posttoday

นายกฯสรุปอภิปรายยันรัฐพาประเทศพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ

18 มีนาคม 2554

มาร์คสรุปปิดท้ายซักฟอก ไม่อยากเห็นการอภิปรายที่ทำให้เกิดการสูญเสีย ลั่นประเทศพ้นวิกฤต ยันยุบสภาช้าสุด ต้นเดือนพ.ค.ให้ประชาชนตัดสินแนวทางปชป.กับ พท.ผ่านเลือกตั้ง

มาร์คสรุปปิดท้ายซักฟอก ไม่อยากเห็นการอภิปรายที่ทำให้เกิดการสูญเสีย ลั่นประเทศพ้นวิกฤต ยันยุบสภาช้าสุด ต้นเดือนพ.ค.ให้ประชาชนตัดสินแนวทางปชป.กับ พท.ผ่านเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 21.00  น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี   ชี้แจงสรุปในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยชี้แจงเป็นเวลา 30 นาทีว่า ใน ปี 2553 เศรษฐกิจไทยรอดพ้นวิกฤต และเราผ่านได้โดยไม่มี 2 ปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญกัน  คือ การว่างงาน และการไม่นำประเทศเข้าสู่วิฤตหนี้  ไม่ทราบว่า นายมิ่งขวัญจะนำเสนอตัวเลขหนี้แล้วทำให้คนตกใจอีกหรือไม่ สถานะของประเทศขณะนี้ไม่ต่างจากสภาพวันที่นายกฯทักษิณพ้นจากตำแหน่ง ฉะนั้น มันไม่มีกรณีที่เราก้าวเข้าสู่หายนะ ตรงกันข้ามแนวทางที่เราทำมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น เงินฝากฝในบัญชีธกส.เพิ่มขึ้น บ่งบอกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นปีละ 10% แสดงว่า เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงออมได้มากขึ้น  อย่างไรก็ตาม ผมไม่เถียงว่า ประชาชนยังเดือดร้อนอยู่ เพระปัญหาเศรษฐกิจมันจะเคลื่อนจากปัญหาหนึ่งไปสู่ปัญหาหนึ่งซึ่งวันนี้เรากำลังเผชิญปัญหาภาวะของแพง   ขณะที่  อาหาร น้ำมันดิบมีราคาแพงขึ้นทั่วโลกจริง ผมไม่ปฏิเสธ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาของแพงทำให้เรา (รัฐบาล-ฝ่ายค้าน) มีความคิดที่แตกต่างกันสะท้อนผ่านการอภิปรายซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะการลือกตั้งครั้งนี้จะได้แข่งขันให้ประชาชนได้เห็นชัดเจนขึ้น ประการแรก อะไรที่เราเดินหน้าช่วยประชาชนได้เราเดินหน้าช่วย เช่น เราไม่ขึ้นราคาไม่ลอยตัวก๊าซหุงต้ม   ฝ่ายค้านบอกว่า อยากให้ลอยตัวก๊าซหุงต้ม   น้ำมันดีเซลเรายืนยันจะไม่ให้ขยับขึ้นลิตรละ 30 บาท  พร้อมกันนั้น  นโยบายที่เราทำมา เช่น การช่วยเหลือผู้สูงอายุ คนพิการ การทำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี  ลดรายจ่าย ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยโดยจะทำให้เป็นโครงการถาวร

วันนี้รัฐบาลยังมุ่งหน้าแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องค่าครองชีพ และที่ท่าน (ฝ่ายค้าน)ตำหนิไม่ควรขึ้นค่าแรง แต่ผมเห็นว่า เราต้องขึ้นค่าแรงเพิ่มเพื่อสู้เงินเฟ้อ  ส่วนการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างพลังงาน ก๊าซแอลพีจี ไฟฟ้า น้ำมัน หลักคิดของเรา คือ คนที่มีกำลังมากกว่าต้องช่วยคนจน ขณะเดียวกัน อะไรก็ตามที่จะดึงคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจก็ต้องทำ ไม่ว่า มอเตอร์ไซด์รับจ้าง พ่อค้าแม่ขาย ด้วยการเพิ่มจุดผ่อนผัน เริ่มจากกรุงเทพและจะต้องขยายสู่ต่างจังหวัด

ไม่ได้ป้องเรื่องฉาวกระทรวง ภท.

