posttoday

พันธกิจสำคัญป้องกัน"วัดพระศรีมหาธาตุ"

31 ตุลาคม 2554

"วัดพระศรี"ในความเชื่อของคนบางเขนคือจุดที่สูงสุด ซึ่งตั้งแต่ตั้งวัดขึ้นมาก็ยังไม่เคยมีครั้งไหนที่น้ำจะท่วมขนาดนี้...

"วัดพระศรี"ในความเชื่อของคนบางเขนคือจุดที่สูงสุด ซึ่งตั้งแต่ตั้งวัดขึ้นมาก็ยังไม่เคยมีครั้งไหนที่น้ำจะท่วมขนาดนี้...

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

ขึ้นชื่อว่า “วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร” หรือ “วัดพระศรีฯ” หลายคนคงนึกถึงการเป็น “ฌาปนสถาน” หรือสถานที่เผาศพขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง แต่หลายคนก็อาจนึกไปถึงการเป็นศาสนสถาน หรือวัดขนาดใหญ่ ที่เป็นที่นับถือสักการะบูชา ของทั้งผู้คนในเขตบางเขน และผู้คนทั่วประเทศ ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของ “พระบรมสารีริกธาตุ” และ “ต้นพระศรีมหาโพธิ” จากประเทศอินเดีย ทำให้กลายเป็นที่พึ่งมาตั้งแต่ก่อสร้างวัดเมื่อปีพ.ศ. 2484

พันธกิจสำคัญป้องกัน"วัดพระศรีมหาธาตุ" บริเวณฌาปนสถานที่ถูกน้ำท่วมเต็มบริเวณแล้ว

แต่วันนี้ส่วนที่จัด“งานศพ” ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งวัดต้องถูกน้ำท่วมทั้งหมด เหลือไว้เพียงส่วนของกุฏิ โบสถ์ และพระอารามหลวงซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 70 ปี รอคอยให้น้ำจ่อเข้าไปโจมตีเช่นเดียวกัน เพราะวันนี้วัดพระศรีฯโดนน้ำตีโอบมาจากทั้งฝั่งคลองบางบัว จากสะพาน ค้างสายตาของใครหลายคน เนื่องจาก “วัดพระศรี” ในความเชื่อของคนบางเขนคือจุดที่สูงที่สุดในละแวกทั้งหมด ซึ่งตั้งแต่ตั้งวัดขึ้นมา ก็ยังไม่เคยมีครั้งไหนที่น้ำจะท่วมขนาดนี้

พระมหานิรุตต์ ฐิตสังวโร เลขานุการเจ้าคณะภาค 8 วัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งรับหน้าที่ป้องกันวัดพระศรีฯเปิดเผยว่าหนักใจกับการป้องกันวัดมาก เพราะแม้วัดจะอยู่ที่สูง แต่เพราะว่าพื้นที่ข้างวัดเป็นชุมชน “สุขสันต์พัฒนา” ซึ่งมีประชาชนอยู่อย่างหนาแน่นและอยู่ใกล้กับ “คลองบางบัว” ระบายน้ำออกจากชุมชนด้วยการสูบน้ำเข้ามาในคลองข้างวัดอยู่ตลอดเวลา ทำให้เมรุเผาศพถูกน้ำท่วมไปก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่ด้านหลังวัดก็เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ที่เป็นศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยของเขตบางเขนด้วย ก็ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำออกไป ทำให้วัด ต้องรับน้ำทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เห็นหลายที่ชาวบ้านเขาทะเลาะกันเรื่องเปิดปิดประตูระบายน้ำ หรือให้น้ำไปลงที่อื่น แต่ที่นี่เราเป็นวัด จะไปมีปัญหากับชาวบ้านมันก็ไม่งาม เพราะฉะนั้นเหลือวิธีเดียวก็คือทำใจยอมรับ ปล่อยให้น้ำเข้ามา แล้วรักษาส่วนที่สำคัญไว้แทน” พระมหานิรุตต์กล่าว

พันธกิจสำคัญป้องกัน"วัดพระศรีมหาธาตุ" ฝั่งพระอุโบสถยังคงแห้งอยู่

พระมหานิรุตต์บอกว่าส่วนของฌาปนสถานที่มีน้ำท่วมสูงราว 10-20 ซม.ขณะนี้ได้จัดการเคลียร์พื้นที่จนหมดแล้ว ซึ่งทางวัดเองก็ไม่ได้รับศพเข้ามาเป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์หลังจากเห็นแนวโน้มว่าน้ำท่วมแน่ อย่างไรก็ตาม ได้มีการป้องกันศาลาสวดศพ และเมรุเผาศพไว้ด้วยกระสอบทรายเป็นอย่างดีจึงมั่นใจว่าจะไม่สร้างความเสียหายมากนัก ขณะที่ในส่วนของพระภิกษุขึ้นไปจำวัดบนชั้นสองของกุฏิทั้งหมดแล้ว หลังจากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดวันที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าน้ำจะเข้าในอีกไม่กี่ชั่วโมงขณะที่พระอุโบสถ และเจดีย์โบราณก็ได้มีการป้องกันไว้แล้ว ด้วยกระสอบทรายสูงกว่า 1.5 เมตร

