posttoday

เปิดสารพัดกลโกงเลือกตั้ง

02 มิถุนายน 2554

การเลือกตั้งกำลังเดินทางเข้าสู่ระยะกลางความเข้มข้นดุเดือดเพิ่มขึ้นตามลำดับ

การเลือกตั้งกำลังเดินทางเข้าสู่ระยะกลางความเข้มข้นดุเดือดเพิ่มขึ้นตามลำดับ

กลิ่นอายเรื่องทุจริตการเลือกตั้งกำลังโชยออกมา โดยเฉพาะการซื้อเสียง การวางตัวไม่เป็นกลางของข้าราชการ บัตรเลือกตั้งปลอม บัตรเกินและอีกสารพัดเรื่องกลโกงให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้ง

เปิดสารพัดกลโกงเลือกตั้ง

หลายฝ่ายประเมินกันว่าเลือกตั้งครั้งนี้เงินจะสะพัดมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเดิมพันของแต่ละฝ่ายนั้นสูงยิ่ง เนื่องจากเป็นการชี้อนาคตทั้งทางการเมืองและบทบาทสถานะความเป็นอยู่กันในสังคมภายภาคหน้า

รูปแบบกลโกงและวิธีการซื้อเสียงขณะนี้มีหลากหลาย อาทิ เริ่มกันตั้งแต่ยังไม่ทันเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง โดยผู้ที่จะลงสมัครจะเรียกนายก อบต. นายกเทศบาลตำบล สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ตลอดทั้งกำนันให้ไปรับเงินก้อนแรก คนละ 1 หมื่นบาท ผู้ใหญ่บ้านหัวละ 5,000 บาท ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านประธาน อสม.ตำบล และสมาชิก อบต. หัวละ 3,000 บาท

ทั้งนี้ หลังผู้สมัครได้เบอร์เสร็จสรรพแล้วก็จะลุยลงพื้นที่หาเสียง เงินที่บรรดาผู้นำท้องถิ่นรับไปแล้วนั้นถือเป็นค่าตีตั๋วบัตรผ่านประตูเข้าหมู่บ้านเพื่อเป็นการการันตีว่าจะไม่ถูกกีดกันหรือโจมตีกลั่นแกล้ง

ยกที่ 2 บรรดาผู้สมัคร สส.แบบแบ่งเขต จะมีการวางเป้าของคะแนนที่ต้องการว่าได้เท่าไหร่ จึงจะชนะคู่แข่ง จากนั้นจะให้ผู้นำท้องถิ่นทำบัญชีรายชื่อขึ้นมาแบบหมู่บ้านใครหมู่บ้านมัน โดยสนนราคาปัจจุบันต้องเสียงละ 1,000 บาทเท่านั้น โดยผู้จดรายชื่อจะได้ค่าดำเนินการ 100-200 บาท

ยกที่ 3 คือการให้โบนัส ถ้าผู้สมัคร สส.แบบแบ่งเขต ผู้ใดที่ทำคะแนนให้จนชนะการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านก็จะได้รับโบนัสอีกหัวละ 1 หมื่นบาท

ยกที่ 4 คือการให้โบนัสที่เรียกว่าสามเด้ง นั่นคือถ้าผู้สมัครที่เชียร์อยู่ทิ้งห่างคู่แข่งแบบทำให้เสียมวยและหน้าแตกได้สะใจ ก็จะตั้งกองกลางเอาไว้ สมมติว่าตั้งไว้ 3 ล้านบาท ก็จะมีกติกาที่เลือกกันว่าจะไปกิน ไปเที่ยว ในหรือต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ถ้าแบ่งเป็นเงินก็จะมีสูตรวิธีคิดในหลายรูปแบบ แต่สรุปแล้วยุติธรรม