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีเรื่องพาดพิงมาถึงผมเรื่องการปล่อยปละละเลย ทุกเรื่องผมไม่เคยละเลย อย่างเรื่อง รมว.คมนาคม ผมก็บอกว่า ได้ตอบข้อสังเกตุของกมธ.สภาก่อนและค่อยเดินหน้าต่อ  กรณีกระทรวงมหาดไทย เรื่องบัตรสมาร์ทการ์ด ผมก็ต้องตัดสินใจ เมื่อกระทรวงไอซีที  และกระทรวงมหาดไทย เห็นไม่ตรงกัน ผมก็บอกให้กฤษฎีกาเป็นคนชี้ เราจะได้แก้ปัญหากัน  กรณีโครงการเช่าคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทย  ผมไม่ได้ละเลยได้นำมาประกอบการตัดสินใจเรื่องการโยกย้ายแต่งตั้ง ปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า ผลสอบเรื่องคอมพิวเตอร์ จะต้องมาใช้   ดังนั้น ทุกเรื่อง  มันต้องมีฐาน ข้อมูลของการตัดสินใจ ผมก็เรียกร้องว่า ถ้ามีพยานหลักฐานชัดเจนก็ต้องดำเนินการแน่นอน กรณีกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่มีข้อสรุป แต่เมื่อมีผู้ช่วยรัฐมนตรี เกี่ยวกับการใช้เช็ค ผมก็ดำเนินการว่าต้องออกก่อนแล้วก็ต้องสอบสวน

นอกจากนี้ในกระทรวงพาณิชย์ ที่มีการกล่าวหาเรื่องทุจริต วนเวียนในเรื่องสินค้าในสต๊อกของรัฐบาล ถ้าตรงนี้เป็นแหล่งหากินใหญ่ ผู้นำรัฐบาลต้องเดินหน้าต่อเรื่องการจำนำสินค้าเกษตร  เพราะเป็นการเก็บสินค้าเกษตรเข้าสู่สต๊อกรัฐบาล   แต่ทำไมผมถึงเดินหน้านโยบายประกันรายได้ นั่นก็เพราะต้องการแก้ปัญหานี้ด้วย และกระจายรายได้เข้าถึงประชาชนมากกว่า  ขณะเดียวกัน ปปช.ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ยืนยันว่า  โครงการประกันรายได้เดินมาถูกทางในเรื่องการแทรกแซงสินค้าเกษตร ดังนั้น เราเดินต่อแน่นอน แม้อาจจะมีจุดอ่อนบ้าง   ถ้าท่าน(ฝ่ายค้าน)ไม่เห็นด้วยก็เป็นทางเลือกที่ชัดเจนสำหรับพี่น้อง

สำหรับการโยกย้ายแต่งตั้งในระบบราชการ ผมเรียนว่า หลักที่เราทำคือ  เรื่องการบริหารงานบุคคลเราให้เกียรติ เจ้ากระทรวงแต่มีเงื่อนไขคือ อย่าผิดกฎกติกา และอย่าให้เกิดการทุจริต ฉะนั้น ถ้ามีการร้องเรียนผมก็ดำเนินการและเวลาผมนั่งหัวโต๊ะประชุมกพ. ผมออกมติเยอะที่จะยืนยันว่า หน่วยงานต้องปฏิบัติตามกฎกพ. ไม่อนุญาตให้มีการยกเว้น 

ยันมีกองกำลังติดอาวุธในม็อบ

นายกฯ กล่าวว่า ข้อหาที่รุนแรงที่สุด คือ ที่บอกว่า ผมและรัฐบาล ฆาตกรรมประชาชน ที่จริง เพื่อนสมาชิกที่รู้จักผมจะทราบว่าผมเป็นคนอย่างไร  ผมไม่นิยมความรุนแรงและต่อสู้ในแนวทางของกฎกติกามาตลอด ผมไม่อยากให้พวกเราใช้เวลาเต็มวัน สร้างบรรยากาศความขัดแย้งของบ้านเมือง  เพราะเมื่อเราอภิรายประเด็นนี้ บรรยากาศในสภาได้กลายเป็นเรื่องความขัดแย้งจนเราถูกวิจารณ์  ผมต้องอยู่กับข้อเท็จจริง เหตุการณ์ ปี 2552 -2553  มีที่มาที่ไปชัดเจน  มุมมองอาจจะต่างกัน ท่านไม่พอใจที่สภาผู้แทนราษฎรได้เลือกผมปลายปี 2551 แต่ผมก็ต้องบอกว่า ไม่เคารพกฎกติกาหรือเปล่า  เพราะผมไม่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งหลังเลือกตั้ง เมื่อผมแพ้เลือกตั้ง

