posttoday

คำต่อคำกี้ร์เบิกความไต่สวนปล่อยตัว

14 ธันวาคม 2554

เปิดคำให้การ "อริสมันต์" ขึ้นเบิกความต่อศาลไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอ้างไม่คิดหลบหนีเป็นคนรักสงบ

เปิดคำให้การ "อริสมันต์" ขึ้นเบิกความต่อศาลไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอ้างไม่คิดหลบหนีเป็นคนรักสงบ

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้าย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัวต่อศาลอาญา ครั้งที่ 2 รวม 3 คดี

คำต่อคำกี้ร์เบิกความไต่สวนปล่อยตัว

ทั้งนี้ประกอบด้วย คดีก่อการร้าย ที่ น.ส.ศันสนีย์ นวลสนิท เป็นนายประกันวางเงินสด จำนวน 4 ล้านบาท คดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หมายเลขคดีดำที่ อ.4177/2552 และคดีหมิ่นประมาท พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. หมายเลขคดีดำที่ 1463/2553 ซึ่งนางระพิพรรณ พงษ์เรืองรอง อายุ 38 ปี ภรรยานายอริสมันต์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ตีราคา 1,350,600 บาท ขอประกันตัว เมื่อวันที่ 13ธ.ค.ที่ผ่านมา และศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริง

นายอริสมันต์ ได้ขึ้นเบิกความต่อศาล โดยระบุว่า ที่ผ่านมาไม่คิดจะหลบหนีศาล แต่หนีความตาย เนื่องจากตลอดเวลาได้พยายามติดต่อขอมอบตัว แต่ได้รับแจ้งว่าจะไม่ปลอดภัย โดยมีเหตุการณ์ที่ทำให้เชื่อว่าชีวิตตนตกอยู่ในอันตราย 5 เหตุการณ์ประกอบด้วย 1.เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2552 มีตำรวจ แต่งกายนอกเครื่องแบบบุกเข้ามาที่บ้านจับตัวและพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ และมีการพยายามให้เซ็นรับทราบข้อกล่าวหา แต่ไม่ให้พบญาติและทนายความ

2.มีความพยายามจะอุ้มโดยมีเจ้าหน้าที่ข่าวกรองชี้เป้า 3.ขณะอยู่ที่จังหวัดเชียงรายมีตำรวจบุกเข้ามาประชิดตัวโดยมีอาวุธครบมือ 4.มีการบุกจับตัวที่โรงแรมเอสซีปาร์ค และ 5.มีข่าวแจ้งว่าให้ระวังตัว เนื่องจากเป็น 1 ใน 3 เป้าสังหาร ซึ่งมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ และพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง รวมอยู่ด้วย รวมทั้งหลังการสลายการชุมนุม ยังมีแกนนำแนวร่วม นปช. จังหวัดต่างๆ ถูกฆ่าตาย เช่น อ้วน บัวใหญ่

อย่างไรก็ตามหลังมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ได้เตรียมที่จะขอเข้ามอบตัวและลงสมัครรับการเลือกตั้งแต่มีผู้ใหญ่หลายคนบอกให้ชะลอการมอบตัว เพราะไม่ได้รับการยืนยันความปลอดภัย รวมทั้งเกรงว่าจะเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย จึงเสียสละไม่กลับมา จะรอจนการเลือกตั้งจบลงและพรรคเพื่อไทยได้รัฐบาล รวมทั้งามี ส.ส.หลายพรรคร่วมเป็นกรรมาธิการปรองดองแห่งชาติจึงเห็นเป็นโอกาสอันดี และอยากเห็นบ้านเมืองเกิดความปรองดอง จึงเข้ามอบตัว

นายอริสมันต์ยืนยันว่าที่ผ่านมาเป็นผู้ถูกกระทำมาตลอด และโดยส่วนตัวเป็นคนรักสงบไม่นิยมความรุนแรง มีความยุติธรรม ต่อสู้ในกรอบของกฎหมาย และพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อสู้คดีในศาล

อย่างไรก็ตาม อัยการโจทก์ ได้ซักค้านโดยอ่านคำพูดของนายอริสมันต์ในช่วงการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ที่มีการเรียกร้องให้กลุ่มเสื้อแดงเผาเมือง แต่นายอริสมันต์ได้เบิกความตอบว่า ที่พูดไปเพราะต้องการปรามเจ้าหน้าที่ไม่ให้ทำร้ายประชาชน และการชุมนุมทุกครั้งก็มีการตรวจค้นผู้ชุมนุมซึ่งก็ไม่พบว่ามีการพกพามีดหรือขวดแก้วเข้ามา

