posttoday

ศาลโลกนัดไทยแจงปมพระวิหาร30-31พ.ค.นี้

24 พฤษภาคม 2554

ผู้แทนไทยเตรียมเข้าให้การต่อศาลโลก 30-31 พ.ค.นี้ ยันพร้อมทำหน้าที่ ระบุไม่ขอเปิดเผยแนวทางต่อสู้ หวั่นฝ่ายตรงข้ามรู้ ชี้ 30-31พ.ค. เปรยมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเคาะได้ก.พ.ปีหน้า

ผู้แทนไทยเตรียมเข้าให้การต่อศาลโลก 30-31 พ.ค.นี้ ยันพร้อมทำหน้าที่ ระบุไม่ขอเปิดเผยแนวทางต่อสู้ หวั่นฝ่ายตรงข้ามรู้ ชี้ 30-31พ.ค. เปรยมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเคาะได้ก.พ.ปีหน้า

นายวีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธนแลนด์ ในฐานะผู้แทนไทยในการชี้แจงศาลโลก เปิดเผยถึงการที่กัมพูชายื่นเรื่องให้ศาลโลกพิจารณาตีความคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหารว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เตรียมที่จะชี้แจงอธิบายต่อศาล ซึ่งต้องยอมรับอำนาจคดีเก่าที่กัมพูชาได้ยื่นต่อศาลโลกตีความคำพิพากษาอยู่ในอำนาจคดีเดิม โดยเรื่องดังกล่าวหากไทยไม่ไปชี้แจงต่อศาลโลก ก็จะตัดสินบนพื้นฐานข้อมูลของกัมพูชาไปได้

 

ศาลโลกนัดไทยแจงปมพระวิหาร30-31พ.ค.นี้ ปราสาทพระวิหาร

นายวีระชัย กล่าวว่า ส่วนแนวทางการต่อสู้คดี ยังไม่สามารถเปิดเผยอะไรได้ เนื่องจากเกรงว่าฝ่ายตรงข้ามจะล่วงรู้ ซึ่งก็ต้องปล่อยให้กัมพูชาทายไปก่อน เหมือนกับที่ไทยประเมินท่าทีของกัมพูชาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การยื่นเรื่องต่อศาลโลก ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การขอให้ตีความคำพิพากษาเพิ่มเติม กรณีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 และขอให้มีมาตรการชั่วคราว โดยส่วนที่ขอให้ศาลโลกตีความเพิ่มเติม กรณีปราสาทพระวิหาร เป็นส่วนที่ต่อเนื่องจากคดีเดิม คงพูดลำบากว่าใครจะแพ้หรือชนะ

"เพราะผลเมื่อปี 2505 ศาลไม่ได้เขียนละเอียด โดยประเด็นที่ต้องดูคือ ศาลสั่งให้เราถอนทหารออกจากปราสาท กว้างขวางขนาดไหน แต่ไทยได้ถอนทหารแล้วและเชื่อว่า ได้ดำเนินการถูกต้องแล้ว"นายวีระชัย กล่าว

ทั้งนี้ในองค์คณะผู้พิพากษาประจำที่ศาลโลกมี 15 คน ประธานเป็นญี่ปุ่น และเป็นอดีตนักการทูต กัมพูชา และไทยตั้งผู้พิพากษาเฉพาะกิจเป็นคนฝรั่งเศสข้างละ 1 คน รวมเป็น 17 คน ซึ่งศาลโลกได้นัดให้ประเทศไทย เข้าให้ข้อมูลทางวาจา ในวันที่ 30-31 พ.ค. นี้ เป็นการพิจารณาออกมาตรการชั่วคราวเพียงอย่างเดียว โดยจะดูว่าสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร มีความจำเป็นเร่งด่วนในการออกมาตรการชั่วคราวเร่งด่วนหรือไม่

"กัมพูชาต้องการให้ไทยถอนทหารออกไป โดยยึดแผนที่ฝรั่งเศส ส่วนประเทศไทยไม่ได้ยึดแผนที่นั้น และก็เห็นว่า ไทยไม่ได้ล้ำแต่อย่างใด เมื่อกัมพูชาขอให้ไทยถอนออก แต่ไทยถอนออกไม่ได้ เพราะไทยยังเห็นว่า ตรงนั้นเป็นแผ่นดินไทยอยู่"นายวีระชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม มาตรการชั่วคราวน่าจะใช้เวลาการพิจารณาไม่นาน เชื่อว่า น่าจะ 1-2 เดือน ส่วนการขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาเพิ่มเติม น่าจะมีขึ้นในเดือน ก.พ. 2555 ส่วนที่จะมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา 5 คน ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารของศาล ถ้าไม่เร่งให้เร็วในปีนี้เลย ก็คงต้องรอหลังเดือน ก.พ.  ส่วนการอุทธรณ์เมื่อตัดสินแล้วทำไม่ได้สำหรับศาลโลก ว่าอย่างไรก็อย่างนั้นเลย

นายวีระชัย กล่าวว่า กลไกทวิภาคีเพื่อแก้ไขข้อพิพาทไทย-กัมพูชา และในกรอบของอาเซียนยังไม่ได้มาถึงทางตัน ส่วนกลไกทวิภาคีจากการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ให้เดินต่อไปได้แล้ว ส่วนทางอาเซียนก็ยังไม่ได้ตัน เพียงแต่ว่าฝ่ายไทยตั้งเงื่อนไข แต่ฝ่ายกัมพูชารับไม่ได้ เรื่องการขอตีความในศาลโลก ก็เป็นสิทธิของกัมพูชาในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ มองว่าคงต้องเน้นสันติภาพเป็นหลัก ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