posttoday

ข่าวปฏิวัติ ยุทธการถนัด เสี้ยมให้แตก

28 มกราคม 2554

ปี่กลองการเมืองกลับมาดังอีกครั้งเมื่อสมัยประชุมรัฐสภาสามัญทั่วไปได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการ โดยต้องจับตาไปที่วันที่ 25 ม.ค. ซึ่งจะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 

ปี่กลองการเมืองกลับมาดังอีกครั้งเมื่อสมัยประชุมรัฐสภาสามัญทั่วไปได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการ โดยต้องจับตาไปที่วันที่ 25 ม.ค. ซึ่งจะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 

โดย...ทีมข่าวการเมือง

 

ข่าวปฏิวัติ ยุทธการถนัด เสี้ยมให้แตก

ปี่กลองการเมืองกลับมาดังอีกครั้งเมื่อสมัยประชุมรัฐสภาสามัญทั่วไปได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการ โดยต้องจับตาไปที่วันที่ 25 ม.ค. ซึ่งจะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2

ไฮไลต์คงอยู่ที่มาตรา 93 ที่มีบทบัญญัติกำหนดให้มี สส.เขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน และบัญชีรายชื่อ 125 คน อันเป็นตัวเลขขัดใจพรรคร่วมรัฐบาลมาโดยตลอด

แต่ก่อนที่จะถึงวันที่ 25 ม.ค. ถนนการเมืองทุกสายคงจับจ้องมาที่อาหารมื้อเย็นที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน เพราะงานนี้ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้จัดการรัฐบาลลงทุนเป็นเจ้าภาพควักเนื้อเลี้ยงเพื่อนร่วมชะตากรรมด้วยตัวเอง

มื้อเย็นที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการร่วมกันหาทางออกและพรรคร่วมรัฐบาลจะยอมรับสูตร สส. 375+125 ได้หรือไม่ ก่อนที่จะมีการโหวตกันในวาระ 2 ของวันรุ่งขึ้น

แน่นอนว่าเมื่อดูท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์แล้วคงไม่สามารถเปลี่ยนสูตร 375+125 ได้ เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมเพิ่งมีมติค้ำคออยู่ และคงเปลี่ยนแปลงได้ยาก

เป็นหน้าที่ของ “แม่นมอมทุกข์” ที่ชื่อสุเทพจะอธิบายอย่างไรให้พรรคร่วมรัฐบาลเข้าใจ เพราะที่ผ่านมาพรรคร่วมรัฐบาลเองนำโดย นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ยังคงยืนยันตามเดิมที่ตัวเลข 400+100 เพราะเชื่อว่าจะเป็นทางออกและแต้มต่อทางการเมืองได้ดีที่สุด

กลเม็ดลักษณะนี้ด้วยการเอามติพรรคมาค้ำคอเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์มักจะมาใช้เป็นเครื่องมือการต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด ประหนึ่งว่ามีแบ็กอัพหนุนหลัง และมัดคอสุเทพไม่ให้ยอมพรรคร่วมรัฐบาลไปหมดเสียทุกเรื่อง

อย่างมากที่สุดในวงเจรจาทุกครั้งที่ผ่านมาสุเทพก็จะยอมให้เพื่อนร่วมรัฐบาลบ่นและแสดงความไม่พอใจหอมปากหอมคอบ้าง แบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ก่อนที่พรรคร่วมรัฐบาลจะยอมให้พรรคประชาธิปัตย์ทุกครั้ง

ขณะที่ อีกด้านเป็นเพราะพรรคร่วมรัฐบาลก็ประเมินกำลังตัวเองแล้ว ครั้นจะฝืนไปก็มีแต่เสียกับเสีย สู้กำขี้ดีกว่ากำตดน่าจะดีกว่า เพราะอย่างน้อย 375+125 ที่ไม่ชอบนักหนานั้นก็ยังเป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียวที่ต้องการ

มิฉะนั้นต้องกลับไปใช้ระบบเดิมถามใจพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้คงไม่อยากกลับไปใช้ระบบเขตใหญ่อีกแน่นอน

