posttoday

เมื่อศูนย์แก้น้ำถูกน้ำ"โจมตี"

26 ตุลาคม 2554

คงได้แต่รอดูต่อไปว่า ศปภ.จะทนต่อสภาพน้ำที่กระชับพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆ ได้อีกมากน้อยแค่ไหน หรือจะย้ายไปยังสถานที่แห่งอื่น

คงได้แต่รอดูต่อไปว่า ศปภ.จะทนต่อสภาพน้ำที่กระชับพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆ ได้อีกมากน้อยแค่ไหน  หรือจะย้ายไปยังสถานที่แห่งอื่น

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ยังกัดฟันปักหลักรักษาฐานที่มั่น ณ อาคารสนามบินดอนเมืองเป็นศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) ไม่ย้ายไปไหน แม้จะถูกน้ำไล่กระชับพื้นที่จนถนนวิภาดีรังสิตฝั่งขาออกตรงข้ามกับสนามบินดอนเมืองตลอดแนวยาวแปรสภาพเป็นคลองขนาดย่อม

ส่งผลให้ บรรยากาศ ศปภ. ตลอดทั้งวันดูจะเหงียบเหงา ต่างจากไม่กี่วันก่อนหน้าที่พลุกพล่านไปด้วยบรรดาเจ้าหน้าที่หน่วยราชการและเอกชน ที่มาเปิดหน่วยบริการ คอยติดต่อประสานงานช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย รวมถึงบรรดาอาสาสมัครที่หลั่งไหลจากทุกสารทิศมาร่วมแพ็คของลำเลียงของ กันอย่างมืดฟ้ามัวดิน

วันนี้หลายหน่วย หลายส่วน เริ่มเคลื่อนตัวขยับออกไปตั้งหลักพื้นที่แห่งอื่น หลังจาก ศปภ.ประเมินสถานการณ์ไม่อาจไว้วางใจน้ำที่ยังเอ่อทะลักจากประตูน้ำพระอินทร์ และ ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ​จนต้องย้ายศูนย์รับบริจาคสิ่งของไปที่ สนามศุภชลาศัย

เมื่อศูนย์แก้น้ำถูกน้ำ"โจมตี"

 

พื้นที่ด้านล่างชั้น จี อาคารผู้โดยสารที่เคยคราคร่ำไปด้วยบรรดาอาสาสมัครหลายพันคนต่อวันที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาคอยมาแพ็คของ ขนของที่เห็นกันจนชินตาทุกวัน จึงหายไปเหลือทิ้งไว้แต่พื้นที่ว่างเปล่าที่ยังมีร่องรอยสิ่งของตกค้างเล็กๆน้อยๆ รอการขนย้าย

บรรดารถบรรทุกที่เคยมาจอดเรียงรายรอบรรทุกของส่งไปตามจุดประสบภัยต่างๆ หายไปเหลือแต่พื้นที่จอดรถว่างเปล่า เช่นเดียวกับซุ้มอาหาร เครื่องดื่ม ด้านหน้าอาคาร ที่เคยเปิดให้บริการแก่บรรดาอาสาสมัครก็หายไปพร้อมกัน

ถัดขึ้นมาชั้น 1 ไล่มาตั้งแต่บริเวณฝั่งของมูลนิธิกระจกเงา วันนี้ดูโหรงเหรงไปถนัดตาจากที่เคยมีอาสามัครมาเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานอพยพ เดินกันขวักไขว่ บางส่วนนั่งทำเสื้อชูชีพ แต่วันนี้เกือบจะกลายเป็นที่พื้นที่ล้าง

สมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานมูลนิธิกระจกเงา ยอมรับว่า ด้วยสภาพการจราจรที่ยากต่อการไปไหนมาไหน ทำให้ต้องตัดสินใจย้ายฐานที่มั่นไปตึกเอสซีบีตั้งแต่เมื่อวาน แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเรียกทีมงานทั้งหมดกลับมาประจำที่ ดอนเมืองเช่นเดิม

