posttoday

เลขา กกต. ดักคอวิชามารตีรวน กกต.

21 พฤษภาคม 2554

สุทธิพล ดักคอ นักการเมืองพอแพ้เลือกตั้งจะได้โวยกล่าวหา กกต. ว่าไม่ยุติธรรม แนะ กกต. จังหวัดรณรงค์แนวใหม่ขอความร่วมมือกลุ่มโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค

สุทธิพล ดักคอ นักการเมืองพอแพ้เลือกตั้งจะได้โวยกล่าวหา กกต. ว่าไม่ยุติธรรม แนะ กกต. จังหวัดรณรงค์แนวใหม่ขอความร่วมมือกลุ่มโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค

นายสุทธิพล  ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวบรรยายให้การแนะนำการประชาสัมพันธ์เชิงรุก  ต่อ กกต. จังหวัด  และ ผอ.กกต. จังหวัดทั่วประเทศราว  400 กว่าคนว่า  เวลานี้การเมืองไทยวิกฤติเพราะคนเบื่อการเมือง  มีการเลือกข้าง  หรือถูกจับยัดเยียดให้เลือกข้าง  สิ่งนี้คือข้อจำกัดที่ กกต. ต้องบริหารให้ได้  การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ต้องทำให้มิติใหม่   เราจะต้องรณรงค์ให้คนไทยที่เซ็งการเมืองไปใช้สิทธิ์เยอะ ๆ  กลุ่มผู้จัดการเลือกตั้งก็ถูกครหาว่าจัดการ  ในที่สุดคนไปใช้สิทธิ์กลายเป็นคนที่เลือกข้างเรียบร้อย  แต่พลังเงียบกลับไม่ออกมา  หรือถูกรณรงค์ให้โหวดโน  เราต้องรณรงค์ให้พวกเขาออกมาใช้สิทธิ์  จนเป็นการสิทธิ์เชิงคุณภาพ

“พลังเงียบเป็นเสียงส่วนใหญ่  คือพลังที่อยู่เฉย ๆ คิดว่าโหวดไปก็ไม่เกิดประโยชน์  ถ้าเราสามารถทำให้เขาออกมาใช้สิทธิ์แล้วสะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่  นั่นคือความสำเร็จ”  นายสุทธิพลกล่าว

เลขาธิการ กกต. กล่าวด้วยว่าเอแบคโพลล์เมื่อกุมภาพันธ์บอกว่าการเลือกตั้งจะดุเดือด  แต่ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า กกต. จัดการเลือกตั้ง  และเสียงส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าประชาธิปไตยคือทางออกที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาประเทศ  นี่คือข่าวที่เป็นกำลังใจต่อผู้ที่จัดการเลือกตั้งทุกคน  เราต้องทำงานท่ามกลางทุกฝ่ายที่ต้องการชนะ  จะทำทุกวิถีทาง  แม้เราจะวางพันธสัญญาก็ยบังมีปัญหา  เราได้ทำสิ่งใหม่ ๆ ขอให้หัวหน้าทุกพรรคลงนามพันธสัญญา 5 ข้อที่จะเคารพกติกา  แต่ที่ยังเป็นช่องว่าง  คือการหาเสียงโดยไม่ใส่ร้ายสาดโคลนซึ่งกัน

“การหาเสียงแค่ใส่ร้าย  สาดโคลนใส่กัน  มันจะไม่เป็นผลดีต่อการเลือกตั้ง  เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งเริ่มอีกฝ่ายก็จะตอบโต้  แล้วอะไรคือสิ่งที่จะทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ  เปรียบเหมือนการแข่งขันทางการค้า  บริษัทที่เน้นแต่โจมตีคู่ต่อสู้จะเสียลูกค้าแทนที่จะได้ลูกค้า  เราจึงต้องรณรงค์ในจุดนี้  เพราะประชาชนฟังเอามัน  แต่ตอนตัดสินใจจะคิดว่าคน ๆ นี้ด่าเขาเป็นอย่างเดียว  เราควรต้องสนับสนุนให้หาเสียงโดยสร้างสรรค์”  นายสุทธิพลกล่าว

