posttoday

"สุชัชวีร์"ย้ำวิสัยทัศน์ชู " กรุงเทพฯ" เป็นเมืองสวัสดิการ

13 มีนาคม 2565

"ดร.เอ้ สุชัชวีร์" โชว์วิสัยทัศน์ ชี้กรุงเทพต้องเป็นเมืองสวัสดิการ ระบุจะเปลี่ยนกรุงเทพได้ ต้องเปลี่ยนคุณภาพชีวิตคนเป็นเรื่องแรก

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 65 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ที่จัดโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคจัดขึ้น ตอนหนึ่งว่า วิสัยทัศน์ที่บอกชัดคือ กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองสวัสดิการ ที่ทันสมัย ต้นแบบอาเซียน เพราะสวัสดิการ คือการประคับประคองทุกคนให้พอที่จะยืนได้ แต่ถ้าเด็กยังได้แค่ 20 บาทก็ยืนไม่ได้ ถ้าการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข ต้องไปอออยู่ที่โรงพยาบาลของรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุขไม่มีหมอเฉพาะทาง ตอนบ่ายไม่ต้องตรวจ ทั้งที่มีศูนย์กระจายอยู่ 19 แห่ง ทั่ว กทม. มีศูนย์ย่อยเกือบ 100 แห่ง มีศูนย์ทุกชุมชน แต่เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็ทำหน้าที่เพียงแค่ส่งต่อเท่านั้น แล้วจะมีไปทำไม สิ่งนี้ก็คือ “คิดไม่ครบ ทำไม่จบ”

ขณะที่เรื่องการศึกษานั้น สิ่งที่กรุงเทพฯ ต้องทำคือการมีโรงเรียนดีมีคุณภาพใกล้บ้าน 50 เขต ต้องมี 50 โรงเรียนต้นแบบ แต่ปัจจุบันเคยสังเกตหรือไม่ว่าต้องย้ายโรงเรียน 5 ครั้ง ศูนย์เลี้ยงเด็กในชุมชน - อนุบาลถึงประถม - มัธยมต้น – มัธยมปลาย - มหาวิทยาลัย ขณะที่โรงเรียนสาธิต ดูแลตั้งแต่ก่อนชั้นอนุบาล – ประถม – มัธยม – มหาวิทยาลัย ดังนั้นการมีโรงเรียนต้นแบบลักษณะนี้ จะทำให้ไม่ต้องย้ายโรงเรียนเลย และยังทำให้จัดหนักจัดเต็มได้ เพราะคุ้ม มีห้องสมุดที่ดีที่สุดได้ มีครูที่ดีที่สุดได้ มีครูภาษาอังกฤษจากอังกฤษอเมริกาได้ เพราะ 1 โรงเรียน 1 เขต เดินทางไม่นาน

ศูนย์บริการสาธารณสุขวันนี้ ในหลายเขตสร้างไว้อย่างดี แต่ไม่มีคน เพราะไม่มีหมอ แต่แค่เพิ่มหมอ 3 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น และเป็นหมอเฉพาะทาง ชีวิตคนกรุงเทพฯ เปลี่ยน เพราะไม่ต้องไปอั้น หรือไปออที่โรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงของรัฐ จากการที่ได้เดินดูปัญหาทั้ง 40 เขต พบว่ามีผู้สูงอายุทุกบ้าน ตั้งแต่บ้านมีรั้ว คอนโดมิเนียม แฟลต ชุมชน หมู่บ้านเก่าๆ จนถึงชุมชนที่ผู้สูงอายุไม่ได้ติดเตียง แต่ติดเสื่อเพราะไม่มีเตียงให้ติด

การเป็นเมืองสวัสดิการอย่างนี้ สามารถคำนวณได้เลยว่า ในอนาคตผู้สูงอายุมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ และท่านมีอายุยืนขึ้น เพราะมียาดีขึ้น มีการตรวจจับดีขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการอยู่อย่างมีคุณภาพ เมื่อผู้สูงอายุมีมากขึ้น ขณะที่เด็กรุ่นที่ได้ค่าอาหารกลางวันเพียง 20 บาท ที่ยังไม่ได้รับการศึกษาแบบจัดหนักจัดเต็ม เมื่อเด็กกลุ่มนี้โตขึ้นมาจะแบกประเทศไหวได้อย่างไร

