posttoday

ไทยสร้างไทย ชง 4 ข้อ รับมือวิกฤตด้านอาหาร

02 มิถุนายน 2565

พรรคไทยสร้างออกแถลงการณ์ เสนอรัฐบาล 4 ข้อ รับมือวิกฤตด้านอาหาร

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 65 พรรคไทยสร้างไทย ออกแถลงการณ์ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร ระบุว่า ขณะนี้โลกกำลังวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับวิกฤตด้านอาหารที่กำลังรุนแรงขึ้น รวมถึงปัจจัยที่ช่วยเร่งวิกฤตดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเงินเฟ้อและสงครามระหว่างรัสเซีย ยูเครน ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานและปุ๋ยแพงขึ้น ตลอดจนภาวะโลกร้อนอันทำให้ภูมิอากาศในหลายพื้นที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก นำมาซึ่งความแห้งแล้งที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน เป็นเหตุให้ 30 ประเทศ มีนโนบายห้ามส่งออกอาหาร การประชุมที่เวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีผู้นำของโลกหลายคน ทั้งภาครัฐและเอกชนได้รับเชิญให้เข้าร่วม ระหว่างวันที่ 22-26 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้แสดงความห่วงใยในเรื่องนี้เป็นอย่างมากและเตือนถึงภยันตรายดังกล่าว

พรรคไทยสร้างไทยตระหนักในเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค ดังนั้นในเดือนสิงหาคม 2564 จึงได้มีการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ในการสร้างและพัฒนาประเทศโดยมุ่ง 6 ด้านหลักคือ

1. เป็นศูนย์กลางอาหารของโลก (World Food Hub)

2. เป็นศูนย์กลางของสุขภาพของโลก (World Health and Wellness Hub)

3. เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวของโลก (World Tourism Hub)

4. เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาค (Regional Communication and Logistic Hub)

5. การสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ฯลฯ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และเพื่อผลักดันทิศทางและยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้านให้ประสบความสำเร็จ

6. การดูแลเศรษฐกิจ สังคม ความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

จากวิกฤตที่กล่าวข้างต้น รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต้องเร่งตระหนักและเตรียมการ ทั้งรับมือและใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสตั้งแต่บัดนี้ โดยพรรคไทยสร้างไทยขอเสนอแนะให้ร่วมกันดำเนินการดังนี้

1. การยกเลิกและลดการกดทับของระบบรัฐราชการที่มีต่อผลผลิตด้านการเกษตร อาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยเร่งด่วน เพื่อลดภาระและอุปสรรคที่เกิดจากความคิดแบบอำนาจนิยม กฎหมาย กฎระเบียบ และขั้นตอนต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย

2. ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและการว่าจ้างเอกชนที่เป็นมืออาชีพศึกษาถึงภาวะความมั่นคงทางอาหารของโลกว่าจะกินเวลาเท่าใด อาหารใดจะขาดแคลน ประเทศไทยจะต้องเพิ่มผลผลิตอะไร ปรับเปลี่ยนผลผลิตอะไร ฯลฯ เพื่อจะเป็นแนวทางของประเทศตั้งแต่ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2565 การศึกษานี้จะต้องมีข้อเสนอเบื้องต้นภายในไม่เกิน 2-3 เดือน

3. ต้องปรับปรุงระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ให้ตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างทันท่วงที ไม่ใช่ทำแบบเดิมๆ และต้องปรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ยังใช้ไม่หมดหลายส่วนมารองรับเรื่องนี้เช่นกัน กล่าวคือต้องใช้เงินที่มีอยู่ในปีนี้และที่จะต้องจ่ายในปีหน้ามารับมือและพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส สิ่งใดไม่จำเป็นให้ตัดทิ้งไป สิ่งใดรอได้ให้รอไว้ก่อน มิเช่นนั้นประเทศจะเดินต่อไปไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำและหนี้สินทั้งภาครัฐและครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกจนยากจะแก้ไข

4. ประเทศไทยต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อประชาคมโลกว่าเราเคารพและปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศ เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างจริงจัง รวมถึงพร้อมจะช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาจากวิกฤตความมั่นคงทางอาหารตามกำลังความสามารถของเรา เพราะจากตัวเลขขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ก่อนจะเกิดวิกฤตที่กล่าวมา ในปี 2562 ประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคน (25.9% ของประชากรโลก) เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีระดับความมั่นคงทางอาหารอยู่ที่อันดับ 52 จาก 113 ประเทศ แต่ก็ยังอยู่ในระดับคะแนน 65.1 ซึ่งถือว่าพอใช้ได้ จึงต้องรีบใช้วิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสอย่างทันท่วงที เพราะเรามีสภาพภูมิอากาศและพี่น้องไทยที่พร้อมและเอื้ออำนวย