แต่เมื่อท่านชนะเลือกตั้ง กกต.เขาวินิจิฉัยว่า ท่านทุจริตเลือกตั้ง จนนำมาสู่การยุบพรรค  ความจริงท่านได้เป็นรัฐบาลสองชุด แต่เมื่อเกิดปัญหา เราก็มาเลือกกันใหม่  ซึ่งกระบวนการปลุกระดมมันเกิดขึ้นจริง และผมพูดกี่ครั้ง ผมยืนยันว่า ผมไม่เคยตำหนิประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสงบ แต่หลักฐานที่มีการชี้แจงคือ มันมีคนที่เป็น กองกำลังเข้ามา แกนนำก็ยอมรับ ว่ามีกองกำลังเข้ามาสนับสนุน นี่คือ ต้นเหตุของความรุนแรงทั้งหมด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาล กองทัพ เจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ  ไม่มีเหตุผลที่จะไปทำร้ายประชาชน ท่านก็ทราบ ผมก็ทราบเราเป็นนักการเมืองระบบนี้ เกิดความสูญเสีย ก็ต้องมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาล เราก็ใช้แนวทางอดทนตลอด การเจรจา 6 ชั่วโมงไม่ใช่ครั้งแรก ผมเคยเสนอทางออกทุกครั้ง แต่ถูกปฏิเสธทุกครั้ง วันที่เราเข้าไปขอคืนพื้นที่ 10 เม.ย. ก็ไม่มีการสูญเสีย จนกระทั่งมีการยิงระเบิดเข้าใส่ทหารแล้วทหารก็ถอย จนเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน ผมเชื่อว่า พวกเราเสียใจว่าไม่ควรจะเกิด แต่ว่า เราต้องลำดับที่มาที่ไปอย่างนี้  หลังจากนั้น ก็เกิดเหตุที่ รพ.จุฬา ที่นั่นที่นี่บ้าง กดดันมาก ที่บอกว่า ทำไมไม่สลายกาชุมนุม แต่เราตัดสินชัดเจน เราไม่ต้องการทำอย่างนั้น ผมเสนอให้มีการเลือกตั้ง 14 พ.ย. แต่ถูกปฏิเสธ ท่านจะมาหยิบเรื่องว่า นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ ไม่ยอมไปมอบตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ทำไมท่านถึงเอาเรื่องนั้นมาสำคัญกว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น แล้วเราจะไม่ต้องมีปัญหากัน ช่วงการชุมนุมคนที่อยู่ใกล้ชิดกับผมก็พยายามพูดคุยกับแกนนำ และโน้มน้าวให้มีการเลือกตั้ง 14 พ.ย.

ดังนั้น อย่าคิดเล็กคิดน้อย ยอมรับเถอะ แต่เหตุการณ์ควบคุมไม่ได้ คนที่เป็นแกนนำไม่ได้สูญเสีย มีแต่ชาวบ้าน ที่มาร่วมชุมนุม เราก็ใช้วิธีกระชับพื้นที่ 13-19 พ.ค. เจ้าหน้าที่ เราอยู่กับที่ ตามวงล้อม แต่เราถูกโจมตีและก็มีการป้องกันและก็เกิดการสูญเสีย  พอถึงวันที่ 19 พ.ค.  ที่สวนลุมพินี มีพื้นที่อันตรายมาก เพราะมีกองกำลังในนั้น สื่อรายงานชัดเราก็กระชับวงล้อมแล้วก็หยุด จนที่สุดแกนนำก็ประกาศเลิกชุมนุมแล้วก็มอบตัว แต่เสร็จแล้วก็เกิดการเผา 

ส่วนเหตุการณ์วัดปทุมฯ  ช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ค. เหตุการณ์จบแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่รัฐบาลจะทำอะไรเพื่อประโยชน์ในทรัพย์สินของเอกชน พวกผมประสานให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน  แต่ด้วยเหตุที่อาจเกิดการระแวงกัน พี่น้องจึงไปรวมตัวที่วัดปทุมฯ  แต่ที่น่าเสียใจ คือ  แนวคิดเขตอภัยทานในวัด  คนของเราต้องการให้วัดเป็น เขตอภัยทานเป็นที่พำนักของเด็ก ผู้หญิง  คนชรา คนที่จำเป็นจริงๆ  แต่สุดท้ายคุมไม่ได้ มีคนมีอาวุธมีกองกำลังเข้าไปอยู่ด้วย ปัญหาจึงเกิด เมื่อเหตุการณ์สิ้นสุดลง ถ้าผมไม่บริสุทธิ์ใจ ทำไมผมถึงปล่อยให้เกิดการเดินหน้าค้นหาความจริงแล้ว