ตรงกันข้าม หากจับพลัดจับผลู “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาทุกอย่างจบไปนับหนึ่งกันใหม่ บนสถานการณ์ที่พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กยังมีกระสุนดินดำไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

นอกจากนี้ เสียงในรัฐสภาขณะนี้ของพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ไม่พอที่จะผลักดันให้สูตร 400+100 เป็นจริงได้ด้วย

จากจำนวนเสียงในรัฐสภาตอนนี้มีทั้งหมด 625 คน แบ่งเป็นวุฒิสภา 150 คน สภาผู้แทนราษฎร 475 คน แบ่งเป็นประชาธิปัตย์ 172 คน เพื่อไทย 187 คน ภูมิใจไทย 33 คน เพื่อแผ่นดิน 31 คน ชาติไทยพัฒนา 25 คน รวมชาติพัฒนา 9 คน ประชาราช 8 คน กิจสังคม 5 คน มาตุภูมิ 3 คน และไม่สังกัดพรรค 2 คน (ร.ต.ปรพล อดิเรกสาร สส.สระบุรี และนายจุมพฏ บุญใหญ่ สส.สกลนคร)

เท่ากับว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงเพียง 106 คน เมื่อรวมกับ สส. สองคนดังกล่าวที่ไม่ได้สังกัดพรรค แต่ได้ร่วมทำกิจกรรมกับพรรคภูมิใจไทยมาตลอดก็ทำให้มีเสียงแค่ 108 คนเท่านั้น

อย่างดีที่สุด 108 เสียงไปรวมกับ สว.เลือกตั้งและสรรหาบางส่วนที่พร้อมสนับสนุนอีกประมาณ 40-50 คน มากที่สุดพรรคร่วมรัฐบาลคงมีเสียงอยู่ที่ราว 160 เสียง ซึ่งก็ยังน้อยกว่าเสียงของพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อดูจากต้นทุนของพรรคร่วมรัฐบาลในเวลานี้คงยอมปล่อยให้สูตร 375+125 ผ่านวาระ 2 ไปโดยดีด้วยมติเสียงข้างมาก

ทั้งนี้ หากทุกอย่างเจรจาและตกลงกันได้ก็ดีไป การแก้รัฐธรรมนูญทั้งสองวาระคงจบกันแบบมีความสุขทั้งคู่ โดยประชาธิปัตย์ได้ 375+125 ไปนอนกอด ส่วนพรรคร่วมฯ คงได้ผลตอบแทนเป็นความพึงพอใจจากการจัดสรรงบกลางที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติจัดสรรไป

แต่ถ้าวันนี้คุยกันไม่รู้เรื่องปัญหาจะตามมาเป็นหางว่าวทันที เลวร้ายกว่านั้นหากพรรคเพื่อไทยใช้จังหวะนี้สร้างความร้าวฉานด้วยการเทคะแนนให้พรรคร่วมรัฐบาลเพื่อสนับสนุนสูตร 400+100 ในวาระ 2 แล้ว จะทำให้มีเสียงพอที่จะคว่ำสูตร 375+125 ได้ เมื่อถึงเวลานั้นต้องลุ้นกันต่อในวาระ 3 ที่ประชุมจะเห็นชอบกับการแก้ไขในวาระ 2 เพื่อให้ประกาศบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญหรือไม่

จากวาระ 2 ไปวาระ 3 ตามรัฐธรรมนูญต้องเว้นช่วงไว้ 15 วัน ส่งผลให้ 15 วันดังกล่าวกลายเป็น 15 วันอันตรายขึ้นมาในทันที เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากที่นายกฯ อาจตัดสินใจยุบสภาหากมติเสียงข้างมากในวาระ 2 ไม่เลือก 375+125

มองกันถึงตรงนี้หากว่ากันด้วยเหตุและผล คิดผลได้ผลเสีย ที่สุดแล้วพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะเลือกที่จะยอมอ่อนให้กับพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง เพื่อรักษาผลประโยชน์บนหน้าตักที่ตัวเองมีเอาไว้ เว้นเสียแต่จะเห็นตัว 400+100 ซึ่งเป็นน้ำบ่อหน้าเหนือกว่าสิ่งอื่นใด