สำหรับวิธีจ่ายเงิน มีแบบที่เรียกว่า จ่ายก่อน จ่ายตรง จ่ายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีเรื่องของสัจจะและนักเลงเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่เรียกว่า “วิธีให้สำคัญกว่าสิ่งที่ให้” โดยผู้จ่ายเงินแบบจ่ายก่อนจะต้องคัดเอาอดีตหรือคนมีสีมานั่งหน้าโต๊ะบัญชีถือปืน M16 ให้เห็นว่ารับเงินแล้วอมเงียบ หรือรับเงินแล้วชักดาบ ก็มีสิทธิได้กินลูกปืนและอย่าทำตัวเป็นนกสองหัว รับเงินสองฝ่าย คะแนนแบ่งครึ่ง ถ้าทำเช่นนี้ก็รอรับแจกโลงศพเพิ่มเติม

อีกวิธีหนึ่ง คือ การจ่ายหลังการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นสัจจะลูกผู้ชายที่คนภูธรให้การเชื่อถือกันมานมนาน และก็ไม่เคยถูกเบี้ยว ยิ่งผู้สมัคร สส.ชนะการเลือกตั้งจะได้รับเงินเพิ่มเป็นสองเด้ง

อย่างไรก็ตาม บางครั้งคู่แข่งก็รู้ และก็ทำเช่นเดียวกัน

“ถ้าผมชนะให้มารับเงินที่หัวคะแนนเพิ่มอีก เบอร์แรกจ่าย 500 บาท ผมก็จ่าย 500 บาท หรืออาจเพิ่มขึ้นเป็น 600 บาท เรียกว่าเกทับหรือจ่ายทีหลังดังกว่า อย่างนี้เบอร์แรกก็ต้องมาวิ่งจ่ายเพิ่มอีก 200 บาท เพื่อเกทับให้เป็น 700 บาท” แหล่งข่าวเปิดเผย

ขณะเดียวกันมีการพัฒนาการจ่ายเป็นคูปอง หรือสิ่งของที่แทนค่าเงิน มีตั้งแต่ให้ถือลอตเตอรี่ ที่ สส.เก็บสำเนาเอาไว้ตรงกันเหมือนกับโพยหวยใต้ดิน บางคนก็แจกเป็นเหรียญพระเครื่อง และอีกสารพัด เมื่อถือคูปองเอาไว้เงินก้อนแรกหัวคะแนนจ่ายไปแล้ว 1,000 บาท แล้วถ้ามีผู้สมัครรายอื่นมาเกทับมากกว่า 1,000 บาท คูปองที่ถือไว้ก็จะมีประกาศออกจากหัวคะแนนว่า ขณะนี้นายใหญ่สั่งให้เพิ่มเด้งที่ 2 อีก เป็นเงินเท่าไหร่ อย่างเช่น 300, 500, 700 หรือเป็น 1,000 บาท ซึ่งจะจ่ายหลังเสร็จสิ้นการรับคะแนน ทั้งนี้ กระแสเงินสะพัดในท้องถิ่นหรือแต่ละเขต ไม่น้อยกว่า 30-50 ล้านบาท แต่ถ้าจะให้ทิ้งห่างกันแบบขาดกระจุยในพื้นที่ภาคเหนือเคยมีผู้ทำสถิติยิงกระสุนเพื่อการเลือกตั้งสูงสุดเพียงแค่ 130 ล้านบาท

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” กรรมการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเกาะติดการทุจริตเลือกตั้งมาตลอด ได้พูดถึงรูปแบบการซื้อเสียงว่า ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากมาย อาทิ นักเลือกตั้งจะหาหัวคะแนนอย่างน้อย 1 คน ไว้คอยดูแลชาวบ้าน 10 คน เป็นพื้นฐาน พอได้รายชื่อชาวบ้านมาก็ทำบัญชีขอเบิกเงิน

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจเกิดขึ้นได้ในหลายพรรคการเมืองและอาจเกทับจำนวนเงินกันได้จนถึงคืนวันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง หรือคืนหมาหอน ทำให้บางพรรคอาจปิดการขายเร็วขึ้น โดยการให้ชาวบ้านที่รับเงินไปเลือกตั้งล่วงหน้าเลย สังเกตได้ว่าหากพื้นที่ไหนมีชาวบ้านไปใช้สิทธิล่วงหน้าผิดปกติ ก็อาจตั้งข้อสังเกตนี้ได้

