posttoday

"ก้าวไกล"เรียกร้องทุกพรรคโหวตรับ "ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม"

12 มิถุนายน 2565

ก้าวไกล ชี้ การโหวตให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือการยอมรับสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ท้วง ครม.นำ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต มาพิจารณาประกบไม่ได้ เพราะเป็นการเสนอกฎหมายใหม่

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ แถลงเรียกร้อง ส.ส. จากทุกพรรคการเมืองร่วมลงมติให้ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ‘สมรสเท่าเทียม’ ในวันพุธที่จะถึงนี้

ธัญวัจน์ ระบุว่า สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมสภามีการอภิปรายยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง จนเป็นที่สังเกตว่าอาจเป็นความพยายามดึงเวลาให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาได้ทันเวลาหรือไม่ และยังมีความเป็นไปได้ที่คณะรัฐมนตรีจะนำร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เข้ามาประกบกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวันพุธนี้ด้วย

“พรรคก้าวไกลต้องยืนยันอีกครั้ง ว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่เท่ากับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต และในความเป็นจริงไม่สามารถประกบในการพิจารณาได้ เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ บัญญัติสิทธิในการสมรสไว้อยู่แล้ว ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตเป็นร่างกฎหมายฉบับใหม่ จะพิจารณาร่วมกันไม่ได้”

ธัญวัจน์ ยังระบุอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เป็นกฎหมายที่มีหลักการมองคนไม่เท่ากัน การที่คณะรัฐมนตรีนำมาเข้าประกบจึงเป็นเรื่องการเมืองอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ แม้พรรคก้าวไกลจะมีความกังวล แต่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้พยายามพูดคุยกับ ส.ส. ต่างพรรคต่างฝ่าย อธิบายความแตกต่างระหว่างร่างทั้งสอง ขอฝากถึง ส.ส. จากทุกพรรคการเมือง ว่าการลงมติให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเท่านั้น คือการยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบไม่มีเงื่อนไข การลงมติให้ พ.ร.บ. คู่ชีวิต เท่ากับยังคงสร้างเงื่อนไขให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่

“การสมรสคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีไม่ว่าจะเพศอะไร ซึ่งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ถูกพรากไป เราไม่ได้เรียกร้องสิทธิแต่เราขอคืนสิทธิ เราไม่ได้ต้องการสิ่งที่คล้ายคลึงแต่ต้องการสิ่งที่เท่าเทียม นี่คือเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่แค่กลุ่ม LGBTQ+ ประชาชนต้องร่วมกันส่งเสียงของเรา ว่าเราไม่ได้ต้องการสิ่งที่ใกล้เคียงคล้ายคลึงอย่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต แต่เราต้องการความเท่าเทียม” ธัญวัจน์กล่าว

ธัญวัจน์ ยังกล่าวอีกว่าในวันนี้ สังคมทั้งสังคมพร้อมขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ให้สิทธิการสมรสอย่างเท่าเทียมแก่กลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว เสียงของประชาชนที่ผ่านมา และทุกหน่วยงานที่มาร่วมประชุมกัน ไม่มีหน่วยงานไหนที่ไม่เห็นด้วย ทุกหน่วยงานยืนยันในความเสมอภาค คนที่ปฏิบัติการกับคนในสังคมไม่มีปัญหา ที่มีปัญหาคือสำนักงานกฤษฎีกาเท่านั้น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคน