posttoday

โรดแมปสมานฉันท์

29 มิถุนายน 2554

สัมภาษณ์พิเศษ "สมชาย หอมละออ" หนึ่งในคณะกรรมการ คอป. กับมุมมองแนวทางปรองดองหลังการเลือกตั้ง

สัมภาษณ์พิเศษ "สมชาย หอมละออ" หนึ่งในคณะกรรมการ คอป. กับมุมมองแนวทางปรองดองหลังการเลือกตั้ง

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ประกาศตั้งแต่วันนำทัพเพื่อไทยลงทำศึกเลือกตั้ง “ดิฉันมาแก้ไขไม่ได้แก้แค้น”  ก่อนแพลมว่าจะนิรโทษกรรมถ้วนหน้า

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันจะสานต่อการทำงานคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ( คอป.)

พรรคการเมืองขนาดเอ็สเอ็มอี มองตรงกัน อยากเห็นความสงบสุขคืนประเทศชาติ ถึงขั้นไอเดียบรรเจิดคิดสร้างละครปรองดองคล้องใจไปถึงจุดเทียนสมานฉันท์

ดูเหมือนแต่ละพรรคการเมืองฟุ้งกระจายถึงการแสวงหาความปรองดอง เพียงแต่การกำหนดกระบวนการสู่เป้าหมายยังแตกต่างกัน 

คอป. ซี่งแม้จะถูกมองว่าเป็นการจัดตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ในช่วงการทำงานที่ผ่านมา มีเสียงตอบรับจากคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมให้ข้อมูล หรือแม้แต่แกนนำที่ขอความช่วยเหลือประกันตัวทางคดี  ที่สำคัญ คอป.  มีบุคลากรเกี่ยวข้องด้านกระบวนการยุติธรรม  นักสันติวิธีมากมาย  พวกเขามองปรากฎการณ์นักเลือกตั้งที่หยิบยกเรื่องการปรองดองออกมาชูโรงขณะนี้  ถ้าจะดำเนินการอย่างจริงจัง  ควรจะร่วมกันกำหนดเป็น”โรดแมปเพื่อการปรองดอง”

สมชาย หอมละออ  หนึ่งในคอป. บอกว่า การที่ทุกพรรคยกประเด็นปรองดองแห่งชาติขึ้นมาหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย เป็นเรื่องดีมากแสดงให้เห็นว่าเป็นการเรียกร้องของสังคมไทยให้เกิดคสามัคคี แน่นอนแต่ละพรรคมีจุดที่ต่างกันในรายละเอียด เช่น เสนอนิรโทษกรรม ขณะที่บางพรรคไม่เห็นด้วย 

โรดแมปสมานฉันท์ สมชาย

“ผมเห็นว่า การนิรโทษกรรมเป็นเพียงจุดหนึ่งของกระบวนการปรองดอง  ผมคิดว่าทุกพรรคควรหารือร่วมกันจะหาทางปรองดองหรือทางออกอย่างไร  ความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งทางการเมือง และพรรคการเมืองเป็นตัวแทนทางการเมืองของประชาชนกลุ่มต่างๆ  ถ้าคู่กรณีสามารถคุยกันได้แล้วหาหนทางสร้างปรองดองดีที่สุด ส่วนการคุยจะลำพังหรือคนกลางทำได้ทั้งสิ้น”

“เราไม่ได้ปฏิเสธนิรโทษกรรม แต่ไม่ใช่จู่ๆจะหยิบยกขึ้นมาโดยไม่ได้สนใจประเด็นอื่น การนิรโทษกรรมจะได้ผล ต่อเมื่อสังคมได้เรียนรู้ร่วมกันเสียก่อน  ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เหตุการณ์เสียชีวิต 91 ศพและบาดเจ็บ2,000 ราย มีสาเหตุมาอย่างไร และจะหาหนทางแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดในอนาคต”

ที่ผ่านมาเรานิรโทษกรรมเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเกือบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 16   6 ตุลา19  พฤษภาคม35  แต่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองก็ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก นั่นแสดงว่านิรโทษกรรมไม่ใช่การแก้ปัญหา ต้องมีวิธีการอื่นๆประกอบด้วย

สิ่งที่คอป.ดำเนินการมาตลอด เน้นกระบวนการ มีที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสร้างความปรองดองแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หรือการขัดแย้งทางสังคมโดยสันติวิธี  ฉะนั้นกระบวนการเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด ทำอย่างไรจึงให้เกิดกระบวนการที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งเข้ามามีส่วนร่วมและหาหนทางด้วยกันที่จะสร้างเรียกว่าโรดแมปก็ได้ที่จะนำไปสู่การปรองดอง  ซึ่งกระบวนการนั้น การนิรโทษกรรมอาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ด้วยก็ได้

โรดแมปตามที่สมชายวางแพลนไว้เป็นอย่างไร.....    

ประการแรก  มีความจริงร่วมกันก่อน  ปัจจุบันคู่ขัดแย้งมีความจริงคนละชุด แม้ที่ผ่านมามีการเปิดเผยข้อเท็จจริงมากขึ้นทำให้ความจริงนั้นชัดเจนขึ้นใกล้เคียงกันมากขึ้น  แต่ก็มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก

ประการที่สอง  ความยุติธรรมทั้งความยุติธรรมทางอาญา เช่นการดำเนินคดีกับบุคคลต่างๆในช่วงมีความรุนแรงโดยเฉพาะนปช.ถูกดำเนินคดีมาก ขณะที่ฝ่ายอื่นยังไม่ถูกดำเนินคดีเลย  นอกจากนั้นเป็นความยุติธรรมทางการเมืองอีก ยังไม่รวมความยุติธรรรมทางสังคมเศรษฐกิจที่ต้องแก้ไขระยะยาว  แต่ความยุติธรรทางการเมืองต้องมี การเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมกันทางการเมือง การยุบพรรค คิดว่าไม่ค่อยถูกต้องในกระบวนการสร้างความเป็นธรรมทางการเมือง

ประการสุดท้าย สังคมเปลี่ยนไปเยอะ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม  แต่โครงสร้างสังคม การเมืองเป็นแบบเดิมๆไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างแท้จริง  ผมอยากให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปทางการเมือง ปฏิรูปภาษีอากร กระจายอำนาจ  การมีส่วนร่วมประชาชนในกระบวนการปกครอง  ถ้าไม่ปฏิรูปจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง อาจกลายเป็นการปฏิวัติ ที่ถอนรากถอนโคน และทำให้สังคมไทยรุนแรงทางการเมืองอีก

พรรคการเมืองต่างๆต้องคิด เพราะนี่เป็นเงื่อนไขของการปรองดองอย่างถาวรยั่งยืน มิฉะนั้นการปรองดองโดยนิรโทษกรรมอย่างเดียวเป็นเรื่องฉาบฉวยมาก และในที่สุดเกิดความขัดแย้งต่อสู้เสียเลือดเสียเนื้อกันอีก

คนกลางเป็นอีกประเด็นที่มีความจำเป็น  เขาเชื่อว่า สังคมไทยยังมีคนกลางเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย รวมถึงกำหนดคณะกรรมการกลางมากำหนดนโยบายแห่งชาติเพื่อปกรองดองสามารถทำได้ 

“หลายประเทศขัดแย้งหนักกว่าเรา คนตายเป็นพันเป็นหมื่นในที่สุดเขาสร้างความปรองดองกันได้ ในประเทศไทย ความรุนแรงความสูญเสีย ที่ไม่น่าเกิดขึ้นแต่น่าเสียดายเกิดขึ้นแล้ว แต่ผมเห็นว่าประเทศเรายังมีโอกาสมากกว่าในหลายประเทศ”

อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งขึ้นอยู่กับการยอมรับสองฝ่ายระหว่างพรรคคู่ขัดแย้งที่เห็นอยู่ขณะนี้คือพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์   นอกจากนั้นมีกลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆที่เป็นคู่ขัดแย้งด้วย  บางคนพูดถึงขั้นกองทัพก็ส่วนหนึ่งที่อาจต้องมีอยู่ในกระบวนการนี้  เมื่อภาคประชาสังคมมีมากอาจมีส่วนร่วมสะท้อนความรู้สึกนึกคิดการเรียกร้องความต้องการเข้าสู่กระบวนการนี้ได้ด้วย

ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งสามารถมาร่วมกันได้ในกระบวนการปรองดอง  เช่น กำหนดให้แก้รัฐธรรมนูญจัดตั้งสภาแห่งการปรองดองขึ้นมาเพื่อกำหนดนโยบายการปรองดองอย่างเดียว  ไม่ได้กำหนดหน้าที่อยางอื่น  เหมือนกับที่ผ่านมาเราเคยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญอาจเป็นหนทางหนึ่ง แต่ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร และก็มีกติกาออกมา อย่างน้อยควรมีกฎหมายรองรับหรือเป็นไปได้ แก้รัฐธรรมนูญ และให้รองรับคณะกรรมการรชุดนี้ขึ้นมาเลยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา 3-4 เรื่อง ได้แก่ ความจริง ความยุติธรรม และการปฏิรูป

อย่างไรก็ตาม  สมชายย้ำ การนิรโทษกรรมน่าอยู่ลำดับท้าย คือต้องมีกระบวนการอย่างอื่นเสียก่อน เช่นคนทำความผิดก็ได้รู้ว่าตนเองผิด ความผิดไม่ได้หมายถึงความผิดในทางอาญาอย่างเดียว ความรับผิดทางการเมือง ความรับผิดในทางจริยธรรม รวมทั้งการเยียวยาบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทหารก็เสียชีวิต  ประชาชน ญาติพี่น้องก็มีความเข้าใจที่ต่างกันอยู่

“การปรองดองที่แท้จริงคือ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และสามารถมองเห็นอนาคตที่ดำเนินการจะไม่ให้เกิดความรุนแรงอีกในอนาคต บนพื้นฐานที่ประเทศไทยจะพัฒนาไปโดยเฉพาะการพัฒนาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ด้วย  ซึ่งไม่มีใครให้คำตอบได้ ทุกคนต้องร่วมกันค้นและร่วมกันหาคำตอบ เนื่องจากไม่มีสูตรสำเร็จ

จุดนี้เองอยากให้ทุกพรรคการเมืองชูนโยบายปรองดองแล้ว ถ้าต้องการตอบสนองความเรียกร้องประชาชนจริงๆ เพื่อสร้งความสงบสันติ ควรหันหน้าเข้าเจรจากันเพื่อกำหนดขั้นตอนต่างๆที่จะนำไปสู่การปรองดองแห่งชาติเพื่อให้เป็นวาระแห่งชาติ “  สมชาย กล่าวทิ้งท้าย

************************

บททดสอบแรก เจรจายอมรับตั้งรัฐบาล

ก่อนจะไปถึงโรดแมปปรองดอง  การยอมรับผลเลือกตั้งเปิดโอกาสให้พรรคใดจัดตั้งรัฐบาลน่าจะเป็นบททดสอบแรกการปรองดองจะสำเร็จหรือไม่ 

สมชาย บอกว่า  ประเด็นที่ยังขัดแย้งกันอยู่เลย กรณีพรรคที่ได้เสียงข้างมากควรได้หรือไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล  หรือควรเป็นพรรคคุมเสียงข้างมากในสภาควรจัดตั้งรัฐบาล  ถ้าไม่มานั่งคุยกันให้ได้ยุติตอนนี้ หลังเลือกตั้งเมื่อผลคะแนนออกมาแล้วมันลำบาก !

“แม้แต่ประเด็นนี้ก็ควรคุยกันเสียก่อน จะให้พรรคเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างมากในสภาคุมคะแนน หรือให้พรรคแรกจัดตั้งรัฐบาลก่อน เมื่อตั้งไม่ได้ให้พรรคที่สองจัดตั้ง  ต้องมีกระบวนการที่ยอมรับด้วยกัน  แม้ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตามสมควรแต่มีขั้นตอน รายละเอียด ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน  ของบรรดานักการเมืองต่างๆด้วย”

สมชายยังไม่เห็นปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้น มีแต่การพูดกันไปมาระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งถ้ามีการคุยกันก่อน ตกลงให้เป็นที่เข้าใจ น่าจะตัดไฟแต่ต้นลมก่อนความขัดแย้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง