posttoday

"ฐานิสร์"เทียนทองไม่ใช่มาเฟีย

02 ตุลาคม 2554

สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานิสร์ เทียนทอง" หลานชายนักเลงวังน้ำเย็น "เสนาะ" กับเก้าอี้รมช.มหาดไทยในรัฐบาลยิ่งลักษณ์

สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานิสร์ เทียนทอง" หลานชายนักเลงวังน้ำเย็น "เสนาะ" กับเก้าอี้รมช.มหาดไทยในรัฐบาลยิ่งลักษณ์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

หากพูดถึงตระกูลการเมือง คงไม่มีใครไม่รู้จักตระกูล “เทียนทอง” เพราะไม่เคยหายไปจากการเมืองไทย แม้จะมีช่วงขาลงบ้าง แต่ปัจจุปันตระกูลเทียนทองกลับมาผงาดอีกครั้ง และที่สำคัญ สภาชุดนี้มีสกุลเทียนทองถึง 5 คนที่ได้เป็น สส.

เริ่มที่ผู้นำกลุ่มต้นตำรับนักเลงวังน้ำเย็นอย่าง “เสนาะ เทียนทอง” เป็น สส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย สรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว สุรชาติ เทียนทอง สส.กทม. ทั้งสองคนเป็นลูกชายเสนาะเอง ขณะเดียวกันยังมีหลานเสนาะ 2 คนที่ได้ สส.สระแก้ว คือ ตรีนุช และ ฐานิสร์ เทียนทอง

ทั้งนี้ 5 คนในตระกูลเทียนทอง “ฐานิสร์” อยู่ในฐานะเด่นที่สุดในการสร้างตระกูลเทียนทองให้ อยู่ในวงการเมืองไทย เนื่องจากเขาได้เป็นถึง รมช.มหาดไทย

"ฐานิสร์"เทียนทองไม่ใช่มาเฟีย

ด้วยบุคลิกเคร่งขรึม ทำให้คนทั่วไปไม่รู้จัก “ฐานิสร์” เท่าที่ควร แต่เขาได้เป็น สส.มาถึง 16 ปีแล้ว แม้หลายคนมองว่าเขาจะเป็นแค่ “นอมินี” คนหนึ่งของ “เสนาะ” แต่ ฐานิสร์ ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น

“ผมเป็นตัวแทนของเทียนทองจริงครับ เพราะยังไงผมก็สลัดนามสกุลเทียนทองออกไปไม่ได้ และคงด้วยความอาวุโสสูงสุดรองจากป๋าเหนาะ ผมก็เลยได้รับเลือกให้เป็น รมช.มหาดไทย” ฐานิสร์ พูดอมยิ้มตามสไตล์คนขรึม

ก่อนจะพูดต่ออีกว่า “เทียนทอง” เป็นแค่สาเหตุเล็กๆ สาเหตุหนึ่งเท่านั้น เพราะตัวเขาเองเป็น สส.สระแก้ว มานานถึง 5 สมัย นับรวมแล้วก็มากถึง 16 ปี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจจากพรรคให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีบวกกับการเป็นที่ปรึกษา “ป๋าเหนาะ” ตั้งแต่ป๋าเป็น มท.1 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ และยังเป็น ที่ปรึกษาของ สรอรรถ กลิ่นประทุม ที่เคยเป็น มท.2 เมื่อครั้งรัฐบาล “ทักษิณ” ทำให้เขาได้กลับมาเยือนถิ่นเก่าอีกครั้ง

นอกจากนั้น เขายัง เคยเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ สมัย สุขวิช รังสิตพล และเป็นที่ปรึกษาของ “สุวิทย์ คุณกิตติ” เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล “ทักษิณ” ด้วย

ฐานิสร์ เล่าย้อนอดีตไปเมื่อตอน สมัยเด็กๆ ที่ “บ้านใหญ่” ของตระกูลเทียนทอง มักจะเปิดต้อนรับข้าราชการใน จ.สระแก้ว เข้าไปรับประทานอาหารเย็นด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ ไม่เว้นแต่ละวัน ด้วยนิสัยของ “ป๋าเหนาะ” และ “พิเชษฐ์ เทียนทอง” ซึ่งเป็นบิดาของเขา ที่มักจะชอบพบปะสังสรรค์กับข้าราชการประจำ ทำให้เด็กๆ อย่างเขาคอยตาลุกวาวอยู่ทุกครั้งที่ประเด็นปัญหาของพี่น้องประชาชนถูกหยิบยกเอามาพูดถึง และแสดงออกถึงอุปนิสัยใจคอของข้าราชการแต่ละคน จนเขาบอกว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เข้าใจการทำงานภายใต้ “ระบบราชการ” เป็นอย่างดี

