posttoday

"ชัชชาติ" เรียกกระแสคนรุ่นใหม่ ปรับแหล่งรกร้างใต้ทางด่วน เป็นลานกีฬา

23 มกราคม 2565

"พรพรหม" ทีมงาน "ชัชชาติ" เผย เตรียมศึกษา ปรับแหล่งรกร้าง ใต้ทางด่วนกรุงเทพฯ เป็น"พื้นที่สาธารณะ" ยก "ลานกีฬาพัฒน์ 2” เป็นต้นแบบ เชื่อ"ของดี…เมืองเราก็มีได้”

เมื่อวันที่ 23 มค. 65 นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ และอดีตผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร New Dem หรือ กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง “ของดี…เมืองเราก็มีได้” - “ลานกีฬาพัฒน์ 2” เขตราชเทวี โครงการตัวอย่างของพื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วน

ถ้าให้นึกถึงพื้นที่ใต้ทางด่วน เราก็จะนึกได้ว่าบางที่ปล่อยรกร้าง บางที่มีการพัฒนาอยู่ระดับหนึ่งและเหมือนจะถูกปล่อยวางไป บางแห่งขาดไฟสว่างทำให้ดูอันตราย พอทราบอยู่ว่าส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากความซับซ้อนของการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะว่ากทม. มีพื้นที่ใต้ทางด่วนอยู่มาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใกล้ชุมชนและมีศักยภาพสูงต่อการเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะ

แต่วันนี้เป็นวันดี ผมได้มีโอกาสมาลงพื้นที่เขตราชเทวี (ซึ่งขับรถผ่านอยู่บ่อยๆแต่ก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสมาเดินรับฟังปัญหาพื้นที่) และได้ไปดู “ลานกีฬาพัฒน์ 2” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใต้ทางพิเศษศรีรัช ช่วงแยกอุรุพงษ์ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างสำนักราชเลขาธิการ สสส. สถาบันอาศรมศิลป์ และกทม.

เป็นโครงการที่ผมประทับใจมาก เพราะมีครบสิ่งที่ต้องการในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬาต่างๆ จากคอร์ดแบตมินตั้น ปิงปอง ฟุตซอล หรือ ลู่วิ่งที่มีระบุระยะ และเครื่องออกกำลังกาย มากกว่านั้นยังมีห้องสมุดที่ประชาชนเข้าไปยืมหนังสือได้ มีบริเวณนั่งอ่านอย่างร่มรื่น และมีอาคารอเนกประสงค์ไว้สำหรับการจัดกิจกรรมต่างๆ นับว่าเป็นความโชคดีของชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงที่ได้มีโอกาสมาใช้พื้นที่ตรงนี้สำหรับการออกกำลังกายหรือการผ่อนคลายอื่นๆได้

ผมเชื่อว่าโครงการดีๆอย่างนี้มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ แต่อาจจะยังไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึง นอกเหนือจากการโปรโมทผ่านออนไลน์แล้ว ควรจะต้องมีการจัดกิจกรรมเรื่อยๆ มีมินิคอนเสิร์ต นิทรรศการต่างๆ เพื่อดึงคนหลากหลาย เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ (ที่ส่วนใหญ่ยังคง เลือกที่จะไป hang out กันที่ห้างมากกว่าที่พื้นที่สาธารณะ)

ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เพราะเมื่อประชาชนเห็นโครงการเหล่านี้ก็จะได้เห็นว่า “ของดี…เมืองของเราก็มีได้” ไม่ใช่ว่าของดีๆจะมีได้แค่เฉพาะในเมืองในยุโรปหรือเมริกาเท่านั้น และจะมี Mindset ว่า “ถ้าพื้นที่ใต้ทางด่วนนี้ทำได้และทำไมที่อื่นจะทำไม่ได้”