posttoday

จุติ ยัน ​กสท ทำสัญญา ทรูมูฟ ไม่มีทุจริต

01 เมษายน 2554

รมว.ไอซีที ยัน ​กสท ทำสัญญา ทรูมูฟ ไม่มีทุจริต แจง เปรียบระบบซีดีเอ็มเอเป็นเอชเอ็สพีเอ ประหยัด 2.3 หมื่นล้าน

รมว.ไอซีที ยัน ​กสท ทำสัญญา ทรูมูฟ ไม่มีทุจริต แจง เปรียบระบบซีดีเอ็มเอเป็นเอชเอ็สพีเอ ประหยัด 2.3 หมื่นล้าน

นายประเกียรติ นาสิมมา สส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดเรื่อง  การทุจริตกรณี กสท. ทรูมูฟ ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าก่อนที่ ครม.จะอนุมัติให้ กสท ซื้ออุปกรณ์เครือข่ายจากบริษัท บีเอฟเคที ของฮัทช์ 7,500 ล้านบาท ได้มีกลุ่มบุคคลไปทำเอ็มโอยูแบ่งผลประโยชน์ล่วงหน้า โดยได้ทำเอ็มโอยู 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งทำโดยตรงว่าจะซื้อ อีกฉบับเป็นเอ็มโอยูแบ่งผลประโยชน์

ทั้งนี้ ​ก่อนนำเรื่องเข้า ครม.วันที่ 7 เม.ย.53 นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง  ได้ทำหนังสือ ระบุว่า ราคาที่จะซื้อ สูงเกินกว่าที่บริษัทกสท ประมูลทางอิเล็กทรอนิกในการสร้างสถานีฐาน จำนวน 1,600  สถานี มูลค่า 7,900  ล้านบาท แต่ราคาที่ซื้อจากบีเอฟเคทีจำนวน 800 สถานีฐานมีมูลค่าถึง 7,500 ล้านบาท เมื่อคำนวณแล้วราคาเฉลี่ยสถานีฐานละ 9 ล้านบาท แตกต่างจากราคาสร้างสถานีฐานของบริษัทกสท ถึง 7 ล้านบาท ​

นายประเกียรติ กล่าวว่า ​รมว.ไอซีที ทำหนังสือถึง ครม. ลงวันที่ 24 ธ.ค.53 ขอให้ ครม.มีมติยกเลิกระบบ ซีดีเอ็มเอ กับบริษัทฮัทช์ และเปลี่ยนมาเป็น เอชเอสพีเอ ของทรูมูฟ โดยอ้างว่า การบอกเลิกสัญญากับบริษัทฮัทช์ เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยว่าผิดพ.ร.บ.ร่วมลงทุน 2535 แต่กลับมีการทำสัญญาในลักษณะเดียวกันกับบริษัททรู ไม่ทราบว่ามีเหตุผลอะไร

ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์​ รมว. ไอซีที กล่าวว่า กสทไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และไม่มีการทุจริตตามข้อกล่าวหา แต่หาก นายประเกียรติ มีข้อมูล ขอให้ส่งมาตนพร้อมตรวจสอบ หากพบว่าเป็นจริงจะดำเนินการทันที ส่วนกรณีการทักท้วงเรื่องการทำสัญญาแพงเกินจริงระหว่าง กสท กับ ฮัทช์นั้น  ตนเองมาเป็น รมว.ไอซีที หลังเดือน เม.ย. จึงไม่ทราบเรื่องก่อนหน้านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากตนเองเข้ามาเป็น รมว.ไอซีที ได้มีการรื้อราคาที่แพงเกินจริง ให้เจรจาต่อรองว่าสัญญาเช่าอุปกรณ์เครือข่ายไม่ควรเกิน 4,000 ล้านบาท ทำให้ตกลงกันไม่ได้ จึงไม่ได้มีการทำสัญญาแต่อย่างใด ทำให้บริษัทฮัทช์ ไปตกลงขายให้กับบริษัทอื่น อีกทั้งตนเองได้เสนอให้มีการเปลี่ยนระบบจาก ซีดีเอ็มเอ เป็นเอชเอสพีเอ โดยไม่ต้องลงทุน ทำให้ประหยัดงบประมาณได้ถึง 2.3 หมื่นล้านบาท

นายจุติ กล่าวว่า​ ค่าเช่าสถานีฐานแพงนั้น ทางฝ่ายผู้บริหารของ กสท.ยืนยันว่า ที่ปรึกษาทางด้านการเงินได้เปรียบเทียบค่าเช่าสถานีกับบริษัทเอไอเอส และดีเทค ซึ่งพบว่าราคาดังกล่าวต่ำกว่ามาตรฐาน  ส่วนกรณีที่ระบุว่าการขัดกันของพ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่าง กสท​ กับ ฮัทช์ ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ เพราะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง​ และยืนยันว่าสัญญาระหว่าง กสท กับทรูมูฟ ไม่ขัด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