posttoday

"30 ปีพฤษภาทมิฬ"ทวงหาคนสูญหายต่อไป

18 พฤษภาคม 2565

วงสัมมนานานาชาติว่าด้วย 30 ปีพฤษภา ลั่น เป้าหมายต่อไปต้องหาคนสูญหายอายุความยังไม่สิ้นสุด ข้องใจโลกคิดถึงเสรีภาพแต่ไทยกลับมีรัฐประหาร

?เมื่อวันที่ 18พ.ค.2565ได้มีการจัดสัมมนานานาชาติว่าด้วย “30 ปีพฤษภาประชาธรรมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า จากคำแนะนำของ ศ.วิชิต มันตราภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติ ที่บอกว่าอายุความของการสูญหาย ในเหตุการณ์พฤษภา 2535 นั้นยังไม่สิ้นสุด เพราะยังไม่ได้ถูกนับหนึ่ง ฉะนั้นสิ่งที่จะทำต่อไปคือทวงหาคนหาย เพื่อให้ความกระจ่างชัดขึ้น แม้ว่าประวัติศาสตร์บางส่วนจะถูกปล่อยออกมา ทั้งนี้สิ่งที่ตั้งเป้าไว้ต่อไป หลังจากสร้างอนุสรณ์สถานให้เกิดขึ้น เราเห็นว่าแม้บ้านเมืองจะมีความขัดแย้ง แต่ต้องไม่แตกแยกและเราจะต้องป้องกันไม่ให้ การรัฐประหารเกิดขึ้น

“เราจะเคลื่อนไหวในเรื่องของศพคนสูญหายว่าอยู่ที่ไหน ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือเผด็จการ จะต้องรับผิดชอบหาคนหายให้เรา ซึ่งครอบครัวของญาติจะถามหาความชอบธรรม ผู้สูญหายให้กลับคืนมา โดยไม่ให้รัฐบาลบ่ายเบี่ยงอีกต่อไป และการต่อสู้ของญาติจะต้องนำมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลง ให้กองทัพและรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ต้องคำนึงถึงสิทธิและความชอบธรรมของประชาชน” นายอดุลย์ กล่าว

สำหรับโอกาสในการทำรัฐประหาร แม้จะมีการพยายามขู่ประชาชนคนไทยตลอดเวลาแต่เชื่อว่าจากนี้ไปไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ต่างๆจะไม่มีวันยอม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ตนดีใจที่สังคมพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และเปลี่ยนแปลงภายใต้การต่อสู้ร่วมกัน ของญาติวีรชนกับภาคประชาชน ตนขอสัญญาว่าจะทำให้ดีที่สุดตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องของบ้านเมืองให้เกิดขึ้นให้ได้ ?ด้าน นายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึง เรื่องการปกครองประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์เมื่อปี 2534 ในประเทศไทย เป็นเรื่องของการรัฐประหาร ในส่วนนั้นจะมีการแทรกแซ งและส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก คือ ทิศทางที่โลกเคลื่อนไหว ไปในทางเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ประเทศไทยก็กลับไปมีการรัฐประหารในปี 2534 อีก ทั้งที่โลกยังคิดถึงเรื่องของเสรีภาพ แต่ทำไมประเทศไทยถึงมีรัฐประหารอีก อะไรเป็นสิ่งผิดปกติในประเทศไทย

?“ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน 2565 ยังเห็นว่าเรามีพลเอก ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลายท่าน ในขณะที่ประเทศต่างๆเปลี่ยนไป แต่ประเทศไทยยังคงหยุดนิ่งอยู่ในของลักษณะการเมืองระดับเก่า เป็นสิ่งที่ซึ่งกระบวนการประชาธิปไตยยังมีการหยุดชะงัก ถือว่ายังไม่สำเร็จในเรื่องของ กระบวนการสร้างรากฐานประชาธิปไตย ทำไมถึงยังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ทำไม ยังยากกว่าที่ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จ"นายกษิต กล่าว

