posttoday

"อภิสิทธิ์" ชี้ "คนรุ่นใหม่"ชัดเจนเรื่องประชาธิปไตย แม้ระบบมีปัญหา

01 พฤษภาคม 2565

"อภิสิทธิ์" สรุป 30 ปีพฤษภา’35 "คนรุ่นใหม่" มีแนวทางชัดเจนเห็นคุณค่าของประชาธิปไตย แม้ “ระบบ” มีปัญหา เชื่อแรงกดดันทำให้เปลี่ยนแปลงรธน.ให้เป็นสากลมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่3 ถึงบทเรียนเหตุการณ์ 30 ปีพฤษภา’35 ว่า ผ่านมา 30 ปีจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 สรุปสุดท้ายแล้วจะเห็นว่า ความตื่นตัวของประชาชนในปัจจุบัน เห็นได้ชัดคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ เรื่องประชาธิปไตยมีความชัดเจนแม้ว่าตัวระบบจะมีปัญหา แม้ว่าจะมีความล้มลุกคุกคลานความไม่ต่อเนื่อง แต่ประชาชนทั่วไปที่ได้เคยสัมผัส ประชาธิปไตยปี 2535 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน เห็นคุณค่าของประชาธิปไตย เห็นความสามารถของกระบวนการการเลือกตั้ง ที่สามารถได้รัฐบาลที่เข้ามาผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ของเขาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น นโยบายทางด้านสาธารณสุข นโยบายทางด้านการศึกษา เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการและมาตรการต่างๆ ดังนั้นความตื่นตัวและแรงสนับสนุนประชาธิปไตย 30 ปีผ่านมาไม่ได้ลดลงไป

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ขณะเดียวกันใน 30 ปีนั้นไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย กลับปรากฏว่าโลกเสรีประชาธิปไตย ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่เพียงแต่ประเทศไทย ที่ยังมีรัฐประหารอีกถึง 2 ครั้ง แม้แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมายาวนาน ก็เริ่มพบว่ามีผู้นำเข้ามาผ่านระบบการเลือกตั้ง ที่ไม่ได้มีค่านิยมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แฝงเข้ามาเป็นผู้นำในลักษณะ อำนาจนิยม ,ชาตินิยม , ประชานิยมเกิดขึ้นมากมาย แม้กระทั่งในประเทศปัจจุบันโลกตะวันตกหรือโลกเสรีประชาธิปไตย บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเราก็จะเห็นว่า ผู้นำในประเทศเหล่านั้นก็ยังมาจากการเลือกตั้ง แต่ว่าจะยอมรับหรือไม่เท่านั้นว่า เป็นการเลือกตั้งตามประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะฉะนั้นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น กับระบอบประชาธิปไตยไทยขณะนี้ แม้จะมีเหตุผลที่มาที่ไปสภาวะแวดล้อมเฉพาะ ที่เกี่ยวกับสังคมไทย แต่ก็มีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกด้วย ที่ประชาธิปไตย

“โดยเฉพาะเสรีประชาธิปไตยอ่อนแอลงเปิดทางให้มีการได้ผู้นำที่มีลักษณะอำนาจนิยมขึ้นมา คำถามก็คือว่าจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ในทัศนะของผมยังเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งดูจะไม่เป็นที่ยอมรับของคนจำนวนมาก แม้จะผ่านกระบวนการประชามติมา แต่ผ่านมาโดยไม่เปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ให้ข้อมูลกับประชาชนได้ครบถ้วนทุกด้าน รวมไปถึงเกิดขึ้นในภาวะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อย ลงมติรับรัฐธรรมนูญด้วยความหวังเพียงแต่ว่า ให้ประเทศเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งเร็วขึ้น ผมเชื่อว่าแรงกดดัน ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ คงจะดำรงอยู่แน่นอน และถึงจุดหนึ่งก็คงจะต้องนำไปสู่ การแก้ไขเพิ่มเติมแม้กระทั่งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ปัญหามีอยู่ว่าแม้สมมุติเราไปถึงจุดนั้นแล้ว การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ ของประเทศในรอบที่ยาวนานกว่า 30 ปี ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยมีความยั่งยืน”

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ตนยังเชื่อว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ในแง่ของได้ความเป็นรัฐธรรมนูญ ที่มีความเป็นสากลมากขึ้น เช่น ไม่ให้อำนาจคนที่มาจากการแต่งตั้ง เข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ตรงนี้คงไม่ค่อยมีการโต้แย้งมากนัก แต่จุดที่ประเทศไทยยังไม่สามารถหาความลงตัวได้ คือ กลไกที่จะมาตรวจสอบถ่วงดุล คนที่มาจากการเลือกตั้งไม่ให้ทุจริต ไม่ให้ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง ฝ่าฝืนกฎหมาย ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ หรือบั่นทอนกลไกต่างๆในสังคม ไม่ให้มีบทบาทในการมาตรวจสอบตัวเอง ตรงนี้จะทำอย่างไร เพราะถ้ากลับไปในความเชื่อที่ว่า ปล่อยให้เป็นเรื่องของเสียงข้างมากในสภา ก็เชื่อว่ามีโอกาสสูงมาก ว่าจะได้ผู้นำในที่สุดเข้ามาแล้วใช้อำนาจในทางไม่ชอบแล้ว ก็ต้องนำไปสู่การประเชิญหน้าบนท้องถนนอีก จะกลับไปสู่ระบบที่หวังว่าทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการของศาลยุติธรรมปกติคงเป็นไปได้ยาก เพราะกลไกของศาลไม่ค่อยเหมาะกับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จะเป็นองค์กรอิสระก็ต้องหาจุดที่ลงตัวให้ได้ว่า องค์กรอิสระจะต้องออกแบบมาอย่างไร จึงจะมีทั้งความเชื่อมโยงและยึดโยงกับประชาชน ควบคู่ไปกับการไม่ตกไปอยู่ภายใต้การครอบงำ ของคนที่มาจากการเลือกตั้ง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า โจทย์ตรงนี้คือโจทย์ที่ยาก แต่ถ้าเราแก้ไขโจทย์ตรงนี้ได้ ก็มองว่าประชาธิปไตยไทย จะสามารถเดินหน้าไปได้ และมีโอกาสที่จะยั่งยืนมากขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าในปัจจุบัน แม้มีการเถียงกันในเรื่องของรัฐธรรมนูญพอสมควร แต่น้อยคนที่หยิบตรงนี้ขึ้นมา เป็นประเด็นหลักที่บอกว่า เราจำเป็นต้องแสวงหาทางออกร่วมกัน กลับกลายเป็นว่าฝ่ายหนึ่ง อยากจะกลับไปเพียงแค่รูปแบบ ที่เสียงข้างมากมีอำนาจทุกอย่าง และมีความสุ่มเสี่ยงมาก ว่าจะยังย้อนกลับไปสู่พฤติกรรมเดิมๆ ขณะที่อีกฝ่ายแทนที่จะพยายามยอมรับ การตัดสินของประชาชนที่เป็นเสียงข้างมากในสังคมแล้วออกแบบกระบวนการถ่วงดุล กลับพยายามใช้กติกาในการที่จะเอื้อให้เกิดความได้เปรียบของตัวเอง ในการที่จะครองอำนาจต่อไป ในที่สุดก็จะเป็นปัญหาเพราะจะเป็นความขัดแย้ง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับกติกาทำนองนี้

“ดังนั้นความท้าทายตรงนี้ ผมคิดว่าถ้าเรานึกย้อนกลับไปถึงการต่อสู้ เดือนพฤษภาคม 2535 เป็นการต่อสู้เพื่อจะให้ประเทศไทย หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ วัฏจักรทางการเมืองที่สลับสับเปลี่ยน ระหว่างการยึดอำนาจกับการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าเราไม่เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญเหล่านี้ แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่พยายามแก้ไขจุดอ่อนที่ผ่านมา โอกาสที่ยังอยู่ในวังวนของวงจรวัฏจักรเดิมๆก็ยังมี จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก และผมก็อยากจะเห็นผู้ที่สานต่อเจตนารมณ์ การต่อสู้ในปี 2535 ได้ตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ และขับเคลื่อนเพื่อนำเราเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ประเด็นแรกที่อยากจะเห็น คือก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทำอย่างไรเราไม่ให้กติกาในปัจจุบัน ที่ทำให้วุฒิสภามีโอกาสขัดแย้งกับเสียงข้างมาก ของสภาผู้แทนราษฎร เพราะอาจจะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง ถ้าเราปลดตรงนี้ได้ ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ประชาชนยอมรับและทุกพรรคการเมืองตกลงกัน ที่จะทำกติกาใหม่ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของ แล้วเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต ตรงนั้นน่าจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญที่สุดต่อไป ในการสานต่อการต่อสู้ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535

ผู้สื่อข่าวถามว่า บางคนมองว่าเลือกที่จะเอาเผด็จการทหาร ไปสู้กับเผด็จการทุนนิยม คิดว่าในอนาคตจะมีอะไรที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า ตนไม่เชื่อว่าจะเอาเผด็จการหนึ่ง ไปสู้กับอีกเผด็จการหนึ่ง แนวคิดนี้ในที่สุดประเทศก็อยู่กับเผด็จการ และความอันตรายของเผด็จการ คือเรื่องของการที่มีอำนาจโดยที่ไม่ถูกตรวจสอบ เพราะฉะนั้นถึงจุดหนึ่งฝ่ายที่คิดว่าตัวเองเข้ามา เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเพราะอีกฝ่ายมีปัญหา ก็กลับกลายเป็นว่าใช้อำนาจไปในทาง ที่ผิดเสียเอง เช่น การที่มีคนจำนวนมากสนับสนุน รัฐบาลชุดปัจจุบันหรือสนับสนุนการรัฐประหาร ด้วยความเชื่อที่ว่าจะมาแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ

“แต่ผ่านมาถึงวันนี้ก็น่าจะปรากฏชัดแล้วว่า ในที่สุดสภาพปัญหาต่างๆ เช่นเรื่องการ ทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้ดีขึ้น และใช้อำนาจในทางที่ผิด มีการทำให้องค์กรอิสระเสื่อมเสียความน่าเชื่อถือ เพราะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองเสียเอง ดังนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องหลุดพ้นจาก การมองสถานการณ์เฉพาะหน้า และมองว่าเราชอบ หรือไม่ชอบฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ต้องพยายามคิดถึงการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน โดยการวางระบบในระยะยาว ที่จะช่วยให้เราได้รัฐบาลตามความต้องการของประชาชน แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะต้องใช้อำนาจอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ตามหลักนิติรัฐนิติธรรม”

เมื่อถามว่า แต่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาก็ไม่เห็นเป็นไปได้อย่างที่พูด นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า ไม่ได้เพราะเราขาดความพอดี ในวันที่เรามีประชาธิปไตยเหมือนกับเต็มใบ เราก็ปล่อยให้เกิดการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ และเกิดความขัดแย้งแล้วนำไปสู่การเมืองบนท้องถนน ในวันที่เราพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ เรากลับโยนประชาธิปไตยทิ้งไป ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่อันตราย แต่ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่ามีเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่เกิดขึ้นมากกว่านั้นอีก ในขณะที่ทุกคนจะบอกว่าสนับสนุนให้ประเทศไทย ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลับกลายเป็นว่าฝ่ายหนึ่งถูกมองว่า เรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่ชัดเจนว่า สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์จะเป็นอย่างไร ขณะที่อีกฝ่ายซึ่งบอกว่าต้องการที่จะปกป้อง รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ กลับไม่มีความชัดเจนว่า จะให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่ารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ตั้งแต่ปี 2535 มาจนถึงปัจจุบันแต่ละฉบับสามารถตอบโจทย์ปัญหา หรือความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยได้มากน้อยแค่ไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราต้องให้ความเป็นธรรม กับคนที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 คิดว่าเป็นผู้ร่างที่มีวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างชัด มีแต่นวัตกรรมทางการเมืองขึ้นมา ให้มีประชาธิปไตยโดยตรง ให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ให้มีองค์กรอิสระมาตรวจสอบ เพียงแต่เขาคาดไม่ถึงว่า เมื่อบังคับใช้จริงไประยะหนึ่งแล้ว ถูกบิดเบือนได้โดยผู้มีอำนาจ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 2550 เข้ามา ก็พยายามหาความพอดี แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย แต่พอมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ต้องบอกว่าไม่เหมือนปี 2540 และ 2550 ตรงที่ว่า ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างชัดเจน เพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอำนาจสามารถ ที่จะถืออำนาจนั้นต่อได้ หลังการเลือกตั้ง จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่ออกแบบมาตอนนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สามารถเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยเสียงของวุฒิสภาเป็นผู้ค้ำจุนไว้

“ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาในลักษณะนี้ กลายเป็นรัฐธรรมนูญ เหมือนกับเฉพาะกิจ ในแง่ของผู้มีอำนาจ แต่เป็นกติกาซึ่งขาดหลักสากลรองรับ ประเทศไทยที่หลายองค์กรบอกว่า ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เฉพาะมาตรา 272 มาตราเดียว ก็ทำให้เขาตัดสินใจได้แล้วว่า ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบสากล และยังไม่นับเรื่องการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ การตีความรัฐธรรมนูญในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การคำนวณสูตร ส.ส. ไปจนถึงการตีความคำว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาอีกมากมาย ซึ่งปัจจุบันกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ขององค์กรอิสระจนทำให้ระบบ ขององค์กรอิสระถูกตั้งคำถามไปหมด”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้ทุกคนมองเห็นแล้ว ว่าองค์กรอิสระบางหน่วยงาน อาจจะต้องทำงานตามรัฐบาลที่มีอำนาจในขณะนี้ อดีตนายกรัฐมนตรี ตอบว่า สุดท้ายก็กลายเป็นว่าไม่เป็นองค์กรอิสระจริง โอกาสที่มันจะเหวี่ยงกลับไปสุดขั้วอีก เพราะฝ่ายหนึ่งที่เคยไม่พอใจองค์กรอิสระมาช้านาน ก็อ้างว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง มาทำลายรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็ยิ่งอาศัยตรงนี้แล้วก็จะพยายามหาทาง ไม่ให้มีองค์กรอิสระที่มีอำนาจมากพอ ซึ่งก็จะยิ่งหมุนกลับไปสู่สภาพ ที่สุ่มเสี่ยงกับการที่เสียงข้างมาก ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ ที่ตนกังวล คือ ถ้ามีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใต้บรรยากาศที่ผ่านมา 4-5 ปีนี้ ฝ่ายที่ไม่ต้องการองค์กรอิสระ จะได้รับการขานรับพอสมควร แต่ถ้าจะดำรงองค์กรอิสระไว้ก็เห็นชัดเจนว่า ดำรงอยู่ในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ เพราะไม่ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งแล้ว เราจะต้องมีวิธีการในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นที่มา การใช้อำนาจหรือการตรวจสอบองค์กรอิสระอย่างไร ที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ เป็นไปตามหลักของประชาธิปไตย และเป็นไปตามหลักของธรรมาภิบาลด้วย