภาพว่า มีมวลชนอยู่อย่างน้อย 3 ระดับ และเล่นการเมืองไม่เหมือนกัน 1.เพื่อไทยโหวตเตอร์ หย่อนบัตรให้เพื่อไทยเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดและก็จะรวมทุกกลุ่ม 2.เสื้อแดงที่เป็นเพื่อไทยโหวตเตอร์ แต่เขาพร้อมที่จะไม่เป็นเสื้อแดง และมีความเป็นอิสระของตัวเองมากกว่า 3.นปช. เป็นเพื่อไทยโหวตเตอร์ที่จงรักภักดีกับพรรค เส้นแบ่งกับ นปช. อยู่ที่ทักษิณ นปช.จะมีความเชื่อมโยงกับคุณทักษิณมากกว่า แต่กลุ่มนี้รักษาระยะห่างกับทักษิณ

เขาบอกว่า องค์ประกอบ สัดส่วน ของสามกลุ่มนี้ ไม่เหมือนกันด้วยในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน กลาง ส่วนตัวเชื่อว่าในภาคอีสาน นปช. อาจจะมีน้อยกว่าภาคเหนือ เพราะภาคเหนือมีความผูกพัน พ.ต.ท.ทักษิณ มากกว่า ภาคกลาง ก้ำกึ่งกัน แต่ทั้งสามกลุ่ม เสื้อแดงที่เป็นอิสระมีน้อยกว่า นปช.

“เหตุที่เส้นแบ่งอยู่ที่คุณทักษิณเพราะแดงอิสระเขามีอุดมการณ์การเมือง มีระยะห่างกับนักการเมือง เขาไม่อยากถูกครอบงำโดยพรรคการเมืองมาก เขาก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องฝากความหวังไว้ที่ทักษิณทุกอย่าง คือ คนพวกนี้เป็นปัญญาชน เป็นผู้ประกอบการด้วย เขาไม่ต่างจากคนกรุงเทพฯ เขานั่งดูเน็ต กลุ่มนี้ปลายทางการต่อสู้อยู่ที่อำมาตย์ ส่วนทักษิณมีคู่ต่อสู้คือใคร คิดว่าเป็น Strategic Player คือ เล่นเกมในทางการเมืองมากกว่า”

ยุกติ เตือนว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยฝากความหวังไว้กับ นปช. อย่างเดียว มันไม่เพียงพอ เพราะมีเสียงเสื้อแดงชายขอบไม่น้อยที่พร้อมจะหลุดออกไป

แล้วอะไรที่ทำให้แดงอิสระทิ้งทักษิณ? “ผมคิดว่าเขายังไม่มีตัวเลือก ยังต้องอยู่กับกลุ่มนี้ไปในระยะนี้ คือ อย่างน้อยมันไปด้วยกันได้ แน่นอนขณะเดียวกัน เขาก็พร้อมที่จะผลัก แต่ถึงตอนนั้น การเมืองมันน่าจะลงตัวมากกว่านี้ พลังของเพื่อไทย ก็อาจไม่มากกว่านี้ก็ได้ เพราะสถานการณ์มันไม่ล่อแหลม”

หมดยุคความกลัวมาตรา112

แม้กระแสการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาจะแผ่วลงไป ภายหลังรัฐบาลเพื่อไทยประกาศไม่รับลูก และเจอแรงกดดันจากหลายฝ่าย แต่ ยุกติ มุกดาวิจิตร ในฐานะแกนนำคนหนึ่งของคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขม.112 (ครก.112) ก็ยืนยันเป้าหมายเดิมที่จะยื่น 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อแก้กฎหมายมาตราดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร ในเดือน พ.ค.จะทำได้|ทันแน่

“ยืนยันว่าไม่ช้ากว่ากำหนด คือพูดได้เลยว่ามันเป็นไปตามเป้าได้แน่นอน และอาจจะเกินกว่าที่ตั้งไว้เสียด้วยซ้ำ ก่อนหน้านี้เรามีแผนลงพื้นที่สัญจรช่วงเดือน เม.ย.ไปในหลายจังหวัด แต่ตอนนี้เราไม่มีเวลา เพราะตลอดเดือน ก.พ.-มี.ค. เราเดินทางไปหลายพื้นที่มาก และเขาก็ให้ความสนใจดี คือ ทั้ง นปช. หรือเสื้อแดง เขาก็เรียกร้องมา เราก็ไปหมดทุกที่” ยุกติ เล่าให้ฟังถึงความเคลื่อนไหว

 

อ่านไต๋ปรองดอง"ใครจะทิ้งไพ่โง่"

อย่างไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อเคลื่อนไหวเรื่อง ม.112 กลุ่มคนเสื้อแดงจะไม่เรียกตัวเองว่าเป็น นปช. แต่กลับกลายเป็นกลุ่มอิสระ หรือเป็นเสื้อแดงบ้าง เป็นมวลชนบ้าง เพื่อไม่ให้กระทบกับ นปช.ใหญ่ที่มีจุดยืนว่าจะเคลื่อนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ส่วน ม.112 นั้นละไว้ในฐานที่เข้าใจ

เมื่อถามว่าได้เห็นอะไรบ้างจากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน ยุกติ แบ่งปรากฏการณ์ที่เขาเห็นเป็น 3 ข้อ คือ เห็นชัดเจนว่ามวลชนที่สนับสนุนเพื่อไทยเป็นตัวของตัวเอง เพราะแม้ว่าพรรคปฏิเสธไม่ทำเรื่องนี้ แต่เขาก็ยังทำต่อและติดต่อเรามาด้วย ที่ไหนเราไปได้ก็ไป เราเห็นการตื่นตัวของมวลชนที่เป็นอิสระ

นอกจากนี้ ยังเห็นความเปลี่ยนแปลงที่คนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสถาบันประเพณีมากยิ่งขึ้น มีข้อเสนอที่ก้าวหน้าไปถึงขนาดป้าคนหนึ่งในจังหวัดเล็กๆ ทางภาคอีสาน เขียนโน้ตใส่กระดาษว่าอยากเปลี่ยนแปลงสถาบันทุกๆด้านให้เหมือนกับอังกฤษและญี่ปุ่น ซึ่งด้วยสถานะอาจารย์สายสังคมวิทยา ยุกติ ก็เพิ่งเคยเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ตั้งคำถามกับบทบาทสถาบันมากขึ้นขนาดนี้เป็นครั้งแรกและสุดท้าย คือ สะท้อนชัดว่าคนเหล่านี้อยากมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น ไม่ใช่ผูกขาดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสถาบันไว้กับ อานันท์ ปันยารชุน นพ.ประเวศ วะสี หรือสุเมธ ตันติเวชกุล เพราะเขาอยากเป็นคนออกแบบด้วยตัวเอง ซึ่งสะท้อนว่าเมื่อสังคมเปลี่ยนคนก็อยากให้กฎหมายสอดรับและสะท้อนความเป็นจริงทางสังคมด้วย

“ก่อนหน้านี้เราพูดกันถึงว่า ม.112 ปกครองด้วยความกลัว ทำให้คนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ หงอ แล้วก็สยบราบคาบ แต่พอถึงวันนี้แล้วคนที่ถูกปกครองด้วย ม.112 ไม่ได้กลัว กลับกลายเป็นคนใช้กฎหมายที่กลัวสิ่งเหล่านี้ หลายๆ ที่ที่เราไปมีปัญหาไม่อยากให้จัด โรงแรมไม่ให้จัด อย่างมหาสารคามต้องจัดในวัด กลายเป็นว่าชนชั้นนำกลัวชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่กลัวชนชั้นนำ” ยุกติ กล่าว

ส่วนที่รัฐบาลยังไม่รับลูกไปทำต่อนั้น ยุกติ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ทั้งนิติราษฎร์และ ครก.112 เอง คาดหวังว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะเข้าร่วมนำข้อเสนอของนิติราษฎร์เข้าสู่สภาแน่นอน เนื่องจากปฏิกิริยาขณะนั้นฝ่ายจงรักภักดีก็ยังสนับสนุนแก้ไข เพราะสิ่งที่นำเสนอไปนั้นล้วนรักษาไว้ซึ่งการดำรงอยู่ของสถาบันให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยมากขึ้น แต่พอถูกวิจารณ์มากเข้า สุดท้ายก็ไม่สามารถเดินหน้าแก้ไขได้

“ถ้ามันแผ่ว เดินไปแล้วไม่มีใครสนใจ มันก็แผ่ว แต่วันนี้ยังมีคนเรียกร้องให้ไปที่นู่นที่นี่ เราก็ทำได้เท่าที่แรงเรามี โอเค มีความรุนแรงบ้าง อ.วรเจตน์ ถูกทำร้าย แต่มันก็ไม่ได้รุนแรงเกินกว่านี้ และแม้รัฐบาลจะเพิกเฉย แต่เขาก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแล อ.วรเจตน์ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเราดำเนินการต่อได้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ อาจจะบอกว่าทำได้ แต่ต้องปกป้องสถาบัน ก็เป็นคำพูดที่เขาอาจจะต้องพูดไป แต่เขาก็ไม่ได้ห้าม ไม่ได้อยู่เบื้องหลังขบวนการต่อต้านพวกเราด้วยซ้ำ” ยุกติ กล่าว

ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งที่ ยุกติ มองก็คือ การเคลื่อนไหวของ ครก.112 ครั้งนี้ ช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพให้กับมวลชนหัวก้าวหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา เพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกแจ้งข้อหา ม.112 อีก เพราะก่อนหน้านี้ความรู้สึกไม่พอใจระบบมันมีเยอะมากและอยู่ใต้ดิน เช่นเดียวกันก่อนหน้านี้คนที่ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อก็ถูกจับถูกปรับ กลุ่มมวลชนที่สนับสนุน กลุ่มแดงสยาม หรือกลุ่มของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แต่พอมี ครก.112 ออกมา เขาก็มีที่ยืนที่สามารถแสดงตัวได้ชัด และทำให้การเคลื่อนไหวไม่เสี่ยงกับการถูกดำเนินคดี เพราะเราทำกันอย่างถูกต้อง

“ในช่วงที่เราเคลื่อนไหวแก้ ม.112 ก่อนหน้านี้ ผมได้ข่าวว่าจะมีนักการเมืองสักคนสองคนหยิบเรื่องนี้ไปอภิปรายเสนอญัตติเข้าสภา แต่พอดีปิดสภาก่อนก็ไม่เป็นไร แต่ถามว่าวันหนึ่งจะเข้าสภาได้ไหม ผมเชื่อว่าเข้าได้ เพราะการต่อรองภายในพรรคเพื่อไทยในสภามันสูง และมันมีผู้เล่นหลายตัว” ยุกติ แสดงความคิดเห็น