posttoday

"โคทม" หวัง 30ปีพฤษภาประชาธรรม เป็นบทเรียน ลดความรุนแรงในอนาคต

28 มกราคม 2565

“โคทม” จัดงาน รำลึก30ปีพฤษภาประชาธรรม หวัง เป็นบทเรียนและเครื่องเตือนใจ ส่งต่อแนวคิด “เสรีภาพ-สันติภาพ- ประชาธิปไตย-สันติวิธี” ไปยังคนหนุ่มสาว สนใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะลดโอกาสความรุนแรงทางการเมืองในอนาคต

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 65 นายโคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงการจัดงาน’รำลึก 30 ปี พฤษภาประชาธรรม’ว่า ที่เรียกว่าพฤษภาประชาธรรม เพราะเราอยากจะมองเหตุการณ์ในอดีต ในลักษณะที่ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป 30 ปีก็เป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง เพราะตัวเลขคนพูดถึง 30 ปี ก็รู้สึกว่าพิเศษ โอกาสนี้เป็นโอกาสที่อนุสาวรีย์และตัวสวนสันติพร หัวมุมถนนราชดำเนิน ที่ตั้งของอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรมแล้วเสร็จ ยังติดขัดอยู่นิดเดียวว่าทางสน. ชนะสงคราม ตามที่พูดคุยตกลงกัน เขาจะสร้างอาคารของเขาแล้วเสร็จก็จะย้ายออกไป แต่ระบบราชการก็มีความล่าช้าต่างๆ ขณะที่มีสถานการณ์โควิดก็คิดว่าจะเร่งก่อสร้างได้ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจากนี้ถึงเดือนพฤษภาคม จะสามารถย้ายโรงพักชั่วคราวออกจากบริเวณสวนสันติพรได้หรือไม่ แต่เราก็หวังว่าจะได้

“ถ้าจะถามว่างานสำคัญหรือไม่ เหมือนกับว่า 30 ปีเป็นช่วงอายุคน และคนที่อยู่ในเหตุการณ์ถ้าเป็นญาติวีรชน ก็เข้าสู่ปัจฉิมวัย กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรมก็อายุล่วงเลยมาพอสมควร ก็คิดว่าอยากที่จะส่งทอดแนวคิดเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพและสันติภาพ ไปยังคนที่ยังจะต้องอยู่กับสังคมไทยอีกหลาย 10 ปี เป็นเวลาที่จะเป็นจุดเปลี่ยน แล้วก็ขอให้มีคนที่เป็นเยาวชนหนุ่มสาว เข้ามาสนใจเรื่องเหตุการณ์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสังคมไทย คือ เหตุการณ์พฤษภาคม 2535” นายโคทม กล่าว

ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวต่อว่า เป็นธรรมดาที่เราอยากจะให้เหตุการณ์นี้ เป็นที่รับรู้มากที่สุดทั้งในสังคมไทยถ้าเป็นไปได้ในสังคมนานาประเทศด้วย เพื่อที่จะให้เป็นเครื่องเตือนใจว่าทางการเมืองก็เกิดเหตุการณ์ต่างๆได้ ทางการเมืองก็เกิดความรุนแรงได้ คนในสมัยก่อนเมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อ เขาก็จะสร้างเจดีย์เหมือนกับว่าเป็นจุดที่เราพักความบาดหมางไว้ และมาร่วมคิดร่วมมองอนาคตทางการเมืองต่อไป

“อยากจะให้ถือเรื่องนี้ เหมือนกับว่าอดีตที่มีปัญหา ต้องถือเป็นครูเป็นบทเรียนของเรา 30 ปี ก็น่าจะสรุปบทเรียนแล้วก็อยากจะให้เกิดการตระหนักรู้ว่าทำอย่างไร จากนี้ต่อไปเราจะเห็นว่าประชาธิปไตยก็ดี สันติวิธีก็ดี เป็นเรื่องที่น่าจะฝังลึกมากกว่านี้ ถ้าเป็นเช่นนี้ได้ก็จะลดโอกาสความรุนแรงทางการเมืองในอนาคต ถ้าลดได้ผมว่าคิดว่าเราจะได้ลดบาดแผล ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมไทย เพราะว่าปัญหามันมากอยู่แล้ว อย่าไปเพิ่มปัญหาความบาดหมางระหว่างกัน แก้ปัญหาสถาบันต่างๆทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองที่เป็นรูปธรรม เราช่วยกันสร้างสันให้เกิดสันติภาพและในเชิงบวกต่อไป” นายโคทม กล่าว