ขณะเดียวกันจะจ่ายเงินให้ชาวบ้านไปฟังปราศรัยของผู้สมัคร ซึ่งวิธีนี้มักจะเกิดในพื้นที่ชนบทซึ่งจากวิจัยพบว่า จะมีรถกระบะเกณฑ์ชาวบ้านเข้าไปฟังปราศรัย และมีเบี้ยเลี้ยงให้คนละ 100 บาท

อีกรูปแบบหนึ่งคือการที่ผู้สมัครเหมารถตู้จาก “กรุงเทพฯ” เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทำงานในกรุงเทพฯ นั้นนั่งรถกลับบ้านไปเลือกตั้งแบบ “ฟรีๆ” และอาจจะได้เงินติดกระเป๋าอีกคนละ 300-400 ซึ่งรูปแบบนี้แพร่หลายกันมากในช่วงหลัง

“สมชัย” บอกอีกว่า 3 รูปแบบดังกล่าวข้างต้น เป็นรูปแบบสำหรับนักการเมืองมือใหม่ ส่วนผู้สมัครรุ่นเก๋านั้น จะหันความสนใจไปยัง “หน่วยเลือกตั้ง” แทน โดยมีตั้งแต่จ่ายเงินเพื่อซื้อ กกต.เขต ไปจนกระทั่งซื้อ กกต.ประจำหน่วย

“ปกติถ้าซื้อ กกต.เขตไม่ได้ เขาก็จะเบนความสนใจไปที่ กกต.หน่วยแทน ด้วยการจ่ายเงินซื้อเป็นรายคนไป หรือไม่ก็จ้างให้ กกต.ที่ทำหน้าที่ในวันเลือกตั้งนั้นเกิดไม่สบายขึ้นมา แล้วส่งคนของตัวเองเข้าไปยืนป้วนเปี้ยนแถวนั้น จนประธาน กกต.หน่วยเรียกเข้าไปทำหน้าที่แทน ซึ่งเมื่อกรรมการประจำหน่วยเป็นคนของตัวเองหมดแล้ว จะบันดาลให้เกิดอะไรขึ้นก็ได้” สมชัย กล่าว

นอกจากนี้ยังมีวิธีการเอาบัตรประชาชนของคนที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งมาสวมสิทธิลงเลือกตั้งแทน หรือเกณฑ์คนอื่นเข้ามาเลือกตั้ง วนซ้ำไปเรื่อยๆ หรือเรียกว่าเวียนเทียน เวลาตรวจหลักฐานก็ตรวจแบบขอไปที หรืออย่างแย่ก็คือนั่งกาบัตรลงคะแนนด้วยตัวเอง

ขณะเดียวกันช่วงการนับคะแนนนั้น ก็อาจจะเอานิ้วจิกกระดาษให้ขาดหรือแม้กระทั่งเอาปากกาในมือกาบัตรดีให้เป็นบัตรเสียก็มี

สำหรับวิธีป้องกันเรื่องนี้ “สมชัย” แนะนำว่า กกต.สามารถทำได้ อาจจะเป็นการตั้งรางวัลนำจับผู้กระทำผิด หรือว่ากวดขันการลงพื้นที่ตรวจหน่วยเลือกตั้งให้มากขึ้น โดยอาจจะร่วมมือกับบรรดาองค์กรภาคประชาชนให้มากขึ้น

“สดศรี สัตยธรรม” กกต. บอกว่า กลโกงการเลือกตั้งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนัก ที่เคยสอบพบ เช่น การเชิญชวนผู้นำท้องถิ่นไปเที่ยวต่างจังหวัด แล้วจ่ายเงินกันกลางแม่น้ำ หรือให้เงินในลักษณะเป็นค่ารถ ค่าอาหาร หรือแม้กระทั่งบัตรเติมเงินโทรศัพท์

สำหรับกลโกงในการเลือกตั้งปี 2550 ผู้สมัครและหัวคะแนนมักมีกลยุทธ์ เช่น จ้างให้ผู้ที่ได้รับความนิยมในพื้นที่นั้นๆ ไม่ให้ลงสมัครเพื่อไม่ให้มาตัดคะแนน ซึ่งจำนวนเงินในการจ้างจะมากน้อยตามดีกรีความนิยมในพื้นที่

“ที่ผ่านมา กกต.เคยตรวจพบว่าในระดับผู้สมัครนายก อบต.ปากน้ำ มีการใช้เงินจ้างไม่ให้คู่แข่งลงรับสมัครเลือกตั้งมากถึง 3 ล้านบาท เริ่มด้วยขั้นตอนเจรจาอย่างนุ่มนวล ไปจนถึงข่มขู่ บังคับด้วยลูกตะกั่ว” สดศรี กล่าว

อีกวิธีที่มักได้ยินช่วงเลือกตั้ง คือการโจมตีทำลายคู่แข่ง ด้วยการปล่อยข่าวให้คู่แข่งเสียหาย อาทิ ปล่อยข่าวว่าพรรคคู่แข่งจะมาจ่ายเงินซื้อเสียงหรือมอบสิ่งของให้ประชาชนในพื้นที่ เมื่อคู่แข่งไม่มาจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ นอกจากนี้ยังมีวิธีการซื้อเสียงในนามคู่แข่ง เพื่อดิสเครดิตให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าพรรคคู่แข่งทำผิดกฎหมาย

ขณะที่ “สมชัย จึงประเสริฐ” กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน บอกถึงกลโกงการเลือกตั้งว่า มีการซื้อหัวคะแนนของคู่แข่ง หรือซื้อคะแนนจากผู้สมัครที่ยอมขายฐานเสียงของตัวเอง เพราะกลยุทธ์ข้อนี้มักใช้กับหัวคะแนนที่มีคุณภาพ อาทิ ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู มักโดนซื้อตัวมากที่สุด ในรูปแบบของการจัดสัมมนาในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม วิธีที่คลาสสิกที่สุด ซึ่ง กกต.หวั่นเกรงว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้งล่วงหน้า คือการซื้อเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการเลือกตั้งมีรูปแบบ ซื้อเป็นรายหัว และซื้อยกหน่วย เพื่อให้อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการโกง อาทิ การเวียนเทียนลงคะแนนแทนผู้ที่ไม่มาใช้สิทธิเลือกตั้งหรือใช้คนคนเดียวไปลงคะแนนหลายรอบหรือหลายหน่วยเลือกตั้ง และย้ายบุคคลนอกเขตเข้ามาหรือนำรายชื่อคนเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยไม่มีตัวตนหรือไม่ได้เข้ามาอยู่จริง แต่มีเจตนาทุจริตในการเลือกตั้ง

ขณะที่ในมุมตำรวจ พล.ต.ต.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เล่าให้ฟังถึงกลเม็ดในการโกงว่า จากประสบการณ์ที่เจอมา ที่แปลกๆ ในกลโกงทุจริต จะเป็นการซื้อบัตรประชาชนไว้เลย โดยเฉพาะกับฐานเสียงของฝั่งตรงข้าม ซื้อเพื่อเอาบัตรประชาชนมาไว้ เพราะกันไม่ให้ไปลงคะแนนเสียงให้ฝ่ายตรงข้าม

อีกกลโกงจะเป็นลักษณะให้ตัวแทนหรือหัวคะแนนมาที่บ้านของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลย โดยจะให้คนในครอบครัว 1 คน ออกไปเลือกตั้งก่อน แต่ตอนไปเลือกจะให้หย่อนกระดาษเปล่าที่พกไปลงในหีบ และนำบัตรเลือกตั้งกลับมาบ้านเพื่อกาเบอร์ที่หัวคะแนนต้องการ และให้คนอื่นไปเลือกอีก โดยนำบัตรที่ถูกกาไว้แล้วไปหย่อนลงด้วย ซึ่งนั้นหมายถึงการได้คะแนนอย่างแน่นอน