posttoday

112 เกาไม่ถูกที่คัน'เขากล้าหาญ แต่ยังมีปัญหา'

04 กุมภาพันธ์ 2555

สัมภาษณ์พิเศษ "สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมธ. กับการวิเคราะห์ข้อเสนอแก้มาตรา 112 และประเด็นต่อเนื่องที่ตามมา

สัมภาษณ์พิเศษ "สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมธ. กับการวิเคราะห์ข้อเสนอแก้มาตรา 112 และประเด็นต่อเนื่องที่ตามมา

โดย..ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

"มาตรา 112" ที่คณาจารย์นิติราษฎร์จุดพลุเป็นข้อเสนอเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ร้อนเกินความคาดหมาย เกิดฝ่ายสนับสนุน-คัดค้านเขย่าสังคมไทย ลามไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นพื้นที่สงครามความคิดจนอธิการบดีมีมติห้ามเคลื่อนไหวมาตรา 112 ในรั้วแม่โดม จนมีการประท้วงโดยการวางหรีดต่อต้านกันวุ่นวาย

ข้อเสนอแก้ มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา มองกันสองมุมสุดขั้ว ฝ่ายนิติราษฎร์บอกนี่เป็นข้อเสนอเพื่อพิทักษ์สถาบันในระยะยาว อีกฝ่ายเห็นว่า การแก้ 112 เท่ากับบ่อนเซาะทำลายสถาบัน บรรยากาศการเผชิญหน้าไปไกลถึงใช้อารมณ์ละเลยต่อการวิพากษ์เนื้อหาเหตุผล

สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกสถานะคือ อดีตเลขากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ผู้ตกเป็นเป้าเพราะอยู่ฝั่งตรงข้ามความคิด "นิติราษฎร์" วิเคราะห์ข้อเสนอแก้มาตรา 112 และประเด็นต่อเนื่องที่ตามมาของคณะนิติราษฎร์

ก่อนเริ่มเนื้อหาก็กระเซ้าว่า ข้อความในเฟซบุ๊กที่เจ้าตัวเขียน "นิติราษฎร์กู่ไม่กลับแล้ว"หมายความว่ายังไง?
          

112 เกาไม่ถูกที่คัน'เขากล้าหาญ แต่ยังมีปัญหา' สมคิด เลิศไพฑูรย์

"ที่เขียนเพราะมีคนถามผม จะเตือนนิติราษฎร์บ้างไหม ก็เลยบอกว่า กู่ไม่กลับ จะไปเตือนเขาได้อย่างไร เขาไปขนาดนั้นแล้ว ไม่ใช่กู่ไม่กลับเพราะเนื้อหาเขาไม่ดี ความจริง มาตรา 112 มีความเห็นทางวิชาการเยอะ คนวิจารณ์นิติราษฎร์ก็ไม่ค่อยวิจารณ์เนื้อหา แต่วิจารณ์ท่าที พูดเรื่องเนรคุณซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าการที่นิติราษฎร์เสนอมาตรา 112 เป็นเสรีภาพที่จะทำได้"

ย้อนกลับไปดูข้อเสนอแก้มาตรา 112 ของนิติราษฎร์ มีเนื้อหาโดยสรุป 7 ข้อ

1.ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 4.เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี สำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกิน 2 ปี สำหรับพระราชินีรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดกรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต 6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงและการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 7.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น

สมคิด วิพากษ์ว่า สิ่งที่นิติราษฎร์เสนอมีหลายเรื่อง เช่น การย้ายหมวดพระมหากษัตริย์ การลดโทษลงมา การให้สามารถวิจารณ์พระมหากษัตริย์ได้ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะ มาตรา 112 ไม่ได้เป็นปัญหาในเชิงบทบัญญัติอย่างที่นิติราษฎร์ระบุ แต่เป็นปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงโทษที่แรงเกินไป เมื่อเทียบกับมาตรฐานโทษอื่น 3-15 ปี

"สำหรับบทบัญญัติว่าด้วยการหมิ่นประมาทในระบบกฎหมายไทย มีคน 3-4 กลุ่ม ที่กฎหมายวางไว้ หมิ่นประมาทคนธรรมดา หมิ่นประมาทข้าราชการ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รัชทายาทไทย และหมิ่นประมาทประมุขของต่างประเทศแต่นิติราษฎร์แก้เรื่องเดียว ซึ่งเป็นข้ออ่อนของนิติราษฎร์ คนถึงวิจารณ์ว่า ทำไมต้องไปแก้ลดโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไทย แต่ไม่เสนอแก้ลดโทษหมิ่นประมาทประมุขของต่างประเทศ ซึ่งมีโทษสูงเช่นกัน"

สมคิด ตั้งคำถามว่า ในอดีตจนถึงปัจจุบัน คนที่ถูกลงโทษตามมาตรา 112 ได้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จริงหรือไม่ หลักการคือ ในทางวิชาการเวลาเราหมิ่นประมาทใคร ต้องมีเจตนา คือ ต้องการให้เสื่อมเสีย แต่ถ้าหมิ่นประมาทเพื่อหวังดี ในทางกฎหมายถือว่า ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ในระบบกฎหมายไทยศาลก็ใช้ "เจตนา" มาบังคับตลอด แต่ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยนั้น เรื่องใดที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มาตรา 112 จึงถูกใช้บังคับโดยไม่คำนึงถึงเจตนา ทำให้มีคนที่ถูกลงโทษตามมาตรา112 จำนวนมาก

"ผมยกตัวอย่าง มี 2 เรื่อง 1.กรณีคุณวีระมุสิกพงศ์ ที่พูดเปรียบเปรยบางอย่าง ซึ่งนักกฎหมายถือว่าคุณวีระไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แต่มีคนไปแจ้งความ ตำรวจก็ต้องรับ มิฉะนั้นตำรวจก็ถูกกล่าวหาว่าไม่หวังดีต่อพระมหากษัตริย์ อัยการก็ต้องส่งฟ้อง ศาลก็ต้องตัดสิน 2.คดีคุณสนธิลิ้มทองกุล ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดี คุณสนธิเอาคำของคนที่หมิ่นประมาทมาเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ ถามว่า คุณสนธิมีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ ก็ไม่มี ตำรวจต้องไม่รับแจ้งความ อัยการต้องไม่ส่งฟ้องศาล ศาลต้องไม่ตัดสินว่าผิด นี่คือหลักของ มาตรา 112

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกแจ้งความร้องทุกข์ตามมาตรา 112 มีบางคนที่หมิ่นประมาทจริง และไม่ได้หมิ่นประมาทด้วย แต่ทุกวันนี้เนื่องจากการบังคับใช้การตีความทางกฎหมายของคนในกระบวนการยุติธรรมไม่เอาเจตนามาจับ จึงเกิดปัญหาขึ้น

"ข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่ให้สำนักพระราชวังเป็นคนฟ้องแทนและลดโทษลงมา ผมไม่แน่ใจว่าถ้าแก้แล้วจะนำไปสู่อะไร แต่ก็คิดว่ามันก็จะมีคนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก็จะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ที่เหมาะสมหรือเกินเลยก็ได้ ผมเลยคิดว่าทำไมไม่แก้ปัญหาที่การบังคับใช้กฎหมายให้ชัดขึ้น"

จุดอ่อนของนิติราษฎร์ที่สมคิดมองอีกเรื่องคือการแก้ไขมาตรา 112 ที่อ้างเหตุผลให้สถาบันกษัตริย์ไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล เขาว่า ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดในโลก ไม่ว่า ภูฏานอังกฤษ ญี่ปุ่น หรืออีกหลายประเทศก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นจะต้องเอามาตรฐานระบอบกษัตริย์ของประเทศหนึ่งมาใช้กับประเทศหนึ่ง

"ผมไม่ได้หมายความว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยไม่ควรเปลี่ยนแปลงสถาบันทุกสถาบันต้องเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตามสภาพการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพียงแต่เวลาเราอยากจะเอาต่างประเทศมาเพื่อแก้ปัญหาในไทย เราก็ยกตัวอย่างต่างประเทศเวลาเราไม่อยากเอาต่างประเทศ เราบอกว่า นี่เป็นระบบไทยๆ ตกลงเราใช้หลักอะไรกันแน่เราตามทุกประเทศได้จริงหรือ และจริงๆ ในโลกมีมาตรฐานเดียวหรือ นี่คือประเด็นใหญ่ของการแก้มาตรา 112 ซึ่งผมคิดว่ามีปัญหาในเชิงวิธีคิด"

แนวคิดของนิติราษฎร์ที่เสนอห้ามไม่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชดำรัสต่อสาธารณะหรือให้พระมหากษัตริย์สาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่า จะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ มีความก้าวหน้าแค่ไหน?..."นี่ก็ไม่ใช่มาตรฐานโลก อย่างในอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์และเป็นต้นแบบของหลายประเทศ นายกฯ ต้องเข้าพบกษัตริย์และกษัตริย์มีอำนาจที่จะแนะนำนายกฯ ว่าต้องทำอย่างไร และกษัตริย์ต้องมาเปิดประชุมสภา

ถ้าไม่เสด็จ สภาก็เปิดไม่ได้ มีอีกหลายประเด็นเยอะแยะ ซึ่งมีข้อแตกต่างในสาระที่ไม่เหมือนกัน แต่ละประเทศมีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป

"ผมย้ำอีกทีว่า ไม่ใช่ว่ามาตรา 112 ไม่ควรเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ามันถึงเวลามันก็ควรปรับปรุง แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย ถ้าเราจะไปเปลี่ยนแปลงมันก็แก้ไม่ตรงจุด"

สมคิด ยังหยิบยกข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของนิติราษฎร์ที่เห็นว่าเป็นปัญหา นั่นคือการปรับปรุงสถาบันศาล ที่เสนอว่าตุลาการศาลสูงต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา       

112 เกาไม่ถูกที่คัน'เขากล้าหาญ แต่ยังมีปัญหา'

"ผมว่า เละเลยนะ ต่อไปสภาคือนักการเมืองจะคุมศาลได้ ผู้พิพากษา ประธานศาลฎีกาคนไหนที่เข้มแข็งก็จะถูกโหวตไม่เอามาเป็นประธานศาลฎีกา เอาคนที่อ่อนลงมาหน่อยก็ได้ สถาบันศาลที่ดำรงอยู่ได้ทุกวันนี้ในสังคมไทย ก็เพราะศาลปลอดจากฝ่ายการเมือง แต่แน่นอนความคิดของนิติราษฎร์คือ ทุกสถาบันต้องเชื่อมโยงกับประชาชน แน่นอนต่างประเทศเป็นอย่างนั้น แต่ระบบอย่างนี้ใช้ได้กับสังคมไทยหรือ นักการเมืองไทยกับนักการเมืองต่างประเทศได้มาตรฐานเดียวกันหรือ ถ้าศาลไทยต้องผ่านความเห็นชอบของสภา นักการเมืองก็จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อศาลไทย ก็มีคำถามว่า เราไม่เชื่อมั่นประชาชนหรือ เราเชื่อมั่นครับ แต่ถามว่าวันนี้เรามีสภาที่มีคุณภาพเพียงพอหรือเปล่าที่ยังทำหน้าที่นี้ได้ เราไว้ใจสภาผู้แทนราษฎรขนาดนั้นหรือไม่ นี่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย"

อีกประเด็น ข้อเสนอให้มีระบบสภาเดี่ยวคือมีสภาผู้แทนราษฎรแต่ไม่มีวุฒิสภา สมคิดไม่เห็นด้วย โดยยกเหตุผลว่า ถ้ามีสภาเดียวแล้วดี ทำไมผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ2550 ถึงให้มี 2 สภา เพราะเขาคิดว่าสภาที่ 2 คือ วุฒิสภา ต้องมีเพื่อคานอำนาจสภาผู้แทนฯถ้ามีสภาผู้แทนฯ เพียงสภาเดียว จะไม่มีองค์กรไหนมาตรวจสอบสภาผู้แทนฯ ได้

"แน่ล่ะ มีตัวอย่างหลายประเทศที่ใช้สภาเดี่ยวแล้วประสบความสำเร็จ แต่มันก็เป็นประเทศของเขา จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในประเทศไทยหรือไม่ คนละเรื่องนะครับ เพราะคุณภาพของสภาไทยกับสภานอกไม่เหมือนกัน ถามว่าทำไมเรามีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แต่ต่างประเทศไม่มี ผมไปเยอรมนีผมก็ถามเขาว่า เมืองไทยทุจริตเยอะ แล้วเยอรมนีป้องกันปัญหาทุจริตอย่างไร เขาบอกไม่ต้องป้องกันมาก เพราะคนเยอรมันไม่ทุจริตมันอาย ไม่ทำกัน

"ฉะนั้น ข้อเสนอนิติราษฎร์ดูดี ได้มาตรฐานอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี แต่ว่าสอดคล้องกับสังคมไทยหรือไม่ นี่เป็นปัญหามาก" ...

เช่นเดียวกับข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่นิติราษฎร์เสนอแต่แรก สมคิด บอกว่า เป็นเรื่องดี และนักวิชาการทุกคนก็ต้องเห็นด้วย แต่ข้อสังเกตคือ ทำไมไม่ลบล้างย้อนหลังไปถึงการรัฐประหารครั้งก่อนๆ เช่น สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) และที่นิติราษฎร์บอกว่าจะแก้มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาผลของการรัฐประหาร คำถามคือ จะแก้ได้จริงหรือไม่

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมี 2 ส่วน บทถาวรหลักกับบทเฉพาะกาล ในส่วนของบทเฉพาะกาลเมื่อใช้แล้วมันก็เลิกไปตามเวลาที่ผ่านไป วันนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ผ่านไป 5 ปี บทเฉพาะกาลจึงไม่มีผลแล้ว ฉะนั้นจะมายกเลิกบทเฉพาะกาลในมาตรา 309 เพื่อให้มีผลย้อนหลังไป หลายคนจึงไม่เข้าใจว่าคืออะไร

อย่างไรก็ตาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า การขับเคลื่อนแก้มาตรา112 ได้ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าที่ขมึงเกลียวทั้งที่วันนี้ประเทศไทยมีปัญหาสำคัญที่ต้องแก้มากกว่ามาตรา 112 เช่น ปัญหาความยากจนของคนไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาทางกฎหมายอื่น การช่วยเหลือชาวบ้านที่ไปบุกรุกที่สาธารณะแล้วถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งมากกว่าคนที่โดนคดีหมิ่นฯ มาตรา 112 ปัญหาทุจริตของนักการเมือง ฯลฯ ทำไมไม่จับสาระตรงนี้

แต่ถึงแม้จะเห็นต่าง ทว่า สมคิด ก็ชื่นชมความกล้าหาญของคณาจารย์นิติราษฎร์ที่เสนอความเห็นแหลมคมที่ไม่มีใครกล้ามาก่อน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางความคิด มีการโต้แย้งถกเถียงทางวิชาการ นำไปสู่ทางออกที่ดีในอนาคต

"การจุดพลุของนิติราษฎร์เป็นข้อดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ เพราะไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่สังคมรับไม่ได้กับเรื่องบางเรื่อง เพราะวันนี้สังคมไทยอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ การจะแก้ไขมาตรา112 ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และหากจะเกิดการแก้ไขครั้งนี้ขึ้น ก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย สามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ว่า คนที่จะขอแก้ ต้องตอบโจทย์ก่อนว่า ทำไมต้องแก้".

"ผมไม่ได้หมายความว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยไม่ควรเปลี่ยนแปลง สถาบันทุกสถาบันต้องเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตามสภาพการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเพียงแต่เวลาเราอยากจะเอาต่างประเทศมาเพื่อแก้ปัญหาในไทย"

นิติราษฎร์ 'เพื่อน-น้อง-ลูกศิษย์-ผู้ช่วย'

กับคณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า สนิทสนม มักคุ้น เพราะเคยอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ด้วยกันมาก่อน

7 คณาจารย์นิติราษฎร์ ประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ปิยบุตร แสงกนกกุล จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ธีระ สุธีวรางกูร ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ และสาวตรีสุขศรี ทั้งหมดเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมตัวเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2553 มีจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร สมคิดเล่าว่า บางคนเป็นเพื่อน บางคนเป็นลูกศิษย์ บางคนเคยเป็นผู้ช่วยเขา

"อาจาย์วรเจตน์ ก็เป็นเพื่อน เขารุ่นน้องที่ธรรมศาสตร์ (หัวเราะ) อาจารย์ปิยบุตร เป็นทั้งลูกศิษย์และผู้ช่วยของผมเอง เขาก็ช่วยผมนานพอสมควรก็สนิทชิดเชื้อกัน ผมก็แนะนำเขาตลอด ปิยบุตรก็ดีกับผมมาก เขาไม่เคยวิจารณ์หรืออะไรต่อกัน แต่ว่าธรรมศาสตร์เป็นอย่างนี้เขาจะเป็นลูกศิษย์ หรือเป็นใคร แต่เมื่อเขาเป็นอาจารย์เขาก็มีสิทธิแสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาค เราจะไม่มาบอกว่า สมคิดเป็นอาจารย์ปิยบุตรมาก่อน ฉะนั้นสมคิดต้องเก่งกว่า ปิยบุตรปิยบุตรห้ามวิจารณ์อย่างนี้ ปิยบุตรสามารถเถียงกับสมคิดได้ แม้จะเคยเป็นลูกศิษย์มาก่อนก็ตามเขาอาจจะเก่งก็ได้ในบางเรื่อง เช่น 112 เขาอาจจะค้นไปสุดๆ รู้เรื่องมากกว่า เราก็ได้"

"ผมเพิ่งกินข้าวกับปิยบุตรเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้ว ก็แสดงความยินดีกับ ปิยบุตร ที่จบปริญญาเอกจากฝรั่งเศส เราไม่ได้มีปัญหาอะไรกันหรอกในเรื่องส่วนตัว ถ้าใครจะค้นว่า ผมมีอคติกับวรเจตน์ หรือใครมีอคติต่อใคร ผมไม่เห็นด้วยนะแม้แต่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจารย์วรเจตน์ได้ทุนอานันทมหิดล แล้วเนรคุณต่อเจ้าของทุน ผมก็ไม่เห็นด้วยที่เราจะวิจารณ์กันอย่างนี้ เราต้องวิจารณ์เนื้อหาที่ อาจารย์วรเจตน์ หรืออาจารย์ปิยบุตรพูด

สมคิดเล่าต่อถึงความสัมพันธ์กับสมาชิกนิติราษฎร์ "อาจารย์จันทจิรา ก็รู้จักตั้งแต่เป็นนักศึกษา เขาเป็นรุ่นพี่นิติศาสตร์ของผม อาจารย์ธีระก็รู้จักกันในภาควิชา เกือบทั้งหมดในนิติราษฎร์ อยู่ในภาควิชาเดียวกับผม คือ ภาควิชากฎหมายมหาชน ตั้งแต่อาจารย์วรเจตน์อาจารย์ธีระ อาจารย์ปิยบุตร อาจารย์จันทจิราสนิทสนมกัน สมัยก่อนก็กินข้าวด้วยกัน เดี๋ยวนี้ผมมาทำบริหาร เขาก็ไปเคลื่อนไหว ก็ไม่ค่อยได้เจอ แต่เราคุยกันได้ตลอด

"บางเรื่องผมก็กริ๊งกร๊างหา ฟังคนนั้นคนนี้เมื่อ 2 ปี ผมก็โทร.ไปหาอาจารย์วรเจตน์ มีหนังสือพิมพ์ออกข่าวทำนองว่า อาจารย์วรเจตน์วิพากษ์วิจารณ์ผมว่า ผมไม่ยอมให้ใช้สถานที่อะไรต่างๆ ผมตรวจสอบ ผมก็โทร.ไปถามว่าอาจารย์วรเจตน์เรื่องนี้ไม่จริงนะ ผมไม่เคยไม่ให้ใช้สถานที่ อาจารย์วรเจตน์ก็บอกว่า ผมไม่ได้ให้สัมภาษณ์ครับ หนังสือพิมพ์ลงไปเอง ก็กริ๊งกร๊างหากัน
         
"แม้แต่เรื่อง 112 เมื่อวาน (วันพุธที่ 1 ก.พ.)ผมก็โทร.ไปหาอาจารย์ปิยบุตรในฐานะเพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาว่า มติธรรมศาสตร์เป็นอย่างนี้ คุณช่วยดูหน่อยว่า จะทำอย่างไรให้ภาพรวมของธรรมศาสตร์ออกมาดี อาจารย์ปิยบุตรก็บอกว่า ก็คงไปคุยกัน และก็ถามผมว่าจะขออนุญาตแถลงข่าวได้ไหม ก็พูดกันไปครับ"

สมคิดยืนยันว่าได้ให้เสรีภาพทางวิชาการกับนิติราษฎร์ แต่ช่วงหลังมีนักศึกษา เจ้าหน้าที่เป็นห่วงเรื่องการจัดเสวนามาตรา 112 ในธรรมศาสตร์มาก หลายคนติงอธิการบดีว่า ทำไมถึงยอมให้เขามาใช้ที่ธรรมศาสตร์จัดกิจกรรม ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งที่รุนแรง ก็ตอบไปว่า เป็นเสรีภาพทางวิชาการ และเป็นความหลากหลายในธรรมศาสตร์ แต่ถ้าเลยเถิดไปกว่านั้น จะถึงขนาดที่จะเป็นปัญหา ก็ต้องลงไปดูแล ซึ่งถ้านิติราษฎร์จะจัดอภิปรายเรื่องอื่นในธรรมศาสตร์ ก็ไม่ได้ห้ามอะไร