เพราะในอนาคต 1 คน จะแบกคนผู้สูงอายุ 8 คน แล้วคนที่จะแบกขนาดนั้น ขาต้องแข็งแรง ร่างกายต้องสมบูรณ์แค่ไหนถึงจะจ่ายภาษีได้ขนาดนั้น สมองต้องดีแค่ไหน จิตใจต้องทนทานแค่ไหน แต่กรุงเทพฯ วันนี้ไม่พร้อมเลย แต่ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ทำได้ เพราะเรื่องการจัดการศึกษา การจัดสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่เบ็ดเสร็จ 2 ส่วนนี้ ต้องทำจริงจัง ทำให้ครบทำให้จบ ชีวิตคนกรุงเทพพลิกทันที

ดังนั้น “สวัสดิการ” ด้านการศึกษา สาธารณสุข จะทำให้คนกรุงเทพฯ สามารถลุกขึ้นมาได้ เดินได้ “ทันสมัย” คือการทำให้เขาได้วิ่ง ถ้าผมมีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องเป็นเมืองที่อินเทอร์เน็ตเป็นสวัสดิการพื้นฐานของเมือง เหมือนอีก 59 เมืองทั่วโลก ซึ่งเรื่องนี้ได้คำนวนไว้แล้ว กรุงเทพฯ ประมาณ 1,600 ตร. กม. 150,000 จุด กรุงเทพฯ มีกำลังทำได้ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงออนไลน์จะทำให้ชีวิตเปลี่ยน การมีอินเทอร์เน็ตฟรี 150,000 จะทำให้เด็กมีโอกาสเห็นโลก พ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ได้ และทำให้ระบบสาธารณสุขเข้าถึงพี่น้องประชาชนผ่านอินเทอร์เน็ตได้ จากการที่เคยเป็นอธิการบดีผมเห็นแล้วว่าคนไทยทำได้ มีหมอ มีอุปกรณ์ที่ดี ชีวิตเปลี่ยน

\"สุชัชวีร์\"ย้ำวิสัยทัศน์ชู \" กรุงเทพฯ\" เป็นเมืองสวัสดิการ

เรื่องน้ำคือชีวิต ถ้าน้ำยังเน่า ชีวิตก็ไม่มีทางดีได้ การที่กรุงเทพฯ มีน้ำเน่า น้ำท่วม เป็นเพราะน้ำนิ่ง น้ำตาย น้ำเน่า จากการได้ไปดูประตูระบายน้ำมาแล้วร่วมร้อยแห่ง พบว่าบางประตูไม่เคยเปิด หรือไม่เคยปิด หรือไม่เคยทำงานทิ้งไว้เลย หรือที่มีอยู่ก็รอคน รอคำสั่งให้เปิดให้ปิด แต่ที่จริงแล้ว เมืองที่ทันสมัยการไหลเวียนของน้ำเหมือนเส้นเลือดของเมือง เป็นระบบอัตโนมัติหมดแล้ว เช่นเดียวกับระบบปั๊ม ซึ่งจะเห็นว่าตามชุมชนยังใช้ปั๊มดีเซล และต้องไขกุญแจ ไม่มีแบตเตอรี่ ต้องแบกแบตเตอรี่มาเพราะกลัวหาย เรื่องนี้สะกิดนิดเดียว จุดนิดเดียว กรุงเทพฯ เปลี่ยนทันที

สำหรับการเป็นต้นแบบของอาเซียน เป็นเรื่องที่จะทำให้คนได้วิ่งเร็วที่สุด เพราะผมเชื่อเรื่องการแข่งขัน ถ้าศูนย์บริการสาธารณสุขแข่งกันบริการประชาชน ผู้อำนวยการเขตแข่งกันทำงานให้เร็ว โรงเรียนแข่งกันพัฒนาคุณภาพ แต่มีบางคนบอกว่า การสอนเด็กให้แข่งตัวเองนั้นไม่ถูก ซึ่งตนก็ยืนยันว่าไม่ถูก หรือสอนให้ข้าราชการทำงานโดยไม่แข่งขันกับคนอื่นก็ไม่ถูก หรือนักธุรกิจถ้าไม่แข่งขันก็ไม่มีทางรอด ดังนั้นการที่จะเป็นต้นแบบของอาเซียนทำให้ตาของเราจับจ้องสิ่งที่มันควรจะดี ซึ่งการมองสิ่งที่ดีเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายตรงนั้นให้ได้ แต่ถ้าไม่พูดอะไร มันก็เหมือนเดิม อีก 4 ปี เลือกตั้งใหม่ก็เหมือนเดิม จนคนแทบจะหมดหวังไปแล้วว่าเปลี่ยนไม่ได้