เมื่อถามว่า การที่จะทำให้เป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย คาดหวังว่าจะได้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า ความคาดหวังย่อมมีแต่ขณะเดียวกันก็มีคำกล่าวว่า ต้องพร้อมที่จะผิดหวังด้วย ได้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหนได้มากก็เป็นเรื่องดี ได้น้อยก็จะมาบอกเราว่าเรายังพยายามไม่เพียงพอ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่หวือหวาอะไรเหตุการณ์ก็ผ่านไป 30 ปี หลายคนก็ยังไม่ได้รับรู้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะยังมีอายุน้อย หรือหลายคนก็ผ่านพ้นช่วงเวลา ที่จะทำงานอย่างขยันขันแข็ง ในเชิงการเมืองหรือสังคม ก็กำลังเหมาะสมที่จะถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน แต่ไม่ใช่เป็นจุดเปลี่ยนที่หวือหวาแต่เป็นจุดเปลี่ยนที่ ทำให้เรารำลึกถึง และอาจจะมีความรู้สึกเศร้า แต่ขณะเดียวกันก็ยังรู้สึกว่ายังดีนะเราผ่านพ้นช่วงนั้นแล้ว เราอาจจะต้องมองอนาคตไปด้วยกัน

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาอาจารย์เองเคยบอกว่า อยากให้ประชาธิปไตยมีทั้งเสรีภาพเสมอภาค ตรงนี้จุดยืนของอาจารย์ยังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ นายโคทม กล่าวว่า ความทำจริงเราใช้ศิลปะเล็กน้อย ในตัวอนุสาวรีย์ของเราซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิ ของวีรชนพฤษภาประชาธรรม ด้านบนเราก็พยายามให้เป็นสัญลักษณ์อยากจะให้คนที่ผ่านไปผ่านมาช่วยดู มันเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพของนกที่โผบินขึ้นสู่ท้องฟ้า ที่อยากจะฝากไว้ก็คือถ้าคนผ่านไปแล้วไปช่วยดู เพราะเราเขียนคำอธิบายไว้อยู่ที่ตัวอนุสาวรีย์ ทั้งนี้ถามว่าอนุสาวรีย์เล็กๆชิ้นหนึ่ง จะทำให้เกิดให้เสรีภาพสันติภาพเสมอภาคอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นคำขวัญของประชาธิปไตยได้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่เพราะมันก็เหมือนกับอิฐก้อนหนึ่ง ของอาคารที่เราจะต้องสร้างขึ้น แต่อาคารนี้ไม่ได้หมายถึงอาคารที่เป็นรูปธรรมอย่างเดียว แต่เป็นอิฐที่มากับความตระหนักรู้ การประพฤติรู้และการมองการณ์ไกลไปข้างหน้า

“อยากจะให้ทุกคนไม่เฉพาะคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า แต่ทุกคนที่พอจะช่วยได้ คิดว่ามีความปรารถนาดีเพียงแต่ว่า ช่วงนี้มีอคติมาก , มีข่าวปลอมมาก , มีการให้หลายป้ายสีกันมาก เอาง่ายๆเรามีสื่อที่มีประสิทธิภาพศักยภาพสูงมาก โดยเพราะสื่อสังคมออนไลน์ อยากจะฝากสำหรับสังคมรุ่นใหม่ ขอให้ใช้สื่อทั้งในแง่ส่งข่าวสารและรับข่าวสารอย่างมีสติ ขณะเดียวกันก็มีอุดมคติในตัวเองด้วยว่า เราอยากให้สังคมของประเทศไทยเรานั้น ก้าวไปข้างหน้าอยู่เย็นเป็นสุขกันอย่างไร ไม่อยากให้มองกันในแง่ร้ายและใส่ร้ายกัน เอาชนะชิงชัยกัน เวลาผ่านไปก็จะรู้ว่าชัยชนะไม่ได้หอมหวาน ชัยชนะบางทีก็อยู่บนความเจ็บปวดของคนอื่น ถ้าเรามีจิตใจที่ดีงามเราก็ไม่อยากจะให้คนอื่นเจ็บปวดและเราก็ไม่อยากจะให้คนอื่นมาทำให้เราเจ็บปวดเช่นกัน นั่นคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา” ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าว