posttoday

3 เงื่อนไขมาตุภูมิผสมพท.

08 มิถุนายน 2554

"พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน"อดีตประธาน คมช. ที่วันนี้สวมสูทปักชื่อหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "โพสต์ทูเดย์" ถึงทิศทางการเมืองของพรรค

"พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน"อดีตประธาน คมช. ที่วันนี้สวมสูทปักชื่อหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "โพสต์ทูเดย์" ถึงทิศทางการเมืองของพรรค

โดย...ทีมข่าวการเมือง

แม้จะเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก แต่ “พรรคมาตุภูมิ” ก็มีหัวเรือใหญ่ระดับอดีตผู้บัญชาการทหารบก แถมยังเป็นอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ทำการล้มระบอบทักษิณ จนสถานการณ์บานปลายนำมาสู่ความขัดแย้งของคนสีเสื้อ

วันนี้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. สวมสูทปักชื่อหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ลงเล่นการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเสียเอง สปอตไลต์จึงสาดส่องจังหวะก้าวทางการเมือง ท่ามกลางคำถามว่า หากวันดีคืนดีได้ร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะผลผลิตจากการยึดอำนาจทำให้เขาและพรรคเพื่อไทยอยู่ในสภาพไม่ต่างกับ “น้ำกับน้ำมัน”

@ท่าทีพรรคมาตุภูมิต่อการร่วมรัฐบาล

พรรคเรามีนโยบาย ประการหนึ่งการแก้ปัญหาสามจัหวัดขายแดนรภาคใต้   ประการที่สองทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์ประเทศตะวันออกกลางค่อนข้างสูง มีแนวความคิดว่าจะทำประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารโลก และส่งเข้าไปในพื้นที่ประเทศไทยที่ยังไม่ได้ส่ง อเมริกา ยุโปส่งแล้วมุ่งไปที่ตะวันออกกลาง สามารถส่งไปได้แน่นอนได้น้ำมันกลับมา  สามได้แรงงานกลับออกไป ประเทศตะวันออกกลางมีเงินให้มาลงทุนในประเทศไทย ให้ภาคใต้มีการลงทุนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ก็จะส่งผลให้การแก้ปัญหาความสงบดีขึ้นและนำนักธุรกิจไปลงทุนบ้านเขา  ซึ่งเราคุยเรื่องนโยบายถ้าพรรคอื่นรับได้โอเค

3 เงื่อนไขมาตุภูมิผสมพท.

@จุดยืนร่วมกับพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล

ขึ้นอยู่กับสามเรื่อง พรรคเพื่อไทยจะรับเราไหม สนใจเราไหม สองพรรคเพื่อไทยกับมาตุภูมินโยบายเรื่องกิจการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แก้ปัญหาภาคใต้ไปด้วยกันได้ไหม ถ้าเผื่อจะไปด้วยกันเราคิดอย่างงี้เขาจะสนับสนุนเราไหม และสาม กรรมการบริหารพรรคตัดสินใจอย่างไรว่ากันอีกที อย่างไรก็ตามถ้าพรรคใหญ่ไม่อยากได้ก็ไม่ต้องคิด เราก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน แล้วแต่ว่าเงื่อนไขการเจรจาเป็นอย่างไร

@ไม่กัดฟันหรือเพราะเคยยึดอำนาจเขา

เป็นเรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องของบุคคล ไม่ใช่ทำงานให้กับคนใดคนหนึ่ง หรือตัวผมเอง ทำงานเพื่อประเทศ การเมืองต้องไปอย่างนั้น ถ้าฉันใดการเมืองมองว่าทำงานเพื่อบุคคลประเทศจะล้มเหลว ต้องดูว่าขณะนี้เกิดอะไรขึ้นปัญหาสังคมขัดแย้ง เราเข้าไปแก้ปัญหาความขัดแย้ง แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ มองผลประโยชน์โดยรวมเป็นหลัก

@แต่พรรคเพื่อไทยมุ่งนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ

เรื่องการปรองดองผมมองในความเป็นจริง ถ้าทำให้ประเทศชาติสงบต้องมองตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น ถ้าทำให้เกิดความปรองดองได้ควรจะทำ ส่วนการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเรื่องกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณอาจเข้ามา แล้วจะทำอย่างไร กฎหมายที่เราวางไว้จะทำอย่างไร ต้องคุยกันอีกหลายเรื่องไม่ใช่หน้าที่ทางการเมืองแล้ว เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม

@พล.อ.สนธิพร้อมเป็นนายกฯ คนกลางไหม

ระบอบประชาธิปไตยมีพรรคใหญ่ แน่นอนว่าเขาต้องเป็นนายกฯ จะมองพรรคเล็กพรรคน้อย ผมว่าโอกาสความเป็นไปได้ไม่มีหรอก อย่าไปคิดถึงมันเลย ยิ่งในเชิงวิชาการเป็นไปไม่ได้ใหญ่ นักวิชาการวิจารณ์ว่ามันเป็นไปไม่ได้ พรรคเล็กจะเป็นนายกฯ เหมือนสมัยท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มันไม่ใช่หรอก มันเป็นไปไม่ได้ เหตุการณ์สถานการณ์แตกต่างกัน จะคิดสูตรเดียวกันไม่ได้ ผมยืนยันมันต้องเป็นไปตามครรลองของความเป็นจริงต่างหาก

@มีการวางตัว พล.ต.สนั่น ส่วนคุณสุวิทย์ก็บอกพร้อม

ตามความเป็นจริงเป็นไปได้ยาก ตามหลักการมันไม่ใช่ ณ เวลานี้ ความจริงกับหลักการมาพร้อมกันอยู่แล้ว

@คาดหวังที่นั่ง สส.เท่าไหร่

เราได้ยินสื่อวิเคราะห์ว่า พรรคมาตุภูมิได้ 5-6 ที่ก็เก่งแล้ว แต่ผมเตรียมการเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว เราก็รู้ว่าตรงไหนเป็นจุดแข็ง จุดรักและศรัทธา เราได้จับพื้นที่นั้นไว้นานแล้ว พูดง่ายๆ ไปปักธงมานานแล้ว ณ เวลานี้เป้าหมายที่เราวางไว้สองสามปีบรรลุตามความประสงค์ เราวางในภาคใต้ไว้ และมีเป้าหมาย 14 จังหวัดภาคใต้บางส่วน มีภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคอีสาน กระจายไปทั่วภาคเหนือก็มีแต่อาจน้อยไปนิดหน่อย จะเห็นว่าเราเป็นพรรคการเมืองไม่ได้กระจุกตรงใดที่หนึ่ง หัวหน้าพรรคเป็นมุสลิม รองหัวหน้าพรรคเป็นภาคอีสาน เลขาธิการเป็นภาคกลาง แม้จะเป็นพรรคที่เกิดใหม่ก็ค่อยๆ เดินยังอาจวิ่งไม่แข็งแรงเท่าไหร่ วันหนึ่งจะแข็งแรงเอง เชื่อว่าเกินที่สื่อวิเคราะห์อาจเกินสองหลัก เป็นความหวัง น่าภูมิใจทีเดียว

***************************

"ผมปฏิรูปไม่ได้ปฏิวัติ"

บิ๊กบัง ยอมรับว่า ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปบ้างหลังจากเป็นนายทหารมาเล่นการเมือง แต่ถ้าใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการดูทีวีนั่งอ่านหนังสือก็กระไรอยู่ อยากจะใช้กำลังความคิดครั้งสุดท้ายทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ อีกทั้งมูลเหตุจากช่วงเป็น ผบ.ทบ. ได้เจอ สส.ภาคใต้ที่เดินทางไปดูงานตะวันออกกลาง ปรับทุกข์กันถึงแนวทางแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ทำให้เห็นว่าอำนาจ ผบ.ทบ.ทำอะไรได้ไม่มาก เนื่องจากมีอำนาจทางการเมืองครอบอยู่อีกที ถ้าได้มาเล่นการเมืองจะสามารถเพิ่มบทบาทแก้ปัญหาภาคใต้ทั้งระบบ จึงร่วมหัวจมท้ายกับสมาชิกพรรคมาตุภูมิวางแผนไว้ 2 ปีสู่สนามการเมือง

3 เงื่อนไขมาตุภูมิผสมพท.

