posttoday

เข้าทางไทย! “ฮุน เซน” หลุดปากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เป็นพื้นที่พิพาท

09 กุมภาพันธ์ 2553

ปณิธานชี้ไทยมีโอกาสระงับการขึ้นทะเบียนพระวิหาร หลัง “ฮุน เซน” หลุดปากพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เป็นพื้นที่พิพาท

ปณิธานชี้ไทยมีโอกาสระงับการขึ้นทะเบียนพระวิหาร หลัง “ฮุน เซน” หลุดปากพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เป็นพื้นที่พิพาท

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทเขาพระวิหารว่า ทางการไทยต้องขอบคุณ ฮุน เซน เป็นอย่างมาก ที่มีการยอมรับครั้งแรกว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ข้อพิพาท โดยระบุว่า “พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ไทยอ้าง” ซึ่งเป็นการยอมรับว่า เป็นพื้นที่ที่ไทยอ้างกรรมสิทธิ์ทับกับกัมพูชาอยู่ เพราะที่ผ่านมาทางการไทยมีจุดยืนชัดเจนว่าต้องมีการเจรจาและร่วมมือกันในพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งศาลโลกไม่ได้ตัดสินให้เป็นของกัมพูชา  แต่กัมพูชาไม่เคยยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีข้อพิพาท โดยกัมพูชาทำแผนขึ้นมาเองและส่งไปยูเนสโก เพื่อขอพัฒนาโดยปฏิเสธไม่รับรู้ว่ามีข้อพิพาทอย่างเป็นทางการ

ดังนั้น  คำยอมรับดังกล่าวจะเข้ากรอบของคณะกรรมการมรดกโลกทันทีที่ระบุว่า  พื้นที่ที่ไหนที่ยังมีข้อพิพาท ประเทศนั้นๆ ต้องตกลงกันก่อนที่จะนำแผนการพัฒนาเข้ามา  ซึ่งทางการไทยจะไปทวงจุดยืนตรงนี้กับคณะกรรมการมรดกโลกว่า หากเป็นแบบนี้คณะกรรมการมรดกโลกต้องรอให้ไทยตกลงกับกัมพูชา ก่อน

"เรื่องนี้เป็นหลักกฏหมายระหว่างประเทศ เพราะการเข้ามาพื้นที่เหล่านี้ที่เขายอมรับตามกฎเกณฑ์ของไทยก็เท่ากับเป็นการยอมรับอธิปไตยของไทยโดยปริยาย เช่น การที่เขาประกาศว่าจะมาประสาทตาเมือนธม และไทยได้ยื่นเงื่อนไขว่าต้องปลดอาวุธ จนกระทั่งเขาเปลี่ยนใจไม่มา  ถือว่าเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าปราสาทตาเมือนธม อยู่ในการดูแลอธิปไตยของไทย" นายปณิธานกล่าว

นายปณิธาน กล่าวว่า  เชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ ฮุน เซน  เดินทางมาบริเวณเขาพระวิหาร เป็นเพราะได้รับแรงกดดัน จากการที่ต้องจดทะเบียนเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ ซึ่งล่าช้ามานานเพราะไทยประท้วงและไม่เห็นด้วย  เชื่อว่าเรื่องนี้คงมีแรงกดดันจากหลายด้านทั้งการท่องเที่ยว และเรื่องชาตินิยม ซึ่งทางไทยคงไม่วิพากษ์วิจารณ์