ถัดมาที่บู๊ทของทรูวิชั่น ที่เดิมเคยต้ังจอโทรทัศน์รายงานสถานการณ์ข่าว วันนี้้ต้องพักวิกเก็บจอไปให้บริการที่ศูนย์พักพิงแห่งอื่น เหลือทิ้งไว้แต่จุดบริการเครื่องดื่มของทรู ที่เสริฟ น้ำส้ม กาแฟเย็น ชาเย็น ฯลฯ ที่กลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญของคนที่ ศปภ. เวลานี้  และเหลือเฉพาะเจ้าหน้าที่บางส่วนไว้ติดต่อประสานงาน

ส่วนหน่วยงานราชการที่เคยเปิดโต๊ะรับเรื่องประสานงานต่างๆ วันนี้ ดูบางตาเป็นพิเศษ บางหน่วยงานจากที่เคยนั่งกันแน่นขนัดเวลานี้เหลือบางจุดเหลืออยู่เพียงแค่คนสองคนคอยประสานงาน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ศูนย์ศปภ.แห่งนี้ดูเงียบเหงาไปแบบทันทีทันใด เพราะสภาพการจราจรที่ไม่เส้นทางปกติถูกตัดขาด ทั้ง รถตู้ รถเมล์ ไปจนถึงรถยนต์ส่วนตัวไม่สามารถสัญจรได้ตามปกติ แท็กซี่หลายคันปฏิเสธที่จะไปเสี่ยงกับสภาพน้ำท่วม  เส้นทางมาศปภ.เวลานี้จึงต้องพึ่งพาโทลล์เวย์เป็นทางผ่านตัดลงภายในสนามบินดอนเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำที่ท่วมตลอดแนววิภาวดีไล่มาตั้งแต่เลยแยกหลักสี่ไปเล็กน้อย 

ทำให้บางคนที่ต้องเข้ามาทำงานใน ศปภ. ต้องลงเดินเท้าเกือบ​ 3 กิโลเมตร ลัดเลาะจากฝั่งหน้าเจ๊เล้งเข้ามาตามคาร์โก ที่เวลานี้ยังเป็นพื้นที่แห้ง บางคนต้องยอมตัดใจจ่ายค่าวินมอเตอร์ไซค์ที่มาปักหลักให้บริการในบริเวณที่น้ำยังท่วมไม่ถึงด้วยราคาที่ดุเดือด

เมื่อศูนย์แก้น้ำถูกน้ำ"โจมตี"

สำหรับเจ้าหน้าที่​ซึ่งต้องมาทำงาน ณ ศปภ. ส่วนหนึ่งจะมีรถรับมาจากหน่วยงานต้นสังกัดในช่วงเช้า มาส่งที่ ศปภ. แต่ช่วงเย็นต้องกลับเอง ทำให้เป็นปัญหาที่จะต้องติดรถขสมก. ที่มาให้บริการเฉพาะกิจ หรือ รถทหาร รถเจ้าหน้าที่ออกไปนอกศปภ.

ขณะที่ ผู้บริหารระดับสูงของ ศปภ. สส. ทีมงาน ไปจนถึง กุนซือจากบ้านเลขที่ 111 วันนี้ดูจะไม่เห็นแวะเวียนมายัง ศปภ. ตามปกติ การแถลงประจำวันที่เคยแถลง เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ เวลานี้ ช่วงนี้ก็ดูจะลดจำนวนครั้งลงไปเหลือเพียงครั้งสองครั้ง

คงได้แต่รอดูต่อไปว่า ศปภ.จะทนต่อสภาพน้ำที่กระชับพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆ ได้อีกมากน้อยแค่ไหน  หรือจะย้ายไปยังสถานที่แห่งอื่นตามแผนบี แผนซีเมื่อไหร่