อย่างไรก็ตามในเรื่องของกระบวนการวางรากฐานประชาธิปไตย นั้น มองว่า เพราะเป็นเรื่องของพื้นฐานความเชื่อ ทางวัฒนธรรมดั้งเดิม และกระบวนการที่ทหาร ต้องมาดูแลสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรม และเป็นเรื่องของการเคารพโครงสร้าง และกองทัพในประเทศไทยถูกมองว่า เป็นองค์กรและเป็นสถาบัน ที่ต้องมาช่วยปกป้องประเทศ ทำเพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่มีสถาบันอื่นๆที่ทำหน้าที่ในการดูแล และเป็นที่เชื่อถือในเรื่องของการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 90 ปีของการพัฒนาการในประเทศไทย

?อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวอีกว่า ชนชั้นกลางอาจจะยังมองถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางในช่วง 90 ปีที่ผ่านมา แต่คนเหล่านี้ยังไม่บรรลุข้อตกลง ที่จะกำหนดลักษณะของประเทศไทยเป็นอย่างไร นอกจากนี้ เห็นว่ายังมีกลุ่มที่พยายามอนุรักษ์นิยม อยู่ภายใต้กระบวนการเคลื่อนไหว ดังนั้นเราต้องทำงานร่วมกัน ในทิศทางที่สร้างสันติภาพ ต้องปรึกษาหารือกันและร่วมมือตัดสินใจ เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย?ขณะที่ ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวตอนหนึ่งว่า หลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เราตื่นตัวในทางการเมือง ต้องมีการปฏิรูปประเทศทำอย่างไร ให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งในสมัยรัฐบาลบรรหาร พรรคชาติไทยเคยมีนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง โดยใช้กระแสการปฏิรูปการเมืองเป็นธงนำ และได้ผล คือ พรรคชาติไทยได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 1 และเป็นแกนนำในการจัดตั้งฐบาล ซึ่งนายบรรหารสัญญาในการหาเสียงเลือกตั้ง คือ การปฏิรูปการเมือง

นอกจากนี้ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬมีทั้งสุขแลเศร้าๆ คือมีการปราบปรามอย่างรุนแรง และทุกวันนี้ญาติวีรชนยังตามหาศพไม่พบ ส่วนการนำมาซึ่งความสุขให้สังคมไทย ในบางเรื่อง คือ เกิดความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม เป็นกระแสกดดันที่ทำให้รัฐบาลในขณะนั้น ต้องไม่ผิดคำพูดและเกิดกระแสการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยครั้งใหญ่ ในปี 2540 คือ เกิดรัฐธรรมนูญ

?“ภาคประชาสังคมในยุคที่คุณทักษิณเป็นนายกฯ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร สิ่งที่ปรากฏก็คือตอนที่คุณทักษิณทำเยอะแยะไปหมด แต่พอเกิดการรัฐประหารในปี 2549 ไม่เหมือนกับหลายประเทศ ที่เกิดการรัฐประหารและประชาชนออกมาต้าน แต่ในปี 2549 ปรากฏไม่เกิดการต่อต้านสะท้อนให้เห็น อย่างไรก็ตาม เสาเข็มหลักในการจะเกิดประชาธิปไตย ซึ่งคนไทยหวงแหนรัฐธรรมนูญ หวงแหนหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐ เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ยังไม่หลังอย่างรากลึก ? ด้าน นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ญาติวีรชนพฤษภา 35 ทำงานอย่างเหนื่อยยาก ตลอด 30 ปี แม้จะมีเรื่องอุปสรรคต่างๆ และการที่จะทำให้รัฐบาลยอมรับ เราพยายามกดดันรัฐบาลให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุดใน 2 สมัยคือ สมัยรัฐบาลทักษิณและสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์แต่เราก็ต้องทำงานอย่างเหนื่อยยาก ข้อเสนอต่างๆก็ถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก จึงเห็นว่าการทำอะไรที่ฉาบฉวยของพรรคการเมือง ไม่ทำอะไรให้กับญาติและประชาชนที่เสียสละเลือดเนื้ออย่างแท้จริง

ด้าน ศ.วิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราคิดว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นอีกและปัจจุบันเราก็อยู่กับรัฐประหาร โดยล่าสุดนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ อะไรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายความมั่นคง ของประเทศไทยต้องระวังให้มาก เพราะส่วนมากเป็นกฎหมายที่ไม่สมสัดส่วนกับภัยที่เขาอ้าง เหมือนกับหลายประเทศชอบอ้างแบบนี้เช่นกัน ปัจจุบันนี้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระทบกับพื้นที่ทางภาคใต้มาก

อย่างไรก็ตาม เรื่องความโปร่งใสของประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยมีประเด็นมาก ซึ่งในอดีตเคยมีการ 3 คณะกรรมการเข้ามาดูแล แต่เมื่อมีเหตุการณ์อะไรใหญ่ๆ กลับก็ไม่มีชื่อคนระดับสูงที่เกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบจริงๆ รวมถึงเรื่องของการไต่สวน สอบสวน ซึ่งตนคิดว่าควรที่จะมีการแสดงเจตนารมย์ที่รับผิดชอบ ทั้งเรื่องของอาวุธและการใช้กำลังที่เกี่ยวข้อง ก็เกินความจำเป็น และถ้ามองเรื่องอาวุธที่จะใช้กับคนที่ประท้วงบนถนน เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาจะต้องถูกฝึกให้เข้าใจหลักเกณฑ์ด้วย

สำหรับ ความรับผิดชอบต่อเหยื่อ ในช่วงหลังจากพฤษภาทมิฬ ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อจะเยียวยา คือ จ่ายเงินซึ่งเป็นบรรทัดฐานที่เกิดขึ้น ในบรรทัดประวัติศาสตร์ไทย กรณีที่มีการเกิดเหตุใหญ่ๆแต่ละครั้งคือจ่าย แต่ไม่รู้ว่าใครรับผิดชอบ ซึ่งเราไม่ได้ว่าอะไรเรื่องการชดใช้ แต่เรื่องความจริงของผู้รับผิดชอบน้อยมาก ดังนั้นขอฝากไว้ว่าการเอื้อต่อเหยื่อ ไม่ได้แต่เฉพาะเรื่องเงิน แต่ความจริงที่ต้องแสวงหาข้อมูลที่ชี้ชัด และเปิดให้เห็นกฏหมายว่าฝ่ายไหน ลำดับสูงสุดรับผิดชอบไม่มากก็น้อย

ขณะที่การหาข้อเท็จจริงจะพึ่งรัฐอย่างเดียวก็ไม่เวิร์ค แต่เราต้องช่วยกันเขียนประวัติศาสตร์ แล้วบันทึกประวัติศาสตร์เราเอง ต้องเรียกร้องตามประวัติศาสตร์ที่เราละลึกถึงและจำได้ เพื่อให้ความยุติธรรมกับเขา เพราะเขาไม่สามารถที่จะอยู่ที่นี่ เพื่อเรียกร้องกับเรา และเราไม่เคยลืมเขา ต้องเน้นสิ่งที่จริงโดยไม่ลืมจิตวิญญาณ ของคนที่หายไปแล้ว แล้วตายไปแล้วที่ถูกกระทบ คำมั่นเล็กๆนี้ดีกว่าคำมั่นของบางฝ่าย ที่บอกว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีแต่ก็ยังมาเป็น หรือบางฝ่ายที่ยึดอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ไม่ว่าเขาจะถือว่าเป็นบรรทัดฐานที่เขาทำได้หรือไม่ แต่ความ จริงแล้วในโลกสากล ต้องยึดประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนเป็นหลัก ยึดสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ยึดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยกัน ซึ่งเริ่มจากบทเรียนที่เรามี จากพฤษภาทมิฬที่เรามีความทรงจำร่วมกัน