posttoday

อาเซียนให้อินโดร่วมสังเกตการณ์

22 กุมภาพันธ์ 2554

มติที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนให้ไทย-เขมรใช้กลไกเจรจาทวิภาคีแก้ปัญหา ขณะที่อินโดฯจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สังเกตการณ์ชายแดนทั้งสองฝั่ง

มติที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนให้ไทย-เขมรใช้กลไกเจรจาทวิภาคีแก้ปัญหา ขณะที่อินโดฯจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สังเกตการณ์ชายแดนทั้งสองฝั่ง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงจาร์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีมติให้มีการดำเนินการโดยใช้กลไกเจรจาทวิภาคีเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชา และอินโดนีเซียจะส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่ของทั้งสองฝ่ายเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการปะทะกันอีก

"ที่ประชุมสนับสนุนการใช้กลไกเจรจาทวิภาคีตามที่ไทยได้เสนอไป ทั้ง เจบีซี จีบีซี และอาร์บีซี ส่วนกรณีที่อาเซียนส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามานั้น ไม่ถือว่าเป็นการเปิดให้ประเทศที่สามเข้ามาแทรกแซง แต่เป็นเรื่องดี เพราะเราไมได้เปิดการยิงก่อน เมื่อมีคนมาอยู่ในพื้นที่จะได้รับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร"นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อที่ประชุมมีมติเช่นนี้ กัมพูชาก็คงต้องเข้ามาสู่การเจรจาทวิภาคี เพราะไม่มีทางอื่น ส่วนการเจรจาเจบีซีในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ทางกัมพูชายังไม่ตอบรับ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกำลังรอผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันนี้

สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ คิดว่าขณะนี้ได้คลี่คลายแล้ว และจากการมีผู้สังเกตการณ์เข้ามา คงจะช่วยไม่ให้มีการมาละเมิดกันอีก ขณะที่ยูเนสโกคงจะให้ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นเดินทางมาปลายสัปดาห์นี้ ทั้งที่กรุงเทพฯ และกรุงพนมเปญ เป็นการมาฟังข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย ฉะนั้น ยืนยันไม่มีเรื่องการเซ็นสัญญา เป็นเพียงการส่งผู้สังเกตการณ์มาเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเกิดความสงบในพื้นที่

นาอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหารนั้น จากการที่ได้สนทนากับผอ.ยูเนสโก ก็ได้ระบุว่า ถ้าเรื่องของเขตแดนยังไม่เรียบร้อยก็จะไม่เข้าไปจัดการบริหารในพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดยืนที่กัมพูชาต้องยอมรับ เพราะเป็นคนลงนามเอ็มโอยูไว้เอง ทำให้ไม่สามารถเสนอแผนจัดการพื้นที่ได้

ประธานอาเซียนยืนยันส่งตัวแทนลงพื้นที่แค่สังเกตการณ์ไม่มีติดอาวุธ

ด้าน นายมาร์ตี นาเตเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศ อินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน กล่าวว่า อินโดนีเซียจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าสังเกตการณ์ในพื้นที่ชายแดนทั้งสองฝั่ง โดยไทยและกัมพูชาต่างยอมรับการส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้

ทั้งนี้ขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งลงพื้นที่เป็นทีมสังเกตการณ์เท่านั้น ไม่ใช่ทีมปฏิบัติการเพื่อสันติ โดยทีมสังเกตการณ์จะไม่มีการติดอาวุธใดๆ ทั้งสิ้น

กษิตเผยอาเซียนให้ส่งผู้แทนลงพื้นที่ฝ่ายละ15คน

ด้าน นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ในภาพรวมที่ประชุมได้เห็นตรงกันที่จะมุ่งมั่นแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี  โดยการใช้การเจรจา  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศอาเซียนอีก 8 ประเทศ 

"ไทยและกัมพูชาได้ให้คำมั่นสัญญาต่อกันว่าจะหยุดยิงไม่ปะทะกันอีก ​ซึ่งได้ยืนยันต่อสมาคมอาเซียน และ ประชาคมโลก โดยยืนยันจะให้มีทหาร  ผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย ไทยและ กัมพูชา ฝ่ายละ  15 คน มีหน้าที่สังเกตการณ์ บริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร"นายกษิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม ​หลังจากกลับมาจะได้ปรึกษากับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ​รมว.กลาโหม ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยจะนำประสบการณ์จากที่ไทยเคยส่งตัวแทนไปสังเกตการที่อะเจะห์ และ อีสต์ติมอร์ก่อนหน้านี้มาเป็นเทียบเคียง  ส่วนจะมีภาระหน้าที่อย่างไร ขึ้นกับการที่จะได้ปรึกษากับฝ่ายทหารก่อน ไม่สามารถให้รายละเอียดได้  ทั้งนี้ฝ่ายไทยและกัมพูชา อยากที่จะให้ส่งตัวแทนเข้ามาสังเกตการณ์โดยเร็วที่สุด 

เร่งประสานเขมรเปิดเจรจาเจบีซี

นายกษิต กล่าวว่า ​ประเด็นที่สอง ​ทั้งไทยและกัมพูชา เห็นพ้องต้องกันให้ใช้ทวิภาคีดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป ผ่านคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี)​ที่จะสำรวจปักปันเขตแดน ​โดยอยากจะให้มีการเจรจาโดยเร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาไทยเคยเสนอให้เป็นวันที่ 27 ก.พ.  ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความพร้อม  อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้หลังจากกลับจะได้มีการโทรศัพท์ประสานกันอีกครั้งหนึ่ง​

อาเซียนให้อินโดร่วมสังเกตการณ์