"ในระบบธรรมศาสตร์ ผมจะบอกว่า เอ้ยคุณหยุดพูดนะ ผมเป็นผู้บังคับบัญชาคุณ ถ้าที่อื่นเขาทำไปแล้ว ทหาร มหาดไทยเขาก็สั่งให้หยุดพูดแต่มหาลัยเรามีเสรีภาพทางวิชาการ อธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาของทุกคนก็จริง แต่อธิการบดีก็ไม่สามารถสั่งให้คุณหยุดพูดได้ มันทำไม่ได้เพราะมหาลัยมีเสรีภาพทางวิชาการ"

ระวังวิกฤตรธน.

112 เกาไม่ถูกที่คัน'เขากล้าหาญ แต่ยังมีปัญหา'

สถานการณ์ประเทศขณะนี้ ในทัศนะของสมคิด มองว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่น่าเป็นห่วง อาจเกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ เพราะไม่ได้ถกเถียงทางวิชาการ แต่ส่วนตัวก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า ทุกอย่างมีทางออก ไม่มีทางที่จะอุดตัน

"หลายคนคิดว่าสังคมจะเปลี่ยนเร็ว มันไม่เร็วอย่างที่เราคิดหรอกครับ ถามว่า ผมอยากให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยไหม ผมอยากครับ และผมก็ไม่อยากเห็นทหารทำรัฐประหาร 19 ก.ย. ผมก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นเพราะผมคิดว่าแม้รัฐประหารเมืองไทยทำง่ายแต่การรักษาอำนาจไว้มันทำยาก แม้แต่วันนี้ก็มีคนพูดว่า อาจมีการทำรัฐประหารจากประเด็น 112 นะ ผมก็เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง"

สมคิด วิเคราะห์ว่า ปัจจัยเปราะบางที่จะเกิดความขัดแย้งในปัจจุบันมี 3 เรื่อง คือ 1.มาตรา 112 2.การแก้รัฐธรรมนูญ และ 3.การแก้ พ.ร.บ.กลาโหม

เรื่องรัฐธรรมนูญอยู่ที่เนื้อหาที่จะแก้ เช่นถ้าแก้บางเรื่องที่ไม่ใหญ่ก็ไม่ขัดแย้ง แต่ถ้าแก้มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค ก็อาจเจอการเคลื่อนไหวต่อต้านได้ หรือแก้ไม่ให้มีวุฒิสภาสว.ก็อาจไม่ผ่านรัฐธรรมนูญให้ แต่มองว่าเหตุผลลึกๆ ที่รัฐบาลอยากแก้รัฐธรรมนูญก็เพื่อควบคุมองค์กรอิสระเหมือนสมัยรัฐบาลทักษิณที่คุมเบ็ดเสร็จทั้ง สส. สว. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระบางส่วน เพราะวันนี้รัฐบาลยังคุมองคาพยพทั้งระบบไม่ได้ หลายคนจึงมองออกว่ารัฐบาลมองไกลไปที่การคุมกลไกอำนาจรัฐทั้งหมดของประเทศผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น
         
"รัฐบาลอย่าคิดว่าตัวเองมีเสียงข้างมากในสภา เพราะเสียงข้างมากไม่ได้เป็นจุดชี้ขาดเราเห็นมาแล้ว ตอนนายกฯ ทักษิณ มีเสียงข้างมาก ก็พ่ายแพ้ ใครจะคิดว่ากรณีไม่เสียภาษีซื้อขายหุ้นของคุณทักษิณจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว การแก้รัฐธรรมนูญก็เช่นเดียวกันจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้ ถ้ารัฐบาลอ้างว่าฉันมาจากประชาธิปไตย ฉันกุมเสียงข้างมาก จะแก้อย่างไรก็ได้"

สมคิด เห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้ เพราะหลายเรื่องที่รัฐบาลบริหารประเทศมา 6 เดือนก็มีข้อดีที่ทำงานเร็ว มีประสิทธิภาพ