ผมไม่อยากจะเชื่อด้วยตัวเองว่า วันนี้ฝ่ายค้านมาอภิปรายว่า ศอฉ.เอาบัญชีไปให้ดีเอสไอ เพราะว่า มีการหักหลังกันระหว่าง นักการเมืองกับกองทัพ คิดได้ไง และถ้าศอฉ.ไม่ให้ ท่านไม่ว่าหรอว่า เราไม่ให้ความร่วมมือกับการการสอบสวสน

อ้างสำนวนดีเอสมั่ว หวังปลุกม็อบ

มีการอ้างสำนวนของดีเอสไอมาอภิปรายแล้วมาสรุปง่ายๆ รัฐบาลฆ่าประชาชน ผมกับสุเทพ เป็นฆาตกร มันไม่ใช่ ที่เขาทำเสร็จแล้ว 12 ศพ ไม่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ จริงๆ ระบุด้วยว่า กลุ่มไหนทำก็ว่ากันไป  ส่วนที่บอกว่าเกี่ยวกับจนท.เขาต้องส่งให้ไปชันสูตรพลิกศพ แต่ท่านเอาตรงนี้มาสรุปว่า นี่ไงเจ้าหน้าที่ฆ่าประชาชนเพราะนายสุเทพสั่ง เพราะผมตั้งนายสุเทพ ไม่ใช่เลยครับ และเวลาท่านอ่านสำนวนท่านอ่านไม่ครบถ้วน ทุกกรณีมันมีคนที่ให้การตรงกัน ขัดกัน ในสำนวนที่ท่านอ่าน ไม่มีเลยว่า มีคนเห็นเจ้าหน้าที่คนใด ยิงใส่ประชาชน เป็นเพียงการวิเคราะห์สันนิษฐานความเป็นไปได้ของท่าน  ซึ่งก็มีหักล้างกัน  เช่น ที่วัดปทุมฯ เขาบอกว่า อาจยิงที่พารากอนก็มี  เราจะเถียงเพื่อให้ขัดแย้งทำไม เราไม่ปล่อยให้คนทำหน้าที่ทำให้มันเสร็จก่อนหรือ

กรณีที่บอกว่า มีการยิงจากรถไฟฟ้า เขา (ทหาร) ก็พบว่า พบกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ แล้วเขายิงไปที่ไหน เขาก็ไม่เคยพูดว่า ใส่ยิงใส่ประชาชน แต่มันมีการต่อสู้ เหมือนการกระชับวงล้อม จะเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ ก็ต้องพิสูจน์กันไป  ถ้าเป็นฝีมือจนท. ก็ต้องดูว่า ปกป้องตัวเองหรือไม่ หรือทำเกินอำนาจ แต่วันนี้เพื่อต้องการสร้างความขัดแย้งปลุกเร้าอารมณ์คนของตัวเอง อ่านสำนวนไม่ชัดเจนแล้วมาสรุปว่า เจ้าหน้าที่ฆ่าประชาชน ซึ่งไม่สมเหตุสมผล

นายกฯ ทิ้งท้ายว่า ผมกราบเรียนว่า การอภิปราย4 วันนี้  ปกติคนเป็นรัฐบาลไม่ชอบการอภิปราย แต่ถ้าเมื่อไรเราใช้เวทีนี้ มาถกเถียงนโบายว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องดี  แต่ถ้าใช้เวทีนี้ ไม่รักษผลประโยชน์ชาติ แล้วคิดแต่เอาความสะใจ  สุดท้ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน รัฐสภาจะเสียหาย หลายเรื่องที่ท่านวิจารณ์นโยบายมีเหตุผลผมรับฟัง และนำไปปรับปรุง แต่เรื่องที่กล่าวหาลอยๆ และสร้างจนเกิดความขัดแย้งผมถือว่า เป็นความสูญเสียของการอภิปรายที่ผ่านมา ผมให้คำมั่นว่า หากสภาแห่งนี้ลงมติไว้วางใจผมและคณะให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไป สัปดาห์แรกของพ.ค. ที่เหลืออยู่ ผมจะทุ่มเทการแก้ปัญหาของประชาชนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต