posttoday

เจาะเหตุผล"ณรงค์"หัวขบวนฟ้องรัฐ

20 พฤศจิกายน 2554

เราต้องฟ้องเพื่อชดใช้ให้ผู้ได้รับความเสียหาย ซึ่งไม่ได้บอกว่าฟ้องใคร แต่จะฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยตั้งใจว่าจะฟ้องรัฐบาลหรือนายกฯ

เราต้องฟ้องเพื่อชดใช้ให้ผู้ได้รับความเสียหาย ซึ่งไม่ได้บอกว่าฟ้องใคร แต่จะฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยตั้งใจว่าจะฟ้องรัฐบาลหรือนายกฯ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

มหาอุทกภัยถล่มเมืองสร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินประชาชนและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอกชนมหาศาล แม้รัฐบาลจะยัดเยียดต้นเหตุมาจากธรรมชาติ แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นหัวขบวนที่ออกมาจุดประเด็นให้ประชาชนใช้สิทธิทางกฎหมายฟ้องเรียกค่าเสียหาย เปิดทางนำไปสู่การตรวจสอบภัยพิบัติครั้งนี้เป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดหรือไม่

เจาะเหตุผล"ณรงค์"หัวขบวนฟ้องรัฐ ณรงค์

“ผมกำลังถูกแรงกดดันจากคนจนครับ โดยเฉพาะพี่น้องผู้ใช้แรงงานถูกปลดออกจากงานและไม่มีเงิน หรือบางคนทำงานอยู่แต่ได้รับเงินเดือนไม่เต็ม และคนจนอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ตามแถวริมคลอง บางคนออมเงินมา 10 ปี แสนบาท สร้างบ้านเล็กๆ 7-8 หมื่นบาท น้ำมาทีเดียวหายวับไปกับตา” นักวิชาการผู้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิผู้ใช้แรงงาน เปิดเผยสาเหตุที่ลุกขึ้นมาฟ้อง

ณรงค์ บอกว่า เมื่อมีการนำเสนอข่าว ออกไปว่า ณรงค์ จะรวบรวมประชาชนฟ้อง ก็มีคนโทร.มาหา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้แรงงาน แต่มีนักธุรกิจเอกชนพันล้านที่ได้รับผลกระทบ โทร.มายืนยันว่าได้จดแจ้งความเสียหายกับสภาทนายความแล้วที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย แล้วบอกว่าขอให้เดินหน้าต่อ

ผมคิดว่าเหมือนเรือจ้าง บางทีเราไม่สามารถบอกได้ว่าคนไหนลงเรือผมได้บ้าง เมื่อทุกคนอยากจะลงเรือรับจ้างประจำทางก็ต้องไปกับเรา ทั้งคนจน นักธุรกิจ แยกไม่ได้แล้ว ถ้าคนนั้นลงเรือมาด้วยความบริสุทธิ์ใจที่ต้องการไปปลายทางกับเราก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเขาเสียหายจริง

ณรงค์ ยอมรับว่า ไม่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมากนัก แต่มีสภาทนายความ และนักกฎหมายท่านอื่นมาร่วมด้วย ทำให้เขาเปลี่ยนบทบาทเป็นตัวประสานด้วยการลงพื้นที่รับจดแจ้งความเสียหายจากประชาชนเป็นข้อมูลให้สภาทนายความฟ้องร้อง

“เรื่องที่จะฟ้องมีอยู่ 5 กรอบ ครอบ คลุมคนจน คนรวย คือ 1.ความเสียหายที่เกิดจากชีวิตและสุขภาพ เช่น สูญหาย ทุพพลภาพ เจ็บป่วย ประสบภัย 2.ทรัพย์สินเสียหาย 3.เสียโอกาส เช่น ลูกจ้างตกงาน ขาดรายได้ 4.คนที่เป็นหนี้สินไม่สามารถผ่อนชำระได้จนถูกปรับ 5.คนที่เสียหายอันเกิดจากการกระทำหรือไม่”

เมื่อจำแนก 5 หมวดหมู่เรียบร้อยก็จะมาพิจารณาว่าเรื่องนี้ฟ้องศาลปกครอง หรือฟ้องศาลแพ่ง หรือฟ้องศาลอาญา ซึ่งการพิจารณาประเด็นไหนจะฟ้องใคร จะฟ้องศาลอะไร อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย

ประเด็นที่นักวิชาการผู้นี้เห็นว่ารัฐบาลบริหารน้ำผิดพลาด เริ่มจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ส.ค.

