posttoday

"ทีมชัชชาติ" ปลุกดันแนวคิด "เริ่มจากตัวเอง"ใช้กทม. ต้นแบบดูแลสิ่งแวดล้อม

04 เมษายน 2565

"พรพรหม"ทีมชัชชาติ"ปลุกแนวคิด "เริ่มจากตัวเอง" ใช้กทม. เป็นต้นแบบดูแลสิ่งแวดล้อม สร้างความตื่นตัวให้ประชาชน พร้อมกระตุ้นหน่วยงานรัฐ- เอกชน ลดปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก"

เมื่อวันที่ 4 เม.ย.65 นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ และอดีตผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร New Dem หรือ กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จาก “แคมเปญหาเสียง” สู่ “ศาลาว่าการกทม.” การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวความคิด “เริ่มจากตัวเอง” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2565 ผมได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันให้เกิดแนวคิด “การหาเสียงแบบรักเมือง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ภายใต้การนำของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร

ขบวนรถหาเสียงรักเมือง 23 คัน ประกอบไปด้วย “รถเมล์ไฟฟ้า” 2 คัน “รถตุ๊กไฟฟ้า” 5 คัน “มอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า” 7 คัน “รถกระบะปิ้กอัพไฟฟ้า” 1 คัน และ “รถยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ” อีก 8 คัน ขับออกจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง)หลังจบการรับสมัคร และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน บริเวณเขตยานนาวา-บางคอแหลม เพื่อกระตุ้นประชาชนและสังคมตระหนักรู้ถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นภายในช่วงการ #เลือกตั้งผู้ว่า ฯ และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

ในปัจจุบัน ปัญหาฝุ่น PM2.5 อาจจะเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมหลักที่ชาวกรุงเทพฯเผชิญหน้าอยู่ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผมขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม พบว่าแท้จริงแล้วปัญหาใหญ่ที่จะกระทบทุกมิติของชีวิตประชาชน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “ภาวะโลกรวน” จากการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” จากเชื้อเพลิงฟอสซิล ปัญหาดังกล่าวชัดเจนมากขึ้นเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาจากอากาศที่เย็นลงอย่างกะทันหันในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งแม้ว่าหลายคนอาจจะดีใจ แต่เป็นที่สังเกตได้ว่าต้นตอมาจากปรากฏการณ์ “โพลาร์วอร์เท็กซ์” ที่เกี่ยวโยงกับภาวะ ”โลกรวน" นอกจากนั้นยังมีผลกระทบในอีกหลายรูปแบบ เช่น น้ำท่วม ระดับน้ำทะเลหนุน และ คลื่นความร้อน ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มผู้มีรายได้ตํ่าในกรุงเทพฯ กว่า 2 ล้านคน

จากปัญหาเบื้องต้น ทีมชัชชาติจึงได้เสนอแนวคิด “การหาเสียงแบบรักเมือง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ลดปัญหามลพิษ และ ปัญหาขยะ จากการหาเสียงครั้งนี้ ทางทีมผลักดันให้เกิดรถหาเสียงไฟฟ้า (EV) เพื่อเป็นการจำกัด “ก๊าซเรือนกระจก” และ PM2.5 รวมถึงการลดป้ายหาเสียงโดยป้ายไวนิลต้องสะดวกต่อการหมุนเวียน (Recycle) และแผ่นพับหาเสียงที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น แนวทางการหาเสียงแบบรักเมืองนั้นเป็นมากว่าเพียง “แคมเปญหาเสียง” ที่ตอบโจทย์กับยุคสมัยปัจจุบัน แต่เป็นส่วนสำคัญของหลักคิดการจัดการสิ่งแวดล้อมโดย “เริ่มจากตัวเอง” แน่นอนว่าบริบทของ “ตัวเอง” นั้นมีหลายขนาด เช่นจากตัวบุคคล จากชุมชม จากบริษัท หรือ อื่นๆ โดยแต่ละบริบทก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ “ฟุตปริ้นท์” ที่แตกต่างกันไป ซึ่งในกรณีของนายชัชชาติก็จะต้องมีผลกระทบอยู่ไม่น้อยเนื่องจากจะต้องหาเสียงทั่วทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ หากเพียงแค่ลองจินตนาการ ถึงมลพิษจากรถแห่ ป้าย และขยะจากใบปลิว

การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและท้าทาย มีหลากหลายปัจจัยกว่าที่จะประสบความสำเร็จ เช่น การต่อต้านจากกลุ่มผู้เสียประโยชน์ หรือบางครั้งแม้จะมีนโยบายภาครัฐอยู่แล้วแต่ถ้าการบังคับใช้ยังไม่ครบถ้วนก็ทำให้ปัญหายังคงอยู่ เป็นต้น ซึ่งเหตุนี้ทำให้หลักคิดการ “เริ่มจากตัวเอง” ที่ควบคุมปัจจัยต่างๆได้เองนั้นยิ่งมีบทบาทที่สำคัญ

ผมอยากเสนอหลักคิดที่สามารถและควรนำไปต่อยอดโดยผู้ว่าฯคนใหม่ที่จะเข้าไปบริหารกทม. ไม่ว่าจะเป็นนายชัชชาติหรือท่านอื่นใด คือ “ตัวเอง” บริบทของ กทม. มีขนาดใหญ่และเป็นองค์กรที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง เนื่องจากกทม.มีทรัพย์สินมากมายและต่างมีการใช้พลังงานสูง ตัวอย่างเช่น “อาคาร” ต่างๆในสังกัด อย่างเช่นศาลาว่าการทั้ง 2 แห่ง สำนักงานเขต 50 เขต โรงเรียนในสังกัด เกิน 400 แห่ง ศูนย์กีฬาและศูนย์เยาวชน รวมถึง “ยานพาหนะ” เช่น รถเก็บขยะ รถเทศกิจ รถของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ หรือ มลพิษจากกองขยะและนำเสียที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกทม. เป็นต้น โดยทั้งหมดที่กล่าวนี้ต่างเป็นทรัพย์สินของกทม. ซึ่งผู้ว่าฯมีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องมีหน่วยงานอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผู้ว่าฯท่านใหม่ จะกำหนดแนวทางที่จะลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” จากทรัพย์สินของกทม. ผ่านการสนับสนุนวิธีการจัดหาแหล่งพลังงานสะอาด พร้อมกับยกระดับอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพทางพลังงาน และ นำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ เช่น การส่งเสริมให้ติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์เซลล์ในอาคารต่างๆ หรือ “หลังคาสีขาวสะท้อนแสง” ที่ช่วยลดการดูดซับความร้อนเข้ามาในตัวอาคาร ส่วนสำหรับยานพาหนะคือการเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้า (EV) หรือ hybrid ทั้งหมด และมีการติดตั้งที่ชาร์จ EV หรือจุดแลกแบตเตอรี่ ในพื้นที่ของ กทม.

"ถ้า กทม. เป็นตัวอย่างในการจัดการเรื่องก๊าซเรือนกระจกผ่านการ “เริ่มจากตัวเอง” ได้ จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้กับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีการผลิต “ฟุตปริ้นท์” สูง ๆ หรือ การลดค่าใช้จ่ายให้กับกทม.ในระยะยาว เช่นการผลิตไฟฟ้าเองจากหลังคาโซลาร์ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างการตระหนักรู้ และ การตื่นตัวแต่สาธารณะ รวมถึงเป็นต้นแบบแก่สังคมนานาชาติ ในการเป็นมหานครที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" ทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมของนายชัชชาติ กล่าว