แน่นอนภาพของการเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือ คมช. เมื่อลงพื้นที่หาเสียงย่อมสร้างความไม่พอใจจากอีกฝ่ายที่เคยถูกยึดอำนาจ แต่บิ๊กบังมองว่า การเมืองไม่มีใครที่รักทั้งประเทศและเกลียดทั้งประเทศ อยู่ที่เราจะจัดระบบอย่างไรให้ลงตัว ความเข้าใจตรงนี้เป็นผลมาจากการร่ำเรียนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง บวกกับประสบการณ์ทหารประติดประต่อเข้าด้วยกัน 

“แรกๆ มีความรู้สึกอยู่บ้าง ว่ามีประชาชนอาจพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง แต่เราเรียนรู้เรื่องของรัฐศาสตร์ทำให้เห็นว่าเป็นธรรมชาติของการเมืองในระบอบบประชาธิปไตย คงไม่มีนักการเมืองคนใดที่คนรักทั้งประเทศ และก็คงไม่มีนักการเมืองคนใดที่คนเกลียดทั้งประเทศ ต้องมีก้ำกึ่งกัน เพราะฉะนั้นการที่เราเข้ามาย่อมมีคนเห็นด้วยส่วนหนึ่ง คนไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่งเป็นปกติ สิ่งที่มันเกิดเป็นธรรมชาติของการเมือง”

และจากการร่ำเรียนวิชาการรัฐศาสตร์นี่เอง ทำให้บิ๊กบังเข้าใจระบอบประชาธิปไตยชนิดที่อธิบายเหตุการณ์ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณช่วงนั้นได้อย่างกินใจ ว่าเขาไม่ได้ปฏิวัติแต่เข้ามารักษาประชาธิปไตย

@เคยบอกว่าปฏิวัติคือรักษาประชาธิปไตย

ที่ผมอธิบายตรงนั้น เราต้องเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยกันก่อน ก่อนวันที่ 19 ก.ย. 2549 ผมใช้คำว่าปฏิรูปนะครับ ไม่ได้ใช้คำว่าปฏิวัตินะ ก่อนที่เราทำการปฏิรูปถามว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ไม่ใช่ว่า ถ้ามีการเลือกตั้งหมายถึงประเทศนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่ เป็นเรื่องการบริหารจัดการของรัฐต่อกระบวนการทั้งหลายในการปกครองประเทศ เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ตรงนี้ต่างหาก ในการปกครองผมเชื่อว่าประชาชนเป็นผู้ชี้ขาด ประชาชนไม่มีความพอใจ ดังนั้นการที่เราจะทำอะไรก็ตามในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นใหญ่

จะเห็นว่าก่อนการปฏิรูป ประชาชนมีความอึดอัด อย่างที่เรียนให้ทราบในช่วงการปฏิรูป ประชาชนเขียนจดหมายส่งมาเป็นตู้ๆ มาในตู้เหล็กสูงกว่าตัวคนอีก ว่าเขารักประเทศไทย อึดอัดไม่สบายใจกับประเทศที่เป็นอย่างนี้ เสียงประชาชนเรียกร้องมาในสถานการณ์อย่างนั้น และการปฏิรูปวันนั้น ผลที่ตอบมาประชาชนมีความสุข ประชาชนให้การสนับสนุน มีดอกไม้ นี่แสดงว่าการกระทำในคราวนั้นประชาชนเห็นด้วย ถ้าอย่างนี้ถือว่าถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย ผมรักษาประชาธิปไตยซึ่งมีประชาชนคอยสนับสนุน

@กลุ่มคนเสื้อแดงอ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

เป็นการตอบของการเมือง เราต้องเอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน เราอาจจะบอกว่าตอนนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยนะ เป็นประชาธิปไตยนะ การพูดอย่างนี้เป็นการพูดทางการเมือง พูดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวต้องอธิบายว่าช่วงนั้นเป็นหรือไม่เป็น แล้วเอาทฤษฎีความเป็นประชาธิปไตยมาจับจะรู้ว่ามันใช่หรือไม่ใช่

@แก้ปัญหาความปรองดองอย่างไร

ความขัดแย้งต้องเอาความขัดแย้งของคนทั้งประเทศมาดิสคัตว่าเกิดจากตรงไหน เกิดจากทั้งประเทศ หรือเกิดจากคนกลุ่มหนึ่ง ผมมองว่า ปัญหาในประเทศไทยคนส่วนใหญ่ไม่ใช่ปัญหา ถามว่าคนอีสานชอบความรุนแรงหรือ ไม่ใช่หรอก ต้องยอมรับว่าเป็นคนที่ยอดเยี่ยมที่สุด ดีที่สุดในประเทศไทย เพราะผมทำงานอยู่ที่ภาคอีสานเป็นนายทหารปกครองทหาร เขามีความสุขมาก ความดีของเขามีบทเรียนสมัยสงครามเย็น ลัทธิคอมมิวนิสต์กระจายเข้ามาลาว เวียดนาม กัมพูชา และกำลังจะเข้าอีสาน ที่เข้าไม่ได้ด้วยทฤษฎีโดมิโนล้มลงไป แต่ว่าภาคอีสานยังอยู่ เพราะอีสานมีเอกลักษณ์พิเศษ ใครจะไปทำอะไรให้เขาเป็นอย่างอื่นคงไม่ง่าย แต่ว่าไอ้เแกนนำต่างหากที่ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ทุกจุด ต้องแก้ที่คนจำนวนหนึ่ง ระบบดีอยู่แล้วแต่ปัญหาอยู่ที่คนในระบบ

@มองการเมืองหลังเลือกตั้งอย่างไร

ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองที่จะเป็น ผมเชื่อได้ว่าถ้าผู้นั้นมีเจตนาปรองดอง มันไปได้ อะไรที่ควรจะหยิบขึ้นมา อะไรที่ไม่ควรหยิบขึ้นมา ก็อย่าหยิบ ตอนนี้เราต้องการปัญหาบริหารประเทศและการปรองดองให้ไปด้วยกัน อะไรที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่าเพิ่งไปแตะแล้วมันจะไปได้ คนที่ขึ้นมาบริหารประเทศเป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกคนต้องมีเจตนาปรองดอง รัฐมนตรีทุกคนต้องเป็นรัฐมนตรีที่เป็นกลาง ไม่ใช่รัฐมนตรีที่อยู่บนกระบวนการความขัดแย้ง มันจะไม่เลิกความขัดแย้ง

@ตั้งรัฐบาลไม่ได้ มีโอกาสปฏิวัติไหม

ผมมองว่า ณ เวลานี้การปฏิวัติมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก หรือยากมาก เพราะมีเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้การปฏิวัติมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของประชาชนที่มีความคิดแตกต่างกัน ประเทศใดก็ตามที่ทำการปฏิวัติแล้วประชาชนมีขบวนการต่อต้านอยู่ แน่นอนว่าการปฏิวัติกระเทือน หมายถึงอันตรายแล้ว ถ้าการปฏิวัติเกิดจากความสมัครใจประชาชนก็ไปได้ เหมือนอย่างที่ถามเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว มีการจัดตั้งรัฐบาล ผมว่าไม่มีใครกล้าไปแตะเรื่องปฏิวัติ เพราะกระบวนการของการเป็นประชาธิปไตยมันเป็นไปตามครรลองครองธรรมของมันถูกต้องอยู่แล้ว ผมว่าใครทำ คนนั้นก็โชคร้าย 

@ทหารมีบทบาทอีกครั้งหรือไม่หากตั้งรัฐบาลไม่ได้

ผมมองว่า ณ เวลานี้การปฏิวัติมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากหรือยากมาก เพราะมีเงื่อนไขต่างๆที่ทำให้การปฏิวัติมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของประชาชนที่มีความคิดแตกต่างกัน ประเทศใดก็ตามที่ทำการปฏิวัติแล้วประชาชนมีขบวนการต่อต้านอยู่ แน่นอนว่าการปฏิวัติกระเทือน หมายถึงอันตรายแล้ว   ถ้าการปฏิวัติเกิดจากความสมัครใจประชาชนก็ไปได้ เหมือนอย่างที่ถามเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว มีการจัดตั้งรัฐบาล ผมว่าไม่มีใครกล้าไปแตะเรื่องปฏิวัติ เพราะกระบวนการของการเป็นประชาธิปไตยมันเป็นไปตามครรลองครองธรรมของมันถูกต้องอยู่แล้ว ผมว่าใครทำ คนนั้นก็โชคร้าย