posttoday

ฮือไล่"คณบดีมช."สะท้อนคุณภาพผู้บริหาร

27 กรกฎาคม 2554

ผ่าปมนักศึกษามช.ฮือไล่ 2 คณบดีคณะศึกษาศาสตร์-คณะสื่อสารมวลชนบทสะท้อนคุณภาพผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ผ่าปมนักศึกษามช.ฮือไล่ 2 คณบดีคณะศึกษาศาสตร์-คณะสื่อสารมวลชนบทสะท้อนคุณภาพผู้บริหารมหาวิทยาลัย

โดย...ทีมข่าวการศึกษา

ปรากฎการณ์การการเคลื่อนไหวของนักศึกษา คณาจารย์ และศิษย์เก่าในการขับไล่ผู้บริหารคณะ 2 คณะได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์ และคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในเวลาที่ไล่เรี่ยกัน นับเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

เพราะนอกจาก เหตุผลที่อ้างว่าผู้บริหารขาดธรรมาภิบาล และใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบแล้ว ยังผูกโยงไปถึง “ระบบประเมินคุณภาพการศึกษา” ของมหาวิทยาลัย

ฮือไล่"คณบดีมช."สะท้อนคุณภาพผู้บริหาร

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้รับการจัดอันดับให้จาก QS Asian University Rankings 2011 ให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 67 ของเอเชีย และมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศ ขณะที่คณะศึกษาศาสตร์ และคณะการสื่อสารมวลชนก็ได้ชื่อว่าเป็นคณะที่ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ โดยมีอายุยาวนานมาพร้อม ๆ กับการกำเนิดมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทั้งสองคณะอาจจะมีบ้างที่มีความขัดแย้งภายตามแบบฉบับของ “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” ที่ต้องต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของโลก

ทว่า ก็ไม่เคยมีความขัดแย้งที่รุนแรงขนาดนี้

สิ่งที่สอดคล้องกันอย่างหนึ่งระหว่าง คณะศึกษาศาสตร์ และคณะการสื่อสารมวลชนก็คือ ปฏิกิริยาของ รศ.ดร.นิ่มอนงค์ งามประภาสม คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และรศ.ดร.กุลิสรา กฤตวรกาญจน์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชนก็คือ ทั้งสองคนต่างก็ออกมาตอบโต้ฝ่ายที่เคลื่อนไหวขับไล่ทันทีว่า “การทำงานที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียผลประโยชน์” และการเคลื่อนไหวทุกอย่าง “มีผู้อยู่เบื้องหลังอยากเป็นคณบดีแทน” 

แต่ข้ออ้างเหล่านี้ก็ไม่ได้สั่นคลอนขบวนการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด คณะศึกษาศาสตร์นั้นเริ่มเคลื่อนไหวครั้งแรกตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว โดยคณาจารย์ที่ทำหน้าที่บริหารในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารหลักสูตรฯ หัวหน้าสายวิชาฯ ประธานสาขาวิชาระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 25 คน จากทั้งหมด 33 คนตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งด้วยความไม่พอใจประสิทธิภาพในการบริหารงานของคณะ และมีพฤติกรรมในลักษณะแสวงหาผลประโยชน์

พร้อมทั้งมีแผนจะยุบสาขาวิชาจาก 15 สาขาวิชา เหลือเพียง 4 สาขาวิชา ขณะเดียวกันตัวหลักสูตร และการประเมินคุณภาพคณะ และการประเมินคุณภาพหลักสูตรก็มีปัญหา ทำให้นักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์อย่างใหญ่โต ด้วยการจำลอง“งานศพ”ให้กับคณบดีอย่างใหญ่โต พร้อมกับแห่โลงศพไปยังสำนักงานอธิการบดี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา

จนในที่สุดสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีน.พ.เกษม วัฒนชัย เป็นนายกสภาฯนั้นก็มีมติให้ถอดถอน รศ.ดร.นิ่มอนงค์ออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้ถอดถอนคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ออกจากตำแหน่ง หลังพิจารณาว่าบกพร่องต่อหน้าที่และหย่อนความสามารถ

ฮือไล่"คณบดีมช."สะท้อนคุณภาพผู้บริหาร

ขณะที่คณะการสื่อสารมวลชนเอง ก็ไม่ได้แตกต่างกัน เพราะคณาจารย์ภายในคณะจำนวน 8 คน จากทั้งหมด 16 คน ก็ทำหนังสือให้มหาวิทยาลัยดำเนินการสอบสวน รศ.ดร.กุลิสราเช่นเดียวกันในข้อหาร้ายแรง อาทิเช่น การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม จนทำให้บุคลากรลาออกจำนวนถึง 16 คน  และตามมาด้วยการลาออกของหัวหน้าแขนงวิชา 5 แขนงวิชา  นอกจากนี้ยังมีประเด็นการบริหารงานโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้การร้องเรียนขยายวงกว้างขึ้น มีบุคลากร ศิษย์เก่า นักศึกษาปัจจุบัน และคณาจารย์คนอื่น ออกมาส่งเอกสารให้คณะกรรมการสอบสวนของมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม จนนำมาซึ่งการแต่งชุดดำประท้วงผู้บริหาร ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