เหลือเพียงครัวจิตอาสาขนาดใหญ่ ที่เป็นจุดกระจาย “ข้าวกล่อง” จำนวนกว่า 1.2 หมื่นกล่อง ไปยังศูนย์พักมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน” และอีกหลาย ๆ ศูนย์พิงต่าง ๆ  ในละแวกบางเขน ไม่ว่าจะเป็น “ศูนย์พักพิงรร.ไทยนิยมสงเคราะห์” “ศูนย์พักพิงมหาวิทยาลัยสยามบริหารธุรกิจ (SBAC)” หรือ“ศูนย์พักพิงมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร”  ซึ่งในระหว่างที่ให้สัมภาษณ์ พระมหานิรุตต์ก็ได้โทรศัพท์ติดต่อกับอาสาสมัคร ทหาร และเครือข่ายที่มีความใกล้ชิดกับวัด เพื่อระดมนำกระสอบทรายเข้ามาป้องกันส่วนของครัวจิตอาสา ไม่ให้ถูกน้ำท่วม

“หลังจากนี้ก็จะก่อกระสอบทรายอีกสักเมตรครึ่ง แล้วเอาผ้าใบคลุมอีกชั้นหนึ่ง ก็น่าจะพอป้องกันได้บ้าง เพราะวัดเป็นที่สูง น้ำคงไม่สูงมากขนาดนั้น และเรายังพอหวังลึก ๆ ว่าหากน้ำเข้ามามากจริง ก็จะปล่อยให้ท่วมสักหน่อย แล้วส่วนที่เหลือ ก็อาจจะระบายน้ำให้ลงไปในอุโมงค์บางเขน ที่ปิดการใช้งานอยู่ขณะนี้ได้” พระมหานิรุตต์กล่าว

พันธกิจสำคัญป้องกัน"วัดพระศรีมหาธาตุ" น้ำจากฝั่งฌาปนสถานจ่อเข้าท่วมวัดพระศรีฯ

ส่วนจะนำไปอาหารไปแจกจ่ายต่ออย่างไรนั้น พระมหานิรุตต์กล่าวตอบว่าได้เตรียมกระสอบทรายเพื่อทำเป็นทางเท้า และเตรียมเรือไว้ส่วนหนึ่งแล้ว เพราะทุกคนที่นี่ตั้งปณิธานร่วมกันไว้ว่า แม้วัดจะถูกน้ำท่วมลง แต่ครัวต้องทำหน้าที่ผลิตข้าวกล่องต่อไปให้ได้

ขณะที่ “สมศรี บุญโถ” อาสาสมัครที่มาทำผัดซีอิ๊วใส่กล่อง บอกว่าดูวี่แววแล้ว ยังไงวัดพระศรีก็คงอยู่รอดจากการถูกน้ำท่วมได้อีกไม่กี่วัน เนื่องจากระดับน้ำที่ล้นออกมาจากคลองบางบัวนั้นเยอะขึ้นมากกว่าปกติ สมศรีชี้ให้ไปดูสะพานข้ามคูน้ำเล็กจากฝั่งเมรุเผาศพ ที่ทำให้เห็นว่ายังไงน้ำก็ต้องข้ามมาเยือนฝั่งนี้อย่างแน่นอน เนื่องจาก ห่างจากคันกั้นประมาณ 5 ซม.เท่านั้น ตรงกันข้ามกับน้ำจากฝั่งถ.พหลโยธิน หน้าวัดที่ยังไหลเข้ามาในฝั่งฌาปนสถานอย่างไม่มีที่ท่าว่าจะหยุด

แม้ว่าสองสามวันที่ผ่านมา วัตถุดิบจะเข้ามาที่วัดได้ยากลำบากขึ้น แต่อาสาสมัครก็ยังเข้ามาทำกับข้าวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาทุกคน และคงจะทำหน้าที่แม่ครัวต่อไป จนไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเข้าใจดีว่าการเป็นผู้ประสบภัยนั้น ยากลำบากมากเพียงใดกว่าจะได้อาหารและเครื่องดื่มกินสักมื้อหนึ่ง

“หวังว่าน้ำจะรีบผ่านมา แล้วก็จะรีบไป เราจะได้เริ่มต้นฟื้นฟูชุมชนและฟื้นฟูบ้านเราได้สักที” สมศรีกล่าวทิ้งท้าย

พันธกิจสำคัญป้องกัน"วัดพระศรีมหาธาตุ" บ่อน้ำติดกับชุมชน "สุขสันต์พัฒนา" ใกล้วัดพระศรีฯปริมาณน้ำเต็มจนใกล้ล้น