posttoday

สองขั้วมือเปื้อน เปลี่ยนสี?

24 ธันวาคม 2554

หลายคนมองว่า"ธาริต เพ็งดิษฐ์" อธิบดีดีเอสไอเริ่มเปลี่ยนสี จนเป็นเหตุให้เขาเหนียวแน่นอยู่ในตำแหน่งนี้อย่างมั่นคง

หลายคนมองว่า"ธาริต เพ็งดิษฐ์" อธิบดีดีเอสไอเริ่มเปลี่ยนสี จนเป็นเหตุให้เขาเหนียวแน่นอยู่ในตำแหน่งนี้อย่างมั่นคง

โดย..ทีมข่าวการเมือง
        
กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ หลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง หลายคนมองว่า"ธาริต เพ็งดิษฐ์" อธิบดีดีเอสไอเริ่มเปลี่ยนสี จนเป็นเหตุให้เขาเหนียวแน่นอยู่ในตำแหน่งนี้อย่างมั่นคง
         
"ธาริต" ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์เกี่ยวกับข้อวิจารณ์เหล่านี้ โดยยอมรับว่าเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนไป นโยบายรัฐบาลเปลี่ยน ธาริต ก็เปลี่ยน แต่เปลี่ยนในที่นี้หมายถึง การเปลี่ยนตามนโยบายเพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมถูกต้อง        

สองขั้วมือเปื้อน เปลี่ยนสี? ธาริต เพ็งดิษฐ์

"บริบทของการเป็นข้าราชการประจำ โดยเฉพาะข้าราชการพลเรือนแตกต่างจากองค์การอิสระ อย่างเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือศาล เพราะสิ่งที่แตกต่าง คือ การมี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน กำหนดว่าข้าราชการพลเรือนต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ถ้าไม่ทำจะมีโทษความผิดทางอาญา ฉะนั้นตามระบอบประชาธิปไตยที่วางกติกาสังคมไว้ ข้าราชการพลเรือนจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายที่มี"
        
เขาอธิบายว่า ในแง่ของระบอบประชาธิปไตยถ้ากฎหมายยังไม่ดีพอก็ต้องแก้ที่กฎหมาย การออกกฎหมายมาบังคับข้าราชการพลเรือนให้ปฏิบัติตามระเบียบนโยบายรัฐบาล เมื่อถึงเวลาที่ข้าราชการปฏิบัติตามแล้ว ไปต่อว่าหาว่าเขาเปลี่ยนสีไม่คงเส้นคงวา การกล่าวหาเช่นนี้ไม่ยุติธรรมต่อคนที่เป็นข้าราชการ เพราะข้าราชการประจำจะต้องเป็นเครื่องมือของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย
         
"ผมก็ยืนยันว่า การบังคับใช้กฎหมาย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องทำตามกฎหมาย แต่ในแง่ของการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลต้องเปลี่ยนแน่เช่นขณะนี้รัฐบาลเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีกับข้อเสนอของ คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)และกำหนดให้ส่วนราชการนำมติ ครม.เรื่องการปรองดองไปปฏิบัติให้เห็นผล ดีเอสไอก็เป็นหน่วยหนึ่งที่ต้องทำ"
         
"ส่วนตัวรู้สึกไม่สบายใจที่หลายคนบอกว่า ทำไม"ธาริต"ไม่ทำแบบ ถวิล เปลี่ยนศรี  อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลไปเลยเขาจะได้ย้าย แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม ในการที่จะให้ผมเป็นตัวแทนความเกลียดชังและผลักผมอยู่ข้างหนึ่งข้างใด ที่พูดผมไม่ได้เอาใจรัฐบาลสมัยใด ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำงาน"อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอย่างหนักแน่น
         
เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ดีเอสไอเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองหรือไม่"ธาริต" ให้เหตุผลว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่ว่าจะยุคใดก็มักใช้บริการของดีเอสไอ โดยการร้องทุกข์กล่าวโทษ มาให้เบาะแสชี้เป้าว่าฝ่ายนั้นผิดฝ่ายนี้ถูก แต่หน้าที่ของหน่วยงานคือ บังคับใช้กฎหมายเพื่อจับคนผิดมาลงโทษ
         
"ถ้าถือว่าการที่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาร้องทุกข์ให้ช่วยดำเนินคดี แล้วดีเอสไอไปดำเนินคดีจนพบว่ามีความผิดจริง เราก็ดำเนินคดีฟ้องร้อง อย่างนี้จะถือว่าดีเอสไอเป็นเครื่องมือ ก็ตอบได้เลยว่าเราถูกใช้ทุกวัน จึงอยากให้คนทั่วไปดูบริบทตรงนี้ว่า ดีเอสไอไม่ได้ถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้งใคร ผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด จะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ แต่ต้องยอมรับความจริงว่า จะฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็มือเปื้อนด้วยกันทั้งนั้นผมกล้าพูดเช่นนี้เลยว่า นักการเมืองที่มีตำแหน่งแต่มือเปื้อนนั้นมีอยู่มาก ฉะนั้นถ้าต่างฝ่ายต่างจะเล่นงานกันแล้วใช้ดีเอสไอ เรายินดีให้ใช้เพราะว่าผิดจริง เรายินดีจะดำเนินคดีกับคนกระทำผิด"
         
ธาริต อธิบายว่า สังคมไทยต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยยังไม่ได้นักการเมืองที่มือสะอาดหมดจด เป็นนักการเมืองสีเทา สีดำอีกมาก ไม่ว่าดีเอสไอหรือตำรวจก็หนีไม่พ้นที่จะดำเนินคดีกับคนเหล่านี้แต่ขอความเป็นธรรมให้ดีเอสไอ อย่าตีตราหน้าว่าเราเปลี่ยน เอนเอียงกลั่นแกล้งใคร ถ้าจะบอกว่าเราเป็นเครื่องมือ ก็คือเครื่องมือจัดการคนผิด ซึ่งไม่ผิดครรลองคลองธรรมใดๆ เป็นสิ่งที่ควรจะทำเสียด้วย
         
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้นี้เล่าให้ฟังว่า การทำงานร่วมกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่เข้ามาควบคุมดูแลกระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีความกดดันใดๆ เลยแม้แต่น้อย เพราะ ร.ต.อ.เฉลิม เคยให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องการหาเสียงก่อนหน้านี้ว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะจัดการปลดธาริตเป็นคนแรก ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องการทำงานจะให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการทุกคน เพราะข้าราชการประจำเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ส่วนตัวคิดว่ายังโชคดีอยู่ (หัวเราะ)
         

สองขั้วมือเปื้อน เปลี่ยนสี?

"หลังการประชุมท่าน (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง)ได้พูดทักทายกับผมในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารและผมที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ ว่า "ธาริต" ผมไม่มีอะไรนะนอกจากขอให้คุณให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเสมอภาค และทำงานในหน้าที่ของคุณไป พวกเราฝ่ายบริหารก็อยากให้ข้าราชการประจำทำหน้าที่ในกรอบความถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่ผมไม่รู้สึกหนักใจอะไรเลย และไม่มีการขออะไรเป็นพิเศษ" เขากล่าวพร้อมกับหัวเราะไปพร้อมๆ กัน
         
นอกจากนี้ หน้าที่รับผิดชอบในการปราบปรามเว็บหมิ่น ร.ต.อ.เฉลิม ก็บอกว่า ในนามของพรรคเพื่อไทย ในนามของรัฐบาล ไม่มีนโยบายหรือความคิดในการแก้มาตรา 112 สิ่งนี้เป็นการประกาศเจตนาชัดเจนของ ร.ต.อ.เฉลิม
         
อย่างไรก็ตาม แนวคิดการจับ "ธาริต" มาเข้าข้างเพื่อฝ่ายเพื่อไทย เพราะหากได้มาเป็นพวก จะทำให้การดำเนินคดีกับคนเสื้อแดงในคดีก่อการร้ายลดน้ำหนักเบาบางลงหรือไม่นั้น เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง เรื่องคดีก็เดินหน้าต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง
         
"ยืนยันตรงนี้ได้เลยว่า ลำพังธาริตคนเดียวไม่ได้สามารถบงการทุกอย่างของดีเอสไอได้หมด เพราะเป็นหน่วยงานที่ถูกออกแบบมาให้ทำงานในรูปของคณะทำงานสอบสวน ยังมีสำนักงานอัยการเข้ามาร่วมตรวจสอบ"
         
สำหรับงานด้านการปกป้องสถาบัน ก็ได้ทำหน้าที่อย่างจริงจัง เพราะความผิดเกี่ยวกับสถาบัน ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศชาติควรเคารพสักการะ การหมิ่นประมาทเป็นความผิดอยู่แล้วตามกฎหมาย ผู้กระทำผิดในคดีนี้จะไม่มีการอ่อนข้อ
         
ทั้งนี้ คดีที่อยู่ในมืออย่างเช่น คดีทุจริตถุงยังชีพมีความคืบหน้าไปมาก ในสมัยรัฐบาลชุดนี้ก็พบว่ามีมูลความผิด ก็ได้สั่งให้ไปตรวจสอบเพิ่มเติมย้อนหลัง 2 ปี เพื่อความเท่าเทียมว่าการบริหารของรัฐบาลที่แล้วและรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไร ซึ่งการต้องย้อนกลับไป2 ปี การทำเช่นนี้ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร แต่เป็นการทำให้เห็นภาพชัดว่ากระบวนการทำความผิดมันเริ่มตรงไหน เป็นมาอย่างไร ผลที่ออกมาจะไปเกิดผลดีผลเสียกับใครไม่สนใจ สนแค่ว่าใครทำผิดเท่านั้น
         
อีกด้านหนึ่งของคดี 13 ศพ เราชี้มาแต่ต้นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเกี่ยวข้อง ก็คือทหารสมัยนั้นที่เราชี้ตามข้อเท็จจริงที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล และทหารต้องรักษาความสงบของบ้านเมือง แต่เราบอกว่าเกี่ยวข้องไม่ได้หมายความว่าทหารทำผิด เพราะทหารอาจมีเหตุต้องป้องกันตัว จำเป็นต้องระงับเหตุร้าย ก็ว่ากันไปซึ่งการที่เราชี้ไปหลายคนไม่พอใจ ถึงกับมีข่าวว่าจะย้ายอธิบดีดีเอสไอในสมัยรัฐบาลที่แล้ว แต่เราก็ยืนยันความเห็นนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ จะถูกผิดอย่างไรให้ศาลชี้
         
"มีคนมาบอกผมว่า กรณีที่ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง เข้ามามอบตัว ทำไมไม่ให้ประกัน"ธาริต" จะได้แต้มไปในงานนี้ด้วย คนเสื้อแดงจะได้ไชโยโห่ร้อง แล้ว "ธาริต" จะได้กาวตราช้างติดเก้าอี้ไปเลย ผมบอกไม่ทำหรอก ไม่ได้มีหน้าที่เอาใจใคร ถามว่าผมจะให้ประกันได้หรือไม่ ผมก็ทำได้ แต่ผมเลือกจะไม่ทำ เพราะเราแสดงตัวชัดเจนว่าไม่มีการเอนเอียงไปทางไหนแน่นอน"
         
ประสบการณ์ในเส้นทางกระบวนการยุติธรรมหลังจากเป็นอัยการมาอยู่กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ถือเป็นเกียรติประวัติที่เคยได้ร่วมงานกับทั้งรัฐบาลสมัยพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลยุคของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
         
"ตราบใดที่รัฐบาลยังไว้วางใจให้ผมทำหน้าที่ ก็จะทำต่อไป ส่วนเหตุผลว่าทำไมไม่ย้ายผม หรือวันข้างหน้าจะย้ายอีก 3 เดือน 6 เดือนสิ่งเหล่านี้เกินกว่าที่ผมจะออกความคิดเห็นเพราะเป็นข้าราชการประจำธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ถ้าวันใดฝ่ายบริหารเห็นว่าผมควรไปทำหน้าที่ตรงไหน ผมก็จะไปทำให้ดีที่สุด เพราะมีอายุราชการอีก 7 ปี ยังไงต้องถูกย้ายอีกเยอะฉะนั้นผมทำใจอยู่แล้ว แต่เกิดเป็นความรู้สึกกระอักกระอ่วนในใจถึงสิ่งบอกเหตุของความแตกแยก ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น เราก็คาดหวังว่าปีหน้านี้การปรองดองจะเป็นที่ประจักษ์จริงๆไม่ใช่เพียงแค่รูปแบบ แต่เนื้อหาไม่เกิด" ธาริตกล่าวทิ้งท้าย .

ทางออกปรองดองคือต้องเคารพกม.        

สองขั้วมือเปื้อน เปลี่ยนสี?

มุมมองทางการเมืองของ "ธาริต" ผู้ที่นั่งอยู่ในจุดกึ่งกลางความขัดแย้งทางการเมืองแสดงทัศนคติว่า การทำงานในดีเอสไอมีความกดดันมาก อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ต่างจากประชาชนทั่วไป มีชอบ มีเกลียดผสมอยู่ด้วยกัน การเมืองบ้านเรามีการแบ่งขั้วความคิดเป็นสองขั้ว เหลือง-แดง แต่ได้พูดในหมู่คนทำงานเสมอว่า ต้องแยกความรักความชอบออกต่างหากจากการทำหน้าที่ เพราะหน้าที่ของเราคือการทำงานอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงภาษีของประชาชนที่ได้มาใช้ดำรงชีวิตเลี้ยงครอบครัว ก็ต้องไม่ทำสิ่งที่ผิดกฎหมายเสียเอง การเป็นผู้รักษากฎหมายหากทำผิดเสียเองแล้ว บ้านเมืองจะอยู่อย่างไร จะไปบังคับให้เราไม่เลือกค่ายในทางความคิดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเราเป็นระบอบประชาธิปไตย
         
"เนื่องจากผมเป็นนักกฎหมาย เห็นว่าจะด้วยการปรองดอง หรือการพัฒนาที่ดีที่สุดไม่มีอะไรดีเท่ากับการเคารพกฎหมาย ไม่ต้องไปหารูปแบบหรือโมเดลอะไรให้มากเรื่องยุ่งยาก เพราะสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นเครื่องจรรโลงในสังคม ก็คือการเคารพกฎหมาย ถ้าทุกคนเคารพกฎหมายความแตกแยกก็จะน้อย ความปรองดองก็จะเกิดขึ้น และผมถือว่ากฎหมายที่มีอยู่ในมือทุกคนสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เราไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่นถ้าไม่เคารพกฎหมายจะเกิดมิติของการฉีกกฎหมายทิ้ง แล้วอยากจะแก้เรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นการใหญ่ ทำเช่นนั้นจะเกิดมิคสัญญี".

สังคมไทยต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยยังไม่ได้นักการเมืองที่มือสะอาดหมดจด เป็นนักการเมืองสีเทา สีดำอีกมากไม่ว่าดีเอสไอหรือตำรวจก็หนีไม่พ้นที่จะดำเนินคดีกับคนเหล่านี้แต่ขอความเป็นธรรมให้ดีเอสไอ