“การประชุม ครม.เมื่อ 16 ส.ค. 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบติดตามสถานการณ์ประเมินเรื่องน้ำท่วม แล้วให้วิเคราะห์ดูว่าน้ำจะท่วมจังหวัดไหนอีก เมื่อส่งสัญญาณแล้วว่าน้ำจะท่วมจังหวัดไหน ก็ให้หาทางป้องกันแก้ไขด้วย นี่เป็นคำสั่งตามมติ ครม.ในวันดังกล่าว แต่ผมติดตามมติ ครม. พบว่าทั้งสองกระทรวงไม่ได้ส่งสัญญาณอะไรเลย ทั้งที่นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยาน้ำท่วมแล้ว มันเลี่ยงไม่ได้เลยจะต้องเข้าปทุมธานี นนทบุรี กทม. แต่เราไม่รู้ว่าจะเข้าเมื่อไหร่”

“1 เดือน กับ 15 วัน ไม่ได้ส่งสัญญาณ หรือส่งผมก็ไม่รู้นะ แต่ผมไม่รู้เลย ผมอยู่ทวีวัฒนา ไม่รู้สัญญาณเลย มารู้อย่างเดียวว่าเขาสั่งหยุดราชการ 27 ต.ค.-31 ต.ค. แล้วบอกว่า 31 ต.ค.น้ำทรงตัว เอาอยู่ ผมยื้อเต็มที่น่ะ แต่ตื่นขึ้นมาวันที่ 1 พ.ย. น้ำท่วมเลย ไหนบอกว่าเอาอยู่ไง การส่งสัญญาณผิด หรือไม่ส่งสัญญาณเนิ่นๆ ถือว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ถือว่าเข้าข้อ 5 ของสภาทนายความ”

ณรงค์ กล่าวว่า สมมติเมื่อมีการส่งสัญญาณว่าอีก 15 วันน้ำเข้า กทม. กทม.ต้องเคลียร์แล้วทั้งสิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ เพื่อรองรับน้ำที่กำลังจะมา ถ้า กทม.ไม่ทำ กทม.ก็ผิด ไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ควรปฏิบัติ ถูกมั้ย แบบนี้ก็ฟ้อง กทม.ได้ เพราะฉะนั้นคนที่เกี่ยวข้อง เราไม่ได้บอกว่าเป็นใคร ไม่ได้บอกพรรคการเมืองไม่เกี่ยว คุณไปไล่กันเองในศาล

“เราต้องฟ้องเพื่อชดใช้ให้ผู้ได้รับความเสียหาย ซึ่งไม่ได้บอกว่าฟ้องใคร แต่จะฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยตั้งใจว่าจะฟ้องรัฐบาลหรือนายกฯ แต่เหตุการณ์จะไล่ไปเอง ก็ถือว่าเป็นเรื่องของศาลจะพิจารณา” ณรงค์ กล่าวย้ำ

เสียงวิจารณ์ว่า ณรงค์ เป็นฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งถ้าไม่ใช่รัฐบาลพรรคนี้บริหารประเทศ จะออกมาเป็นแถวหน้าฟ้องร้องหรือไม่ ณรงค์ตอบว่า จะคิดกันอย่างไรก็ตาม แต่ในอดีตเคยทำงานร่างนโยบายให้พรรคไทยรักไทย เคยทำงานร่วมกับนักการเมืองหลายคน และไม่เคยได้รับประโยชน์อะไรเลย แถมซ้ำยังถูกนักการเมืองเหล่านั้นฟ้องดำเนินคดีเขาอีก

“ผมไม่เคยขออะไรจากพรรคไทยรักไทย คุณไปถามเลย พวกเกรียงกมล พวกภูมิธรรม ถามหมอมิ้ง นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เคยเรียกร้องตำแหน่งอะไรจากพรรคบ้าง ไม่มี ไม่เคยเรียกร้อง” ณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย

ชี้ปมผิดพลาด 4 ประการ

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การเมือง ณรงค์ มองอุทกภัยที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาด 4 ประการ จากเชิงระบบ 3 ประการ และความผิดพลาดของการจัดการอีก 1 ประการ

ผิดพลาดเชิงระบบ คือ เรามีนักประวัติศาสตร์ นักอุทกศาสตร์ นักธรณีวิทยา มีสารพัดนักที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่รู้หรือว่า กทม.เมื่อหลายพันปีมาแล้ว กทม.อยู่ใต้ทะเล ไม่รู้หรือว่าเมื่อทะเลตื้นเขิน กทม.คือปากอ่าว คือทางน้ำลงในทะเล เมื่อเป็นทางน้ำลงจากเหนือ ปิง วัง ยม น่าน การตั้งเมืองของ กทม.ในอดีตถูกต้องแล้ว เพราะอดีตเป็นประเทศเกษตรกรรมกทม.สมัยก่อนทุกบ้านหันหน้าลงคลอง ไม่ได้หันหน้าเข้าถนน ก็ถูกต้องแล้วในอดีต ถ้าเรามีภูมิประเทศอย่างนี้ก็รู้ทันทีว่าเมื่อนครสวรรค์น้ำเข้ามาต้องผ่านพระนครศรีอยุธยา แต่เดิมคือ หนองโสน ปทุมธานี ชื่อปทุมก็เป็นบัว บัวอยู่ในน้ำ รู้อยู่แล้ว ถ้ารู้อย่างนี้ทำไมคุณจะมาทำ

ผิดพลาดข้อที่ 2 คือ นโยบายผิดพลาด ทำไมคุณมาตั้งให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมนักเศรษฐศาสตร์ทำอะไรอยู่ที่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ แล้วคุณเคยคิดนโยบายป้องกันน้ำหรือไม่ นิคมอุตสาหกรรมไปตั้งได้อย่างไร ถ้าคุณคิดป้องกันไว้ก่อน

เปรียบเทียบกรณีเนเธอร์แลนด์สามารถสร้างเมืองในทะเลได้ เพราะรู้ว่าต้องอยู่ใต้ทะเล ต้องทำอย่างไร แต่ประเทศไทยมีนักเศรษฐศาสตร์วางแผนทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า ถ้าคุณจะอยู่กับน้ำจะทำอย่างไร ปี 2485 น้ำท่วม กทม. ต้องพายเรือไปประชุมที่สภา ก็เห็นกันอยู่ว่าน้ำท่วม กทม.ได้ แล้วไม่คิดบ้างหรือ วันนี้นักสารพัดทำไมมาตั้งนิคมอุตสาหกรรมตรงนั้น

ผิดพลาดข้อที่ 3 โลกร้อน แกนโลกเอียง น้ำแข็งถล่มทลาย พูดกันมา 10 ปีแล้วไม่ใช่หรือ กระทั่งมาถึงปีนี้ ตั้งแต่เดือน มี.ค. ใครๆ ก็รู้ว่าปีนี้เกิดอะไรขึ้น มีแต่น้ำฝน นี่ขนาดเราเป็นสามัญชนคนธรรมดา แล้วผู้เชี่ยวชาญไม่มีสำนึกนี้บ้างหรือ ไม่สะกิดใจบ้างหรือ แล้วคุณไม่ส่งสัญญาณเตือนบ้างหรือ อย่างนักเศรษฐศาสตร์ยังพูดทุกปีว่าปีนี้จีดีพีจะโตเท่าไหร่ พวกอุทกศาสตร์ไม่ยอมพูด กรมชลประทานไม่ยอมพูดหรือไง เพราะอะไร