“จะว่าเป็นระบบมาเฟียอุปถัมภ์ก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะการร่วมรับประทานอาหารกันมันก็เหมือน พี่น้อง คอยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันมากกว่า และผมมองว่าเป็นความพยายามของตระกูลเทียนทองในการทำความเข้าใจกับปัญหาในพื้นที่ และรับทราบความต้องการของข้าราชการประจำ มากกว่าที่จะไปครอบงำอะไรใครได้” ฐานิสร์ เล่าให้ฟัง

แต่ก็ไม่วายได้ยินเสียงลือจากรอบๆ บ้านและจากสังคมภายนอกว่า “เทียนทอง” เป็นตระกูล “มาเฟีย” หนึ่งในหลายตระกูลชื่อดังในแวดวงการเมืองที่คอยครอบงำและคอยชักใยหลายรัฐบาลมาตั้งแต่เขาเด็กๆ จนเขาก็อดคิดตามไม่ได้เหมือนกันว่า “เทียนทอง” ที่ห้อยท้ายหลังชื่อเขานั้นเป็นมาเฟียจริงหรือไม่

วิธีพิสูจน์ของ ฐานิสร์ ก็คือไปคลุกคลีกับการเมืองจริงๆ โดยเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มลง “ผู้แทน” ของ จ.สระแก้ว จนในที่สุดเขาก็ได้รับเลือกตั้งครั้งแรกตั้งแต่อายุ 26 ปี ในสังกัดพรรคความหวังใหม่ แล้วก็ได้พบว่าสิ่งที่คิดว่าเป็น “มาเฟียภูธร” นั้น แท้จริงแล้วก็คือการเป็น “ผู้รับใช้ ประชาชน” คนหนึ่งเท่านั้น เพราะถ้าวันใดประชาชนไม่รัก ไม่ศรัทธา ก็ไม่มีใครเลือกเขาอีกต่อไป เช่นเดียวกับตระกูลเทียนทองเอง หากไม่ลงพื้นที่พบปะกับพี่น้องประชาชนมาตลอด ก็คงไม่ได้รับความไว้วางใจให้เป็น สส. มาโดยตลอด

“แม้ตระกูลเทียนทองจะมีนักการเมืองหลายคน แต่จริงๆ แล้วท่านเสนาะก็ไม่ได้บังคับว่าทุกคนต้องเล่นการเมือง บางคนอยากจะทำธุรกิจ อยากทำอย่างอื่น ท่านก็ปล่อยให้ทำ ซึ่งตอนที่ผมเลือกจะลง สส.นั้น ก็ไม่ได้ชอบหรือติดใจการเมืองอะไรมากมาย แต่เรารู้สึกคุ้นเคยกับการเมืองมากกว่า เพราะช่วงที่ท่านเสนาะไปมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ก็ได้รับมอบหมายให้ไปลงพื้นที่แทน ให้ไปตรวจเยี่ยมทุกข์สุขของประชาชนแทน ทำไปทำมาก็มีคนเข้ามาขอความช่วยเหลือ ขอการสนับสนุนต่างๆ จนเกิดเป็นความผูกพัน และคิดว่าการเป็น สส.น่าจะสามารถช่วยเหลือประชาชน ได้มากกว่านี้” ฐานิสร์ ย้อนอดีตไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว

และช่วง 16 ปีที่ผ่านมานี้เอง ก็เป็นช่วงที่ ฐานิสร์ มองว่าการเมืองไร้เสถียรภาพ และ พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือตลอดเวลา เมื่อ “ความหวังใหม่” ถูกนำไปรวมเข้ากับ “ไทยรักไทย” และตั้งให้ “เสนาะ” นั่งเป็นเลขาธิการพรรค วันดีคืนดี “ป๋าเหนาะ” เกิด ขัดแย้งกับ “ทักษิณ” และหอบเอาตระกูล เทียนทองเพื่อไปเดินหน้าตั้งพรรคใหม่อย่าง “พรรคประชาราช” และให้ ฐานิสร์ นั่งเป็นเลขาฯ พรรค จนในที่สุดก็มีการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่ทำให้การเมืองเปลี่ยนจาก หน้ามือเป็นหลังมืออีกครั้ง และในที่สุดป๋าเหนาะก็กลับมาคืนดีกับ “ทักษิณ” ในนาม “พรรคเพื่อไทย”

ฐานิสร์ ยอมรับว่าภาพของนักการเมืองถูกมองในแง่ลบมาตลอดว่าเกี่ยวกับผลประโยชน์มหาศาลบ้าง คอร์รัปชันบ้าง แต่เขาอยากให้มองนักการเมืองในฐานะอาชีพหนึ่งที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ซึ่งป๋าเหนาะก็สอนเขาเสมอว่า

“เป็นนักการเมืองมีโอกาสรับใช้ประชาชนมากที่สุด เมื่อตั้งใจมาทำงานการเมือง และประชาชนเลือกเข้ามาแล้ว อย่าปล่อยให้ประชาชนที่เลือกมาผิดหวัง”

อนาคตการเมืองยังคาดหวังไม่ได้?

“หากมองกันจริงๆ แล้ว งานกระทรวงมหาดไทยก็คืองานประจำ หรืองาน ‘รูทีน’ ธรรมดา เพราะคำขวัญว่า ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ นั้นถือว่ากว้างมาก ทำเป็นลักษณะรูทีนเฉยๆ จะอ้างว่าได้บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ก็สามารถอ้างได้ทั้งนั้น” ฐานิสร์ พูดถึงงานของกระทรวงมหาดไทย

เมื่อลองถามถึงวิสัยทัศน์ของเขาในการจัดการปัญหาน้ำท่วมนั้น ฐานิสร์ก็ตอบขึ้นมาทันทีว่า ปภ.ในการควบคุมของเขา จะต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้นและการเป็น “กรม” ที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย อาจล่าช้าในการจัดการปัญหาให้กับประชาชนมากไป เพราะขั้นตอนภาพรวม จะทำอะไรสักอย่างก็ต้องรอปลัดกระทรวงฯ พิจารณา และส่งขึ้นไปตามขั้นตอน เทียบกับขั้นตอนการจัดการของเอกชนและภาคประชาชนที่รวดเร็วและคล่องตัวกว่าเยอะแล้ว โครงสร้างของ ปภ.ยังถือว่าเทอะทะอยู่

“ผมกำลังดูโครงสร้างของ ปภ.อยู่ว่าจะทำงานเร็วขึ้นมั้ย หากให้ ปภ.ไปขึ้นกับสำนักนายกฯ แล้วทำงานคล่องตัวมากขึ้น ในรูปแบบขององค์กรอิสระ จะสามารถแก้ปัญหาประชาชนได้รวดเร็วขึ้น และยังขยายขอบเขตงานไปถึงการเตรียมความพร้อมประเมินสถานการณ์ได้เร็วขึ้นอีกด้วย” ฐานิสร์ กล่าว

ส่วนกรมการพัฒนาชุมชน อีกกรมหนึ่งที่เขาดูแลนั้น ฐานิสร์บอกว่า ขณะนี้กำลังร่างโครงการและนโยบาย เพื่อให้โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) กลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม และสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์โอท็อป ให้มากกว่างานฝีมือของคนในชนบทเท่านั้น ด้วยการสร้างศูนย์กระจายสินค้าให้มากขึ้น ไม่ใช่ซุกอยู่หลังศาลากลางหรือตลาดเทศบาลเหมือนในวันนี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกรมไหน ฐานิสร์บอกว่า ล้วนต้องใช้เวลาไม่น้อย รวมถึงต้องเผชิญกับแรงต้าน ทั้งจากที่มองเห็นและมองไม่เห็น แต่เขาก็บอกสั้นๆ ว่า “สนุกดี”

ด้วยวัย 42 ปีเศษ วันนี้อาวุโสของฐานิสร์ยังคงห่างจากยงยุทธมากถึง 27 ปี และห่างจากชูชาติ มท.2 มากถึง 23 ปี ซึ่งอายุของมท.3 นั้นเรียกได้ว่าเป็นลูกชายของ รัฐมนตรีอีก 2 คนได้ ซึ่งก็หมายความว่าเส้นทางสายการเมืองของ “ฐานิสร์” ยังคงเดินได้อีกไกล และเขาก็บอกว่าเริ่มติดใจในบทบาทของฝ่ายบริหารแล้ว เพราะสามารถให้บริการประชาชนได้รวดเร็วและเห็นผลทันใจมากกว่า แต่เมื่อถามถึงอนาคตทางการเมืองว่าจะเดินไปยังไงต่อ และจะทำงานการเมืองไปอีกนานหรือไม่นั้น เขากลับบอกว่า 

“คงต้องดูสภาพการเมืองก่อนครับ ว่าเอื้อจะให้เราทำงานไหม ถ้ายังพลิกผันหรือไม่มีเสถียรภาพอยู่ เราก็เหนื่อยและวางแผนชีวิตได้ยากเหมือนกัน” นักการเมืองหนุ่มกล่าวทิ้งท้ายถึงอนาคตตัวเอง