ทั้งนี้ศาลได้ไต่สวนว่า การระบุว่าตกเป็นเป้าหมายนั้นได้ข้อมูลมาจากที่ใด นายอริสมันต์ เบิกความว่ามาจากนักข่าว ข้าราชการทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาแจ้งข้อมูลหลังเวที โดยก่อนวันที่ 19 พ.ค. 2553 ซึ่งมีการสลายการชุมนุม แกนนำได้มีการเจรจากับรัฐบาลโดยมีวุฒิสภาเป็นคนกลางมีเงื่อนไขที่ตนรับไม่ได้คือให้แกนนำทั้งหมดมอบตัวและจะอนุญาตให้ประกันตัว ยกเว้นตนเพียงคนเดียว จึงเชื่อว่าชีวิตคงไม่ปลอดภัย และได้หลบหนีในวันสลายการชุมนุม

ศาลไต่สวนอีกว่าตกเป็นเป้าหมายเพราะสาเหตุใด นายอริสมันต์เบิกความว่า มาจากการนำประชาชนไปยื่นหนังสือถึงผู้นำประเทศอาเซียน ที่มีการจัดการประชุมที่โรงแรมรอยัล คลิฟฟ์ บีช รีสอร์ท พัทยา ในวันที่ 10 เม.ย. 2552 และได้กลุ่มคนเสื้อสีน้ำเงินลอบทำร้าย  จึงต้องพาประชาชนไปหลบในโรงแรมแต่ไม่ใช่ส่วนที่มีการจัดประชุมผู้นำอาเซียน

คำต่อคำกี้ร์เบิกความไต่สวนปล่อยตัว

ทั้งนี้เหตุที่ต้องมีการเลื่อนประชุมผู้นำอาเซียนเนื่องมากจากการที่รัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามคนเสื้อแดงได้ว่า มาเป็นรัฐบาลด้วยความชอบธรรมหรือไม่ ทำให้ผู้นำอาเซียนต่างตัดสินใจเลื่อนการประชุมเอง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีการเข้าใจว่าตนเป็นคนนิยมความรุนแรง นำประชาชนล้มการประชุมผู้นำอาเซียน

ส่วนกรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค นั้น ไม่ได้ต่อสู้ขัดขวางหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการหนีเอาชีวิตรอดด้วยการใช้สายไฟโรยตัวหนีจากห้องพัก จากนั้นขอร้องให้นายตำรวจยศ พันตำรวจเอก พากลับไปส่งที่เวทีชุมนุมแยกราชประสงค์ เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งไม่มีการจับตำรวจเป็นตัวประกัน

ศาลไต่สวนอีกว่า จำเลยจะให้คำมั่นอย่างไรที่จะให้ศาลเชื่อว่าถ้าให้ประกันตัวแล้วจะไม่หลบหนีหรือก่อเหตุภยันตราย ปลุกปั่นยั่วยุประชาชนให้เกิดการกระด้างกระเดื่อง นายอริสมันต์ เบิกความว่า มั่นใจกระบวนการยุติธรรมและความบริสุทธิ์ ยืนยันจะไม่หลบหนี จะขอต่อสู้คดีและจะไม่ทำผิดซ้ำอีก ส่วนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงจากนี้จะเลี่ยงการชุมนุมที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย

ส่วนการกระทำที่ผ่านมาของตนนั้นเนื่องจากตกเข้าไปอยู่ในเกมที่สลับซับซ้อน จนทำให้ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จึงมีคำพูดปลุกปั่นประชาชน แต่หากได้รับความเมตตาจากศาลให้ประกันตัว จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปรองดอง และพร้อมทำตามเงื่อนไขของศาลทุกประการรวมทั้งขอยุติการชุมนุมทางการเมือง และจะให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวสิทธิและหน้าที่ของประชาชน เพื่อเข้าสู่ความปรองดองสมานฉันท์

ทั้งนี้ภายหลังศาลไต่สวนนายอริสมันต์ และพยานปากอื่นเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายอริสมันต์ หรือไม่ในวันที่ 19 ธันวาคม นี้ เวลา 14.00 น.