แต่จนแล้วจนรอดผ่านมา 7 เดือน ขั้นตอนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก็ยังไปไม่ถึงไหน อีกทั้งยังมีผลการประเมินคุณภาพออกมาอย่างไม่เป็นทางการว่า “ประเมินคุณภาพการศึกษาไม่ผ่าน” มาเป็นประเด็นเพิ่มเติม นำไปสู่การออกมาใส่ชุดดำออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณบดีลาออกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ถึงขั้นที่ “ว่าที่บัณฑิต”  นั้น ร่วมกันเข้าชื่อไม่รับปริญญาในเดือนมกราคมนี้ทั้งรุ่น หากว่ารศ.ดร.กุลิสรายังคงเป็นผู้ลงนามในใบปริญญาให้ และยังคงนั่งเก้าอี้เป็นคณบดีอยู่

เดือดร้อนถึง ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องออกมาชี้แจงว่า ข้อเรียกร้องของทั้ง 2 คณะไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองภายใน เพราะทั้งรศ.ดร.นิ่มอนงค์ และรศ.ดร.กุลิสราเองถูกเรียกร้องหลังจากบริหารงานมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว จึงน่าจะมีปัญหาในแง่การบริหารงานจริง ส่วนกระบวนการสอบสวนรศ.ดร.กุลิสรานั้นจะเร่งให้แล้วเสร็จในอีกไม่กี่วันนี้ และจะถูกถอดถอนเหมือนคณบดีคณะศึกษาศาสตร์หรือไม่ ต้องรอให้สภามหาวิทยาลัยตัดสินในวันที่ 20 สิงหาคม รวมถึงขอให้ยุติการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ เพราะทำให้เสียภาพพจน์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงจะยกเลิกกระบวนการสอบสวนทั้งหมด หากยังเคลื่อนไหว “ข้างถนน” ในลักษณะนี้อีก

ฉะนั้น คำถามที่ต้องสะท้อนกลับไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)  ก็คือ เพราะเหตุใดกระบวนการตรวจสอบข้อร้องเรียนของมหาวิทยาลัยถึงได้ล่าช้าจนต้องออกมาเคลื่อนไหวกันนอกคณะ ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์

ฮือไล่"คณบดีมช."สะท้อนคุณภาพผู้บริหาร

รวมไปถึงเพราะเหตุใดเมื่อมีหลักฐานเชิงประจักษ์ผ่านการชี้แจง “ผลการประเมินคุณภาพ” ที่ถูกชี้แจงออกจากปากคณะกรรมการประเมินคุณภาพ ออกมาแล้วว่า การทำงานของผู้บริหารของทั้ง 2 คณะ นั้นไม่มีจุดแข็งด้านการบริหาร และอาจทำให้ไม่ผ่านการประเมินคุณภาพ แต่มหาวิทยาลัยก็ยังคงปล่อยให้ทำงานต่อไป โดยไม่มีกระบวนการเข้าไปจัดการ มีแต่น้ำเสียงของผู้บริหารให้ “ประนีประนอม” เพื่อไม่ให้เสียชื่อมหาวิทยาลัยเท่านั้น อีกทั้งยังสำทับด้วยว่าหากออกมาเคลื่อนไหวอีก จะยุติกระบวนการสอบสวนทั้งหมด

ล่าสุด ดูเหมือนว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าว จะลุกลามเป็นโดมิโน่ไปยังคณะและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ หลังจากที่คณะศึกษาศาสตร์เคลื่อนไหวเพียง 3 วัน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวในทำนองเดียวกัน ในการถอดถอนคณบดีคณะครุศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการ

เชื่อว่าคงมีอีกหลายสถาบันการศึกษาที่มีปัญหาในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งแม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการสอบสวน

และสกอ.เองก็ต้องยอมรับด้วยว่าระบบการร้องเรียน ตรวจสอบ และการประเมินคุณภาพผู้บริหารคณะนั้นมีปัญหาจริง ทำให้ปัญหาทั้งหลายถูกซุกอยู่ใต้พรมมานาน

หากไม่มีใครเคลื่อนไหว แวดวงอุดมศึกษาก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเจอเรื่องพวกนี้แดงขึ้นมาอีกต่อไปเรื่อย ๆ

คงถึงเวลาต้องนำบทเรียนเพื่อปรับกระบวนการใหม่ เพราะคงไม่มีผู้ปกครองที่ไหน อยากให้บุตรหลานเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาที่มีปัญหาเรื่องการประเมินคุณภาพ หากยังคง “กลัวเสียหน้า” กันเหมือนวันนี้ ก็คงมีการเดินขบวนให้เห็นอีกเรื่อย ๆ

สำคัญแต่ว่าสกอ.จะเริ่มรู้สึกตัวหรือยัง ?