posttoday

"ประยุทธ์" เผยรัฐบาลลุยพัฒนาหลักสูตรอุดมศึกษารูปแบบใหม่

03 กุมภาพันธ์ 2565

นายกฯเผยครม.เห็นชอบนโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา มุ่งตอบสนองการทำงาน การสร้างอาชีพ ผลิต "กำลังคนขั้นสูง" สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

หลังการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ผมก็ได้กลับมาเดินหน้าการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ในทันที โดยผมได้สั่งการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสานต่อนโยบายโดยแปลงออกมาให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2 เดือน ทั้งด้านแรงงาน การท่องเที่ยว ความร่วมมือการค้าการลงทุน และด้านอื่นๆ แล้วให้รายงานความก้าวหน้าต่อผมในทันที รวมทั้งการสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่ ในการดำเนินการคู่ขนานกันไปด้วย เนื่องจากสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะเปิดประตูสู่การสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมายในรอบกว่า 30 ปี

นอกจากการสร้างความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว สิ่งสำคัญที่ผมติดตามอยู่ตลอดเวลา คือการสร้างคนในชาติด้วยการศึกษา ที่ต้องพัฒนาให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง และพลวัตรของโลก จะหยุดอยู่กับที่ หรือทำสิ่งเดิมซ้ำๆ ไม่ได้

ดังนั้นในการประชุม ครม.ครั้งล่าสุด (1 ก.พ.65) จึงได้มีการเห็นชอบนโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือที่เรียกว่า “Higher Education Sandbox” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จะพัฒนาหลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่ ที่ทลายข้อจำกัดเดิมในอดีต เพื่อตอบสนองแนวทางการศึกษาในอนาคตที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว มุ่งเป้าให้เกิดประสิทธิภาพการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ เช่น ผู้สอนไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเสมอไป แต่มาจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนก็ได้

ส่วนการเรียนการสอนในรายวิชาบังคับบางวิชา ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในสถานศึกษา แต่สามารถไปเรียนจากการทำงานในสถานประกอบการแทน โดยไม่เพียงให้ความสำคัญในเชิงหลักการอย่างเดียว แต่เน้นประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริงไปพร้อมๆ กันด้วย อีกทั้งเป็นการศึกษาที่ไม่เน้นปริญญา แต่มุ่งตอบสนองการทำงาน การสร้างอาชีพ เป็นการผลิต "กำลังคนขั้นสูง" สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว โดย อว.ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มหาวิทยาลัยต่างๆ ภาคอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่มากขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นอีกก้าวสำคัญของ “การปฏิรูปการศึกษา” ในระดับมหาวิทยาลัย ที่จะสร้างคนขึ้นมารองรับการขับเคลื่อนประเทศชาติ

ส่วนในระดับ "การศึกษาขั้นพื้นฐาน" รัฐบาลได้ผลักดัน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ให้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละท้องถิ่น ทั้งอาชีพและความต้องการแรงงาน โดยกำหนด "โรงเรียนนำร่อง" และสร้าง "เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง" จากการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ที่เน้นการส่งเสริมความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน เป็นการกระจายอำนาจและให้เสรีในการปฏิบัติแก่สถานศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสการพัฒนาที่คล่องตัวขึ้น อีกทั้งเน้นสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานสำคัญในการเรียนรู้ให้กับลูกหลานของเรา

ทั้งหมดนี้ ผมได้เน้นย้ำให้มีการทำงานบูรณาการกันอย่างครบวงจร ตั้งแต่ "ต้นทาง" ที่มีกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวง อว. เป็นผู้ผลิตกำลังคนเข้าสู่ระบบ และ "กลางทาง+ปลายทาง" ที่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน เป็นต้น เป็น "ตลาดแรงงาน" โดยมองทั้งความต้องการแรงงานในประเทศ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สถานประกอบการ และภาคเอกชนไทย รวมทั้งการสร้างโอกาสงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกมากมายในอนาคต

ความคืบหน้าเหล่านี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลเตรียมไว้เพื่อวันข้างหน้า ตามนโยบาย "ประเทศไทย 4.0" ซึ่งต้องดำเนินการในทุกมิติ พร้อมๆ กัน ทั้ง Hardware คือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ Software คือ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ พันธสัญญาต่างๆ กับประชาคมโลก และ Peopleware คือ การเตรียมกำลังคน โดยปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะสำเร็จได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผมเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศไทย และศักยภาพของคนไทย ว่าจะสามารถก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลก ในทุกๆ ด้านได้อย่างแน่นอนครับ