ผมไม่ใช่ขงเบ้ง วิทยาศาสตร์มันเยี่ยมกว่าขงเบ้งอีก แล้วทำไมคุณไม่ใช้ล่ะ ถูกหรือเปล่า ความผิดพลาดของข้อมูลเป็นเรื่องธรรมชาติหรือ แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ว่าฝนจะตกกี่เปอร์เซ็นต์ แต่คุณประมาณได้ นักเศรษฐศาสตร์ยังประมาณเลยปีนี้จะโตกี่เปอร์เซ็นต์ เอาแค่ประมาณก็พอแล้ว แค่ประมาณคนก็ตกใจแล้ว เตรียมตัวได้แล้ว ถ้าบอกว่าปีนี้น้ำจะมากขึ้น 25% คุณต้องหาทางอย่างนี้ๆ เตรียมการไว้ก่อน สามารถพูดล่วงหน้าได้เป็นปี หรือหลายเดือน ทำไมไม่พูด

ผิดพลาดข้อที่ 4 การจัดการ พอคุณลงมือจัดการกั้นลูกเดียว ข้อที่ 2 ก็ยอมรับแล้วว่าไม่อยากปล่อยน้ำเพราะกลัวน้ำท่วมนา ให้เก็บเกี่ยวก่อน ผมมีความรู้ฟิสิกส์เบื้องต้น ที่ไหนก็ตามที่น้ำสะสม มวลน้ำจะมาก คุณยิ่งกั้นไว้มวลน้ำยิ่งมาก มวลน้ำมากจะหนักมาก แรงกดดันเท่ากับมวลน้ำบวกการไหล น้ำมวลมากแต่อยู่กับที่ แรงแต่ยังไม่มากพอ น้ำไหลเร็วแต่น้อยแรงก็น้อย แต่น้ำมากและไหลแรง โห เสียหายเลยครับ นี่ฟิสิกส์เบื้องต้นนะ นักอุทกศาสตร์ไม่รู้หรือว่าถ้าคุณกั้นน้ำไว้มากๆ มวลน้ำจะหนัก และยิ่งฝนตกเรื่อยๆ และมาจากที่สูงลงจากที่ต่ำ การมีแรงโน้มถ่วงจะหนัก นี่หลักพื้นฐาน แล้วคุณไม่เตือนหรือ คนจัดการเขื่อนไม่คิดหรือ

ที่บอกว่าต้องการกั้นน้ำไม่ให้ท่วมนาก็ถูกต้อง ผมนับถือคุณธีระ (วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์) ที่กล้าพูด และคิดว่าเจตนาดีนะ เพียงแต่ผลที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหาย ถ้าคุณธีระประมาทเลินเล่อ ไม่คิดถึงตรงนี้ได้ ดังนั้นในกฎหมายประมาทเลินเล่อ ก็ถูกฟ้องได้เท่านั้นเอง ผมยอมรับคุณธีระที่แบกรับ แต่คนอื่นไม่ยอมรับ พอระบายน้ำทำไมตะวันออก คลองพระโขนงยังห่างตลิ่งเยอะเลย อุโมงค์น้ำอุตส่าห์สร้างไว้ไม่ผ่านเลย อย่างนี้ธรรมชาติหรือเปล่า หรือแม้แต่ด้านสมุทรปราการรออยู่ แต่ยังแห้ง เพราะอะไรน้ำไม่ไป ถามว่าถ้าคุณปล่อยตามธรรมชาติระบายไปหรือไม่ ตอบว่า ไป แต่ที่ไม่ธรรมชาติคืออะไร เพราะมอเตอร์เวย์ขวางอยู่ สะพานข้ามก็เสาเต็มไปหมด น้ำไม่ไหลแล้วน้ำจะไปถึงหรือ ตรงนี้ธรรมชาติหรือเปล่า