posttoday

ปชป.จี้รัฐจัดงบรองรับสังคมสูงวัย หลังปี66ได้งบน้อย

29 พฤษภาคม 2565

"องอาจ" จี้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอรองรับสังคมสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น หลังพบงบปี66 ได้รับจัดสรรเพียง 448.7 ล้านบาท ชี้ผู้สูงวัยในสังคมชนบทที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่เข้มแข็ง ภาครัฐควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.65 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณว่า แบ่งออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ ได้แก่

1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

2. ยุทธศาสตร์ด้านสร้างความสามารถในการแข่งขัน

3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

เมื่อพิจารณาดูแล้วพบว่า ยุทธศาสตร์ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดคือ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 759,861.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.9 ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐคำนึงถึงการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเน้นไปที่แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 304,356.1 ล้านบาท รองลงมาคือ แผนงานยุทธศาสตร์สร้างหลักประกันทางสังคม จำนวน 269,465.2 ล้านบาท และแผนงานยุทธศาสตร์สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 81,269.0 ล้านบาท

ในขณะที่แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์นี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 1,906.4 ล้านบาท รวมถึงแผนงานบูรณาการพัฒนา และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้งบประมาณ จำนวน 1,474.3 ล้านบาท ส่วนที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุดในยุทธศาสตร์นี้คือ แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ได้รับเพียง 448.7 ล้านบาท เมื่อดูจากตัวเลขการจัดสรรงบประมาณ แสดงให้เห็นว่าภาครัฐยังไม่เห็นความสำคัญที่จะดูแลสังคมสูงวัยมากเท่าที่ควร

ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว ภาครัฐควรเห็นความสำคัญมากกว่านี้ เพราะตัวเลขผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะผู้สูงวัยในสังคมชนบทที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่เข้มแข็ง ภาครัฐควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้สูงวัยจำนวนมากในชนบทสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ เนื่องจากลูกหลานต้องเข้าไปดิ้นรนต่อสู้แสวงหาโอกาสของชีวิตในสังคมเมืองทำให้ไม่สามารถดูแลบุพการี ปู่ย่าตายาย ที่อยู่ในสังคมชนบทได้มากนัก การดูแลรองรับผู้สูงวัยจากภาครัฐจึงเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะยิ่งสูงวัยมากเท่าไหร่ก็ยิ่งช่วยเหลือตัวเองได้ยากมากขึ้นเท่านั้น

จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงผู้สูงวัยที่มากขึ้น บนพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตด้วย