posttoday

ธนาคารโลกหวั่นนโยบายหาเสียงกระตุ้นเงินเฟ้อ

08 มิถุนายน 2554

ธนาคารโลกหวั่นนโยบายหาเสียงกระตุ้นเงินเฟ้อ - กระทบ เศรษฐกิจในระยะยาว แนะกำหนดนโยบายเฉพาะกลุ่ม-รัดกุม

ธนาคารโลกหวั่นนโยบายหาเสียงกระตุ้นเงินเฟ้อ - กระทบ เศรษฐกิจในระยะยาว แนะกำหนดนโยบายเฉพาะกลุ่ม-รัดกุม

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การที่พรรคการเมืองหาเสียงด้วยนโยบายเพิ่มรายได้ และลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้เงิน และอาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่เชื่อว่าไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะได้เป็นรัฐบาล ก็คงจะควบคุมการใช้งบประมาณ เพราะประเทศไทยให้ความสำคัญกับการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะ เพราะหากรัฐบาลชุดใหม่สร้างปัญหาดังกล่าวก็จะส่งผลภาพลักษณ์ของรัฐบาล

 

ธนาคารโลกหวั่นนโยบายหาเสียงกระตุ้นเงินเฟ้อ นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชน ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เช่น กองทุนหมู่บ้านที่เน้นช่วยเหลือรากหญ้า เพื่อให้บรรลุผล เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดำเนินนโยบายดังกล่าว

ด้านนายเฟรดเดอร์ริโก้ จิล ซานเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย  กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยยังปรับตัวสูงขึ้นต่อ เนื่องจากรัฐบาลจะทยอยยกเลิกมาตรการควบคุมราคาสินค้าและเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งเชื่อว่าเงินเฟ้อในไทยไม่รุนแรงจนเกิดปัญหาวิกฤตด้านราคา เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาตรการควบคุมเงินเฟ้อได้

นอกจากนี้ ธนาคารโลก ยังคงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ร้อยละ 3.7 แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่าที่คาดไว้ แต่ในไตรมาส 2 ชะลอตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น ขณะที่ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น และเสถียรภาพทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกพร้อมปรับจีดีพีเพิ่ม หากปัจจัยเสี่ยงลดลง

นายฮานส์ ทิมเมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายทิศทางการพัฒนาของธนาคารโลก  กล่าวว่า การที่พรรคการเมืองหาเสียงด้วยการสัญญาว่าจะให้ และทุ่มเงินเพื่อหวังผลระยะสั้น ไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะแม้ปัจจุบันจะยังไม่มีปัญหาหนี้สาธารณะหรือวิกฤติทางการคลัง แต่ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตยั่งยืนต้องมีพื้นที่เหลือเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในอนาคต และสำรองไว้หากเกิดภาวะวิกฤติ ไม่ใช่ทำไปวัน ๆ จากการเลือกตั้งครั้งนี้  ดังนั้นควรที่จะนำบทเรียนในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา มาเรียนรู้ เพราะประเทศที่มีการดำเนินเศรษฐกิจมหภาคแบบรอบคอบ รัดกุม มีอัตราการขยายตัวสูง

ส่วนรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ฉบับเดือนมิถุนายน 2554 ที่ธนาคารโลกมีการเผยแพร่ในวันนี้ ธนาคารโลกคาดว่า จีดีพีของเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 3.2 ในปี 2554 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 ในปี 2555 โดยสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จะต้องเผชิญกับภาวะราคาน้ำมันและราคาอาหารแพงที่จะส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายฮานส์ กล่าวว่า การควบคุมราคาอาหารจะส่งผลเสีย และต้องมีการใช้เงินจำนวนมากในการอุดหนุนราคาอาหารในประเทศ ควรที่จะดำเนินนโยบายช่วยเหลือด้านอาหารเฉพาะกลุ่มคนยากจน  สร้างคลังอาหาร รวมทั้งอาจจะมีการห้ามการส่งออกอาหารในบางประเทศที่มีปริมาณอาหารไม่พียงพอ และไม่เป็นการบิดเบือนกลไกลด้านอาหาร  อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารโลกมีแนวโน้มที่ปรับลดลง ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อราคาอาหารในแต่ละประเทศด้วย

ขณะที่การเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คาดว่าจะปรับตัวช้าลงแต่ยังคงรักษาระดับที่สูง การขยายตัวของจีดีพีในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 8.5 โดยปัญหาเงินเฟ้อในภูมิภาคที่สูงถึงร้อยละ 5.3 ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นประเด็นท้าทาย โดยเฉพาะจีน และไทย ที่ผ่านพ้นวิกฤตการเงินไปแล้ว จึงต้องเร่งแก้ปัญหาในประเทศ ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างเข้มงวด เพื่อรับมือเงินเฟ้อ และจัดการกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูง เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน