posttoday

"วิรัช-เมีย"แห้วศาลรธน.ตีตกคำร้องขอกลับมาปฏิบัติหน้าที่ส.ส.คดีทุจริตสร้างฟุตซอล

30 มีนาคม 2565

ศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้อง“วิรัช-ภรรยา-น้องเมีย”หลังขอตีความศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่คดีทุจริตสร้างฟุตซอลขัด รธน. กรณีเป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอื่น

เมื่อวันที่30 มี.ค.2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องกรณี นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับรับฟ้องในคดีทุจริตโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล เป็นเหตุให้ผู้ร้องทั้ง 3 ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 หรือไม่ โดยศาลฯ เห็นว่า กรณีเป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอื่น ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 (4) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ผู้ร้องทั้ง 3 ไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้

ขณะเดียวกัน มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องกรณีนางสาวชลิตา บัณฑุวงศ์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 5 มาตรา 9 มาตรา 11 มาตรา 12 ตามมาตรา 16 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มาตรา 29 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา 197 หรือไม่

โดยศาลฯ เห็นว่า เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

ส่วนที่อ้างว่ามีการละเมิดที่ไม่ได้เป็นผลมาจาก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยตรง เป็นกรณีที่มีเหตุมาจากการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธ.ค.63 ข้อ 3 ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ออกโดยองค์กรซึ่งใช้อํานาจนิติบัญญัติ กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตาม พ.ร.ป.หมายวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 ประกอบมาตรา 47 ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามมาตรา 213

ส่วนกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายสำลี รักสุทธี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่ ศาลฯ อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และให้สำนักงานฯ เสนอประเด็นพิจารณาวินิจฉัย แต่จะได้กำหนดประเด็นพิจารณาวินิจฉัยในคราวประชุมครั้งถัดไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลาการประชุม เนื่องจากเดินทางไปต่างจังหวัด จึงเป็นกรณีประธานศาลฯ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ มติที่ประชุมตุลาการศาลฯ ซึ่งมีองค์คณะในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัยไม่น้อยกว่า 7 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคหนึ่ง ที่ประชุมจึงมีมติเลือกนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 18 วรรคสี่

\"วิรัช-เมีย\"แห้วศาลรธน.ตีตกคำร้องขอกลับมาปฏิบัติหน้าที่ส.ส.คดีทุจริตสร้างฟุตซอล

\"วิรัช-เมีย\"แห้วศาลรธน.ตีตกคำร้องขอกลับมาปฏิบัติหน้าที่ส.ส.คดีทุจริตสร้างฟุตซอล

\"วิรัช-เมีย\"แห้วศาลรธน.ตีตกคำร้องขอกลับมาปฏิบัติหน้าที่ส.ส.คดีทุจริตสร้างฟุตซอล