เลขาธิการ กกต. เรียกร้องให้ กกต. จังหวัดอย่าจัดกิจกรรมรณรงค์แบบเดิม ๆ เพื่อแค่ให้ออกมาใช้สิทธิ์เยอะ ๆ เพราะไม่ตอบโจทย์ของสถานการณ์ความขัดแย้ง  โดยให้ข้อเสนอแนะ 7 ประการ  ปรอกอบด้วย  1.  เช่นควรป้องปรามการหาเสียงแบบสาดโคลน  ก่อนจะล่วงเลยไปถึงการใส่ร้าย  2.  เริ่มมีเทคนิคโจมตีผู้จัดการเลือกตั้ง  เชฃ่นเริ่มโจมตีเรื่องบัตรเลือกตั้งแล้ว  ทั้งที่ กกต. ป้องกันปัญหาการปลอมแปลง  การสูญหายมาแต่แรก   จึงต้องระวังว่าให้ กกต. จังหวัด  เจ้าหน้าที่ของ กกต.จังหวัดตกเป็นเป้าการโจมตี  ท่ามกลางวิชามารทั้งหลาย  3.  กฎกติกาการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนอาจสับสนไม่เข้าใจ 4.  การวินิจฉัยของ กกต. บางครั้งถูกกฎหมายแต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์  เพราะผลคำวินิจฉัยไม่เป็นที่ถูกใจ 

“วิชามารจะมีมากในการเลือกตตั้งครั้งนี้  เขาจะจ้องไปที่ผู้ที่จัดการเลือกตั้ง  มุ่งทำลายภาพลักษณ์ของ กกต. ก่อน  เขาจะเปิดประเด็นก่อนเลือกตั้ง  พอผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่พอใจเขาก็ร้องเลย  ว่า กกต. ช่วยฝ่ายนั้นฝ่ายนี้  เราต้องย้ำว่า กกต. ไปช่วยฝ่ายใดก็ไม่เป็นผลดีต่อ กกต. เอง  เพราะเคยเจอมาในอดีตแล้ว  ถามว่ามีมั้ย กกต. ให้ใบแดงแล้วนักการเมืองออกมาบอกขอโทษครับ  มีแต่กล่าวหาว่า กกต. 2 มาตรฐาน”  นายสุทธิพลกล่าว

ทั้งนี้  กกต. จะอาศัยผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศ  มาเป็นเกราะป้องกัน  เพื่อชี้วัดมาตรฐานการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ครั้งนี้  โดยเลขาธิการ กกต. ระบุขอให้ กกต. จังหวัดแนะนำและให้การอำนวยความสะดวกต่อคณะผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งในต่างประเทศด้วย

นายสุทธิพลกล่าวต่อว่า  5.  สื่อต้องการนำเสนอข้อมูลฉับไว  แต่ กกต. ต้องการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ  และบางเรื่องยังไม่ต้องการให้เปิดเผยเพราะเกรงความเข้าใจผิด  หากสื่อไม่เข้าใจต้องพยายามชี้แจง  6. อย่าละเลยพลังของคนรุ่นใหม่  ที่ตื่นเต้นกับการมาใช้สิทธิ์ครั้งแรก  ต้องเตือนบางอย่างที่เขาไม่รู้  เช่นการถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่กาไว้เป็นต้น และ 7. เรื่องโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกมาก  ต้องรณรงค์เตือนให้ห้ามหาเสียงในช่วงที่กฎหมายห้าม  รวมทั้งการใส่ร้ายป้ายสีกัน  ทั้งผู้ใช้ทั่วไป  และพรรคการเมือง  โดยเฉพาะผู้สมัครต้องมีการแจ้งค่าใช้จ่าย  และต้องประชาสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ให้บริการว่า กกต. ไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพการสื่อสารหรือจ้อมจับผิด  แต่ต้องการเพียงป้องปราม

“กลุ่มเป้าหมายการเมืองไทยในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คมีประมาณ 8 – 9 ล้านคน  ผู้ปฏิบัติผู้ใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คเองควรต้องป้องปราม  รู้จักเตือนให้คำแนะนำกันเอง  เช่นอย่าโพตส์ในระหว่างช่วงเวลาต้องห้ามในการหาเสียง  ตัวพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ที่ใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คก็ต้องเตือน  นอกจากนี้ต้องเตือนผู้บริโภคข่าวสาร  และติดต่อผู้ให้บริการ  ระบุข้อกำหนดและเงื่อนไขให้ชัดเจนด้วย” นายสุทธิพลกล่าว

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า  สุดท้ายเราต้องทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เชื่อว่าการออกมาใช้สิทธิ์ของเขาเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ  โดยเฉพาะเสียงส่วนใหญ่ที่แท้จริง  จึงต้องแนะนำว่าอย่าไปใช้สิทธิ์โดยกาแล้วไม่เกิดประโยชน์  ต้องชี้แจงว่าการเลือกนั้นมีผลเสียมากกว่าผลดี  เพราะเพียงคำขู่ว่าจะเสียสิทธิ์ทางการเมืองมันไม่ได้ผล  เพราะแค่ไปใช้สิทธิ์คราวหน้าก็จะได้สิทธิ์กลับมา